ครบรอบ 19 ปี คดีสลายการชุมนุมตากใบ จ.นราธิวาส สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก - หลักสูตรบาดแผลศึกษา - คดีต้องไม่มีอายุความ ทางออกเยียวยาใจครอบครัวสามชายแดนใต้

26 ตุลาคม 2566

Amnesty International Thailand

“ถึงตอนนี้คนที่พูดถึงเหตุการณ์ ยังนึกถึงความเจ็บปวด กลิ่นเลือด กลิ่นฝน เสียงร้องของเพื่อนที่กระทบใจ เราต้องนิยามความเสียหายให้กว้างและครอบคลุม ถึงผลกระทบในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุความที่ผ่านมา จะต้องถูกทบทวนว่าจะทำอย่างไร ในส่วนหลักการด้านสิทธิมนุษยชน อายุความคือการเขียนในหนังสือ แต่หลักความเป็นคนมันไม่ควรมีอายุความ”

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ประชาชนประมาณ 2,000 คนได้มารวมตัวกันโดยสงบบริเวณด้านหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบในจังหวัดนราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คนที่อยู่ระหว่างถูกควบคุมตัว  ในการรับมือกับการรวมตัวโดยสงบครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้พยายามสลายการชุมนุม ด้วยการยิงแก๊สน้ำตา ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนจริงกับผู้ชุมนุมประท้วง  ส่งผลให้ผู้ชุมนุมเจ็ดคนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บ ภายหลังการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ชุมนุมประท้วง 1,370 คน ผูกมือไพล่หลัง และบังคับให้ขึ้นไปนอนคว่ำทับซ้อนกันด้านหลังรถบรรทุกทหาร เพื่อขนย้ายไปยังสถานที่ควบคุมตัวในค่ายทหาร ส่งผลให้มี 78 คนที่เสียชีวิตจากการถูกกดทับหรือขาดอากาศหายใจในระหว่างการขนส่ง

วันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา ภายในห้องสี่เหลี่ยมโล่งกว้างในองค์การบริหารส่วนตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในวันครบรอบ 19 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมครั้งใหญ่ที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ ก่อนเวทีเสวนานับถอยหลัง 1 ปี ก่อนคดีหมดอายุความตากใบ : ความจริง ความยุติธรรม และการเยียวยา จะเริ่มขึ้นในช่วงบ่ายสองของวันนั้น

ห้องประชุมแห่งนี้กลายเป็นห้องที่เต็มไปด้วยความทรงจำของผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์ ที่ยังคงรอคอยความจริงและความยุติธรรมกลับคืนมา นั่นคือการนำผู้ออกคำสั่งสลายการชุมนุม รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความรุนแรงในตอนนั้นมาลงโทษให้ได้ในกระบวนการยุติธรรม เพราะถึงแม้รัฐบาลในสมัยนั้นจะเยียวยาเป็นตัวเงินให้ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ แต่การเยียวยาชีวิตและจิตใจจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปในเหตุการณ์ตอนนั้น ยังเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการ แม้รู้ดีว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดำเนินคดีกับรัฐไทย

ที่น่าสนใจมากกว่านั้น…งานนี้ไม่ได้มีแค่คนที่อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม ไม่ได้มีแค่ญาติผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และคนพิการ ที่มาร่วมรับฟังในวันครบรอบ 19 ปี แต่ยังมีคนรุ่นใหม่ รุ่นลูก รุ่นหลาน ที่ได้ยินการเล่าขานความเลวร้ายรุนแรง เกี่ยวกับยุทธวิธีของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้สลายการชุมนุมในตอนนั้น ที่ต่างพากันมาร่วมรับฟัง แลกเปลี่ยนความเห็น พร้อมกับยื่นข้อเสนอแนะให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้นำไปทบทวน ถอดบทเรียน เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย ด้วยความหวังว่าเขาในฐานะคนรุ่นใหม่จะมีส่วนช่วยกันทำให้เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไม่ถูกลืมเลือนไปจากสังคม และช่วยปมในใจของครอบครัวผู้สูญเสีย ที่ความรู้สึกด้านลบยังฝังลึกในใจจะได้รับการคลี่คลาย และมีชีวิตอยู่ต่อได้ไม่เหมือนคนตายทั้งเป็น

