เรื่องราว 'ปลาดุกผัดเผ็ด' เมนูครอบครัวผู้สูญหาย ที่รอพบชะตากรรมลูกชาย

28 สิงหาคม 2566

Amnesty International Thailand

“เขาชอบกินปลาดุก เมื่อก่อนที่บ้านเลี้ยงปลาดุก ที่บ้านมักจะนำมาผัดเผ็ด และใต้ถุนบ้านก็เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ด้วย ถ้านึกถึงอาหารที่เคยกินด้วยกันก็คงจะเป็นผัดเผ็ดปลาดุก กินกันกับลูกสาว 2 คนในบ้าน บางครั้งก็ผัดหรือแกงเยอะๆ และเรียกคนมากินที่บ้านเหมือนเป็นงานบุญ”   

‘ก๊ะแย’ หญิงชาวมุสลิม มีลูกทั้งหมด 3 คน 18 ปีที่ผ่านมา เธอต้องกลายเป็นคนใหม่ ที่ไม่สดใสเหมือนเดิม จากคนที่เคยแข็งแรง ยิ้มแย้มแจ่มใส กลายเป็นคนที่กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ใช้ชีวิตด้วยความยากลำบากและโศกเศร้ามาตลอด หลังจากที่ลูกชายของเธอบอกว่าจะกลับบ้านหลังจากไปสุสานที่มัสยิดแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี แต่ลูกชายของเธอไม่เคยได้กลับบ้านมาปัจจุบันเธอใช้ชีวิตในบั้นปลายชีวิตอยู่กับลูก 3 คนที่บ้านหลังเดิม และยังคงตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมในทุกๆ วัน เธอบอกเพียงเมนูปลาดุกผัดเผ็ดคือสิ่งที่ต้องการกินกับลูกชายเมื่อพบเจอกัน หรือต้องทำบุญส่งดวงวิญญาณให้เขา 

“บ้านไม่เคยเปลี่ยนแปลง ยังอยู่รุงรัง มีสภาพเดิม ตั้งแต่เขาหายไป ก็ยังใช้ชีวิตซึมเศร้าแบบนี้ ไม่อยากพูดแล้ว ไม่อยากนึกถึง พอพูดมาก็แน่นหน้าอก” 

17 ตุลาคม 2548 เป็นวันที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของแม่คนนี้ไปตลอดกาล เมื่อลูกชายวัย 24 ปีหายตัวไปและไม่มีใครให้คำตอบเรื่องนี้ได้  ปัจจุบันบ้านที่เธอเคยอยู่กับลูกชาย ยังคงเหมือนเดิมและไม่มีใครย้ายหนีไปไหน แม้จะเคยถูกคุกคามชีวิตระหว่างการทวงถามความยุติธรรมในบางครั้ง ใต้ถุนบ้านที่เคยเลี้ยงเป็ดไก่ยังอยู่ที่เดิม ยังเป็นบ้านที่เต็มไปด้วยความหวังว่า สักวันหนึ่งจะมีโอกาสเจอกับลูกชายอีกครั้งในชีวิต  

ที่ผ่านมา กะต้องใช้ชีวิตอย่างทนทุกข์ ทุกครั้งที่ต้องเล่าเรื่องลูกชายที่หายไป เสียงของเธอจะเริ่มสั่นเครือและเต็มไปด้วยคราบน้ำตา ทุกครั้งที่เธอนึกถึงเรื่องนี้จะเป็นเหมือนฝันร้ายที่ยังอยู่ไม่จากไปไหน เพราะเป็นสถานที่ที่ทำให้ลูกชายของเธอไม่ได้กลับมาพบพ่อ แม่ และน้องอีกเลย

 

 

ผ่านมา 18 ปี คดีความยังไม่คืบ ลูกชายของกะยังไม่ได้กลับบ้าน เสียงสุดท้ายที่จำได้ ลูกชายบอกกับพ่อและแม่ว่า จะกลับมาช่วยแม่ทำขนมเพื่อนำไปขายที่ตลาดใกล้บ้าน และนั่นเป็นวันสุดท้ายที่เธอกับลูกได้ยินเสียงและได้เจอกันก่อนต้องกลายเป็นผู้สูญหายที่ยังไม่รู้ชะตากรรม  

“ลูกชายไปกุโบร์ (สุสานมุสลิม) ตอนนั้น เขาก็ไม่ได้กลับมาบ้านอีกเลย ตอนนั้นใช้เวลาเป็นอาทิตย์เพื่อรอคอยและหาตัว พอครบ 7 วันก็ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปแจ้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน ไปแจ้งนายอำเภอ ไปแจ้งตำบล แต่มันไม่มีความคืบหน้าอะไรมาสักอย่าง ทุกวันนี้ยังรอคอยมาตลอด” 

เพราะเจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน และไม่มีพยานหลักฐาน ทำให้หญิงชาวมุสลิมตัดสินใจฟ้องร้องต่อศาล ศาลออกคำสั่งว่าลูกชายเป็น ‘ผู้สูญหาย’ โดยไม่ถูกส่งฟ้องต่อศาลให้เป็นคดีเพื่อนำความยุติธรรมมาให้ครอบครัวเนื่องจากไม่สามารถหาหลักฐานได้เพียงพอ เมื่อมีสถานะแห่งความคลุมเครือนี้ทำให้รายชื่อลูกของเธอยังต้องอยู่ในทะเบียนบ้าน ไม่ถูกย้ายออกไปไหน ผ่านมาหลายปี เธอยังเฝ้าคอยว่าลูกจะกลับมาสวมกอด และกินข้าวด้วยกันอีกครั้ง หรือหากไม่มีชีวิตเป็นร่างที่ไร้ลมหายใจ ก็ขอเพียงพบหลักฐานที่ชี้ชัดว่าลูกชายได้จากโลกนี้ไป เพื่อจะได้ทำพิธีฮัจญ์ตามหลักศาสนาของชาวมุสลิม   

“เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนหลังหลายตัวไป ทำให้เรื่องนี้เป็นเนื้อร้ายที่ยังทิ่มแทงสุขภายกายและใจ ทุกวันนี้ยังคิดถึงลูกชายอันเป็นที่รักและฝ้ารอว่าวันหนึ่งทางการจะมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า เขายังมีลมหายใจหรือเสียชีวิตไปแล้ว นี่คือสิ่งที่เยียวยาจิตใจได้ที่สุด นอกเหนือจากเงินเยียวจากหน่วยงานของรัฐ”  

 

#แล้วกลับมากินข้าวด้วยกันนะ 

#RememberMe

#กลับสู่วันวาน