วันผู้สูญหายสากล เรื่องที่ทุกคนต้องไม่ลืม
รู้จัก 'กฎหมายอุ้มหาย' เครื่องมือป้องกันบุคคลสูญหาย จาก 'อาชญากรรมพิเศษ' โดยเจ้าหน้าที่รัฐ

29 สิงหาคม 2566

Amnesty International Thailand

เพราะ ‘คดีอุ้มหาย’ ไม่ใช่คดีธรรมดาทั่วไป แต่เป็นอาชญากรรมพิเศษ ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นฝ่ายกระทำปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดการผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ ‘พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย’ นานกว่า 20 ปี ปัจจุบันฝันได้กลายเป็นจริง กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมาแล้ว แต่ยังมีครอบครัวที่ยังไม่รู้ชะตากรรมผู้สูญหายอีกเป็นจำนวนมาก หลายคนยังตั้งหวังว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะประกาศใช้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งฉบับ และรอคอยว่าสักวันหนึ่งคนในบ้านจะกลับสู่สภาพเดิม

 

องค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันผู้สูญหายสากล เพื่อรำลึกถึงบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย เนื่องจากเล็งเห็นถึงปัญหาการละเมิดสิทธิของความเป็นมนุษย์ และตระหนักถึงสถานการณ์การบังคับสูญหายหรือการอุ้มหายที่เกิดขึ้นทั่วโลก

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยังคงขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เป็นเรื่องของทุกคนต่อไป เพราะ ‘การบังคับให้สูญหาย’ หรือ ‘อุ้มหาย’ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง รวมถึงการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่างเป็นอาชญากรรมขั้นร้ายแรงที่ต้องถูกตัดตอนให้ออกไปจากสังคม

 

หลายคนอาจรู้จัก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายกันบ้างแล้ว แต่เพื่อทบทวนความจำและรู้จักกฎหมายฉบับนี้มากขึ้น ชวนทุกคนทำความเข้าใจกฎหมายฉบับนี้กับ สมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่ปรึกษาอาวุโสมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เพื่อทำให้ไม่มีอาชญากรรมพิเศษโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่บังคับบุคคลให้สูญหาย หรือถูกทรมานย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

           

จุดเริ่มต้นการผลักดัน พ.ร.บ. นี้ ?

สมชาย เล่าว่า งานด้านสิทธิมนุษยชนมานานพอสมควร เป็นประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เริ่มต้นทำประเด็น ‘กรณีบังคับให้สูญหาย’ เช่น ทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับครอบครัวของเขาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับครอบครัวของทนายสมชาย หลังจากนั้นได้ทำต่อเนื่องมาเรื่อยๆ เช่น เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากเหตุการณ์ปล้นปืน เมื่อปี 2547 ที่ค่ายเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงลงไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมาก ตามนโยบายรัฐบาลสมัย ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เป็นนายกรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่อ้างว่าไปทำหน้าที่จับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่ปล้นปืน เพื่อเชื่อว่าคนกลุ่มนั้นเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ตอนนั้นพบคนจำนวนมากที่ถูกต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับความไม่สงบถูกอุ้มหายไป ถูกทรมาน ถูกจับกุมคุมขังจำนวนมาก นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจว่าทำไมการอุ้มหาย อุ้มฆ่า การทรมานถึงเกิดขึ้นในสังคม

 

ปัญหาคดีอุ้มหายในประเทศไทย ?

เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกฎหมายห้ามทรมาน ห้ามอุ้มหาย มีแต่ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ยิ่งคำว่า ‘การกระทำให้บุคคลสูญหาย’ ในตอนนั้นแทบจะไม่ค่อยมีใครพูดถึงหรือรู้จัก เพราะไม่มีกฎหมายในตอนนั้น ที่สำคัญการกระทำผิดลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ทำให้การนำตัวคนผิดมาลงโทษตามกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเจ้าหน้าที่ทำผิดเอง สืบสวนสอบสวนกันเอง ยิ่งไม่มีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหายในตอนนั้น เรื่องนี้ยิ่งไม่ถูกได้รับการคลี่คลายหรือให้ความสำคัญเท่าไหร่นักจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ

 

“เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง มีอิทธิพลต่อฝ่ายกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่ทำเอง สอบเอง ทำคดีเอง เป็นไปไม่ได้ที่จะนำตัวคนผิดมาลงโทษ ที่สำคัญข้อหาอุ้มหายไม่มีในตอนนั้น เพราะหลักกฎหมายอาญา การที่จะดำเนินคดีใครก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะคนทั่วไปหรือใครก็ตาม ในความผิดทางอาญามันต้องมีกฎหมายกำหนดไว้ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดก็ดำเนินคดีไม่ได้”

 