แม้คดีเหตุการณ์ตากใบ ปี 2547 ใกล้จะหมดอายุความปีหน้า แต่เส้นชัยหลักที่ทุกคนต้องการ คือคดีนี้ไม่ถูกลบล้างไปจากบทเรียนของรัฐและสังคม ท่าทีของนักวิชาการ นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน ที่มาร่วมงานวันครบรอบ 19 ปี ที่แสดงออกในวันนั้น มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการทำให้รัฐออกมารับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยความสำนึกผิดจากหัวใจที่แท้จริง ไม่ใช่แค่การทำพิธีเยียวยาเป็นตัวเงิน หรือทำพิธีขอโทษผ่านสื่อหลายช่องทาง แต่กลับไม่ได้สัมผัสถึงความเศร้า ความหดหู่ ที่อยู่เบื้องลึกในใจของครอบครัวผู้สูญเสีย เพราะทำตามหน้าที่ในฐานะหน่วยงานรัฐที่ต้องรับผิดชอบ

 

  

วงเสวนานับถอยหลัง 1 ปี ก่อนคดีหมดอายุความตากใบ : ความจริง ความยุติธรรม และการเยียวยา เป็นความร่วมมือของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และสมัชชาภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP)  ทั้ง 4 หน่วยงานต้องการสื่อสารให้เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2547 ได้รับการถอดบทเรียนครั้งสำคัญเรื่องการเยียวยา ลบล้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และการก่ออาชญากรรมโดยรัฐ สู่การทำให้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ได้รับการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนทั่วโลก และรอยแผลที่เกิดขึ้นต้องถูกจดจำไว้ให้เป็นบทเรียน หลังจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับความสูญเสีย ออกมารับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น

 

เสียงจากตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม สภ.ตากใบ

 

 

หญิงคนนี้เป็นตัวแทนชาวอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ที่มาร่วมงานครั้งนี้ เธอสูญเสียพี่ชายไปเมื่อตอนอายุ 12 ปี จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐ เธอเล่าความสูญเสียในครั้งนั้นว่า เป็นความเจ็บช้ำภายในใจหัวใจของเธอและครอบครัวอย่างหนัก เพราะหากศพของพี่ชายไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนที่ติดตัวในร่างที่ไร้ลมหายใจ อาจทำให้พี่ของเธอมีสถานะเป็นบุคคลสูญหาย เพราะสภาพศพในตอนนั้นที่เจอ แย่เกินกว่าการระบุตัวตนที่จะรู้ว่าเป็นใคร

เธอระบายความในใจอีกว่า การจากไปของพี่ชายได้เปลี่ยนแปลงชีวิตครอบครัวของของเธออยู่นานหลายปี เพราะทำให้พ่อที่ต้องสูญเสียลูกไปอย่างไม่มีวันกลับและไม่ทันตั้งตัวในตอนนั้น กลายเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอยู่นาน 4 - 5 ปี จากคนที่เคยเข้าสังคม คนที่เคยยิ้ม หัวเราะ และมีความสุขกับลูกๆ กลายเป็นคนที่ชอบเก็บตัวอยู่ในบ้าน ตีตัวออกจากสังคม และหวาดกลัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ

จากวันนั้นถึงวันนี้คดีเหตุการณ์ตากใบกำลังจะหมดอายุความ เธอยังรอคอยให้หน่วยงานรัฐออกมารับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการทำให้ความจริงและความยุติธรรมปรากฏ นำตัวคนผิดมาลงโทษหรือรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้เป็นรูปธรรม เพราะถึงแม้จะได้รับการเยียวยาเป็นเงิน 7.5 ล้าน แต่การที่ยังไม่มีใครต้องรับผิดชอบจากเหตุการณ์ครั้งนั้น สำหรับเธอนั่นหมายความว่าสิ่งที่ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบควรได้รับ ยังไม่จบครบสูตรตามกระบวนการยุติธรรม

