เปิดใจพายุ ดาวดิน: 7 เดือนชีวิตหลังสูญเสียดวงตากับความรุนแรงที่(อาจ)ถูกเตรียมการ

26 มิถุนายน 2566

Amnesty International

“เรายืนยันว่าวันนั้นเราไม่ได้ต้องการใช้ความรุนแรง เราไปตัวเปล่ากับพี่น้องชาวบ้าน อาวุธเดียวที่เรามีคือป้ายผ้ากับเครื่องเสียง” 

ถ้อยคำจาก พายุ บุญโสภณ นักเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อม ที่เติบโตมากับตาที่เป็นข้าราชการตำรวจเกษียณอายุ และยายที่เป็นแม่บ้านที่ จ.ชัยภูมิ ปัจจุบันพายุทำงานให้กับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน งานของเขาเป็นการรณรงค์เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน และต้องประสบปัญหาถูกแย่งยึดที่ดินโดยรัฐ

ก่อนหน้าที่เขาจะมาสนใจประเด็นทางสังคม พายุก็เป็นเหมือนคนทั่วไปที่ชอบท่องเที่ยวและเล่นเกม เขาเคยมีความฝันเมื่อตอนเด็กว่า 

“ผมอยากเป็นตำรวจเพราะมันเท่”

 อาชีพที่ครั้งหนึ่งเขาเคยฝันอยากจะเป็น กับเป็นกลุ่มคนที่ลั่นไกกระสุนยาง ใส่ดวงตาข้างขวาของเขาจนแหลกละเอียด พายุถูกเจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ยิงจากการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 18  พ.ย. 2022 ในกิจกรรม 'ม็อบราษฎรหยุด APEC' ตาข้างขวาของพายุไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป

7 เดือนผ่านไป ไม่ต้องฝันไกลไปถึงการทวงคืนความยุติธรรม เพราะเพียงแค่การชดเชยและเยียวยาจากภาครัฐ พายุกล่าวกับทางแอมเนสตี้ ประเทศไทยว่าไม่เคยได้รับความช่วยเหลือใดๆ พายุเริ่มต้นเล่าเรื่องราวในวันเกิดเหตุอีกครั้ง พร้อมกับผลกระทบที่เขาต้องเผชิญนับตั้งแต่การสูญเสียดวงตา

 

ความรุนแรงที่(อาจ)ถูกเตรียมการ

“รออีกสักหน่อยเดี๋ยวได้เจอกันแน่”

คือเสียงที่พายุได้ยินอยู่จากฝั่งเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ในวันที่เขาถูกยิง เขากล่าวว่าวันนั้นเจ้าหน้าที่ คฝ. มีความตั้งใจที่จะสลายการชุมนุมตั้งแต่แรก แม้ว่าการชุมนุมของประชาชนในวันดังกล่าวจะไร้ซึ่งอาวุธและไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อก่อให้เกิดความรุนแรง 

การชุมนุมเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ 16  พ.ย. ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พายุได้รับมอบหมายให้ดูแลความปลอดภัย ซึ่งแตกต่างจากการชุมนุมครั้งที่ผ่านๆ มา ที่เขากล่าวว่ามักเป็นเพียงผู้เข้าร่วม แต่เนื่องจากครั้งนี้มีพี่น้องเครือข่ายชาวบ้านจากทางภาคอีสานมาสมทบ พายุจึงอาสารับหน้าที่ดังกล่าว 

“ตำรวจในเครื่องแบบกับตำรวจ คฝ. ชี้มาที่เรา พี่ๆ แถวนั้นบอกว่า ‘เขาเล็งเราไว้แล้วนะ ระวังตัวด้วย’”

แต่ด้วยบทบาทของพายุในวันดังกล่าว ทำให้เขาไม่สามารถเคลื่อนย้ายตำแหน่งตัวเอง ออกจากจุดการปะทะได้

