รัฐศาสตร์ผู้เรียนคณะรัฐศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้งคลับแอมเนสตี้พะเยา "ร็อค-รัฐศาสตร์ ชาแท่น"

5 มกราคม 2567

Amnesty International Thailand

การรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนให้ได้ผลในระดับประเทศ จำเป็นต้องหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความตระหนักรู้สู่เยาวชนและคนในทุกพื้นที่เท่าที่จะทำได้ แอมเนสตี้คือองค์กรที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ นำมาสู่การตั้งคลับในมหาวิทยาลัยตามภูมิภาค เพื่อทำงานกับนักศึกษาและนักกิจกรรม ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างและวางรากฐานสิทธิมนุษยชนให้แข็งแรง

“ร็อค-รัฐศาสตร์ ชาแท่น” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เขาคือผู้ร่วมก่อตั้งคลับแอมเนสตี้พะเยา ซึ่งเป็นคลับแรกในภาคเหนือ ร็อคมีตำแหน่งเป็นเลขานุการและฝ่ายสื่อสารองค์กรของคลับ จัดกิจกรรมส่งเสริมการตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกพื้นที่มหาวิทยาลัย ร็อคเล่าให้ฟังว่าหนึ่งในหลายกิจกรรมที่ได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี คือการออกค่ายศึกษาประเด็นปัญหาเหมืองแร่ทองคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

ก่อนหน้าการก่อตั้งคลับ ร็อคเคยเข้าร่วมกิจกรรมของแอมเนสตี้มาแล้วหลายครั้ง เขาเล่าว่าการเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนทำให้เห็นว่าสิ่งใดคือปัญหา และปัญหานั้นมาจากอะไร

 

คุณคิดว่าปัจจุบันสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยเป็นอย่างไร

ภายหลังเปลี่ยนรัฐบาล จากคณะรัฐประหารและคณะที่สืบทอดการรัฐประหาร มาเป็นรัฐบาลของพลเรือน แม้อาจไม่ได้เป็นรัฐบาลของพลเรือนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผมคิดว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยก็ดีขึ้นในระดับหนึ่ง ที่อาจไม่ได้มีการคุกคามผู้เห็นต่างเท่ากับในช่วงรัฐบาลที่แล้ว แต่ก็ยังมีการฟ้องร้องดำเนินคดี ม.112 กับประชาชนอยู่ และการแสดงความเห็นทางการเมืองในบางเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ก็ยังถูกจำกัดไว้อย่างมาก ในภาพรวมผมคิดว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยดีขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่สามารถพูดได้ว่าดีขึ้นทั้งหมด

 

การที่สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยอาจจะดีขึ้นบ้าง แต่ยังไม่ได้ดีขึ้นทั้งหมด คุณคิดว่ามาจากสาเหตุใด

อำนาจทางการเมืองของกลุ่มเดิม ๆ ที่ยังไม่หมดไปจากสังคมในปัจจุบัน ยังมีเรื่องของอำนาจนิยมที่ไปควบคุมความคิดเห็นของประชาชนอยู่

 

ในมุมมองของคุณ เสรีภาพในการแสดงออก สำคัญอย่างไร

ช่วยในเรื่องของการบอกถึงความต้องการของประชาชน ว่าประชาชนอยากได้อะไร และเป็นการสะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดบางอย่างเพื่อให้สังคมและผู้มีอำนาจได้รับรู้ ถ้ามีเสรีภาพในการแสดงออก สังคมก็จะรับรู้ว่าคนกลุ่มนี้ บุคคลนี้ เขาต้องการอะไร เขามีปัญหาอย่างไร เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หรือหาทางออก

 

หลายครั้งที่ช่องว่างระหว่างวัยกลายเป็นปัญหาในการสื่อสารรับฟังความคิดเห็นของคนต่างรุ่น กระทั่งเป็นปมปัญหาในการหาทางออกในประเด็นสังคมต่าง ๆ เราจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แก้ยาก เราอาจต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ โดยเฉพาะกับคนรุ่นก่อนหน้าที่มักยึดติดกับความคิดเดิม ๆ อย่างเช่น เมื่อก่อนคนจะไม่ค่อยเข้าใจงานที่แอมเนสตี้ทำ แต่พอเวลาผ่านไปก็เริ่มมีคนเข้าใจและยอมรับมากขึ้น ปัญหาของคนต่างรุ่นก็เช่นกัน จะให้เข้าไปอธิบายแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงในเวลาไม่นานคงเป็นเรื่องยาก มันต้องใช้เวลา สร้างความเข้าใจกับคนกลุ่มนี้ไปเรื่อย ๆ

 

เพราะอะไรผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจ ควรรับฟังเสียงของเยาวชน

