ทุกความปวดร้าวต้องไม่เลือนหาย เพราะทุกเรื่องราวจะถูกเล่าเพื่อ “พวกเขา”

30 มิถุนายน 2565

Amnesty International

คุณเชื่อในพลังแห่งการเล่าเรื่องไหม?

 

วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม 2565 ที่นิทรรศการ “เลือน แต่ไม่ลืม” แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดเวทีคุย “เพราะเล่าเรื่อง จึงพบเจอ” พร้อมชวนคนเล่าเรื่องอย่าง สุเมธ สุวรรณเนตร ผู้กำกับสารคดีสั้น “เลือน แต่ไม่ลืม”  ทินฉาย มนต์ ผู้กำกับภาพยนตร์สั้น “A DAY WILL COME”- สุรีย์ฉาย แก้วเศษ ผู้เขียนบทซีรีส์ “Not Me เขา ไม่ใช่ผม” และ จิราภรณ์ ศรีแจ่ม เจ้าของรางวัลดีเด่น รางวัลสารคดีหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทรายการโทรทัศน์ รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ดำเนินรายการโดย วศินี พบูประภาพ สื่อมวลชน มาร่วมเดินทางตามหาความทรงจำระหว่างทางของการเล่าเรื่องของพวกเขา 

 

กอบเก็บหลักฐานอันเลือนลาง ร้อยเรียงชิ้นส่วนของความทรงจำ ฉายสะท้อนผ่านเรื่องเล่าหลากรูปแบบ หลายมุมมอง ทว่า มุ่งสู่จุดหมายเดียวกัน คือทวงคืนความยุติธรรมให้กับทุกบุคคลผู้เป็นที่รักของใครสักคน แต่กลับถูกทำให้สูญหายและลืมเลือน 

หาย… จากครอบครัว และคนที่รัก

หาย… จากการสืบคดี

หาย… จากการกระบวนการยุติธรรมของภาครัฐ

หาย… จากการมีตัวตนในสังคมไทย

 

แต่การเล่าเรื่อง คือการที่ไม่ยอมให้พวกเขาหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ด้วยการเล่าขานให้ทุกคนได้จดจำ ทุกบาดแผลที่รัฐกระทำต้องได้รับการเยียวยา

 

บันทึกบทที่ 1 เชื่อมต่อความทรงจำ…สู่สารคดี ‘เลือน…แต่ไม่ลืม (Lost, and life goes on)’        

เลือน…แต่ไม่ลืม (Lost, and life goes on) เป็นสารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวของญาติผู้ถูกบังคับให้สูญหายระหว่างการสลายการชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภา 2535 หรือพฤษภาทมิฬ  โดยระหว่างการหาข้อมูลเพื่อถ่ายทำ สุเมธ สุวรรณเนตร ผู้กำกับสารคดีเล่าว่า หลักฐานต่างๆ ในเหตุการณ์ พฤษภา 2535 ดูเหมือนถูกจงใจทำให้เลือนหายไป

“มันมีอนุสรณ์วีรชนที่ถูกสร้างขึ้นหลังสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)ชนะ แต่ผมรู้สึกว่าที่นี่ไม่ถูกให้ความสำคัญเท่าไหร่ เพราะตอนไปหาสถานที่เพื่อจะถ่ายอินเสิร์ทภาพ ตอนแรกผมหาไม่เจอ ก็เดินวน ๆ จนไปเจอตรงบริเวณลานจอดรถที่มีคอนเทนเนอร์ตั้ง โดยมันตั้งอยู่ด้านหลังซึ่งมีไม้ทับอีกที และเขาน่าจะกำลังปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นสวนหย่อมอยู่ด้วย มันเลยเหมือนอนุสรณ์นี้ถูกปิดกั้นตลอด 
ถูกพยายามทำให้หายไป ไม่ค่อยมีคนให้ความสำคัญเท่าไหร่ ซึ่งเราก็พยายามที่จะสื่อสารประเด็นนี้ในสารคดี แต่ไม่รู้ว่าคนดูจะรู้สึกหรือเปล่า”