“สำหรับเราเหตุการณ์ครั้งนี้มันอยู่ได้ยังไงถึง 19 ปี คำขอโทษก็ไม่มี อยู่ได้ยังไงจนอายุความจะหมด ถ้าหนึ่งชีวิตมีค่าแค่เงิน 7.5 ล้านบาท เราคิดว่ามันก็ไม่คุ้มกับชีวิตที่จบลง เพราะยังไม่มีใครถูกลงโทษจากเหตุการณ์นี้ อีกหนึ่งปีจะหมดอายุความแล้ว ถ้าเป็นไปได้อยากเห็นหน้าคนที่ทำเรื่องนี้ ถ้าเป็นลูกผู้ชายจริงต้องกล้ายอมรับ ต้องกล้าขอโทษประชาชนพันกว่าคนที่โดนสลายการชุมนุมในตอนนั้น ปัจจุบันหลายคนก็ยังทำใจไม่ได้หรอก ไม่มีใครยอมรับตรงนี้ได้ เวลานึกถึงครั้งใดก็จะร้องไห้ออกมาทุกที” 

 

คดีหมดอายุความคือตัวหนังสือ แต่หลักสิทธิมนุษยชนคดีไม่มีวันหมดจนกว่าจะรู้ความจริงว่าใครเป็นคนผิด

"ถ้ารัฐยุติการขนส่งคนได้ตั้งแต่คันแรก เราจะไม่มีการสูญเสีย การเยียวยาที่ดีสุดตั้งแต่ตอนนั้นจนตอนนี้ คือค้นหาว่าการกระทำเหล่านั้นเกิดจากผู้ใด ทำไมไม่มีการสืบสวนผู้ต้องสงสัยว่าใครเป็นคนสั่งให้ขนส่งผู้คนด้วยวิธีการนั้น ปัจจุบันกฎหมายใหม่ระบุว่าการทำเช่นนั้นคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เพราะการผูกมือไพล่หลัง และบังคับให้ขึ้นไปนอนคว่ำทับซ้อนกันด้านหลังรถบรรทุกทหารแบบนั้น ทำเหมือนกับพวกเขาไม่ใช่คน”

 

 

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เล่าว่าขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมเป็นเพียงหนึ่งเครื่องมือแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ที่ผ่านมากรณีตากใบสิ่งที่เขาทำคือการทำให้เรื่องนี้เล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ไม่ให้สัมภาษณ์ ไม่คุยเรื่องนี้ ปิดกั้นสื่อ ปิดกั้นภาพข่าวต่างๆ แต่ท้ายที่สุดเหตุการณ์นี้ได้ถูกนำเสนอในมุมกว้างพอสมควร จากนั้นจึงมีภาคประชาชนรวมกลุ่มเยียวยาช่วยเหลือกัน

ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม  อธิบายว่า การค้นหาความจริงจากเหตุการณ์ตากใบ พบคนบอบช้ำจำนวนมาก ทำให้เกิดการรวมตัวของนักประชาสังคมสงเคราะห์ลงพื้นที่เยี่ยมหมู่บ้าน ตอนนั้นนักศึกษามีบทบาทสำคัญมากเมื่อ 19 ปีที่แล้ว สำหรับเหตุการณ์แบบนี้การเยียวยา คือการทำอย่างไรให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับการช่วยเหลือทันที เช่น คนเจ็บได้รักษา คนเสียชีวิตได้ระบุตัวตนเร็ว และรู้ตัวคนที่กระทำความผิด และนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

“เรามองว่าคนที่อยู่บนรถบรรทุกกว่า 1,300 คน เขาใช้เวลาอยู่บนนั้นนานกว่า 7 ชั่วโมง เขาคงต้องอยู่ในภาวะพยายามแสวงหาอากาศหายใจ ขอความช่วยเหลือ แต่สุดท้ายหลายคนต้องเสียชีวิต จากสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนไม่่ได้เป็นเพราะอากาศ ไม่ได้เป็นเพราะฝนตก ไม่ได้เป็นเพราะสภาพถนนไม่ดีจนทำให้พวกเขาต้องตาย แต่มันมีสิ่งที่ทำให้เขาตาย ที่มีความจริงอยู่ในนั้น แค่มันไม่ปรากฎหลักฐานชัดเจนเรื่องคนทำผิด”

พรเพ็ญ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวทิ้งท้ายว่า การเยียวยาที่ดีที่สุดในส่วนของคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน คือการได้รับรู้ความจริงที่เกิดขึ้น และในหลักการสากลการได้รับรู้ความจริง จะเป็นการปลดพันธนาการของความบอบช้ำที่ดีอย่างหนึ่งนอกเหนือจากเงินชดเชย สำหรับเธอมองว่ารัฐบาลชุดใหม่มีส่วนทำให้เรื่องนี้เดินหน้าต่อไปได้