เวลา 8.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มตั้งขบวน เพื่อเดินเท้าจากลานคนเมืองไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มวลชนเดินมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเวลา 9.00 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. ราว 200 นาย ตั้งแนวรอรับผู้ชุมนุม มีอาวุธปืนกระสุนยางและอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนครบมือ 

จุดมุ่งหมายการชุมนุมในวันนั้นพายุกล่าวว่า ต้องการสื่อสารผ่านสื่อทั้งไทยและต่างประเทศ ในการคัดค้านนโยบายโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy) ที่จะมีผลกระทบกับภาคประชาชน 

พายุยืนยันว่าในวันดังกล่าวเขาและกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้มีความต้องการที่จะไปสร้างความวุ่นวายเพื่อที่จะยุติการประชุม APEC 2022 ทั้งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ในวันนั้นคือชาวบ้าน คือคนชราที่เพียงต้องการเรียกร้องในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขา  

ก่อนเวลา 10.00 น. เริ่มมีการพูดจายั่วยุจากฝั่งมวลชนอิสระและเจ้าหน้าที่ คฝ. มีการขว้างปาสิ่งของเกิดขึ้น เริ่มมีการกระชับพื้นที่และทุบตีมวลชน หน้าที่ของพายุคือการห้ามปราบมวลชนไม่ให้ใช้ความรุนแรงโต้ตอบ ทั้งยังคอยควบคุมให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำอยู่ตามจุดต่างๆ

“มีเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามห้ามปรามกันแต่ไม่มีใครฟัง ผู้คุมที่อยู่กับเจ้าหน้าที่ คฝ. ในวันนั้น ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้” 

พายุวิ่งกลับไปบอกมวลชนให้ถอยหลัง ในขณะที่เขากำลังวิ่งกลับมาที่แนวหน้านั้น เขาถูกลูกกระสุนยางยิงเข้าที่ตาขวา พายุในตอนนั้นไม่รู้สึกเจ็บ เป็นเพียงความรู้สึกชาและเห็นเลือดที่ไหลท่วมใบหน้า  เขาตัดสินใจนั่งพักอยู่ตรงริมฟุตบาท ก่อนที่จะมีเจ้าหน้าที่ คฝ.ชุดแรก พุ่งเข้ามาจะตีเขาซ้ำแต่ก็ตกใจเมื่อเห็นเลือดบนใบหน้าของเขา จนกระทั่ง คฝ. อีกชุดหนึ่งพาเขาเดินไปส่งที่รถพยาบาล

พายุกล่าวว่าเหตุการณ์ในวันนั้นการควบคุมอารมณ์ของเจ้าหน้าที่ คฝ. คือปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความรุนแรง เขาตั้งคำถามแก่เจ้าหน้าที่ คฝ. ที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันนั้นว่า พวกเขาชินชาอยู่กับระบบที่ออกแบบมาให้ทำร้ายประชาชนได้อย่างไร

“เจ้าหน้าที่ คฝ. ไม่ใช่ทั้งหมดที่ต้องการความรุนแรง คฝ. หลายคนมาจากภาคอีสาน และวันนั้นก็มีพี่น้องหลายคนมาจากอีสาน เขาก็คงไม่อยากเอากระบองไปฟาดคนแก่ที่นั่งกินข้าวกันอยู่หรอก”

ในอีกมุมหนึ่งพายุก็เข้าใจว่า เจ้าหน้าที่เหล่านั้นได้รับคำสั่งมาจากหัวหน้า ตัวหัวหน้าก็ถูกสั่งการมาอีกทอดหนึ่ง เป็นระบบความรุนแรงที่สั่งการมาเป็นทอดๆ ที่พวกเขาต้องทำ เพราะกลัวที่จะหลุดจากอำนาจหน้าที่ของตนเอง

“พวกเขาอยู่ด้วยความกลัวมาตลอด กลัวว่าถ้าพวกเราเดินไปถึงจุดหมาย จะทำให้ผู้มีอำนาจของเขาไม่พอใจ”

