ฝันที่อยากฝัน กับ...ความหวังที่อยากให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น : 'อชิรญา บุญตา' หรือ 'จุ๊บจิ๊บ' กรรมการเยาวชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ประจำปี 2566

19 กันยายน 2566

Amnesty International Thailand

“ไม่รู้จะไกลไปไหมหรือใหญ่ไปหรือเปล่า แต่อยากเป็นผู้แทนประชาชน อยากเป็น สส. อยากใช้กระบอกเสียงของตัวเองทำเพื่อคนอื่น ทำให้ชีวิตของตัวเองและทุกคนดีขึ้น”

นี่เป็นความฝันของหญิงสาววัย 21 ปี ที่กำลังจะย่างเข้าสู่วัย 22 ปี ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เธอบอกเล่าความฝันที่กำลังผลิบานในใจฟังอย่างเขินอายและถ่อมตัว ‘อชิรญา บุญตา’ หรือ ‘จุ๊บจิ๊บ’ นักศึกษาชั้นปี 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง คือเจ้าของความฝันนี้ ความฝันที่ดูเหมือนไกล กำลังขยับเข้าใกล้ความเป็นจริงทีละนิด เมื่อเธอใช้ความฝันอันแรงกล้า มาเป็นแรงผลักดันพาตัวเองก้าวขึ้นสู่การเป็น 1 ในกรรมการเยาวชนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ประจำปี 2566 

ประกายความฝันของเธอถูกจุดขึ้นมาเมื่อช่วงปี 2562 ขณะนั้น ‘จุ๊บจิ๊บ’ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีโอกาสได้เป็นสภานักเรียน ภารกิจของเธอตอนนั้นคือการขึ้นรถแห่จับไมค์พูดเชิญชวนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แม้จะดูเป็นงานง่ายๆ แต่ ‘จุ๊บจิ๊บ’ บอกว่ามันเป็นงานที่ใหญ่มากสำหรับเธอในวัย 17 ปี เพราะเธอต้องพยายามทำเข้าความใจเรื่องข้อกฎหมายและรูปแบบการเลือกตั้งอย่างหนัก เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่ต้องสื่อสารอย่างถ่องแท้ แต่สิ่งที่ได้ไม่ใช่แค่รู้คำตอบ เธอยังเกิดคำถามว่าทำไมเธอถึงไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งที่อายุห่างจากพี่ ม.6 แค่ 1 ปี นั้นวุฒิภาวะต่างกันอย่างไร จุดนี้เองที่ทำให้เธอเริ่มสนใจการเลือกตั้ง และเรื่องสิทธิมนุษยชนขึ้นมาอย่างจริงจัง รวมถึงอยากหาวิธีปลดเปลื้องพันธนาการจากการถูกกดทับจากสภาพแวดล้อม ที่ทำให้รู้สึกว่าเราไม่สามารถกำหนดอะไรให้กับชีวิตตัวเองได้เลย 

“เราอยู่มัธยมปลายด้วยกัน แค่เราอายุห่างกัน 1 ปี เราก็มีสิทธิไม่เหมือนกันแล้วหรอ ได้แต่คิดไปเรื่อยว่าเราเองก็มีสิทธิเสนอเหมือนกัน เราอยากให้รัฐรับฟังเราบ้าง แต่ว่าทำไมเราถึงถูกจำกัดสิทธิในการเลือกตั้ง”

 

 

อีกเชื้อเพลิงความฝันที่ทำให้เธอยังคงมุ่งมั่นก้าวเดินไปยังหนทางที่ใฝ่หา คือวาทะของ ‘กุหลาบ สายประดิษฐ์’ นักเขียนชื่อดังเจ้าของนามปากกา ‘ศรีบูรพา’ กับประโยคอมตะที่ว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” วาทะนี้เองที่ทำให้เธอตั้งเป้าหมายหวังเป็น ‘ลูกแม่โดม’ เข้าเรียนในคณะรัฐศาสตร์ เพราะอยากจบออกมาทำงานให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะออกสู่สังคมให้มากขึ้น 

“พอเรามารู้เบื้องหลังของผู้เขียน เขาเหมือนเป็นแรงบันดาลใจให้เรา วันหนึ่งเราก็อยากทำให้คำพูดของเราสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นต่อไป อยากให้งานเขียนของเราสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นด้วย และอยากให้คำพูดของเราหรืองานเขียนของเราคอยอยู่ข้างๆ คนอื่น เวลาเขาเจอลมแรงจนไม่สามารถต้านแรงมันได้” 