“ต้องคุยกันว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเริ่มอย่างไร อีกอย่างการเยียวยาไม่ใช่แค่ตัวเงิน แต่ต้องเยียวยาไปถึงสภาพจิตใจ ฟื้นฟูให้คนลุกยืนอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี การเยียวยามีทั่วโลกมี แต่การทำให้เรานึกถึงสิ่งนี้ได้อย่างภาคภูมิใจ หลังจากมีคนขอโทษ ยังไม่ค่อยมีและพบเห็น”

ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ย้ำว่า สิ่งที่น่าจะทำได้และขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจพิเศษอยู่ คือการที่พื้นที่สามชายแดนใต้ยังมีการใช้กฎอัยการศึก ยังเห็นด่านที่มีอยู่ทั่วไป เราเห็นภาพประกาศบุคคลที่มีหมายจับตามพื้นที่สาธารณะ โดยไม่เกรงกลัวสิ่งที่เรียกว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย เช่น การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลที่ไม่ควรเปิดเผยต่อสาธารณะ แม้เจ้าหน้าที่จะอ้างว่าเป็นประโยชน์ต่อการติดตามจับกุม แต่มันคือการลิดรอนสิทธิมนุษยชน

“คุณมีอีกหลายเครื่องมือ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องติดหมายจับประชาชนไว้ตามสี่แยกต่างๆ เพื่อเป็นการข่มขู่ไม่ให้เราใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งสำคัญอย่างมากๆ  ในการที่ให้เราไปมีส่วนร่วมกับการกำหนดนโยบายระดับรัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฎร”

ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พูดทิ้งท้ายว่า รัฐควรให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพที่จะรวมกลุ่มกันแบบนี้ โดยที่ทุกคนมีศักดิ์ศรีที่กล้าบอกได้ว่า เรามาร่วมสัมนาครบรบ 19 ปีตากใบ ส่วนตัวอยากขอให้ทุกคนใช้สิทธิของตัวเอง และขอให้เจ้าหน้าที่รัฐเคารพประชาชน อย่ข่มขู่ คุกคาม ฟ้องร้องคดีเหมือนที่เคยทำ เพราะตอนนี้รัฐบาลเปลี่ยนไป เราหวังว่าจะเป็นรัฐบาลพลเรือนโดยแท้

“สุดท้ายสิ่งที่เราเรียกร้องคือการมีส่วนร่วมกับการเข้าไปแก้ปัญหา แต่การมีส่วนร่วมจะเกิดไม่ได้ ถ้ารัฐไม่ปล่อยมือจากกฎหมายที่ใช้กดขี่อยู่ คือการประกาศใช้กฎอัยการศึก และการต่ออายุ พรก.ฉุกเฉิน โดยอ้างว่าเป็นการต่ออายุอีก 3 เดือน ดังนั้นนั้นการต่ออายุ พรก.ฉุกเฉิน จะทำให้พื้นที่ร้ายแรงไปอีก 3 เดือน มีผลทำให้การควบคุมตัวบุคคลทำได้อยู่ ถ้าสิ่งนี้ไม่ได้ถูกยกเลิกหรือยุติเราเชื่อว่าเรายังไม่ได้รับความจริงใจจากรัฐบาลนี้ และฝ่ายทหารก็ไม่เปิดโอกาสให้รัฐบาลพลเรือนปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ เราจึงเรียกร้องให้ทบทวนเรื่องนี้”

 

หลักสูตรบาดแผลศึกษา (Trauma Study) ทางออกเหตุการณ์สลายการชุมนุม – ความสูญเสียในชุมชน

 

 

ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่ตากใบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเรียนรู้ความผิดพลาดในอดีต เพื่อลดการถูกตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องพูดเรื่องนี้เป็นเวลาเกือบ 20 ปี ส่วนตัวคิดว่าทัศนคติของข้าราชการเป็นเรื่องสำคัญ อย่างแรกคือการต้องไม่มองว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือของฝ่ายตรงข้ามที่สร้างบาดแผลให้ผู้คน และต้องไม่ใช่แค่เรื่องของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องเผชิญเรื่องนี้เพียงอย่างเดียว ที่สำคัญต้องทำให้การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นบทเรียนที่น่าจดจำและนำไปปรับใช้เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก หรือในทางองค์ความรู้มักเรียกว่า Rights to Remember คือ การจดจำ แล้วนำไปเป็นบทเรียน ดีกว่าบังคับให้ลืมเลือน