จะใช้คำว่าอะไรดี เขาเป็นกลุ่มคนที่อีกไม่นานก็จะต้องตาย แต่เยาวชนเป็นกลุ่มคนที่จะขึ้นมามีส่วนร่วมทางสังคม มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ผู้ใหญ่ก็ควรรับฟังเสียงของเขา เพราะถ้าผู้ใหญ่ไม่รับฟังเสียงของเยาวชนเลย จนเขารู้สึกอึดอัดมาก ๆ พอถึงวันที่ผู้ใหญ่หมดอำนาจหรือหายไปจากระบบแล้ว สิ่งที่ผู้ใหญ่เคยพยายามหวงแหนไว้ก็จะถูกทำลายไป ถ้าวันนี้ยังไม่ยอมรับฟังเสียงของเยาวชน

 

ทำไมจึงตัดสินใจร่วมก่อตั้งคลับแอมเนสตี้ในมหาวิทยาลัย

เมื่อก่อนในภาคเหนือตอนที่ยังไม่มีคลับแอมเนสตี้ที่ลำปาง เราคิดว่าควรมีคลับแอมเนสตี้ในภาคเหนือบ้าง และการที่เราเรียนรัฐศาสตร์ก็ควรมีอะไรบางอย่างที่เราจะต้องไปทำเพื่อแสดงความเป็นเด็กรัฐศาสตร์ ก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้น เรามาตั้งคลับที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน ตอนนั้นผมได้รับแรงบันดาลใจจากการเปลี่ยนคณบดีใหม่ และเป็นคณบดีที่เคยต้องคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก ฉุนเฉินฯ อดีตเคยเป็นแกนนำม็อบของมหาวิทยาลัย แล้วพอวันหนึ่งเขามาเป็นคณบดี เราก็คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีในการตั้งคลับขึ้นในมหาวิทยาลัยพะเยา เพราะอย่างน้อยก็มีพื้นที่ปลอดภัยให้ได้เคลื่อนไหวและร่วมแสดงความเห็น

 

เสียงตอบรับของคนในมหาวิทยาลัยต่อคลับแอมเนสตี้เป็นอย่างไร

กลุ่มบุคลากรไม่มีปัญหาอะไร หลายครั้งคลับได้รับการยอมรับในระดับมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเชิญตัวแทนของคลับเข้าร่วมงานเสวนาเรื่องสิทธิมนุษยชนตามโอกาสต่าง ๆ ส่วนกลุ่มนิสิต ผมคิดว่ามีกลุ่มคนที่ยอมรับเป็นวงกว้าง เวลาที่เราจัดกิจกรรมก็มีคนเข้าร่วมค่อนข้างเยอะ ตอนนี้คลับของเรามีสมาชิก 300 กว่าคน แม้มีคนบางกลุ่มที่แสดงความเห็นว่าทำคลับมาแล้วเรียกร้องแต่อะไรก็สิทธิ์ ซึ่งเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่เราอาจต้องนำกลับมาพิจารณาในเรื่องการสื่อสารต่อไป

 

ปัญหาหรืออุปสรรคของคลับแอมเนสตี้ในมหาวิทยาลัย

ถ้าจะมีปัญหาก็น่าจะเป็นเรื่องของเอกสารในระบบราชการที่มีความยุ่งยาก ในช่วงก่อตั้งคลับก็มีปัญหาเรื่องเอกสารตีกลับหลายครั้ง เพราะเขาไม่ค่อยเข้าใจจุดประสงค์ของคลับเท่าไหร่

 

เมื่อครู่คุณเล่าถึงคนที่พูดว่าทำคลับมาเรียกร้องแต่อะไรก็สิทธิ์ ช่วยเล่าเหตุการณ์นี้เพิ่มเติมหน่อย

มีเพื่อนคนหนึ่งที่มาสมัครเป็นสมาชิกคลับ เขาไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากนัก แต่เขามาสมัครเพราะคณะบังคับให้ต้องมีชมรม เขาก็ตั้งคำถามว่าทำไมต้องเรียกร้องแต่สิทธิมนุษยชน ทำไมไม่รู้จักหน้าที่ ผมอธิบายกับเขา โดยใช้คำของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ที่บอกว่าเวลาคนไทยพูดถึงสิทธิ์จะมีวาทกรรมเรื่องสิทธิกับหน้าที่ ซึ่งวาทกรรมนี้สะท้อนอุดมการณ์ราชาชาตินิยมแบบไทย ถ้าเป็นต่างประเทศเขาจะไม่พูดว่านี่สิทธินะ นี่หน้าที่นะ แต่เขาจะพูดว่าเราได้สิทธิที่เท่าเทียมกันหรือยัง ผมพยายามอธิบายว่าคนไทยพูดถึงการมีสิทธิต้องมีหน้าที่ แต่กลับไม่ถามว่าได้สิทธินั้นครบหรือยัง เรามีสิทธิเท่าเทียมกันหรือยัง