แม้ ‘จุ๊บจิ๊บ’ จะได้เป็น ‘ลูกแม่โดม’ สมใจ แต่ด้วยเหตุผลของครอบครัว ทำให้เธอต้องเลือกเรียนคณะนิติศาสตร์แทนคณะรัฐศาสตร์ แม้จะไม่ได้เป็นอย่างที่หวังไว้แต่แรก แต่เส้นทางนี้ยิ่งทำให้เธอเข้าใจเรื่องกฎหมายและเรื่องสิทธิในด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเห็นช่องโหว่ของกฎหมายที่เธอมองว่ามันเป็นบ่อเกิดของปัญหาหลายอย่างที่หยั่งรากลึกในสังคมไทย และทำให้เห็นแก่นว่าหากอยากแก้ปัญหา ต้องแก้ที่กฎหมายข้อใด พอเรียนนิติศาสต์ ยิ่งทำให้เราสนใจเรื่องสิทธิมากขึ้นไหม เพราะเราเห็นช่องโหว่ของกฎหมาย ที่เรามองปุ๊บ ถ้าเราเรียนรัฐศาสตร์ได้เห็นอีกมุมมองหนึ่ง พอเห็นกฎกมายแล้ว ตัวแกนของกฎหมายแล้วมันทำให้เห็นว่าถ้าเราอยากแก้ปัญหา เราควรเเก้กฎหมายข้อไหน

“เราฝันอยากเห็นกฎหมายที่เป็นธรรม สมรสเพศเดียวกันได้ สิ่งที่เป็นแนวนโยบายของประชาชนเสนอได้ แต่การตัดสินใจมันอยู่ที่สภา จึงอยากให้ภาคประชาชน มีโอกาสประชุมร่วมกับ สส. ทุกคน ตุลาการ และผู้พิพากษา 3 หน่วยงานมาร่วมกัน เพื่อหาทางออกเดินหน้าเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ให้เป็นสิ่งที่รับรองโดยกฎหมาย”

 

 

‘จุ๊บจิ๊บ’ ยังตั้งเป้าหมายว่าเธอต้องการขับเคลื่อนเรื่อง ‘สิทธิมนุษยชน’ ให้ถูกพูดถึงในกระแสของกฎหมายด้วย เพราะในตัวกฎหมาย เธอมองว่าในนั้นยังมีคำว่า "สิทธิมนุษยชน” น้อยกว่าคำว่า “ความสงบเรียบร้อยของประชาชนและคุณธรรมอันดี” พร้อมเปรียบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยว่า เหมือนกับนิทานเรื่อง ‘ฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระราชา’ ที่เป็นผลงานของ ‘ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์’ นักเขียนเทพนิยายเด็กสายดาร์ก ที่พูดถึง ‘พระราชา’ องค์หนึ่ง โดนนักต้มตุ๋นอ้างตัวเป็นช่างตัดเสื้อหลอกลวงให้ใส่เสื้อผ้า ที่อ้างว่าทอมาจากไหมและทอง และที่สำคัญ ‘คนมีบุญเท่านั้นถึงจะมองเห็นชุดนี้’ แม้ ‘พระราชา’ จะมองไม่เห็น แต่เขาก็ไม่กล้าพูดว่ามองไม่เห็นเพราะกลัวจะเสียหน้า และทำเนียนๆ ว่าใส่ชุดนี้แล้ว ทั้งที่ความเป็นจริงไม่มีเสื้อผ้าอยู่เลย กลายเป็นว่า ‘พระราชา’ ต้องอยู่ในสภาพเดินแก้ผ้าไปทั่วเมือง โดยไม่มีข้าราชบริพารหรือประชาชนคนใดกล้าทักท้วง เพราะกลัวจะถูกลงโทษ เธอมองว่างานเขียนชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นมิติบางอย่างในสังคม ที่คนใหญ่คนโตมักขาดคนจริงใจข้างกาย อีกทั้งหากชนชั้นปกครองถูกปิดหูปิดตา และขาดปัญญาในการพิจารณาสิ่งต่างๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อการปกครองตามมา 

