30 สิงหาคมของทุกปีคือวันผู้สูญหายสากล

30 สิงหาคม 2564

Amnesty International Thailand

PHOTO:OHCHR Mexico

ภาพการรวมตัวของผู้เป็นแม่และญาติๆ ของผู้ถูกบังคับให้สูญหายในหลายรัฐของเม็กซิโกที่มารวมตัวกันในเม็กซิโกซิตี้ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาลกลางเนื่องในวันแม่แห่งชาติของเม็กซิโก

 

การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นมากกว่าการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

การถูกบังคับให้สูญหายมักถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการข่มขวัญคนในสังคม ความรู้สึกหวาดระแวงที่มาจากภัยนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนใกล้ชิดผู้ถูกบังคับให้สูญหายเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบกับคนทั้งชุมชนและสังคมด้วย

 

การถูกบังคับให้สูญหายกลายเป็นปัญหาร่วมของคนในสังคมที่ไม่ได้จำกัดอยู่ในพื้นที่ใดที่หนึ่งของโลกเท่านั้น ครั้งหนึ่งสิ่งนี้เป็นผลพวงจากการมีรัฐบาลเผด็จการทหาร แต่ปัจจุบันการถูกบังคับให้สูญหายกลายเป็นวิธีการที่ใช้กันทั่วไปเมื่อเกิดความขัดแย้งภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือใช้ในการกำจัดกลุ่มหรือบุคคลที่เป็นขั้วตรงข้ามทางการเมือง โดยประเด็นสำคัญที่น่าเป็นห่วงคือ

 

- มีการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ญาติของผู้สูญหาย พยาน และผู้ให้คำปรึกษาทางกฎหมายในคดีการถูกบังคับให้สูญหายอย่างต่อเนื่อง

- เป็นเครื่องมือของรัฐที่ให้เหตุผลเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายมาบังหน้า

- การถูกบังคับให้สูญหายส่วนใหญ่ไม่สามารถนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้

 

นอกจากนี้ยังต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษกับกลุ่มคนที่เปราะบางโดยเฉพาะอย่างยาง เด็กและคนพิการปัจจุบันมีผู้คนหลายแสนคนถูกบังคับให้สูญหายในช่วงความขัดแย้งหรือช่วงเวลาแห่งการปราบปรามอย่างน้อย 85 ประเทศทั่วโลก

 

ใครคือผู้ได้รับผลกระทบ?

ตัวผู้ถูกบังคับให้สูญหายเอง

ผู้ถูกบังคับให้สูญหายมักต้องเผชิญกับการถูกทรมานและต้องอยู่อย่างหวาดกลัว พวกเขารู้ตัวดีว่าครอบครัวจะไม่รู้ชะตากรรมและโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือนั้นน้อยนิด การถูกพาออกไปจาก “สังคม”และพ้นจากเขตการคุ้มครองของกฎหมายทำให้พวกเขาถูกริดรอนสิทธิและชีวิตของพวกเขาตกอยู่ในกำมือของผู้กระทำให้บุคคลสูญหาย

 

แม้ว่าผู้ถูกบังคับให้สูญหายอาจรอดชีวิตออกมาได้ แต่ความทุกข์ทรมานทั้งกายและใจที่ได้รับในระหว่างที่สูญหายจะติดตัวไปตลอดชีวิต

 

ญาติและคนใกล้ชิดผู้ถูกบังคับให้สูญหาย

ญาติและคนใกล้ชิดของผู้ถูกบังคับให้สูญหายจะตกอยู่ในความเจ็บปวดทางใจที่ไม่รู้ว่าผู้ถูกบังคับให้สูญหายเป็นตายร้ายดีอย่างไร พวกเขาจะใช้ชีวิตอยู่ระหว่างความหวังและความสูญเสีย รอคอยนานแรมปี หวังเพียงเพื่อได้ยินข่าวคราวที่อาจไม่มีวันมาถึง ในขณะเดียวกันก็ตระหนักว่าตนเองก็อาจจะตกอยู่ในสภาพเดียวกัน และการตามหาความจริงจะทำให้ชีวิตต้องอยู่ในอันตรายยิ่งขึ้น

 

หลายๆ ครั้งที่ความตึงเครียดในครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหายมีปัจจัยทางวัตถุที่สำคัญ เพราะผู้ถูกบังคับให้สูญหายอาจเป็นเสาหลักในการหารายได้ให้กับครอบครัว หรือเป็นผู้เดียวที่มีความรู้หรือสามารถดำเนินธุรกิจครอบครัวได้ ทำให้ความทุกข์ตรมทางจิตใจต้องถูกซ้ำเติมยิ่งกว่าด้วยความขาดแคลนทางทุนทรัพย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ยิ่งชัดเจนเมื่อครอบครัวต้องนำเงินที่มีอยู่มาใช้จ่ายเพื่อตามหาผู้สูญหาย นอกจากนี้ การที่ไม่รู้ว่าผู้ถูกบังคับให้สูญหายจะกลับมาเมื่อไหร่ หรือกระทั่งว่าเขาจะกลับมาหรือไม่ ทำให้ครอบครัวปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้ยากขึ้น บางครั้งกฎหมายระบุว่าครอบครัวไม่สามารถรับเงินบำนาญหรือเงินช่วยเหลืออื่นๆ ได้หากไม่มีใบมรณะบัตร ทำให้ครอบครัวถูกกีดกันทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมโดยปริยาย

 

ความขาดแคลนทางเศรษฐกิจที่เป็นผลข้างเคียงจากการถูกบังคับให้สูญหายนั้น ผู้หญิงในครอบครัวมักจะเป็นผู้ต้องรับผลกระทบมากที่สุด และสุดท้ายก็มักจะเป็นผู้หญิงเสมอที่ต้องดิ้นรนตามหาผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ซึ่งทำให้ผู้หญิงเหล่านั้นตกเป็นเหยื่อการถูกข่มขู่คุกคามทั้งโดยกฎหมายและนอกกฎหมาย แต่หากผู้หญิงตกเป็นผู้ถูกบังคับให้สูญหายเสียเอง พวกเธอมักจะต้องเผชิญกับการคุกคามทางเพศและความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ ด้วย

 

เด็กก็สามารถตกเป็นเหยื่อทั้งทางตรงและทางอ้อม การบังคับเด็กให้สูญหายถือเป็นการละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเด็กอย่างร้ายแรง และการที่เด็กจะต้องรับผลกระทบจากการสูญเสียพ่อแม่ก็ละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็กหลายข้อด้วยเช่นกัน

 

ชุมชน

การสูญเสียผู้เป็นแหล่งทำรายได้หลักของครอบครัว ปัญหาทางเศรษฐกิจและการถูกกีดกันทางสังคมที่เกิดขึ้นกับครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหายทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อชุมชน และการถูกบังคับให้สูญหายนั้นจะสร้างความหวาดระแวงให้กับคนในชุมชนและสังคมส่วนใหญ่ด้วย

 

คำจำกัดความ

ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ที่สมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญได้รับรองไว้เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 1992 ได้ระบุความหมายของการบังคับให้สูญหายไว้ว่า

“การจับกุม กักขัง ลักพาตัว หรือการกระทำในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งดำเนินการโดยได้รับการอนุญาต การสนับสนุนหรือการยอมรับโดยปริยายของรัฐ ตามมาด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพ หรือการปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลที่หายสาบสูญ ซึ่งส่งผลให้บุคคลดังกล่าวตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย”

 

การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

การถูกพาออกไปจาก“สังคม”และพ้นจากเขตการคุ้มครองของกฎหมาย ทำให้ผู้สูญหายถูกริดรอนสิทธิทั้งหมดและต้องฝากชีวิตไว้ในมือของผู้บังคับให้สูญหาย โดยมีสิทธิที่ถูกริดรอนเป็นต้นว่า

-สิทธิในการได้รับการคุ้มครองทางกฏมาย

-สิทธิในการเสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล

-สิทธิในการไม่ถูกทรมาน หรือการปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี

-สิทธิในการมีชีวิต เมื่อผู้สูญหายถูกสังหาร

-สิทธิในสถานภาพของตน

-สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม

-สิทธิในการเยียวยาอันมีประสิทธิผลจากศาลที่มีอำนาจแห่งรัฐต่อการกระทำอันล่วงละเมิดสิทธิ