บาดแผล บาดแผล บาดแผล ก่อนที่ผมจะมาเป็น กสม. ผมสอนหนังสือการสร้างสันติภาพ มันมีหลักสูตรบาดแผลศึกษา หรือ Trauma Study หลักสูตรนี้จะช่วยเรื่องวิธีการจัดการกับชุมชนที่มีบาดแผล แต่ปัจจุบันในต่างประเทศก็ยังไม่มีแผนบูรณาการให้เกิดสันติภาพจริงจังเรื่องนี้ ในการทำให้ผู้ได้รับผลกระทบมีสิทธิที่จะจดจำเรื่องนี้แบบ Rights to Remember ไม่ใช่ผลักให้เขาลืมทั้งที่เขามีสิทธิจดจำเรื่องราวต่างๆ ฉะนั้นสิ่งนี้จึงสำคัญ จึงอยากเห็นรัฐบาลไทยทำเรื่องนี้เป็นตัวอย่าง มีความกล้าหาญทางจริยธรรม สนับสนุนให้คนจดจำเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้”

 

 

ผศ.สุชาติ  กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลไทยจะต้องทำให้เรื่องราวและเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เป็นแค่เรื่องราวชายขอบหรืออยู่แค่ในสามจังหวัดชายแดนใต้แค่เฉพาะพื้นที่อีกต่อไป เขาเสนอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมีหลักคิดอย่างเป็นระบบ คือการทำอย่างไรที่จะฟื้นฟูให้เหตุการณ์ความไม่สงบ ความรุนแรง การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องระดับชาติ ด้วยการการเยียวยาเชิงสัญลักษณ์ หรือการเยียวยาทางจิตวิญญาณ เช่น การทำงานศิลป์สะท้อนความเจ็บปวด บทเรียน ความหวัง หรือนิทรรศการต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ กระตุก กระตุ้นใจ ไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้นซ้ำ และคนตระหนักและเห็นห้องกันว่าเป็นสิ่งที่รัฐไม่ควรทำความรุนแรงในการสลายการชุมนุม

“เราเรียนรู้เพื่อก้าวข้ามความผิดพลาดที่เกิดขึ้น อย่างพี่น้องชาวมุสลิมก็คงมีสิ่งที่อยากบอกเจ้าหน้าที่รัฐว่า สิ่งที่เราจดจำไม่ได้ต้องล้างแค้นท่านทั้งหลาย เพราะมุสลิมเราเรียนรู้ตลอดว่าการอาฆาตมาดร้ายต้องยุติลง เลือดล้างด้วยเลือดต้องยุติ เราถูกสอนให้อภัย เพราะในศาสนาอิสลามมีต้นทุนทางศาสนามากมายที่จะให้อภัยพวกคุณ ไม่ว่าจะทำสิ่งเลวร้ายอะไรก็ตาม เพียงแต่คุณยอมรับความผิดพลาด ยอมรับและตระหนักได้ว่าไม่ให้ทำให้เกิดบาดแผลซ้ำรอยขึ้นอีก”

 

เหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบต้องไม่มีอายุความ ดันจัดตั้งอาสาสมัครตรวจสอบสถานะร้องเรียนขอความเป็นธรรม

 

 

อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ทนายความศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า คดีเหตุการณ์ตากใบในทางกฎหมายไม่ควรมีอายุความ ซึ่งต้องไปดูว่ามีช่องทางไหนที่จะเสนอกฎหมายรองรับเรื่องนี้ได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้การเดินหน้าตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐที่มีคดีความกับประชาชน เลี่ยงไม่ให้นำข้อเท็จในแฟ้มคดีที่สอบสวนหรือไต่สวนแล้วว่ามีคนทำผิด แต่ไม่ดำเนินการกับรัฐ ตรงนี้เรากำลังหาช่องทางกันว่าจะทำให้คดีลักษณะนี้ไม่มีอายุความได้หรือไม่ อาจต้องไปดูว่าต่างประเทศมีคดีระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่มีอายุความหรือไม่ ถ้าทำได้ก็อาจนำมาเป็นโมเดลตั้งต้นในเมืองไทย หรือถ้าไม่มีสำหรับเขาเชื่อว่าประเทศไทยทำเรื่องได้ เพื่อเป็นการพัฒนากฎหมายที่ยืนยันคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่ต้องอยู่ใต้กฎหมายของรัฐ ที่รัฐจะต้องคุ้มครองประชาชนจริงๆ ด้วยความเต็มใจและมีความยุติธรรม

