'ราษฎร' มีพลังเสรีภาพ จาก...จดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ : สมยศ พฤกษาเกษมสุข 'อดีตนักโทษทางความคิด' 

5 กรกฎาคม 2566

Amnesty International Thailand

สมยศ พฤกษาเกษมสุข ‘อดีตนักโทษทางความคิด' 

ที่เชื่อว่า ‘ราษฎร’ มีพลังเสรีภาพ จาก…จดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ

 

“จดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ มันแก้ความหิวโหยของความเดียวดายได้ ทำให้เรารู้สึกมีความหวัง มีเพื่อน และที่สำคัญเป็นช่องทางเดียวที่ทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เราต้องแกะทุกตัวอักษรว่าเขาจะสื่ออะไร มันทำให้เราต้องสนุกกับมัน อ่านจดหมายแล้วมีความสุข”

 

สมยศ พฤกษาเกษมสุข คือ หนึ่งนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต้องถูกจองจำ และถูกจำกัดเสรีภาพอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 7 ปี ในฐานะ ‘นักโทษทางความคิด’ ที่ได้รับจดหมายจากแคมเปญ #ปล่อยเพื่อนเรา #FREERATSADON  ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จดหมายจำนวนหนึ่งถูกส่งถึงมือสมยศ เพื่อเป็นกำลังใจ จุดประกายความหวังให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว วินาทีแรกที่ได้รับจดหมายจากข้างนอกเรือนจำ ทำให้เขาอดทนต่อความยากลำบากที่เกิดขึ้นในห้องขังได้

 

“คนในเรือนจำเดียวดาย จดหมายจากคนข้างนอก เหมือนเป็นน้ำให้คนที่กระหายน้ำกลางทะเลทราย มันมีความหมายมหาศาลอย่างไม่น่าเชื่อ เราไม่ได้อ่านครั้งเดียว เราอ่านมันมากกว่า 2 – 3 ครั้ง ยิ่งมีจดหมายมาหลายฉบับ เรื่องราวที่เราคุยกันทางจดหมาย มันช่วยให้เรารู้ว่าเราไม่ได้ต่อสู้อย่างเดียวดาย” 

 

แม้จะออกจากเรือนจำแล้ว สมยศยังจำความรู้สึกทุกครั้งที่ได้อ่านจดหมายได้อย่างแม่นยำ ทุกตัวอักษรในจดหมายจากแคมเปญ #FREERATSADON ทำให้เขาเข้มแข็งขึ้น แม้จะรู้ดีว่าจดหมายส่งไม่ถึงมือเขาทุกฉบับ เพราะถูกเจ้าหน้าที่คัดกรองเนื้อหา ที่สำคัญ “จดหมายคือกำลังใจทำให้รู้ว่าเราไม่ถูกทอดทิ้ง”  ท่ามกลางชีวิตที่แตกสลายไปหลายอย่าง หลังได้รับโทษในคดี 112

 

ขณะที่ ‘จดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ’ ถูกส่งถึงสมยศ ในตอนนั้นนอกเรือนจำเกิดปรากฎการณ์ #FreeSomyot คนไทยและชาวต่างชาติรวมพลังทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ถือป้ายเรียกร้องต่อกระบวนการยุติธรรมให้ปล่อยตัวสมยศ นักโทษทางความคิด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหมือนเกราะป้องกัน ที่ทำให้สมยศรู้สึกปลอดภัย เพราะเป็นเรื่องที่สังคมจับตามอง ให้ความสนใจจำนวนมาก และต่อจากนี้คือเรื่องราวของ “สมยศ อดีตนักโทษทางความคิด” หนึ่งในนักกิจกรรมที่ได้รับจดหมายจากเพื่อนๆ ชาวราษฎร หล่อเลี้ยงชีวิตและจิตใจขณะอยู่ในเรือนจำที่ไร้อิสรภาพ 

 

เราไม่ได้มาติดคุกเพื่อให้ใครสงสาร แต่เราอยากจะเห็นความยุติธรรมมากกว่า เราอยากได้เสรีภาพที่แท้จริง ดีกว่าเราต้องมาอยู่ในกรงขังของประเทศนี้ที่ใหญ่กว่า”

 

เสียงจาก สมยศ พฤกษาเกษมสุข ‘อดีตนักโทษทางความคิด’ ที่ตกเป็นจำเลยและถูกเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ดำเนินคดีข้อหามาตรา 112  เมื่อปี 2554 สมัยที่เขามีบทบาทเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin เขียนบทความเชิงวรรณกรรมชื่อ ‘คมความคิด’ เล่าเรื่องราวสะท้อนเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีตของเมืองไทย ผ่านตัวละครชื่อว่า ‘หลวงนฤบาล’ และถูกตีความจากเจ้าหน้าที่ว่า เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ เหตุการณ์ในครั้งนั้นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เข้าถูกจองจำอย่างไร้อิสรภาพเป็นเวลานาน 7 ปีในเรือนจำ 

