ปฏิบัติการด่วน: ปล่อยตัวและยกเลิกข้อหานักกิจกรรม

ระหว่างการปราบปรามการชุมนุมประท้วงโดยสงบอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ซึ่งมีการตั้งข้อหาประชาชนหลายร้อยคน ทางการไทยได้สั่งเพิกถอนประกันนักกิจกรรมรุ่นใหม่สองคนเมื่อเดือนมกราคม 2566 นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่น่ากังวลต่อชีวิตและสุขภาพของนักกิจกรรมหญิงอีกสองคนที่อยู่ระหว่างการอดอาหารประท้วง และปฏิเสธที่จะรับของเหลวตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2566 หลังจากที่ทางการได้ควบคุมตัวพวกเขาและบุคคลอื่นโดยพลการ ซึ่งทั้งหมดตกเป็นเป้าหมายการดำเนินคดีอาญาเนื่องจากการใช้สิทธิของตนโดยสงบ

ข้อเรียกร้องของเรา

ปฏิบัติการ: เขียนจดหมายเรียกร้องโดยใช้ถ้อยคำของท่านเอง หรือใช้ตัวอย่างจดหมายดังนี้

นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก ดุสิต

กรุงเทพฯ  10300 ประเทศไทย

Fax: +66 2 282 5131

ทวิตเตอร์ @prayutofficial

เรียน นายกรัฐมนตรี

เรากังวลว่ารัฐบาลไทยกำลังควบคุมตัวผู้คนโดยพลการ จากการออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมประท้วง โดยสงบ ที่รวมถึง “ใบปอ” ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยปีที่ 2 “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักรังสีเทคนิค และ ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ เรารู้สึกตกใจที่ชีวิตและสุขภาพของทานตะวันและ "เเบม" อรวรรณ ภู่พงษ์ กำลังตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากพวกเขาได้ประท้วงด้วยการอดน้ำและอาหารตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2566

เรารู้สึกสลดใจที่รัฐบาลไทยดำเนินคดีอาญากับประชาชนหลายร้อยคน รวมทั้งบุคคลทั้งสี่นี้ จากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ทางการสั่งเพิกถอนประกันณัฐนิชและโสภณ จากการเข้าร่วมชุมนุมประท้วงโดยสงบ ในระหว่างการประชุมเอเปก ก่อนจะถูกสั่งถอนประกัน พวกเขาต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของการประกันตัวที่เข้มงวด เป็นการจำกัดจนเกินขอบเขตต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการเดินทาง การชุมนุมโดยสงบ และการแสดงออก ส่วนทานตะวันและอรวรรณที่อยู่ระหว่างการอดอาหารประท้วง ทั้งหมดถูกดำเนินคดีเนื่องจากจากการทำโพลสำรวจความคิดเห็นในที่สาธารณะ ในขณะที่โสภณถูกดำเนินคดีจากการปราศรัยระหว่างการชุมนุมเมื่อปี 2565 รวมทั้งถูกดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายในข้อหายุยงปลุกปั่นและหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจส่งผลให้ได้รับโทษจำคุกหลายสิบปี

ตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย  กำหนดให้รัฐบาลต้องคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบอย่างมีประสิทธิภาพ คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการเคยให้ความเห็นไว้ว่า ในทางปฏิบัติทางการไทยยังคงใช้การดำเนินคดีและการควบคุมตัวโดยพลการต่อผู้ต้องสงสัยในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์  ทั้งที่เป็นการละเมิดต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนสากล

              เราจึงขอเรียกร้องให้ท่าน

- ปล่อยตัว ยกเลิกข้อหา และยุติการกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวที่เข้มงวดเกินกว่าเหตุโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายเพียงเพราะการใช้สิทธิของตน ตลอดจนยกเลิกการดำเนินคดีอาญาทั้งหมด

- ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อประกันว่านักกิจกรรมที่อดอาหารประท้วงจะได้รับการคุ้มครองจากการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ และได้รับการดูแลสุขภาพที่สอดคล้องตามจริยธรรมทางการแพทย์ รวมทั้งหลักการของการเก็บข้อมูลเป็นความลับ การตัดสินใจด้วยตนเอง และการให้ความยินยอมที่ได้รับการบอกกล่าว