“วันนี้ผมจะขออาสาสมัครครอบครัวผู้สูญเสีย เพื่อเชิญสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เชิญตำรวจ สภ.ตากใบ เชิญตำรวจ สภ.หนองจิก ไปหาคำตอบในสำนวนที่ 3 ว่าหลังจากรับเรื่องส่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) แล้ว สถานะคดีนี้เป็นอย่างไร และหนึ่งปีที่เหลือสามารถนำสำนวนคดีจากพนักงานสอบสวนมาทำอะไรต่อได้ไหม เราที่เป็นประชาชนมีสิทธิฟ้องและใครจะดำเนินการกรณีนี้อย่างไร และมีความพร้อมหรือไม่ ที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนที่สูญเสีย"

 

7,000 วัน ในความทรงจำที่ยังไม่ลืมเลือน และรัฐต้องมองการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพ

 

 

รศ.เอกรินทร์ ด่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2547 จนถึงวันนี้ เกือบ 7,000 วัน ที่ผ่านมามีเหตุการณ์พูดเรื่องตากใบเป็นระลอกๆ หลายฝ่ายพูดในมุมที่แตกต่างกันไป สำหรับด้านกฎหมายมีการผลักดันให้เกิดการแก้กฎหมายปรับปรุงกฎหมายการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะให้เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน สำหรับเขาอย่างแรกที่รัฐต้องมองคือการเห็นตรงกันว่า การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยที่รัฐต้องไม่มองว่าคนที่มาชุมนุมประท้วงเป็นศัตรู แต่ต้องเห็นว่านั่นคือสิทธิทางตรงที่ประชาชนทำได้เหมือนกับการใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนต่างๆ 

“7,000 กว่าวันที่ผ่านมา มีการต่อสู้คดี มีการพูดถึงเคสตากใบ 3 ระนาบ คือ ในพื้นที่มีความทรงจำ เรื่องตากใบซึ่งเป็นบาดแผลที่รัฐไทยได้กระทำต่อชนกลุ่มน้อย สองคือความทรงจำของคนประเทศนี้ที่มองเรื่องการจัดการชุมนุมแตกต่างกัน ไม่ได้มองเป็นเนื้อเดียวกัน ช่วงแรกใครพูดเรื่องสิทธิเกี่ยวกับคดีตากใบมักจะถูกมองว่าเข้าข้างโจรใต้ คนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบ มีส่วนร่วมแน่นอน หรือถูกมองว่าเป็นขบวนการต่อสู้ร่วม ต่างจากนานาชาติที่มองว่า คนที่นี่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง” 

 

ท้ายสุดในวาระครบรอบ 19 ปีของการสลายการชุมนุมอย่างโหดร้ายในอำเภอตากใบ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยให้ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดการรับผิดของเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ครั้งนั้น ก่อนที่อายุความ 20 ปีจะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 และเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ปฏิรูปกฎหมาย ข้อบังคับ แนวปฏิบัติ และการปฏิบัติของทางการทั้งหลายทั้งปวง เพื่อประกันว่าเจ้าหน้าที่จะคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้กับการชุมนุมสาธารณะที่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

แอมเนสตี้ระบุเพิ่มเติมว่า จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นระหว่างเหตุการณ์แล้ว ผู้ชุมนุมอีกหลายร้อยคนยังคงถูกควบคุมตัวโดยทหาร และต่อมามีการส่งตัวไปยังค่ายทหารในจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งชุมพรและสุราษฎร์ธานีเพื่อควบคุมตัวเพิ่มเติมอีกเป็นเวลาเจ็ดวัน ในวันที่ 24 มกราคม 2548 พนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาสได้สั่งฟ้องผู้ถูกควบคุมตัว 59 คนในข้อหาร้ายแรง รวมทั้งขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน และมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ตามมาตรา 139 และ 215 ของประมวลกฎหมายอาญา ตามลำดับ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 พนักงานอัยการได้ถอนฟ้องคดีทั้งหมดโดยอ้างเหตุว่าไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ

จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีการสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตามที่คณะกรรมการระบุถึงแต่อย่างใด มีเพียงแต่รายงานข่าวว่า แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้นถูกโยกย้ายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อื่น ระบุรัฐบาลล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการปฏิบัติตามคำสัญญาที่จะคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายและครอบครัว ในทางตรงข้าม รัฐบาลกลับช่วยให้เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่เกี่ยวข้องสามารถลอยนวลพ้นผิดไปได้

แอมเนสตี้เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ใช้โอกาสนี้ อำนวยให้เกิดความยุติธรรมกับผู้เสียหายจากการสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ ก่อนคดีจะหมดอายุความในเดือนตุลาคม 2567 โดยขอให้ทางการไทย 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม และรัฐบาล ดำเนินการดังต่อไปนี้

 

สำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

- ให้รื้อฟื้นการสอบสวนต่อการดำเนินงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ระหว่างเหตุการณ์นี้โดยทันที และให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ รวมทั้งผู้บังคับบัญชาในช่วงเวลาดังกล่าว การสอบสวนกรณีนี้อาจใช้ประโยชน์จากข้อค้นพบของคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล และจากการให้ปากคำขององค์กรภาคประชาสังคม ผู้ชำนาญการอิสระ และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือการรับฟังความเห็นจากผู้เสียหายและครอบครัว

- ให้การประกันว่า แนวทางและการปฏิบัติที่นำมาใช้เพื่อคุ้มครองและอำนวยความสะดวกต่อการชุมนุมสาธารณะ  จะสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และหากต้องมีการใช้กำลังใดๆ ให้ถือเป็นทางเลือกสุดท้าย และให้ใช้อย่างจำกัดเฉพาะเท่าที่จำเป็นต่อพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น

สำหรับสำนักงานอัยการสูงสุด

- สั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ รวมทั้งผู้บังคับบัญชาซึ่งรับผิดชอบต่อการควบคุมการชุมนุมประท้วง ในอำเภอตากใบ การสั่งฟ้องคดีนี้ให้เป็นไปตามหลักกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศว่าด้วยการพิจารณาที่เป็นธรรม

สำหรับกระทรวงยุติธรรม

- ให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับผู้เสียหายและครอบครัว รวมทั้งทรัพยากรการเงินและข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับช่องทางที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

- จัดอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายทุกคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทหารที่เกี่ยวข้องในจังหวัดชายแดนใต้ (ตราบที่ยังปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่) เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง, อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ, อนุสัญญารว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ, หลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงตํ่าในการบังคับใช้กฎหมาย

สำหรับรัฐบาลไทย

- ในบริบทของพื้นที่ จชต. ให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายความมั่นคงที่บังคับใช้อยู่ รวมทั้งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อประกันให้มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ในภูมิภาคนี้ และแก้ปัญหาวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด

- ให้การประกันว่าเจ้าหน้าที่ทหารจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมการชุมนุมประท้วงในพื้นที่สาธารณะในพื้นที่ จชต.

- ปฏิรูปกฎหมาย ข้อบังคับ แนวปฏิบัติและการปฏิบัติของทางการทั้งปวง เพื่อประกันว่า เจ้าหน้าที่จะคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้กับการชุมนุมสาธารณะ สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

- ชี้ชัดถึงความผิดพลาดในอดีต ยอมรับข้อผิดพลาด และใช้บทเรียนดังกล่าว รวมทั้งข้อมูลจากกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (ที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลัง) เพื่อจัดทำเป็นหลักสูตรในการอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย

- ทำการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นองค์รวม ในส่วนที่เกี่ยวกับการสลายการชุมนุมในอำเภอตากใบ เพื่อจำแนกมาตรการเพิ่มเติมที่อาจนำมาใช้ให้เกิดการเยียวยาที่เป็นผล การประเมินดังกล่าวต้องครอบคลุมมุมมองด้านเพศสภาพ เพื่อจำแนกความต้องการเป็นการเฉพาะของผู้หญิงชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู

- ดูแลให้แนวทางการควบคุมการชุมนุม นำไปสู่การคุ้มครองและอำนวยความสะดวกต่อการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบ โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าการชุมนุมประท้วงมีความสงบ มุ่งเน้นการลดความตึงเครียดของสถานการณ์ที่อาจส่งผลให้เกิดความรุนแรง และรับประกันว่า จะไม่มีการใช้กำลังอย่างมิชอบต่อผู้ชุมนุมประท้วงอีกต่อไป