โปรเจกต์ระดมทุนภาคสนาม 'Face2Face ' กับภารกิจสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

24 เมษายน 2567

Amnesty International Thailand

 

16 ปีก่อน ณัฐวัฒน์ วัจฉลพงษ์ เป็นเพียงเด็กจบใหม่ มีโอกาสทำงานร่วมกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการระดมทุนทุนภาคสนาม หรือ Face2Face (F2F) ให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร แม้จะไม่เข้าใจมากนักว่า ‘การระดมทุน’ จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้อย่างไร แต่หลังจากสั่งสมประสบการณ์มาได้ระยะหนึ่ง เขาก็เข้าใจแล้วว่า การกระทำเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก

ในปี 2562 ณัฐวัฒน์ ก่อตั้งบริษัท ฟันด์โปร จำกัด เพื่อให้คำปรึกษาด้านธุรกิจและการบริหารการจัดการองค์กร พ่วงด้วยตำแหน่ง Fundpro Corporate Partner Director of F2F Programme แม้ในช่วงเวลานั้น คนจะยังไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำคืออะไรก็ตาม แต่เขาเชื่อมาโดยตลอดว่าการระดมทุนสามารถเปลี่ยนสังคมให้ก้าวเข้าสู่ภาพฝันในอุดมคติได้

หลังจากนั้นในปี 2567 ความหวังที่จะขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า ยิ่งขยับเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น เมื่อได้รู้จักกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย องค์กรที่ยืนหยัดเคียงข้างช่วยเหลือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยและทั่วโลก ซึ่งครั้งนี้เขาพร้อมจะนำความรู้ทั้งหมดที่มี ทุ่มลงไปกับการทำระดมทุนภาคสนามในพื้นที่ต่างๆ โดยหวังจะสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนให้แก่คนไทยได้มากขึ้น

 

สร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านการรับฟัง

 

 

“การที่เราทำ Face2Face Programme ให้กับแอมเนสตี้ จุดประสงค์ของเราไม่ใช่แค่ว่าจะหาผู้บริจาค หรือว่าคนที่สามารถสนับสนุนได้ระยะยาวเท่านั้น แต่เป็นการส่งต่อองค์ความรู้ ทำให้คนเข้าใจว่าแอมเนสตี้คือใคร สิทธิมนุษยชนสำคัญอย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อลูกหลานเราในอนาคต” ณัฐวัฒน์บอกถึงความตั้งใจอันแน่วแน่ ที่เขาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนในไทย

ณัฐวัฒน์ มองว่าการร่วมงานกับแอมเนสตี้เป็นเรื่องที่ท้าทายไม่น้อย เพราะคงมีไม่กี่คนที่ได้สัมผัสประสบการณ์การทำงานที่มีความละเอียดอ่อน และอาจไปกระทบกระทั่งเข้ากับโครงสร้างทางสังคมเช่นนี้เป็นแน่ แต่หนึ่งในอุปสรรคสำคัญคงหนีไม่พ้น การบริหารจัดการทีม เตรียมความพร้อมอย่างไรให้พวกเขารับมือกับคนที่เดินผ่านไปมาหยุดรับฟังในสิ่งที่พวกเขาอยากจะสื่อสารออกไป

“โดยธรรมชาติของคนไทยแล้วเราเป็นคนใจดี มีความอ่อนน้อม แต่แน่นอนว่าก็มีคนที่เขาอาจจะไม่พร้อมรับฟัง เพราะรีบไปทำธุระ ซึ่งเราเข้าใจได้ ไม่ได้รั้งเขาให้อยู่ฟัง เพราะฉะนั้นหากเจอลักษณะนี้ เราก็จะบอกน้องๆ เจ้าหน้าที่ระดมทุน (Fundraiser) ว่าเป็นเรื่องปกติที่คนปฏิเสธจะมีเยอะกว่าอยู่แล้ว แต่ให้โฟกัสที่ว่าวันนี้อยากจะคุยกับคนกี่คน อยากจะเล่าอะไรให้ประชาชนที่เดินผ่านไปมาฟังก็พอ”

