'ตาล สรวรรณ นิรันรัตน์' หญิงแกร่งที่ไม่เคยถอดใจ หลังเธอลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิให้ 'ชาวมานิ' กลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นดั่งลมหายใจของผืนป่า

19 ตุลาคม 2566

Amnesty International Thailand

“ต้องการให้เขามีความเป็นคนที่เท่าเทียมกับคนอื่น ไม่ใช่แค่ความเป็นคนที่โดนเหยียบอยู่ภายใต้ฝ่าเท้าของใคร เพราะฉะนั้นพี่ไม่กลัวอะไรแล้วตอนนี้ เราจะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิให้ทุกคน”

 

 

เมื่อจุดยืนคือการเดินหน้าบ่มเพาะให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง แบ่งเวลาไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมโลกเดียวกัน เพื่อให้ให้ได้มีที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน และเข้าถึงสิทธิทางการศึกษา ในรูปแบบที่ยังคงความดั้งเดิมทางวัฒนธรรม ไม่ทำลายรากเหง้าของคนกลุ่มนั้นให้สูญสลายไปทั้งหมด

แม้ในบางครั้งจะรู้สึกว่าชีวิตที่เธออุทิศอาจมีราคาที่ต้องจ่าย แต่ก็ไม่ทำให้เธอหวาดหวั่นกับสิ่งที่กำลังทำและเผชิญเธอผู้นี้จึงเป็นดั่ง ‘ผู้พิทักษ์’ หญิงแกร่งร่างเล็ก ที่ต้องการลุกขึ้นสู้กับอะไรบางอย่าง เพื่อ ‘ชาวมานิ’ กลุ่มชาติพันธุ์ที่สืบทอดวิถีแห่งพงไพร บนเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาสันกาลาคีรี เธอเปิดใจว่า ยอมเดิมพันกับอะไรหลายๆ อย่างในชีวิต เพื่อก้าวต่อไปที่ดีกว่าของชาวมานิ กลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคใต้อีกนับร้อยชีวิต

 

 

‘ตาล สรวรรณ นิรันรัตน์’ ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิพลเมืองพัฒนาคุณภาพชีวิต เจ้าของเส้นทางที่เต็มไปด้วยขวากหนาม เล่าจุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งนี้ว่า บ้านเกิดที่เธออยู่หล่อหลอมให้เธอมองว่า ‘ชาวมานิ’ ไม่ใช่คนแปลก แต่เป็นคนเท่ากัน และเป็นดั่งพี่น้องที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน

ช่องงับ อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล คือ บ้านเกิดของ ‘ตาล สรวรรณ’ ห่างไปจากหลังบ้านเพียง 200 เมตร จะเป็นภูเขา ที่ยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของ ‘ชาวมานิ’ จากวัยเด็กที่เติบโตมากับเพื่อนๆ วัยเดียวกัน ทำให้เธอเห็นว่า ชาวมานิ ไม่ได้มีความแตกต่างอะไรไปจากเธอเลย แม้พวกเขาจะอยู่กันเป็นกลุ่มๆ แต่ภาพจำของเธอ คือการที่ชาวมานินั้นรักใคร่กลมเกลียวกัน มีของ มีอาหารก็แบ่งปันให้กันเสมอ เธอเล่าว่า บางครั้งชาวมานิก็นำสมุนไพรจากป่าที่เก็บได้มาขายที่ตลาดหรือในงานกาชาดที่จัดขึ้นในจังหวัดเป็นประจำทุกปี บ้างก็นำสมุนไพรหรือเนื้อสัตว์มาเเลกเปลี่ยนกับข้าวสารหรือสิ่งของอย่างอื่น เธอมองว่าวิถีชีวิตตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าชาวมานิ ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างจากคนบ้านที่อยู่ในเมือง เพียงแค่อัตลักษณ์บุคคลและการใช้ชีวิตยังคงวิถีบางอย่างที่ต้องยึดเอาไว้

แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ‘ตาล สรวรรณ’ เรียนจบและได้ไปทำงานเกี่ยวกับเครือข่ายที่ดินทำกินอยู่หลายปี ก่อนจะกลับมาปักหลักใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิดอีกครั้งในช่วงก่อนที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 จากเดิมที่ตัวเธอเคยคิดว่าชาวมานิมีบัตรประชาชนหรือมีสถานะเป็นพลเมืองไทยแล้ว แต่กลับพบว่าพวกเขายังไม่มีบัตรประชาชน ทั้งที่ตอนนี้มีสวัสดิการรัฐหลายอย่างที่พวกเขาควรได้เข้าถึงสิทธิ แต่กลับพบว่าชาวมานิเข้าไม่ถึงสิทธิ เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องนี้

 