โดยหลังจากที่พายุถูกยิง เขาถูกนำตัวไปรักษาพยาบาล โดยหมอผ่าตัดดวงตาแจ้งว่า ลูกตาทั้งลูกแตกละเอียด พายุเองทำใจมาบ้างแล้วว่า สักวันหนึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงจะเกิดขึ้นกับเขา แต่สิ่งที่เขาเป็นห่วงอยู่ตลอดนั้น คือความปลอดภัยของมวลชนที่มาร่วมชุมนุมและคนในครอบครัว

 

ชีวิตหลังสูญเสียดวงตาของพายุ บุญโสภณ

“ตากับยายกังวลว่าผมจะตาย แกบอกว่าจะเอาดวงตาของแกมาให้ผม กลัวผมจะกลายเป็นคนพิการจนทำอะไรไม่ได้และสังคมไม่ยอมรับ”

พายุค่อนข้างเป็นห่วงสภาพจิตใจของครอบครัว ในช่วงเวลาที่เขาต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เขาไม่มีโอกาสได้ติดต่อกลับไปหาครอบครัว จนกระทั่งวันที่ 27 พ.ย. 2565 พายุออกจากโรงพยาบาลและเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เหลือดวงตาเพียงข้างเดียว

“มุมมองการมองเห็นเปลี่ยนไป มันส่งผลกระทบต่อการหยิบจับสิ่งของและการขับขี่พาหนะ ที่ต้องมาฝึกกันใหม่ทั้งหมด”

พายุเสียโอกาสในการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว การสูญเสียดวงตาทำให้ทุกอย่างลำบากขึ้น แต่กำลังใจที่เขาได้รับจากแคมเปญ ‘ดวงตาหนึ่งดวง จะสร้างดาวอีกล้านดวง’ ที่เพื่อน พี่ น้อง และประชาชนในโซเชียลมีเดีย ร่วมกันร่วมถ่ายรูปปิดตาข้างขวาเพื่อเป็นกำลังใจพายุ เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เขามีกำลังใจ

“งานภาคประชาสังคมแม้จะไม่ได้มั่นคงเหมือนราชการ แต่มันคือการทำงานด้วยใจที่มีผู้คนคอยโอบอุ้มกันตลอดเวลา”

แต่ในอีกฟากหนึ่งความช่วยเหลือเดียวจากภาครัฐ คือการตั้งกรรมการสอบสวนจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ที่พายุบอกว่าไม่สามารถหวังผลอะไรได้ เนื่องจากกรรมการทั้งหมดเป็นตำรวจใน บช.น.

“เหมือนเขาตั้งมาสอบสวนตัวเอง และใครจะบอกว่าตัวเองผิด”

นอกจากนี้หลังการสูญเสียดวงตา ร.ต.อ.เลิศชัย ผือลองชัย รองสารวัตรสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อพายุในข้อหา 

1. ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215)

2. ไม่เลิกมั่วสุมตามที่เจ้าพนักงานสั่ง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216)  

3. ร่วมกันฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ รวมทั้งไม่แก้ไขภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะประกาศกำหนด (พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ)

นอกจากนี้พายุยังเคยถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช. เอาตัวขึ้นศาลทหาร และถูกสั่งคุมขังในเรือนจำ 12 วัน เมื่อปี 2015 จากการออกมาต่อต้านการรัฐประหารของคณะ คสช. ซึ่งตอนนี้สถานะของคดียังอยู่ในชั้นสืบสวนสอบสวน

แม้จะต้องสูญเสียดวงตาและถูกดำเนินคดีความ แต่พายุยังคงไม่ได้แสดงท่าทีเป็นกังวลหรือท้อถอย เขากล่าวว่าทำใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และไม่อยากให้สิ่งที่เกิดขึ้น มาล้มล้างความตั้งใจในการทำงานขับเคลื่อนสังคมต่อไป