- แจ้งต่อเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ

ขอแสดงความนับถือ

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

รัฐบาลไทยมักตอบโต้กับขบวนการเรียกร้องการปฏิรูปเเละการชุมนุมประท้วงโดยสงบที่นำโดยเยาวชนที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 ด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน รัฐบาลยังคงใช้การคุกคามด้วยกระบวนการกฎหมาย การสอดแนมข้อมูล และการคุกคามบุคคลที่แสดงความเห็นต่าง ระหว่างการชุมนุมประท้วงหรือการเเสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ ทางการปฏิเสธไม่ให้บุคคลมีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว ควบคุมตัวพวกเขาโดยพลการ และกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวที่เกินขอบเขต ที่รวมถึงเงื่อนไขที่ให้มีการกักขังในบ้าน โดยกำหนดให้นักกิจกรรมต้องร้องต่อศาลเพื่อขออนุญาตออกจากบ้านของตนเอง และการจำกัดอย่างกว้างขวางต่อการใช้สิทธิโดยสงบ 

นับแต่ศาลอาญาที่กรุงเทพฯ สั่งถอนประกันพวกเขาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 โสภณ นักรังสีเทคนิค และณัฐนิช นักศึกษามหาวิทยาลัยปีที่ 2 ได้ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิงกลางตามลำดับ ทางการกล่าวหาว่า การที่พวกเขาเข้าร่วมในการชุมนุมประท้วงโดยสงบเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ระหว่างการประชุมสุดยอดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) โสภณและณัฐนิชได้ละเมิดเงื่อนไขการประกันตัว หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และสั่งให้ถอนประกัน ทานตะวัน นักศึกษาคณะนิติศาสตร์และอรวรรณถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2566  จากการที่ทั้งคู่ได้ประท้วงต่อต้านการถอนประกันที่เกิดขึ้นกับโสภณและณัฐนิช รวมถึงการปฏิเสธไม่ให้สิทธิประกันตัวกับนักกิจกรรมคนอื่นที่ถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดี โดยทั้งคู่ได้ขอให้ทางการถอนประกันของตนเอง นับแต่คืนวันที่ 18 มกราคม 2566 ทานตะวันและอรวรรณได้อดอาหารประท้วง รวมทั้งปฏิเสธการรับของเหลว ทั้งคู่เรียกร้องทางการให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ยกเลิกการดำเนินคดีต่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมาย เพียงเพราะการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ และเรียกร้องให้พรรคการเมืองประกาศนโยบายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายด้านความมั่นคงที่ถูกนำมาใช้เพื่อคุมขังนักกิจกรรม ปัจจุบัน ทานตะวันและอรวรรณเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล หลังจากเป็นลมหมดสติ โดยทั้งสองปฏิเสธไม่รับการให้สารอาหารผ่านน้ำเกลือโสภณ ณัฐนิช และทานตะวัน เป็นส่วนหนึ่งของนักกิจกรรมที่เรียกร้องการปฏิรูป พวกเขาตกเป็นเป้าหมายการดำเนินคดีอาญาเพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตน นักกิจกรรมเหล่านี้ต้องถูกดำเนินคดี และอาจได้รับโทษจำคุกหลายสิบปี ในปี 2565 ทางการได้แจ้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาต่อโสภณ หลังจากเขาได้ปราศรัยในการชุมนุมเมื่อปี 2565 และได้กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ และได้ดำเนินคดีกับณัฐนิชและทานตะวันจากการสำรวจความเห็นของประชาชน บุคคลเหล่านี้ยังถูกดำเนินคดีจากการประกาศการทำกิจกรรมผ่านเฟซบุ๊ก ทางการยังดำเนินคดีกับพวกเขาโดยใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีเนื้อหาที่คลุมเครือ ที่เปิดโอกาสให้ทางการใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางในการตีความว่าการใช้สิทธิโดยสงบอาจเป็นอาชญากรรม ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้ทางการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายนี้ รวมทั้งมาตรา 116 ข้อหายุยงปลุกปั่น และมาตรา 112 ในความผิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของตน การเพิกถอนประกันครั้งนี้เกี่ยวข้องกับข้อหาตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา

โสภณและทานตะวันได้ทำกิจกรรม ตั้งแต่มีการชุมนุมประท้วงโดยสงบที่นำโดยเยาวชนในปี 2563 โดยทั้งคู่ได้เข้าเป็นอาสาสมัครเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับการชุมนุมในปีนั้น โสภณยังได้จัดตั้งกลุ่มรณรงค์ของนักศึกษาเมื่อปี 2563 และได้รณรงค์เพื่อสิทธิของนักศึกษา ต่อต้านการบังคับให้สูญหาย และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นับเป็นครั้งที่สองที่ทางการได้สั่งเพิกถอนและปฏิเสธสิทธิที่จะได้รับการประกันตัวของโสภณ ณัฐนิช และทานตะวัน ระหว่างปลายเดือนเมษายนและต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ทางการได้ควบคุมตัวโสภณในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ขณะนั้นเขายังเป็นนักศึกษาปีสุดท้ายในภาควิชารังสีวิทยา และได้ควบคุมตัวณัฐนิชและทานตะวันในทัณฑสถานหญิงกลาง ในขณะนั้น ทั้งสามคนประท้วงการปฏิเสธไม่ให้ได้รับสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้วิธีอดอาหารอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเขา ทานตะวันได้อดอาหารประท้วงเป็นเวลา 37 วันระหว่างถูกควบคุมตัว ส่วนณัฐนิชได้อดอาหารเป็นเวลา 64 จาก 94 วันที่ถูกควบคุมตัว และโสภณได้อดอาหารเป็นเวลา 25 จาก 30 วันที่ถูกควบคุมตัว ในปี 2565 ทางการสั่งให้ปล่อยตัวโสภณ ณัฐนิช และทานตะวันเป็นการชั่วคราว โดยกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องไม่กระทำ “ความผิด” ซ้ำ ไม่เข้าร่วมในกิจกรรมที่ก่อความไม่สงบเรียบร้อย หรือกระทำการที่กระทบต่อสถาบันกษัตริย์ ทานตะวันและโสภณถูกกำหนดให้ต้องอยู่แต่ในบ้านตลอดเวลา ยกเว้นแต่ไปทำงาน ไปมหาวิทยาลัย หรือเข้ารับการรักษาพยาบาล และต้องขออนุญาตศาลหากจะออกจากบ้าน และยังมีข้อกำหนดเพิ่มเติมต่อทานตะวันให้ต้องสวมกำไลอีเอ็ม ในขณะที่ณัฐนิช ต้องอยู่ในบ้านของตนเอง 11 ชั่วโมงต่อวัน

 

ภาษาที่ควรใช้ในการเขียน: [ไทย/อังกฤษ]

ท่านยังสามารถเลือกเขียนในภาษาของตนเองได้  

กรุณาดำเนินการโดยเร็วสุด ก่อนวันที่: [10 มีนาคม 2566]   

กรุณาตรวจสอบกับสำนักงานแอมเนสตี้ในประเทศของท่าน หากต้องการส่งจดหมายหลังวันที่ดังกล่าว

ชื่อและสรรพนาม: ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือ ใบปอ (ญ) เธอ; โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือ เก็ท (ช) เขา. อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ เเบม (ญ) เธอ.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน (ญ) เธอ 

ลิงก์ไปที่ UA ก่อนหน้านี้: https://www.amnesty.org/en/documents/asa39/5702/2022/en/

ปฏิบัติการด่วนคืออะไร? ทำไมต้องมี?

‘ปฏิบัติการด่วน’ (Urgent Action) เป็นหนึ่งในวิธีการรณรงค์ที่สำคัญของ ‘แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล’ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนทั่วโลก เช่น นักโทษทางความคิด นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ที่ถูกทรมาน ผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย ผู้ที่กำลังจะถูกประหารชีวิต ผู้ลี้ภัยที่เสี่ยงถูกส่งตัวกลับประเทศ และอื่นๆ

ผู้ประสานงานในแต่ละประเทศจะรับปฏิบัติการด่วนจากสำนักงานเลขาธิการใหญ่ ณ กรุงลอนดอน แล้วกระจายไปยังสมาชิกเครือข่ายปฏิบัติการด่วน (Urgent Action Network) จากนั้นสมาชิกแต่ละคนจะเขียนจดหมาย อีเมล แฟ็กซ์ ข้อความ หรือแม้แต่โทรศัพท์ไปยังรัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อผู้ที่กำลังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน 

ข้อมูลในปฏิบัติการด่วนของเรามีความเป็นกลาง น่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับในระดับสากล ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการเสาะหาและตรวจสอบข้อมูลอย่างรัดกุม ตลอดจนมีความระมัดระวังอย่างมากในการนำเสนอข้อมูลสู่สาธารณะ 

ปฏิบัติการด่วนเป็นสื่อกลางที่ช่วยให้คนธรรมดาๆ สามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนสามารถช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศได้จริงอีกด้วย 

นี่คือคลิปวิดีโออธิบายปฏิบัติการด่วน โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหราชอาณาจักร

1748 รายชื่อ
เป้าหมาย 2000

Take Action Now

ฉันยินดีรับข่าวสาร งานรณรงค์ การระดมทุน และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานของแอมเนสตี้*
ฉันอายุต่ำกว่า 18 ปี.

*แอมเนสตี้รักษาสิทธิความเป็นส่วนตัวในข้อมูลส่วนบุคคลของคุณ ซึ่งสามารถศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลและวิธีการที่เราใช้ข้อมูลของคุณเพิ่มเติมได้จากนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลของเราที่นี่