สุเมธได้สำรวจความคิดเห็นจากแหล่งข่าวเพิ่มเติม และพบว่าหลายคนยังมองว่าการบังคับสูญหายเป็นเรื่องไกลตัว แม้กระทั่งผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมในปัจจุบันเอง บางคนก็ยังไม่เข้าใจในประเด็นนี้ คิดว่าการถูกอุ้มเป็นเพียงการอุ้มทำร้ายร่างกายเท่านั้น

“สารคดีเรื่องนี้ผมตั้งใจให้มันสื่อคำว่า ‘สูญหาย’ ให้คนเข้าใจ มันไม่ใช่แค่การทำร้ายหรือทำให้หาย แแต่มันคือการซ่อนศพ ซ่อนหลักฐานที่เกี่ยวกับการมีอยู่ และใช้ช่องว่างของกฎหมายในการกลั่นแกล้งไม่ให้คนธรรมดาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ ซึ่งพอไม่มีหลักฐาน เจ้าหน้าที่จะบอกอะไรกับเราก็ได้โดยที่เราไม่รู้ว่าใครทำ” 

"ผมถามว่าเขาให้เท่าไหร่ ป้าบอกสองแสน ถามว่าพอไหม แกบอก แล้วชีวิตคนเรามันมีค่าเท่าไหร่ ผมเลยได้เข้าใจว่าการเยียวยาไม่ใช่แค่การให้เงิน เพราะเรื่องของคน มันเป็นเรื่องของจิตใจ"

คำบอกเล่าของสุเมธ หลังจากได้พูดคุยกับครอบครัวของผู้ถูกบังคับอุ้มหาย

 

บันทึกบทที่ 2 ประกอบจิ๊กซอว์ความจริง…สู่ภาพยนตร์สั้น ‘สุสานดวงดาว (A Day Will Come)’

สุสานดวงดาว (A Day Will Come) ภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับการตั้งคำถามของนักกิจกรรมคนหนึ่ง ที่กังขาในกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน หลังจากน้องสาวของเธอหายตัวไป โดยคุณทินฉาย มนต์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เล่าว่า ช่วงที่ทำหนังมีข่าวพบร่างนิรนามถูกคลุมด้วยกระสอบ เลยลองหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าตัวตนของผู้เสียชีวิตเป็นใคร ทำไมถึงถูกพยายามทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนได้ ซึ่งระหว่างหาข้อมูล ก็ได้พบข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูญหายเยอะมาก เราเลยคิดว่าประเด็นนี้สมควรถูกเล่า

“ในเวลาใกล้ ๆ กัน มีนักกิจกรรมท่านหนึ่งที่เรารู้จัก คือ ‘คุณนิว สิรวิชญ์’ ถูกทำร้ายร่างกายที่หน้าปากซอยบ้านของเขาเอง ซึ่งแบบนี้มันไม่ปกติ ทำไมเขาถึงถูกทำแบบนี้ ทั้งที่แค่อยากจะเรียกร้อง อยากจะพูดอะไรบางอย่างเพื่อสิทธิของผู้อื่น เราเลยตัดสินใจเล่าเรื่องเรื่องนี้ออกมาผ่านมุมมองของนักเขียนที่อยากจะเล่าเรื่องราว เพราะเราอยากเล่าผ่านมุมมองคนธรรมดาที่รับรู้เรื่องพวกนี้ ซึ่งมักรู้สึกว่าอยากจะพูดแต่ก็แอบกลัวด้วย ซึ่งนั่นก็คือเอาตัวเราเองมาเสนอเรื่องราวผ่านตัวละครดังกล่าว”