“เรารับรู้เรื่องราวความรุนแรงในอดีตที่เคยเกิดขึ้น และเตรียมใจไว้แล้วว่าสักวันหนึ่ง อาจจะเกิดขึ้นกับเรา”

พายุเล่าย้อนชีวิตของเขาให้ฟังว่า เขาเหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ไม่ได้รู้และเข้าใจการต่อสู้ของภาคประชาชน จนกระทั่งเขาได้เข้าร่วมกับกลุ่ม ‘ดาวดิน’ ในช่วงเวลาที่เขาศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เขาได้เห็นการต่อสู้ของชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำที่ จ.เลย และในอีกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและที่ดิน ระหว่างกลุ่มนายทุนหรือรัฐกับชาวบ้าน 

  พายุเกิดคำถามว่าทำไมสิ่งเหล่านี้ถึงไม่เคยเป็นที่รับรู้ของเขา และยิ่งเขาค้นหาคำตอบมากเท่าไหร่ เขายิ่งถลำลึกไปเจอต้นตอของปัญหาในประเทศนี้มากขึ้นเท่านั้น ทั้งจากอำนาจรัฐและอำนาจที่เหนือกว่านั้นในการละเมิดสิทธิประชาชน

“เรามาถึงตรงนี้เพราะมีต้นทุนชีวิตที่มากกว่าคนอื่น จึงตัดสินใจมาทำงานสายนี้ เพราะอย่างน้อยอนาคตลูกหลานเรา จะได้อยู่ในสังคมที่ดีขึ้นกว่านี้”

พายุกล่าวเช่นนั้นในวันนี้ที่เขาต้องเดินทางมากรุงเทพฯ ทุกๆ 3 เดือนเพื่อติดตามอาการดวงตาข้างขวา โดยมีองค์กรเครือข่ายที่ช่วยเหลือนักเคลื่อนไหวที่ทำเรื่องสิทธิมนุษยชน คอยสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้

 

ความรุนแรงไม่ใช่ทางออก แต่คือทางตันของรัฐ

“ยิ่งคุณใช้อำนาจความรุนแรงมากเท่าไหร่ คนจะยิ่งต่อต้านคุณมากขึ้นเท่านั้น แล้วสักวันประชาชนจะทำให้เห็นเอง”

พายุกล่าวว่าการที่เขาถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรง สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้เขากลัวและล้มเลิกการทำงานเคลื่อนไหวแต่อย่างใด แต่เขาก็ไม่ได้ต้องการให้ความรุนแรงเช่นนี้เกิดขึ้นอีก พายุมองว่าการปล่อยให้เจ้าหน้าที่ คฝ. ใช้ความรุนแรงได้ตามอำเภอใจแบบนี้ มาจากการที่ภาครัฐไม่เคยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ คฝ. เลย

“ประชาชนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบหรือรับรู้กระบวนการสลายการชุมนุม”

พายุให้ข้อเสนอว่าควรที่จะมีการตั้งคณะกรรมการที่มีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบกฎระเบียบของเจ้าหน้าที่ คฝ. ‘ออกแบบแนวทางการสลายการชุมนุม’ ที่มีบรรทัดฐานร่วมกัน เพราะการชุมนุมคือสิทธิขั้นพื้นฐานของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แต่ตำรวจ คฝ. กลับใช้วิธีการที่ไม่มีบรรทัดฐานกับประชาชน ทั้งเมื่อความรุนแรงเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถตรวจสอบสายการบังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ที่กระทำความรุนแรงได้

“สายการบังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ คฝ. ที่ออกปฏิบัติการต้องเปิดเผย คุณมาเพื่อดูแลความเรียบร้อยการชุมนุมของประชาชน ไม่ได้มาปฏิบัติราชการลับ”