 

“ตอนนั้นทำบทความเชิงวรรณกรรม เรื่องสั้น เสียดสี เขาตีความว่าเป็นการเสียดสี ดูหมิ่น เราต่อสู้เพื่อยืนยันว่า เป็นเสรีภาพของสื่อที่จะแสดงความคิดเห็นได้”

 

‘นักโทษทางความคิด’ ราษฎรที่ถูกตีตราว่ามี ‘ชนักติดหลัง’

สำหรับ ‘สมยศ’ เรือนจำมีสถานะเป็นเหมือนสุสานคนเป็นสำหรับเขา เพราะต้องสูญเสียอิสรภาพทั้งหมด ต้องมีชีวิตเหมือนติดโซ่ตรวน ไร้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตั้งแต่การกิน นอน รวมไปถึงการใช้ชีวิตที่ต้องถูกควบคุมตลอด 24 ชั่วโมง เขาเล่าว่า 7 ปีที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำ พบ ‘การละเมิดสิทธิผู้ต้องหา’ หลายครั้ง ทั้งที่เกิดขึ้นกับตัวเองและเพื่อนร่วมชะตากรรมคนอื่นๆ ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง  

สมยศ เล่าอ้างถึงความโหดร้ายขณะที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำในฐานะนักโทษทางความคิดว่า เขาต้องถูกโยกย้ายไปเรือนจำต่างจังหวัดในพื้นที่ห่างไกลหลายครั้ง ในช่วงเวลา 1 ปีเต็มหลังถูกดำเนินคดี เขาตั้งข้อสังเกตว่าตัวเองอาจถูกเลือกปฏิบัติ เพราะตกเป็นจำเลยในคดี 112 ช่วงแรกที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำ นอกจากต้องปรับตัวให้เข้าสภาพแวดล้อมที่ไร้อิสระและเสรีภาพให้ได้ เขาต้องเจอความยากลำบากจากการถูกละเมิด ลิดรอนสิทธิหลายครั้งในเรือนจำ ทำให้ตอนนั้นมีชีวิตไม่ต่างจากคนตายทั้งเป็น เพราะยังไม่ชินกับชีวิตหลังกำแพงที่ชื่อว่าเรือนจำ 

 

“เรือนจำต่างจังหวัดมันแย่กว่ากรุงเทพ ทั้งสกปรก มีอาชญากรยาเสพติด ยกพวกตีกันในคุกก็มี มีเรื่องกัน แย่งกันอาบน้ำ ตีกันจนเสียชีวิต 2-3 ศพก็มี เรื่องพวกนี้เป็นภาพปกติที่พบเห็นตอนอยู่ในเรือนจำ มันเป็นเหตุการณ์ที่เราต้องปรับตัวมากๆ ในการย้ายไปแต่ละที่”

 

เรือนจำที่ไร้อิสรภาพ และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

สมยศ เล่าว่า กว่าเขาจะผ่านด่านเข้าไปในเรือนจำเวลาถูกโยกย้ายได้แต่ละครั้ง ต้องต่อแถว ‘แก้ผ้า’ มีเจ้าหน้าที่ถือไม้หวายเป็นอาวุธคู่กาย เพื่อเตรียมใช้รองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะการทะเลาะวิวาท ชีวิตในตอนนั้นทำให้เขาสัมผัสความทุกข์อย่างมากในช่วงปีแรกที่ถูกขัง จึงตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ทำไม ‘นักโทษทางความคิด’ ต้องถูกปฏิบัติเทียบเท่ากับนักโทษคดีร้ายแรง ทั้งที่ ‘ประชาชน’ หรือ ‘ราษฎร’ ควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ในเรื่องที่จะทำให้ประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้

 

“อยู่มา 5-6 ปี ฟันร่วงไปหลายซี่ เพราะเหงือกอักเสบ สุขภาพไม่ดี ต้องนั่งสวดมนต์วันละ 3-4 รอบ ทำให้เราต้องใช้ชีวิตแบบเข่าเสื่อม หลังถูกปล่อยตัวออกมา และตอนอยู่ในคุกต้องทรมานกับความโดดเดี่ยว เหงา เดียวดาย ออกมาก็ไม่มีใคร อายุก็มาก หางานทำก็ไม่ได้” 

 