นี่คือสิ่งที่ณัฐวัฒน์นำมาใช้เป็นหลักยึดในการทำงาน แต่กว่าจะตกตะกอน และนำมาปรับใช้ได้อย่างธรรมชาติ เขาเคยผ่านสมรภูมิเดือดไม่แพ้กับทีมงานรุ่นปัจจุบัน ย้อนกลับไปช่วงที่ณัฐวัฒน์ยังเป็นเด็กหนุ่มอายุ 24 ปี หน้าที่ของเขาในแต่ละวันคือเดินเคาะประตูแต่ละบ้าน จนกว่าจะมีคนรับฟัง เรียกได้ว่าเป็นการเผชิญหน้ากับ ‘ว่าที่’ ผู้บริจาคอย่างตรงไปตรงมา ต่างจากในปัจจุบันที่กิจกรรมการระดมทุน เริ่มมีบูธมาตั้ง มีแบนเนอร์สวยๆ ให้จับจ้อง หรือแม้แต่ขยายใหญ่ไปจนถึงการจัดอีเว้นท์

“ตอนยังไม่เปิดบริษัท ผมลงพื้นที่ คุยกับเจ้าของบ้าน เจ้าของกิจการ ไปจนถึง SMEs เพื่อนำเสนอโปรเจกต์ที่เราถือให้เขารับรู้ เพราะฉะนั้นวิธีและสไตล์ก็จะปรับไปตามยุคสมัย”

 

ถึงจะยาก แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้

 

 

“ผมตั้งเป้าหมายว่าเราต้องการจะเผยแพร่ ต้องการสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนที่ผ่านไปมา ฉะนั้นผมเชื่อว่าจะมีคนเข้าใจในจุดประสงค์ของเรา เข้าใจในความพยายามของเรา เข้าใจในสิ่งที่พยายามสื่อ เพราะว่าการจะสนับสนุนอะไรสักอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันเกิดจากความเข้าใจเป็นหลัก”

ความเข้าใจ คือ หัวใจหลักในการระดมทุนครั้งนี้ เพราะหากขึ้นชื่อว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เลยเลือกเดินผ่านเลยไป นี่จึงเป็นความท้าทายในการทำงานไม่น้อย แต่ณัฐวัฒน์กลับมองต่าง เขามองว่าการหาผู้บริจาคไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากคือจะทำอย่างไรให้ว่าที่ผู้บริจาคในอนาคต ‘เข้าใจ’ ว่าสิทธิมนุษยชนคือเรื่องของทุกคน

แม้ไม่ทราบแน่ชัดว่าต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน กว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนจะได้รับการถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง แต่ณัฐวัฒน์มั่นใจว่างานระดมทุนภาคสนาม จะทำให้ทุกคนรู้จักแอมเนสตี้มากขึ้นเพียงแค่เปิดใจรับฟังและให้โอกาสพูดคุยร่วมกัน

“Face2Face เป็นสิ่งสำคัญมากในการขับเคลื่อนทุกอย่างให้ประสบความสำเร็จ ผมว่าการที่ประชาชนคนไทยเข้าใจในสิ่งที่แอมเนสตี้พยายามทำ ซึ่งต้องเป็นความเข้าใจแบบเข้าใจจริงๆ เพราะว่าบางทีเราเห็นตามสื่อ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นข้อมูลด้านเดียว อาจจะไม่ลงรายละเอียดเชิงลึกเท่าไหร่นัก”

“ตอนนี้เรามีบูธที่ให้ความเข้าใจจริงๆ ว่าแอมเนสตี้คือใคร แล้วเป้าหมายขององค์กรนี้ คือ การสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของความเท่าเทียม เรื่องของสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดนี้มีจุดไหนบ้างที่จะส่งผลกระทบต่อตัวเรา ต่อลูกหลานเราในอนาคต สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือ สามารถเข้ามาฟังเจ้าหน้าที่ระดมทุนที่ออกบูธ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเรา เพียงเท่านี้ก็เป็นการร่วมขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่แล้ว”

 

ติดตามงานระดมทุนภาคสนาม Face2Face ได้ที่ : https://bit.ly/3vHABnO