นอกจากข้อเสนอจากทางพายุแล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลร่วมกับมูลนิธิโอเมกา ได้ออกรายงานชื่อ “ลูกตาเราแตก” (My Eye Exploded) ที่มีข้อเรียกร้องต่อรัฐในการควบคุมการใช้กระสุนยางของตำรวจต่อประชาชนว่า

1.ห้ามการผลิต การค้า และการใช้งานอาวุธ KIPs (การใช้กระสุนวิถีโค้งที่มีแรงกระแทกหรือกระสุนจลนศาสตร์) ที่มีความไม่แม่นยำ เป็นอันตราย และไม่สามารถเจาะจงการใช้งานได้อย่างเหมาะสม รวมถึงอุปกรณ์ยิงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

2.กำหนดการควบคุมทางการค้าที่เข้มงวดบนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ที่เกี่ยวข้องกับ KIPs รวมทั้งอาวุธปืนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และห้ามการโอนย้ายอาวุธเหล่านี้เข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ที่จะถูกใช้ในการกระทำเพื่อส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยความรุนแรง รวมถึงการทารุณกรรมในรูปแบบอื่นๆ

3.ห้ามใช้งาน KIPs ในการควบคุมฝูงชนโดยทั่วไป รวมถึงเพื่อใช้ในการกระจายกลุ่มคน

4.ต้องมั่นใจว่าจะใช้ KIPs ได้ก็ต่อเมื่อมีบุคคลที่ก่อความรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อชีวิต โดยใช้ในกรณีที่ไม่มีวิธีอื่นที่สามารถปฏิบัติการเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ได้ และไม่เล็งไปยังเป้าหมายในส่วนบนของร่างกายหรือบริเวณเชิงกราน

5.ห้ามใช้อาวุธที่ไม่ได้ออกแบบสำหรับการควบคุมมวลชน เช่น ปืนลูกซองกระสุนโลหะที่ใช้ในการล่าสัตว์ ในการดำเนินการของหน่วยงานตำรวจ

6.ให้การรักษาและฟื้นฟูทางการแพทย์ที่เหมาะสมและทันท่วงที และให้ค่าสินไหมที่เป็นธรรมและเพียงพอแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ KIPs โดยผิดกฎหมาย

ในตอนท้ายของการสัมภาษณ์ พายุมีความหวังว่าจะนำตัวคนที่ยิงเขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจัดตั้งในปี 2566 เขายังคงทำงานด้วยอุดมการณ์เดิม ในการต่อสู้เพื่อสิทธิในทรัพยากรของชาวบ้านทางภาคอีสาน เขามีความฝันอยากนำเรื่องการกระจายอำนาจ ให้ประชาชนมีสิทธิในการจัดการตัวเอง ไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

เขายังมีความกล้าที่จะไปร่วมชุมนุมอีกครั้ง แม้ภาพคราบเลือดในวันนั้นยังคงติดอยู่ในความทรงจำเขาไม่หายไปไหน เขายังคงมีความเชื่อและเชื่อมากกว่าเดิมว่า สิ่งที่เขาทำและสูญเสียไปนั้นไม่สูญเปล่า เพราะเขารู้ว่าประชาชนอยากเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น กระสุนยางทำลายการมองเห็นของพายุ แต่ไม่อาจสร้างความกลัวและการสยบยอมต่ออำนาจให้แก่เขาได้

“ที่จริงฝ่ายที่มีอำนาจ ฝ่ายรัฐเขากลัวประชาชนมากกว่า จึงต้องใช้ความรุนแรงและทำทุกวิถีทางที่จะกดไม่ให้คนออกมาต่อต้าน ยิ่งเขากดทับเรามากเท่าไหร่ เขาก็จะเจอกับการต่อต้าน และมันจะสั่งสมความกลัวในตัวเขามากขึ้นเรื่อยๆ” 

 

สัมภาษณ์พายุเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก:

https://thematter.co/social/media-assaulted-by-riot-police/192989

https://tlhr2014.com/archives/54448

https://prachatai.com/journal/2022/11/101469

https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10167218432075551