ในตอนนั้นกฎหมายในไทยยังไม่มีความผิดฐานทรมาน ไม่มีความผิดฐานอุ้มหาย บางคนอาจไม่ได้ถูกทรมานโดยทำให้เนื้อตัวบอบช้ำหรือได้รับบาดเจ็บทางกายภาพรุนแรง แต่พบว่าหลายคนถูกเหยียบย่ำศักดิ์ศรี ผ่านการกระทำที่โหดร้ายอย่างไร้มนุษยธรรม แต่เมื่อไม่มีความผิดฐานละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหล่านี้ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็น ‘คนลอยนวลพ้นผิด’ โดยที่ไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายหลายคน

 

เส้นทาง ‘กฎหมายอุ้มหาย’ มีที่มาอย่างไร ? เกิดขึ้นจากการผลักดันเรียกร้อง 2 ทาง 

1.เรียกร้องให้รัฐบาลไทยมีกฎหมายภายในประเทศเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานและการอุ้มหาย

2.เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเป็นภาคีระหว่างประเทศในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีConvention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment (CAT)

 

“ถ้าพูดตามหลักความจริงการทรมานและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เกิดขึ้นทั่วประเทศ แต่ภาคใต้จะหนักกว่าภาคอื่นจนถึงทุกวันนี้ ที่ทำได้ตอนนั้นคือเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเป็นภาคีก่อน เพราะว่าการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเป็นภาคี เชื่อว่าอาจจะง่ายกว่าการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยออกกฎหมายเลย เพราะว่ารัฐบาลไทยค่อนข้างที่จะทำให้ประเทศของตัวเองเป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ”         

 

 

แต่กว่าการจะได้ใช้อนุสัญญานี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ไทยยังไม่สามารถใช้ได้ทันที เพราะไทยต้องออกกฎหมายขึ้นมาเพื่อทำให้อนุสัญญาระหว่างประเทศมีผลบังคับใช้ได้จริง การที่ลงนามเป็นภาคีระหว่างประเทศในอนุสัญญา CAT จะทำให้ฝ่ายสิทธิมนุษยชนและนานาชาติเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลไทยมีกฎหมายในประเทศ ในตอนนั้นใช้เวลานานมากพอสมควร โดยเฉพาะการถกเถียงกันว่าจะทำเป็นพระราชบัญญัติต่างหากขึ้นมา หรือแก้กฎหมายเดิมโดยเพิ่มเติมข้อหาการทรมาน การทำบุคคลให้เป็นผู้สูญหายเข้าไป แต่กว่าจะมาเป็นกฎหมายมีกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อนมากพอสมควร เพราะหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงต่างพยายามคัดค้านเรื่องนี้ จนในที่สุดมีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ(International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) ในตอนนั้นประเทศไทยลงนามในอนุสัญญานี้แต่ยังไม่ได้เป็นภาคี เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่าให้ความสำคัญกับอาชญากรรมพิเศษที่เกิดจากการทรมาน อุ้มหาย หรือถูกย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

“แม้จะมีการแสดงเจตจำนงแล้ว แต่เมื่อเกิดการทรมาน อุ้มหาย ก็ยังไม่สามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ ถึงแม้จะเป็นภาคีแล้วก็ยังทำไม่ได้ จะทำได้ก็ต่อเมื่อประเทศไทยต้องมีกฎหมายในประเทศว่าการอุ้มหายเป็นความผิดทางอาญาถึงดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ได้”

 

จากสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการรณรงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ไทยมีกฎหมายอุ้มหายเพื่อที่จะปฏิบัติตามอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ได้ เพราะในรัฐธรรมนูญของไทยซึ่งเกิดจากผลพวงของการรัฐประหายในปี 2550 ระบุไว้ชัดเจนว่าการที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับใดก็แล้วแต่ ประเทศไทยจะต้องแก้กฎหมาย เปลี่ยนแปลงกฎหมาย หรือทำกฎหมายขึ้นมารองรับก่อน ถึงจะเข้าร่วมเป็นภาคีได้ ทำให้ภาคประชาสังคมและหลายฝ่ายใช้โอกาสนี้ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัตินี้ขึ้นมา ซึ่งมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกับเครือข่ายมีส่วนร่างกฎหมายฉบับหนึ่งขึ้นเป็นตุ๊กตาเพื่อรณรงค์เผยแพร่ หลังเลือกตั้งปี 2562 จนในที่สุดก็มีส่วนทำให้มีการบังคับใช้กฎหมายนี้ขึ้นมา

 

“ประเทศไทยใช้กฎหมายเดียวที่ปฏิบัติตาม 2 อนุสัญญา ถือเป็นประเทศแรกๆ ที่มีขึ้น เพราะประเทศอื่นๆ กฎหมาย 1 ฉบับ จะใช้ต่อ 1 อนุสัญญา แต่ของประเทศไทย 1 กฎหมาย ควบ 2 ไปเลย เพราะเป็นความผิดหรืออาชญากรรมคล้ายๆ กัน เช่น การทรมาน อุ้มหาย มันเกิดจากการกระทำคล้ายๆ กัน เพราะเกิดจากเงื้อมมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เรียกว่าอาชญากรรมที่ก่อโดยรัฐ (State Crime) รวมทั้งการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม (extra judicial killings) ที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ”