เฝอและแพนด้า : ผู้ใช้โซเชียลมีเดียในจีนสร้างภาษาใหม่ เพื่อเอาชนะการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลในช่วงการระบาดของ #โควิด19 ได้อย่างไร?

11 มีนาคม 2563

Amnesty International 

เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่เขาคุยกันในโซเชียลมีเดียของจีน การรู้ภาษาจีนอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะเพื่อหลีกเลี่ยงระบบเซ็นเซอร์ทางอินเตอร์เน็ตที่แทรกซึมมากสุดในโลก พลเมืองเน็ตไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการสร้างคำศัพท์ของตนเองขึ้นมา เวลาพูดคุยใน “ประเด็นที่อ่อนไหว” ภาษาเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากรัฐบาลก็มักเพิ่มคำศัพท์ใหม่ ๆ ที่ถือเป็นคำต้องห้ามมากขึ้นเรื่อย ๆ 

 

ไม่มีตัวอย่างอื่นที่ดีกว่าในการอธิบายถึงเกมแมวไล่จับหนูทางภาษาระหว่างผู้ใช้โซเชียลมีเดีย กับกองทัพนักเซ็นเซอร์ของประเทศ นอกจากต้องพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการระบาดของโรคโควิด19 ในปัจจุบัน 

 

การระบาดของโคโรนาไวรัสส่งผลให้เกิดการเซ็นเซอร์อย่างกว้างขวางครั้งใหม่

 

การจัดการกับปัญหาการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมากมาย โดยเฉพาะการปกปิดข้อมูลการระบาดในช่วงเริ่มต้น และการควบคุมข้อมูลข่าวสารซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชนอย่างชัดเจน มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทางออนไลน์ และทางการได้จัดให้คำศัพท์ใหม่ ๆ จำนวนมากที่ถือเป็นคำที่ “อ่อนไหว”   

ในเดือนมกราคม ผู้ใช้งานเว่ยโป โซเชียลมีเดียของจีนร้องเรียนว่า ทางการจำกัดการใช้งานคำว่า“อู่ฮั่น” และ “หูเป่ย” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการระบาดของโรค มีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียเพียงบางส่วนที่มองเห็นโพสต์ที่มีคำศัพท์ทั้งสองคำ ส่งผลให้มีการปิดกั้นเสียงวิจารณ์ต่อทางการในประเด็นเหล่านี้โดยปริยาย

ในวีแชต โซเชียลมีเดียที่ใช้อย่างแพร่หลาย มีการเซ็นเซอร์อย่างเป็นระบบต่อคำที่เอามาผสมกัน อย่างเช่น “สีจิ้นผิงเดินทางไปอู่ฮั่น” และ “อู่ฮั่น + CCP (พรรคคอมมิวนิสต์จีน) + Crisis (วิกฤติ) + Beijing (ปักกิ่ง)” ทั้งนี้ตามการยืนยันของกลุ่มซิติเซ็นแลบ ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิจัย 

พลเมืองเน็ตจึงเริ่มใช้คำว่า “wh” และ “hb” ซึ่งเป็นตัวย่อของอู่ฮั่นและหูเป่ยแทน เป็นการพลิกแพลงที่ไม่ยากเย็นนัก แต่ในบางครั้งก็ต้องใช้การพลิกแพลงระดับสูงขึ้นมาก  

นับแต่มีการตั้งคำถามต่อการทำงานของสภากาชาดแห่งจีน และความสามารถในการกระจายสิ่งของบรรเทาทุกข์ พลเมืองเน็ตรู้อยู่แล้วว่าต้องมีการเซ็นเซอร์คำว่า “สภากาชาด (Red Cross)” แน่นอน พวกเขาจึงเปลี่ยนคำนี้เป็น “red ten” แทน (ตัวอักษรภาษาจีนของหมายเลข 10 คือ “十” หรือสือ ซึ่งมีลักษณะเหมือนเครื่องหมายกาชาด) เมื่อมีคนตั้งข้อสงสัยว่าสภากาชาดจีนบกพร่องในการกระจายสิ่งของบรรเทาทุกข์ พวกเขาจะติดแฮชแท็ก อย่างเช่น คำว่า “supplies are reded” อย่างกว้างขวาง 