-สิทธิที่จะรู้ความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ที่มีการบังคับให้สูญหาย

 

นอกจากสิทธิทางสวัสดิภาพแล้ว การถูกบังคับให้สูญหายยังกระทบต่อสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอีกด้วย เป็นต้นว่า

-สิทธิในการปกป้องและจุนเจือครอบครัวของตน

-สิทธิในคุณภาพชีวิตที่ดี

-สิทธิทางสุขภาพ

-สิทธิในการศึกษา

 

ปัจจุบันทั้งธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศที่ประกาศใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2002 และข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองทุกบุคคลจากการบังคับให้สูญหายที่สมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญได้รับรองไว้เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2006 ได้ระบุไว้ร่วมกันว่า หากมีการใช้ “บังคับให้สูญหาย” อย่างเป็นระบบเพื่อโจมตีพลเรือนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การกระทำดังกล่าวจะถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งมีผลทำให้คดีดังกล่าวไม่มีวันหมดอายุความ เพื่อให้ครอบครัวของผู้สูญหายสามารถเรียกร้องให้มีการสอบสวนและได้รับการเยียวยาต่อไป

 

ที่มาของการจัดให้เป็นวันสำคัญ

ในวันที่ 21 ธันวาคม 2010 สมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญได้ผ่านมติที่ 65/209 ที่แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อสถิติการถูกบังคับให้สูญหายที่เพิ่มมากขึ้นในหลายๆภูมิภาคทั่วโลก โดยได้รวมไปถึงการจับกุม กักขัง และลักพาตัว อีกทั้งยังมีตัวเลขรายงานการข่มขู่คุกคามพยานหรือครอบครัวผู้เสียหายที่พุ่งสูงขึ้น

 

ซึ่งในมติดังกล่าวนี่เองที่อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับได้รับการรับรองจากสมัชชาสหประชาชาติ และประกาศให้วันที่ 30 สิงหาคม เป็นวันผู้สูญหายสากล โดยเริ่มปรับใช้ในปี 2011 เป็นต้นมา

 

ร่วมต่อต้านการถูกบังคับให้สูญหาย

การบังคับให้สูญหายไม่ได้มีแค่ในอดีต แต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในทุกภูมิภาค และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้ทางสหประชาชาติจึงเริ่มผลักดันให้จำนวนผู้ให้สัตยาบันต่อข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองทุกบุคคลจากการบังคับให้สูญหายมีมากขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2022 เราทุกคนยังมีเวลาที่จะช่วยกัน!

 

วิธีรายงานเหตุการถูกบังคับให้สูญหาย

คณะทำงานว่าด้วยการถูกบังคับให้สูญหายยินดีรับเคสจากทุกประเทศทั่วโลก และคุณไม่จำเป็นที่จะต้องดำเนินเรื่องกับหน่วยงานภายในประเทศก่อนที่จะส่งเคสมาให้ทางคณะ ผู้ที่สามารถแจ้งเหตุการถูกบังคับให้สูญหายได้แก่ญาติของผู้สูญหาย หรือองค์กรใดๆที่อาสาเป็นตัวแทน ดาวน์โหลดฟอร์มที่นี่ และส่งให้คณะได้ทางอีเมล์หรือจดหมาย ชมวีดีโอสาธิตการส่งเคส

 

ทำไมเราต้องจัดตั้งวันสำคัญ

วันสำคัญสากลเป็นโอกาศสำคัญที่หน่วยงานต่างๆจะสามารถให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อรวมพลังหรือทรัพยากรเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในระดับสากล และเพื่อเฉลิมฉลองและตอกย้ำความสำเร็จของมวลมนุษยชาติ วันสำคัญในระดับสากลเป็นสิ่งที่มีมาก่อนการก่อตั้งสหประชาชาติ แต่ทางสหประชาชาติก็ยินดีที่จะรับวิถีดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือสำคัญในวาระต่างๆ นอกจากนี้ทางสหประชาชาติยังมีธรรมเนียมปฏิบัติในรูปแบบอื่นๆอีกด้วย

 

เนื้อหานี้มาแปลจากเว็บไซต์ของ UN อ่านภาษาอังกฤษได้ที่นี่ https://www.un.org/en/observances/victims-enforced-disappearance