ทินฉายเสริมอีกว่า หนังเรื่องนี้จัดทำก่อนที่จะมีการประท้วงใหญ่ ซึ่งตอนนั้นตัวเขาเองค่อนข้างสิ้นหวังกับสังคม จึงอยากทำหนังที่เป็นการบันทึกความรู้สึกและประวัติศาสตร์ อีกทั้ง ยังอยากให้ผู้ชมได้มีความหวังขึ้นมาว่า เราสามารถมีสังคมที่ดีกว่านี้ได้ สังคมที่ไม่มีการอุ้มหายและการทรมาน

"ระหว่างที่หาข้อมูลเพิ่มสำหรับทำหนัง ก็มีเหตุการณ์คล้ายๆ กันเกิดขึ้นอีกแล้ว เราไม่รู้ว่าสิ่งนี้มันจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ การอุ้มหาย การทรมาน หรือว่าการคุกคามมันเกิดขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็มันก็เป็นการกระทำโดยรัฐ ซึ่งทำกับประชาชนที่เขาแค่ต้องการออกมาเรียกร้อง แต่สิ่งที่รัฐให้ไม่ใช่สิ่งที่เขาเรียกร้อง แต่เป็นการทำให้เขาหายไป" 

ทินฉายกล่าวถึงความรู้สึกหลังเห็นข่าวการบังคับอุ้มหายที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง

 

บันทึกบทที่ 3 ผสานเสียงของคนตัวเล็ก…สู่ซีรีส์ ‘NOT ME เขา…ไม่ใช่ผม’

NOT ME เขา…ไม่ใช่ผม  ซีรีส์ที่หยิบเอาประเด็นทางสังคม อาทิ การอุ้มหาย สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออก และหลักนิติธรรม (Rule of Law) ฯลฯ มาผสมกลมกลืนกับฟิคชั่นได้อย่างลงตัว ซึ่ง สุรีย์ฉาย แก้วเศษ ผู้เขียนบทซีรีส์ดังกล่าว ตั้งใจที่จะสื่อสารประเด็นที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ จึงได้ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม และจุดประกายเป็นซีรีส์เรื่องนี้ขึ้นมา

“ช่วงที่เขียนบทคือปี 2563 เราก็ได้เข้าไปศึกษาทุกทาง ทุกการชุมนุม เพื่อให้เห็นคาแรกเตอร์ของเด็กรุ่นใหม่ เพราะพอจะเอาเรื่องการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่มานำเสนอ เราก็ต้องศึกษาว่าใครจะเป็นโรลโมเดลให้เราได้บ้าง โดยประเด็นหลักในซีรีส์คือเรื่อง Freedom of Speech ซึ่งพูดถึงการถูกลิดรอนเสรีภาพด้านการแสดงออกในประเทศเรา ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ”

นอกจากนี้ ในซีรีส์ยังมีการพูดถึงการเรียกร้องของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ อีกด้วย ประจวบกับในช่วงเวลานั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไม่รับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จึงทำให้เป็นที่มาของการที่ทีมงานตัดสินใจจัดม็อบเรียกร้องกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในซีรีส์ ซึ่งออกแบบให้จบเป็นปลายเปิด เพื่อให้ทุกคนยังคงมีความหวังต่อข้อเรียกร้องนี้

“ส่วนฉากบังคับสูญหายในตอนท้ายเรื่อง ที่มีตัวละครถูกจับขึ้นรถตู้แล้วเอาผ้าคลุมหัว โดยหนึ่งในตัวละครที่ถูกจับเขาอยู่กับแม่สองคน รวมทั้งแม่เขาเป็นผู้พิการทางการได้ยินด้วย พอได้ยินคนที่มาจับพูดว่ากูจะทำให้มึงหายไป เขาเลยพูดกับคนอื่นๆ ที่ถูกจับมาด้วยกันว่า ถ้าเราตายไปเลย แม่กูยังพอทำใจได้ แต่ถ้ากูหายไปเฉยๆ แม่กูจะรับไว้หรอ ซึ่งตรงนี้เราได้แรงบันดาลใจมาจากตอนดูสารคดีที่สัมภาษณ์ ‘พี่เจน’ พี่สาวของคุณวันเฉลิม ที่เล่าว่าเขายังคงเก็บทุกอย่างของคุณวันเฉลิมไว้ ถามว่าเขามีความหวังไหม มันก็มีถึงแม้จะริบหรี่ก็ตาม เขาอยากจะรู้ชัดๆ ว่าน้องเขายังอยู่หรือตาย อยากรู้ว่าหน่วยงานรัฐยังดำเนินคดีหรือติดตามผู้สูญหายให้อยู่ไหม ไม่ใช่ว่าเงียบหายไปเลย มันทุกข์ทรมานกับญาติและคนรอบข้าง” 