เมื่อเพื่อนเดือดร้อน ‘ตาล สรวรรณ’ จึงตัดสินช่วยเหลือเพื่อนชาวมานิ และชาวมานิกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ โดยช่วงปี 2563-2564 เธอได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ ที่ใช้ประกอบคำร้องขอทำบัตรประชาชนให้เพื่อนพี่น้องชาวมานิ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประสานงานกับที่ว่าการอำเภอทุ่งหว้า จ.สตูล ให้ดำเนินการ แต่ปรากฎว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเกิดการตั้งคำถามจากหน่วยงานรัฐว่า ทำไมต้องเข้าไปช่วยเหลือชาวมินิ นอกจากเธอจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ ยังถูกย้อนถามกลับมาว่า ‘คุณไปยุ่งอะไรกับเขา’ ซึ่งนั่นคืออุปสรรคหนึ่งที่เธอพบระหว่างการต่อสู้ให้ชาวมานิมีบัตรประชาชน

กระทั่งช่วงปลายปี มีการจัดงานของชาวเลที่เกาะหลีเป๊ะ อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล และมีรัฐมนตรีจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ สส. ในพื้นที่มาร่วมงานด้วย เธอจึงให้ตัวแทนชาวมานิ ยื่นเรื่องขอทำบัตรประชาชนผ่านงานดังกล่าว ซึ่งนอกจากเรื่องบัตรประชาชน ยังมีเรื่องการขอเข้าถึงสิทธิเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย การศึกษา และอาชีพด้วย การยื่นเรื่องในครั้งนั้น มีเรื่องที่ตอบรับเร็วที่สุด คือเรื่องการทำบัตรประชาชน โดยชาวมานินับสิบคน ที่ร่วมลงชื่อขอทำบัตรประชาชนในครั้งนั้น ได้รับบัตรประชาชนกันครบทุกคน แต่ยังมีชาวมานิอีกหลายคนที่รอเข้าสู่กระบวนการ ปัจจุบัน ‘ตาล สรวรรณ’ ให้ข้อมูลว่าชาวมานิเกือบทุกคนมีบัตรประชาชนแล้ว

‘ตาล สรวรรณ’ ย้ำว่า ชาวมานิมีความเป็นมนุษย์เท่ากับเราทุกคน ดังนั้นพวกเขาจึงควรได้รับสิทธิต่างๆ เท่าเทียมกับเราในทุกด้าน เช่น สิทธิรักษาพยาบาล การศึกษา การส่งเสริมอาชีพ โดยสิ่งที่ชาวมานิทุกกลุ่มต้องการ คือเรื่องที่ดินทำกิน การมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และมีอาหารกินอิ่มทุกมื้อ ดังนั้นหากชาวมานิมีที่ดินเป็นของตัวเอง และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งเธอเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะนำมาสู่การพัฒนาในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้นตามมา

“พี่มองว่าเขาควรมีสิทธิเหมือนกับบุคคลทั่วไป เพราะเขามีคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับเรา เพราะฉะนั้นสิทธิต่างๆ ไม่ควรแตกต่างกัน นอกจากเรื่องของวิถีชีวิตที่เราควรให้สิทธิเขาได้ใช้ชีวิตตามวิถีของเขาเอง”

‘ตาล สรวรรณ’ เล่าว่า ทุกวันนี้ปัญหาเรื่องอาชีพของชาวมานิยังมีอยู่ให้เห็น เพราะชาวมานิส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ นับเลขไม่เป็น เมื่อถูกชวนไปทำงานรับจ้างบางครั้งอาจไม่ได้ค่าจ้าง หรือได้ไม่ครบตามจำนวนที่ตกลงกัน แต่ปัจจุบันเริ่มมีชาวมานิรุ่นใหม่ที่ได้เรียนหนังสือจนสื่อสารคล่องขึ้น อ่านหนังสือได้ และนับเลขเป็น มาทำหน้าที่ช่วยเหลือพี่น้องคนอื่นๆ เรื่องการรับเงินจากการทำงาน หรือไปจับจ่ายซื้อของที่ตลาดหรือร้านค้า จึงทำให้ปัญหานี้เริ่มลดน้อยลง

“เหมือนเขาไปทำ แล้วไม่ให้ตังค์ สิ่งที่เกิดขึ้นมานิมีความกลัวที่ลึกมาก เขาไม่กล้าพูดหรอก ถ้าไม่มั่นใจจริงๆ เพราะเขาไม่รู้ว่าใครเป็นพวกใคร ถ้าเกิดเป็นทีมผู้ดูแลเข้าไปแกล้งถามเขา เขาจะโดนเต็มๆ โดนเข้ามาข่มขู่ โดนเข้ามาว่า สถานการณ์มากเลวร้ายมากสุดคือโดนปืน” 

 

ความช่วยเหลือที่ไม่เคยส่งไปถึงมือชาวมานิ ‘ตาล สรวรรณ’ ชำแหละปมปัญหาผ่านประสบการณ์ของเธอให้เห็นว่า ในพื้นที่ที่ชาวมานิอาศัยอยู่ มีกระบวนหาประโยชน์จากกลุ่มคนที่ไม่หวังดี แม้จะมีหลายคนที่พอรู้ปัญหาแต่ก็ไม่มีใครกล้าพูดตรงๆ เพราะเรื่องนี้แตะไปถึงผลประโยชน์จำนวนมากของคนหลายกลุ่ม และจุดนี้เองที่ทำให้เธอถูกตั้งค่าหัว เพราะเป็นเพียงคนเดียวที่กล้าออกมาพูดเรื่องนี้สู่สาธารณะ 