‘จุ๊บจิ๊บ’ จึงหวังว่าในสังคมไทยจะมีพื้นที่ให้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆ ได้อย่างอิสระ ตรงไปตรงมา และไม่มีความผิด โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ปราศจากความกลัวว่าหากพูดไปแล้วจะถูกจับหรือส่งผลกระทบกับงานที่ทำ และหากเสียงของเธอส่งไปถึง ‘นายกฯ และรัฐบาลชุดใหม่’ ได้ สิ่งที่เธออยากบอกพวกเขา คือ เรื่องสิทธิมนุษยชนก็สำคัญไม่แพ้ไปกว่าเรื่องความมั่นคงของชาติ และสิทธิของคนเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่เธอต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นนั่นคือ ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ควรถูกทำให้เป็นวารแห่งชาติในสังคม ที่ถูกนำมาทำให้เกิดขึ้นจริง  

นอกจากนี้ ‘จุ๊บจิ๊บ’ ยังมองว่าตามหลักสิทธิมนุษยชน นอกจากสิทธิในการแสดงความคิดเห็นแล้ว สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วง และสิทธิการประกันตัว ยังเป็นสิ่งที่เธออยากเรียกร้องต่อรัฐไทยว่าไม่ควรเลือกปฎิบัติ เพราะสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเราทุกคน โดยเฉพาะสิทธิการประกันตัวที่เธอให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด จนกว่าจะมีคำพิพากษาอย่างถึงที่สุด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนว่าเป็นผู้กระทําความผิดไม่ได้ ดังนั้นเมื่อกฎหมายสูงสุดของประเทศบัญญัติไว้แบบนี้แล้ว ควรกระบวรการยุติธรรมไทยควรจะต้องปฎิบัติให้ได้ แต่ที่ผ่านมาเรื่องนี้มักไม่เคยถูกทำให้เป็นแบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นคดีทางการเมืองหรือคดีทั่วไปที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดี โดยที่คำพิจารณาจากศาลยังไม่สิ้นสุด

และถ้าทำได้ ‘จุ๊บจิ๊บ’ ยกเลิกระเบียบฯว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกาและการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค เพราะจากการเรียนกฎหมาย เธอพบว่าผู้พิพากษาชั้นต้นต้องร่างคำพิพากษาส่งไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาดูก่อน ถ้าทำได้เธออยากคืนคำพิพากษาให้กับผู้พิพากษาศาลชั้นาต้นให้มีอิสระการตัดสินใจด้วยตัวเอง เพราะหากไปดูในระเบียบสำหรับเธอมองว่าการรายงานลักษณะนี้เหมือนเป็นการบังคับเรื่องคำตัดสินต่างๆ ทางอ้อมในคดีที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ใช่แค่คดีทางการเมือง

ด้วยเหตุนี้เอง ‘จุ๊บจิ๊บ’ จึงย้ำให้เห็นว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีใครถูกพรากไปจากชีวิต ไม่ว่าจะเป็นใครหรืออยู่ส่วนไหนของโลกใบนี้ สำหรับเธอมองว่านี่อาจเป็นเหตุผลที่ดูเล็กน้อยหรือกว้างสำหรับใครที่ได้พบเห็นหรืออ่านเรื่องราวของเธอ แต่สำหรับเธอนี่คือเหตุผลที่ดีต่อใจของเธอ และเป็นแรงผลักดันให้เธอตัดสินสมัครเข้าเป็นหนึ่งในกรรมการเยาวชนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขึ้นเวทีเรียกคะแนนเสียงจากสมาชิกที่เข้าร่วม เพื่อเก็บแต้มสะสมชั่วโมงบิน ปูทางในอนาคตตามสิ่งที่เธอฝันคือการเป็นผู้แทนของประชาชน

“สิทธิมนุษยน เป็นสิ่งที่ไม่ควรถูกละเลย มันเป็นความสำคัญที่ควรได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เพื่อที่จะทำให้เราไม่ถูกละเมิดและปกป้องตัวเองได้ และสามารถดำรงความยุติธรรมของตัวเองได้  มันเป็นเรื่องของเราทุกคนที่ต้องปกป้องตัวเอง และร่วมกันช่วยเหลือปกป้องเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ด้วย” 