สุรีย์ฉายเพิ่มเติมว่า บทสรุปของฉากข้างตนคือ ประชาชนสามารถช่วยเหลือกลุ่มที่โดนจับออกมาจากรถตู้ได้ ซึ่งก่อนที่จะออกอากาศฉากนี้ คอมเมนท์จากผู้ชมส่วนใหญ่เดาว่า ต้องมีตัวละครที่มีอำนาจเข้ามาช่วยเหลือ แต่ไม่มีคอมเมนท์ไหนเดาว่า จะถูกช่วยจากประชาชนด้วยกันเองเลย โดยจริงๆ แล้วฉากนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ที่ประชาชนช่วยเพนกวินและไมค์ ซึ่งถูกจับอยู่บนรถของตำรวจแล้วขาดอากาศหายใจ ประชาชนจึงช่วยกันเอาเขาออกมา เธอต้องการให้ฉากนี้ทำให้ผู้ชมรู้สึกมีความหวัง เสมือนว่าเราจะไปจุดเทียนที่ปลายอุโมงค์ด้วยกัน

"เราอยากนำเสนอว่า สังคมทุกวันนี้เคยชินกับการมีฮีโร่ ชินกับการถูกกดทับมานาน จนรู้สึกว่าเสียงประชาชนทั่วไปช่างเบาเหลือเกิน เราต้องการเน้นย้ำว่า เสียงของเราทุกคนดังเท่ากัน แล้วถ้ายิ่งเสียงเราดังมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งบอกถึงสิ่งที่เราโดนกดทับในปัจจุบันนี้ได้มากขึ้น"

สุรีย์ฉายเน้นย้ำถึงสิ่งที่อยากให้ทุกคนในสังคมตระหนักรู้ร่วมกัน

 

บันทึกบทที่ 4 เปิดเผยความจริงที่ถูกปิดบัง…สู่สารคดีข่าว ‘ชีวิตหนี้มลาบรี’

ชีวิตหนี้มลาบรี สารคดีข่าวโดยจิราภรณ์ ศรีแจ่ม เจ้าของรางวัลดีเด่น รางวัลสารคดีหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทรายการโทรทัศน์ รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยสารคดีดังกล่าว ได้ตีแผ่ชีวิตของชาวมลาบรีที่โดนเอาเปรียบจากนายทุน จนไม่สามารถหลุดพ้นจากวังวนแห่งการเป็นหนี้ได้ ทว่า ภาครัฐกลับไม่เคยเหลียวและเยียวยาพวกเขา ปัญหาของชาวมลาบรีจึงถูกทำให้เลือนหายไปจากสังคม 