 “ถ้าเสียสละชีวิตพี่แล้ว ทำให้เขากลายเป็นคนที่อยู่ในโลกของความสว่างได้ พี่ก็พร้อม พี่ไม่ได้โลกสวย แต่มันสุดทนพูดจริงๆ สิ่งที่น้องไม่รู้แต่พี่อยู่ทุกวัน”

การศึกษา กับ…ชาวมานิ ที่ยังมีสังคมเอื้อเฟื้อแบ่งปันกันในกลุ่ม ทำให้การเรียนในระบบอาจไม่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของชาวมานิเท่าไหร่นัก ‘ตาล สรวรรณ’ พูดถึงเรื่องนี้ผ่านประสบการณ์ที่ทำงานเรื่องนี้มากับเครือข่าย เธอมองว่าการเรียนจบปริญญา อาจไม่ใช่คำตอบตายตัวที่ชาวมานิทุกคนต้องการ แต่การศึกษาที่ตอบโจทย์ อาจจะต้องเป็นการทำให้พวกเขา ‘อ่านออก เขียนได้ บวกเลขเป็น’ เพื่อทำให้ชาวมานิใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับคนทั่วไป เวลาไปรับจ้างทำงานหรือซื้อของที่ตลาดได้

“ถ้าเรามองเรื่องการศึกษา เราอยากมองการศึกษาที่สามารถพัฒนาเข้ากับวิถีชีวิตของเขาได้ ไม่ใช่การศึกษาที่ลากเขาออกไปสู่สังคมภายนอกแล้วล้มล้างวิถีชีวิตของเขา”

 

 

“ไม่ใช่ว่ามันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่ว่าเปลี่ยนแปลงไปกับวิถีชีวิตของเขา ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด มันต้องอยู่ภายใต้วิถีชีวิตของเขาและความต้องการของเขาด้วย ทั้งบ้าน การศึกษา หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่ว่าเราอยากให้เขาเปลี่ยนแปลง แล้วเราก็ขนโน่นขนนี่เข้ามา แล้วเขาก็เปลี่ยนแปลงไป มันต้องคำนึงถึงสิ่งที่เขาต้องการด้วย ไม่ใช่แค่รัฐเพียงอย่างเดียว”

ด้วยความหวังที่ต้องการให้ชาวมานิมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ‘ตาล สรวรรณ’ จึงตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกของแอมเนสตี้ ประเทศไทย เพราะเธอมองว่า แอมเนสตี้มีการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิที่ดินเหมือนกัน จึงหวังว่าการร่วมงานกับแอมเนสตี้จะทำให้เธอช่วยเหลือพี่น้องชาวมานิได้มากขึ้นกว่าเดิม แม้จะมีชาวมานิบางกลุ่มที่ยังคงดำรงวิถีชีวิตแห่งพงไพรตามบรรพบุรุษ แต่การที่พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นั่นหมายถึงองค์ความรู้เรื่องผืนป่าและสมุนไพรนับร้อยชนิด ยังคงดำรงอยู่ วิถีชีวิตดั้งเดิมไม่ตายจากไป แต่รอวันที่จะเกิดการแลกเปลี่ยน และต่อยอดให้เข้ากับวิถีชีวิตคนเมืองในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้เธอเชื่อว่าจะทำเกิดสิ่งล้ำค่าแห่งผืนป่า ที่จะไม่มีวันแตกสลาย และทำให้สังคมได้ประจักษ์ว่า ชาวมานิมีคุณค่าต่อป่าไม้และโลกนี้อย่างไร

“ความรู้สึกของเราก็คือ แอมเนสตี้คือองค์กรสิทธิมนุษยชน สำหรับเรามันคือที่พึ่งสุดท้าย เราทำงานเติบโตมาจากชาวบ้านที่พัฒนาตัวเองมาเป็นนักพัฒนา เราไม่ได้เติบโตมากับกระบวนการพัฒนา แต่พอเรามาเจอแอมเนสตี้ เราก็เข้าไปอ่านเรื่องราวของเขา เห็นเขาพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนซึ่งมันตรงกับเรา  ยิ่งเวลาเราเห็นอะไรที่ขัดกับเรื่องสิทธิ จะรู้สึกทนไม่ได้ เวลามีใครโดนกระทำ เราก็จะทนไม่ได้ พอเรามาเจอแอมเนสตี้ เลยรู้สึกว่า เออ เราจะเข้าสู่องค์กรนี้ เพื่อลองดูว่าเขาจะมีขบวนการทำงานอย่างไร”

 

 

สมัครสมาชิกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย เพื่อรับสิทธิประโยชน์ในการเข้าร่วมกิจกรรมขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชน และเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันสิ่งดีๆ แบบ Be One More! ได้ที่ https://shorturl.asia/RfG7B     หรือร่วมสนับสนุนบริจาคเพื่อเรื่องสิทธิมนุษยชน ได้ที่ https://bit.ly/3ZDmWbT