สมยศ กลายเป็นนักโทษทางความคิด ตั้งแต่อายุ 49 ปี พ้นโทษตอนอายุ 58 ปี เขาเล่าว่าเคยสมัครเป็นพนักงานส่งของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง เมื่อถูกตรวจสอบประวัติ ทำให้ทำงานต่อไม่ได้ เพราะมีคดี 112 เป็นชนักติดหลังที่ทำให้ถูกมองว่าเป็นเรื่องร้ายแรงในชีวิตและหน้าที่การงาน จึงไม่มีใครกล้าเกี่ยวข้องด้วย แม้ที่ผ่านมาจะได้รับการช่วยเหลือจากคนรู้จัก เพื่อนฝูง แต่รายได้ในส่วนนี้สำหรับเขา พบว่ายังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

 

ประเทศที่ ‘ราษฎร’ เป็นเจ้าของประชาธิปไตย

สมยศ เล่าว่า เขาเกิดในครอบครัวฐานะยากจน ต้องหาเงินส่งตัวเองเรียน ทำงานโรงงาน เจอการกดขี่จากผู้ประกอบการ ปี 2549 มีโอกาสทำงานกับองค์กรสิทธิแรงงาน ได้รู้จักนักวิชาการที่ต่อต้านการรัฐประหาร ตอนนั้นมีคนขอให้ไปเป็นแนวร่วม ช่วงเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 จึงตัดสินใจไปร่วมขบวนการกับนิสิตนักศึกษา เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาทบทวนตัวเอง และตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีรัฐประหารในประเทศที่เกิดขึ้นซ้ำหลายครั้ง ปัจจุบันสมยศ อายุ 60 ปี ผ่านรัฐประหาร 13 ครั้ง ภาพจำทุกครั้งคือการปราบปรามด้วยการใช้ความรุนแรง เข่นฆ่าประชาชน หรือทำให้ใช้ชีวิตอยู่แบบไม่ปกติสุข

 

“เราเชื่อว่าการแสดงความเห็นไม่น่าเป็นอาชญากรรม ไม่น่ามีโทษ มันไม่ควรที่จะโดนลงโทษ”

 

เป้าหมายของสมยศ อดีตนักโทษทางความคิดในวัย 60 ปี คือ การยกเลิกหรือแก้กฎหมายมาตรา 112 ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ แม้การแสดงออกของคนรุ่นนี้ถูกมองว่า ไม่เข้มข้นเหมือนสมัยสมยศเป็นแกนนำ แต่เขามองว่านี่คือจุดเปลี่ยนของเมืองไทย ที่ประชาชนในฐานะ ‘ราษฎร’ กล้าออกมาถกเถียงเรื่องนี้มากขึ้น ทำให้การถูกขังในเรือนจำที่ไร้อิสรภาพของเขา เมื่อ 7 ปีที่แล้วไม่สูญเปล่าไปทั้งหมด เพราะปัจจุบันกฎหมายมาตรา 112 ถูกนำไปพูดถึงในระดับนโยบายของพรรคการเมือง รวมถึงการจัดกิจกรรมเล็กๆ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ พบการคนสนใจให้เสียงตอบรับเป็นวงกว้าง

 

สมยศ ยืนยันเจตนารมณ์เดิมว่า รัฐต้องปล่อยตัว ‘นักโทษทางความคิด’ ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีทางการเมืองทุกคน เพื่อเปิดกว้างให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพการแสดงออกในสังคมแห่งการมีประชาธิปไตย เพราะไม่ว่าจะเป็นยุคไหนประชาชนไทย ในฐานะราษฎรคนหนึ่ง ไม่ควรได้รับโทษด้วยการถูกดำเนินคดี เพียงเพราะมีความปรารถนาดีกต่อบ้านเมือง เหมือนเขาที่ต้องสูญเสียอิสรภาพไปถึง 7 ปีในเรือนจำ 

 

“คุกเป็นที่กุมขังผู้กระทำความผิด แต่พวกเขายังไม่ผิดจะไปจับกุมเขาได้อย่างไร พวกเขาเป็นราษฎรที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ดี จึงออกมาแสดงความเห็นต่อบ้านเมืองเท่านั้น” 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยังคงเดินหน้ารวบรวมและส่งจดหมายถึงนักกิจกรรมทุกคนที่อยู่ในเรือนจำ ส่วนคนที่ได้รับการประกันตัวหรือพ้นโทษ จะมีจดหมายส่งไปถึงที่พักอาศัย ทุกฉบับ ทุกตัวอักษร ถูกเรียงร้อยจากราษฎรที่เชื่อมั่นว่า สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ทุกคนควรมีเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก

 

สามารถเขียนจดหมายถึงเพื่อนที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี ได้ที่ : https://forms.gle/84Cpj6CADadX3h4F7https://forms.gle/84Cpj6CADadX3h4F7%20 หรือเขียนจดหมายถึงเพื่อนที่คดีสิ้นสุดแล้ว ได้ที่ : https://forms.gle/J9F5YVdfqXHiHzr29