“ชาวมลาบรีส่วนใหญ่รับจ้างทำไร่ข้าวโพดหรือเกษตรกรรมที่คนทางนั้นทำกันเป็นไร่ ซึ่งนายจ้างก็จะเป็นอีกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่อยู่ตรงนั้น หรือว่าคนในเมืองที่อยู่ข้างนอกแล้วมีที่ดินข้างใน โดยนายทุนจะจ้างหนึ่งครอบครัวแล้วเหมาเป็นรายปี ให้ชาวมลาบรีเตรียมดิน หยอดข้าวโพดตลอดจนเก็บเกี่ยว แล้วให้ค่าจ้างครอบครัวนึงปีละ 1,600 บาท ไม่เกิน 4,000 บาท โดยอ้างว่า ก็ฉันมีข้าวให้เธอกิน 3 มื้อ แต่คนเราไม่สามารถอยู่ได้ด้วยค่าจ้าง 4,000 บาทต่อปี ไหนจะยังมีครอบครัวมีลูกอีก เขาเลยต้องเบิกค่าจ้างล่วงหน้าก่อนปีนึง พอเบิกแบบนี้ก็กลายเป็นว่า พอเข้าฤดูกาลหน้าก็ไม่มีเงิน เพราะเบิกมาก่อนแล้ว พอมีลูก ลูกก็โตในไร่ แล้วเดี๋ยวลูกก็ต้องมากลายเป็นแรงงานครอบครัวอีก มันเรียกว่าทาสสมัยใหม่ ซึ่งปัญหานี้มันเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ อยู่ในทางตอนเหนือของไทย”

จิราภรณ์เล่าต่อว่า จากสถิติในช่วง 3 ปีที่ผ่าน พบว่าสถิติการฆ่าตัวตายของชาวมลาบรีอยู่ที่ 15 คน ต่อประชากร 100 คน ซึ่งนับว่าเป็นสถิติที่สูงมาก เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถทนกับภาวะกดดันหนี้สินได้ แม้ว่าพวกเขาจะโดนเอารัดเอาเปรียบหนักเพียงใด แต่หน่วยงานภาครัฐกลับไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งในหลายๆ ครั้ง บางปัญหาที่ร้ายแรงกลับไม่สามารถเล่าได้ ต้องจำยอมให้เลือนหายไป ด้วยข้อจำกัดในด้านต่างๆ

“ย้อนกลับไปมีเคสที่มีคนมาเล่าให้เราฟังว่า บ้านนี้เพิ่งคลอดลูกแต่นายจ้างไม่ยอมให้เขาหยุด เขาก็ต้องกระเตงลูกที่เพิ่งคลอดหิ้วไปไร่ข้าวโพด แต่สุดท้ายลูกก็ตายคาอก แล้วไหนจะเรื่องการข่มขืนในไร่อีก แต่บางทีมันเล่าไม่ได้ เพราะเขาไม่เล่า แล้วเราเองก็ไม่มีภาพ มันเลยกลายเป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือพอ”

สิ่งที่จิราภรณ์กังวัลมากที่สุดคือ การสูญหายของวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากแรงงานครอบครัวต้องทำงาน ลูกเด็กเล็กแดงจึงต้องไปอยู่ศูนย์เด็กเล็กที่เน้นการเรียนการสอนเป็นภาษาไทย พอลูกโตก็ต้องกลับมาเป็นแรงงานให้แก่ที่ไร่ ซึ่งวงจรการใช้ชีวิตตามแบบดังกล่าว อาจจะส่งผลให้เด็กๆ ชาวมลาบรีในอนาคตไม่สามารถพูดภาษามลาบรีได้ หากเป็นเช่นนั้นแล้ว อัตลักษณ์ความเป็นมลาบรีคงค่อยๆ ถูกทำให้เลือนไป และไม่เหลืออะไรนอกจากป้ายหน้าทางเข้าหมู่บ้าน

"ล่าสุดเราไปเจอเด็กผู้หญิงอายุประมาณ 14 ขี่มอเตอร์ไซค์ขึ้นมาบ้าน เพื่อมาเอาข้าวสารกลับไปกินที่กระต๊อบท้ายไร่ซึ่งต้องขึ้นเขาไปอีก เราก็ถามว่าวันนี้เป็นยังไงบ้าง สายตาเขาทอดไปแบบว่างเปล่ามาก เขาบอกว่าเหนื่อย ไม่รู้ว่ามันจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ เหนื่อยมากไม่รู้จะอยู่ไปทำไม"

จิราภรณ์เล่าถึงความทรงจำอันเจ็บปวดระหว่างที่ตนเองลงพื้นที่หาข้อมูลทำสารดีข่าว

 

 

“ใครจะรู้ หนึ่งการบอกเล่า อาจช่วยชีวิตคนได้หนึ่งคน หนึ่งการลุกขึ้นพูด อาจมีหนึ่งชีวิตที่ได้รับการแก้ไขปัญหา”

“เราอยากให้เสียงของคนที่ไม่มีเสียงได้มีพื้นที่ในสาธารณะมากขึ้น ยิ่งเราไม่ให้เขาพูด เขาจะไม่กล้าพูด ไม่มีทางพูด และไม่มีใครรู้ แต่ถ้าเขาได้พูด เขาจะรู้สึกว่ามันได้รับสิ่งบางอย่างจากการพูด แล้วเขาก็จะเริ่มที่จะกล้าพูด” จิราภรณ์กล่าวพร้อมชี้ว่า ปัญหาของบางคนในสังคมไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในที่สาธารณะ ดังนั้น สื่อควรทำหน้าที่กระจายเสียงของคนเหล่านั้นให้ดังขึ้น แม้ว่าปัญหาเหล่านั้นอาจจะไม่ได้รับการแก้ไขทันที ทว่า อย่างน้อยก็ยังได้รับการถูกบันทึกว่ามีปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นในสังคมไทย 

สุเมธเสริมว่า การถูกบังคับสูญหายเป็นเรื่องของทุกคน เพราะสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ดังนั้นทุกคนควรร่วมกันผลักดันให้เกิดพ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหายและซ้อมทรมาน ซึ่งหากพ.ร.บ.นี้เป็นรูปร่างขึ้นมา ก็จะทำให้การอุ้มหายเป็นไปได้ยากขึ้น “ ผมตั้งเป้าไว้อย่างเดียวว่า คนที่ดูสารคดีเรื่องนี้แล้วจะเข้าใจคำว่าบังคับสูญหาย ดูแล้วคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างให้พ.ร.บ มันเกิดขึ้น เพราะผมเชื่อว่า ถึงเราจะเป็นแค่ฟันเฟืองเล็กๆ แต่เราก็สามารถที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้”

สุรีย์ฉายกล่าวว่า หลายคนเริ่มเคยชินกับการใช้ชีวิตท่ามกลาง COVID-19 เพราะเราอยู่กับโรคดังกล่าวมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเสมือนกับการที่รัฐหล่อหลอมให้คนในสังคมเคยชินกับการใช้ความรุนแรง ด้วยการสร้างความรุนแรงกับประชาชนเรื่อยๆ จนหลายคนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่สิ่งนี้ไม่ใช่ความปกติแม้แต่น้อย เราทุกคนไม่ควรเฉยชากับเรื่องเหล่านี้ และต้องช่วยกันจับตาดูพ.ร.บ. อุ้มหาย เนื่องจากร่างพ.ร.บ.อุ้มหายที่ผ่านสภา ยังคงมีช่องโหว่อยู่เยอะมาก “หากไม่มีกฎหมายที่แข็งแรง เราก็ไม่สามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ รัฐจะคิดว่าเขาทำอะไรกับเราก็ได้ โดยสามารถลอยนวลพ้นผิด เราอยากให้พลเมืองตระหนักและตื่นรู้ ช่วยกันทำให้กฎหมายแข็งแรง สังคมเราจึงจะมีหวังขึ้นมา”

“ทุกคนควรตระหนักรู้และช่วยกันผลักดันให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีสัญชาติ ไม่มีสัญชาติ หรือแม้แต่กลุ่มชาติพันธุ์ เพราะสิทธิมนุษยชนคือการที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน” ทินฉายกล่าว พร้อมทิ้งท้ายว่า อยากให้ทุกคนจำสิ่งที่เกิดขึ้น จดจำใบหน้าของผู้ที่สูญหาย พร้อมศึกษาประวัติศาสตร์ว่าทำไมเราและสังคมดำเนินมาถึงจุดนี้ได้ เพื่อไม่ทำผิดพลาดซ้ำแบบในอดีตอีก