อีกตัวอย่างหนึ่งคือการใช้คำว่า “F4” ซึ่งเป็นตัวย่อของวงบอยแบนด์จากไต้หวันที่มีชื่อเสียงทั้งภูมิภาคช่วงต้นทศวรรษ 2000 แต่ในปัจจุบันถูกนำมาใช้แทนนักการเมืองระดับภูมิภาคสี่คน ได้แก่ ผู้ว่าการมณฑลหูเป่ย เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขาหูเป่ย นายกเทศมนตรีเมืองอู่ฮั่น และเลขาธิการพรรคเมืองอู่ฮั่น คนจีนจำนวนมากเห็นว่าทั้งสี่คนนี้ เป็นคนที่ต้องรับผิดชอบมากสุดต่อการระบาดของโรคอย่างกว้างขวาง 

ประโยคที่ดูเหมือนธรรมดาอาจมีความหมายที่ลึกซึ้ง เช่น การยกเอาถ้อยคำบางส่วนที่เป็นคำให้การของนพ.หลี่เหวินเหลียง ซึ่งเตือนเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสเมื่อเดือนธันวาคมมาใช้ โดยเป็นคำให้การของเขาต่อหน่วยงานความมั่นคงและอยู่ในมือของตำรวจ 

“คุณทำแบบนี้ได้ไหม?” ถ้อยคำในรายงานของตำรวจวันที่ 3 มกราคมระบุ โดยเป็นข้อเรียกร้องของตำรวจให้คุณหมอ “ยุติการกระทำที่ผิดกฎหมาย” เกี่ยวกับไวรัส 

“ได้ครับผม” เขายืนยัน 

“คุณเข้าใจหรือไม่?” ข้อความระบุต่อไป 

“เข้าใจครับ” นพ.หลี่ตอบ 

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจึงเอาบทสนทนานี้มาเขียนต่อกันเป็นประโยคบอกว่า “คุณทำแบบนี้ได้ไหม? ได้ครับผม คุณเข้าใจหรือไม่? เข้าใจครับ” กลายเป็นบทสนทนาที่แชร์กันต่ออย่างแพร่หลาย

ต่อมามีการลบโพสต์เหล่านี้ทิ้ง แต่พลเมืองเน็ตก็ได้นำข้อความเหล่านี้กลับมาใช้ในรูปแบบใหม่ โดยดัดแปลงให้มีเนื้อหาในเชิงต่อต้านมากขึ้น เช่น “ไม่ได้ครับผมและไม่เข้าใจครับผม” 

ในคืนวันเดียวกัน มีการติดแฮชแท็กคำว่า “ฉันต้องการเสรีภาพในการพูด” อย่างกว้างขวางในเว่ยโป เมื่อระบบตรวจพบ ก็มีการลบข้อความเหล่านี้ และมีการบล็อกยูสเซอร์ที่ใช้คำเหล่านี้ด้วย 

 

พจนานุกรมภาษาจีนใหม่

 

ในช่วงที่มีการเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวดสุดระหว่างการระบาดของโคโรนาไวรัส มีการเซ็นเซอร์คำศัพท์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นทุกวัน แต่พลเมืองเน็ตจีนคุ้นเคยกับการหาคำศัพท์อื่น ๆ มาใช้แทน “คำที่อ่อนไหว” อยู่แล้ว  

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแพร่หลายมากสุดคือการใช้คำว่า “zf” ซึ่งเป็นตัวย่อของคำในภาษาจีนที่หมายถึง “รัฐบาล” “jc” ซึ่งเป็นตัวย่อของคำว่า “ตำรวจ” “กวอเป่า” (สมบัติแห่งชาติ) หรือภาพของหมีแพนด้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนหน่วยงานความมั่นคงภายในประเทศ และ “กระทรวงแห่งความจริง” (จากนิยาย 1984 ของจอร์จ ออเวลล์) เป็นคำและภาพที่ถูกนำมาใช้แทนกระทรวงโฆษณาการของพรรคคอมมิวนิสต์ 