สำหรับ ‘จุ๊บจิ๊บ’ เธอรู้จักกับแอมเนสตี้ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม ตรงกับช่วงที่กำลังตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชน คือ ‘สิทธิการเลือกตั้ง’ ระหว่างนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กับ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากนั้นเธอจึงเริ่มสนใจเกี่ยวกับคำว่า รัฐประหาร ผู้ลี้ภัย เพราะในช่วงนั้นเหตุการณ์ทางการเมืองค่อนข้างครุกกรุ่น มีคนออกมาแสดงความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ ของรัฐบาล รวมถึงมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้คนส่วนหนึ่งต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ สิ่งที่จุดประกายให้เธอยิ่งสนใจมาเข้าร่วมกับแอมเนสตี้คือการเริ่มค้นหาคำว่าผู้ลี้ภัยผ่านทางกูเกิ้ล แต่กลับพบเว็บไซต์ของแอมเนสตี้ที่บอกเล่าเรื่องราว ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในแง่มุมต่างๆ ทำให้เธอตัดสินใจเขียนนิยายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย และเรื่องอื่นๆ ขึ้นมา รวมถึงวาดภาพที่สะท้อนเรื่องราวสถานการณ์บ้านเมืองผ่านประเด็นต่างๆ ในสังคม เธอมองว่าเว็บไซต์แอมเนสตี้เป็นประตู่สู่โอกาสที่ทำให้ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งขับเคลื่อนขบวนการสิทธิมนุษยชนในเมืองไทยและระดับโลก

ส่วนสิ่งที่ทำให้เธอตัดสินใจสมัครเป็นกรรมการเยาวชนแอมเนสตี้ เหตุผลหลักคือความต้องการที่จะทำให้ถิ่นฐานบ้านเกิดของเธอที่อยู่ต่างจังหวัดมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงเรื่องสิทธิต่างๆ ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เพราะในต่างจังหวัดมีข้อจำกัดเรื่องการเอื้อมมือถึงเรื่องสิทธิ ‘จุ๊บจิ๊บ’ จึงต้องการเป็นกระบอกเสียงให้คนในพื้นที่ในวัยที่เธอกำลังผลิบานและเติบโต สิ่งนี้คือประเด็นที่เธอนำมาหาเสียงเรียกคะแนนในวันนั้นบนเวทีการหาเสียงของเธอในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 ที่เปิดพื้นที่ให้สมาชิกร่วมกันแสดงความคิดเห็นและกำหนดทิศทางการทำงานแอมเนสตี้ เพื่อขับเคลื่อนขบวนการด้านสิทธิมนุษยชนเชิงรุกให้มีทิศทางที่ดีขึ้น

“หนูเกิดและเติบโตในต่างจังหวัด ไม่มีพื้นที่ในการเข้าร่วมหรือแสดงออกเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแบบที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ อาจมีบ้างแต่น้อยเหลือเกิน เลยอยากเข้ามาร่วมกำหนดทิศทางกับแอมเนสตี้เรื่องการศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ทั่วประเทศ อยากให้มันเชื่อมโยงไปยังเยาวชนไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไม่ให้กระจุกตัวอยู่แค่หัวเมือง”

ช่วงท้ายของการพูดคุยกับ ‘จุ๊บจิ๊บ’ เธอยังฝากความหวังกับเยาวชนที่เป็นเมล็ดพันธุ์ของชาติ เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ที่ตรงกับวันที่ 20 กันยายนของทุกปี โดยเธอหวังว่า “เยาวชนจะไม่ต้องทนเจ็บปวดกับระบอบที่อนุญาตให้มีการกดขี่ ไม่ว่าจะด้วยสถานภาพทางสังคม ทางเพศ หรือเชื้อชาติ หวังว่าทุกคนจะเคารพในสิทธิมนุษยชนและขอให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีกว่านี้” 

วันเยาวชนแห่งชาติปีนี้ ทุกคนสามารถเป็นหนึ่งในขบวนการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนไปกับแอมเนสตี้ได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการณรงค์ออนไลน์เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือสมัครสมาชิกเพื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการบริหาร กำหนดทิศทางของแอมเนสตี้ หากไม่กล้าที่จะมาคนเดียวสามารถสมัยแบบกลุ่มเพื่อรับทุนสนับสนุนทำกิจกรรมต่างๆ หากเป็นสายชอปปิ้งแอมเนสตี้ยังมีร้านค้าที่เป็นอีกช่องทางสนับสนุนงานเพื่อสิทธิมนุษยชนให้เป็นเรื่องของทุกคนในสังคม คลิกเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : bit.ly/43Y1SNN