 

ทราบมาว่าก่อนหน้าที่ร่วมก่อตั้งคลับแอมเนสตี้ คุณคือหนึ่งคนที่เข้าร่วมกิจกรรมของแอมเนสตี้ ไม่ว่าจะเป็นค่าย หรือแคมเปญต่าง ๆ ทำไมคุณถึงตัดสินใจเข้าร่วม คุณมองเห็นอะไรในกิจกรรมเหล่านี้

ช่วงนั้นมีปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัย แอมเนสตี้ก็มีกิจกรรมหนึ่งเป็นค่าย ทำร่วมกับองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ซึ่งผมก็ได้ไปเข้าร่วม ต้องบอกว่าก่อนหน้านั้นผมค่อนข้างมีอคติกับผู้ลี้ภัย อาจเพราะถูกปลูกฝังความคิดบางอย่างแบบชาตินิยม จึงตัดสินใจลองเข้าร่วมดูว่าที่จริงแล้วผู้ลี้ภัยนั้นเป็นอย่างไร ผมได้รู้จักกับเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นผู้ลี้ภัย ทำให้เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาจริง ๆ และไม่ใช่แค่เรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ แต่เป็นเรื่องของมนุษยธรรม ความเห็นอกเห็นใจ เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน หลังจากเข้าค่ายนั้น ผมก็ได้เข้าร่วมอีกหลายกิจกรรมของแอมเนสตี้

 

เท่าที่คุณรู้จักแอมเนสตี้ กิจกรรมหรือแคมเปญใดของแอมเนสตี้ที่คุณคิดว่าสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมอย่างมีนัยยะสำคัญ

คิดว่าเป็นการที่แอมเนสตี้ไปรณรงค์ต่อต้านโทษประหารชีวิตที่เรือนจำบางขวาง ตอนนั้นเกิดกระแสด้านลบ มีคนไม่เห็นด้วยกับแอมเนสตี้ แต่ว่าก็ทำให้สังคมเกิดข้อถกเถียงและตั้งคำถามร่วมกันว่าโทษประหารชีวิตสมควรจะมีอยู่หรือไม่ ผมจำได้ว่าหลังจากเหตุการณ์นั้นมีวงเสวนาทางวิชาการเกิดขึ้นในหลายสถานที่ อีกกิจกรรมหนึ่งที่คิดว่าทำให้คนรู้จักแอมเนสตี้คือกรณีที่แอมเนสตี้ร่วมยืนหยัดเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมของม็อบราษฎร

 

คุณคิดว่าอะไรคืออุปสรรคของแอมเนสตี้ประเทศไทย

เรื่องการสื่อสารคือความท้าทายของแอมเนสตี้ บางครั้งคนในสังคมไทยเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนค่อนข้างยาก ทำให้ที่ผ่านมายังมีคนเข้าใจไม่มากพอ

 

คุณอยากให้แอมเนสตี้มีทิศทางในงานเกี่ยวกับเยาวชนอย่างไร

อยากให้แอมเนสตี้ทำงานกับกลุ่มนักศึกษา โดยขยายวงให้กว้างมากขึ้น กระจายออกไปตามมหาวิทยาลัยที่อยู่ภูมิภาคต่าง ๆ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เข้าไปในโรงเรียนด้วย แต่ก็เข้าใจว่าถ้าเป็นโรงเรียนอาจมีความลำบากอยู่

 

สิ่งที่แอมเนสตี้ควรปรับปรุง พัฒนาการทำงาน

ผมรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ของแอมเนสตี้มีน้อย ค่อนข้างไม่เพียงพอในการทำงาน ยกตัวอย่างที่คลับพะเยา มีช่วงหนึ่งที่เราจัดกิจกรรมติดกัน ทำให้เจ้าหน้าที่ของแอมเนสตี้เหนื่อยมาก ถ้ามีเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการดูแลคลับของนักกิจกรรม ผมว่าจะดีมาก

 

สิ่งที่อยากสื่อสารกับสังคมในเรื่องสิทธิมนุษยชน

เสรีภาพในการแสดงออกเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นพื้นฐานของทุกสิ่ง ถ้าไม่มีเสรีภาพในการแสดงออกมันก็จะไปกระทบกับสิทธิด้านอื่น ๆ เพราะเวลาที่คนไม่สามารถสื่อสารได้ ไม่มีเสรีภาพมากพอ พวกเขาจะถูกกดเอาไว้ และสักวันหนึ่งก็จะระเบิดออกมา