เพื่อเข้าถึงเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นในจีน (เช่น เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์) พลเมืองเน็ตต้องใช้ประโยชน์จากระบบวีพีเอ็น ซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถ “ปีนข้ามกำแพงเมืองจีน (Great Firewall)” ได้

“บันได” (สำหรับปีนข้าม) และ “เฝอเวียดนาม” จึงเป็นสองคำที่ถูกใช้อย่างสม่ำเสมอแทนคำว่า วีพีเอ็น 

ในเวลาเดียวกัน วันที่ 4 มิถุนายน (June 4th) ซึ่งเป็นวันสำคัญของเหตุการณ์ปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 2532 ที่มีชื่อเสียง และเป็นหนึ่งในคำศัพท์ที่ถูกเซ็นเซอร์มากสุดในระบบอินเตอร์เน็ตของจีน ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นคำว่า “35 May (วันที่ 35 ของเดือนพฤษภาคม)”, “65 April(วันที่ 65 ของเดือนเมษายน)” หรือ “8 ยกกำลัง 2” (8 X 8 = 64 หรือวันที่ 4 เดือน 6) แทน เป็นต้น 

 

อัจฉริยะทางภาษาหรือความสร้างสรรค์ที่สูญเปล่า?

 

พลเมืองเน็ตมักถูกบีบให้ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการโพสต์ข้อความ จนบางครั้งดูเป็นเรื่องออกจะเหลวไหล เราอาจประหลาดใจกับการเซ็นเซอร์คำถามที่โพสต์ในจี้หู (คล้ายกับ Quora) อย่างเช่น “ทำอย่างไรจึงจะล้างคอขวดที่แคบได้อย่างละเอียด” ทั้งนี้เพราะในภาษาจีนเมื่ออ่านออกเสียงคำว่า “คอขวดที่แคบ” จะเป็นเสียงที่พ้องกับชื่อของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งย่อมไม่สามารถหลุดรอดตาข่ายการเซ็นเซอร์ไปได้ 

ในทำนองเดียวกัน หากมีผู้ปกครองบ่นโดยการโพสต์ในเว่ยโปว่าลูกของเขา “เรียนไม่เก่งเลย” โพสต์นั้นก็จะถูกลบทันที ทำไมน่ะหรือ? เพราะในภาษาจีน นามสกุลของประธานาธิบดีมีความหมายว่า “เรียน” ด้วยเหตุดังกล่าว การพูดว่า “เรียนไม่เก่งเลย” จึงเป็นคำที่ต้องถูกเซ็นเซอร์ 

ระบบเซ็นเซอร์ของจีนจึงเป็นสิ่งที่น่าพิศวง บัญชีคำศัพท์ “ที่อ่อนไหว” จะเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และไม่เคยมีการเปิดเผยคำศัพท์เหล่านี้ต่อสาธารณะ ยูสเซอร์บางคนสามารถนำคำศัพท์บางตัวมาโพสต์ได้ แต่คนอื่นกลับโพสต์ไม่ได้ ส่งผลให้คนใช้เน็ตต้องเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อเอาชนะระบบให้ได้   

แต่ก็มีอัจฉริยะในบรรดาพลเมืองเน็ต โดยเฉพาะนักข่าว นักศึกษา นักวิชาการ และนักกิจกรรมที่เก่งกาจ พวกเขาคิดค้นคำศัพท์ในพจนานุกรมใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  

แต่การเต้นที่ไม่มีวันหยุดก็ทำให้พวกเขาเหนื่อยอ่อนเหมือนกัน ไม่ต้องพูดถึงตอนที่ถูกลบแอคเคาท์ พลเมืองเน็ตจึงถูกบีบให้ต้องสร้างแอคเคาท์ใหม่ ๆ และต้องเริ่มกระบวนการใหม่ ๆ เพื่อเชื่อมโยงกับคนที่ติดตามบัญชีของเขาให้ได้ 

จึงอดทำให้เกิดความรู้สึกบ่อยครั้งไม่ได้ว่า แทนที่จะต้องเปลืองสติปัญญาความคิดไปกับสิ่งเหล่านี้ พวกเขาอาจเอาความคิดเหล่านั้นมาใช้ในทางที่สร้างสรรค์มากกว่า เพื่อต่อสู้ให้คนอื่นได้ยินเสียงของพวกเขา