ภาคอีสาน : เวทีดีเบตพรรคการเมือง "เลือกตั้ง 2566 : วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ"

28 เมษายน 2566

Amnesty International

วันที่ 28 เมษายน 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย The Isaan Record และภาคีเครือข่ายจัดเวทีดีเบตพรรคการเมือง “เลือกตั้ง 2566 : วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ณ บึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เพื่อเปิดโอกาสให้ 5 พรรคการเมือง 4 ภาคประชาสังคม และประชาชน มาพบปะและร่วมแสดงวิสัยทัศน์ ด้านสิทธิมนุษยชนในหลากหลายประเด็น ครอบคลุมทั้งสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย คนพิการ เด็กผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กลุ่มชาตพันธุ์ในประเทศไทย รวมทั้งประเด็นในท้องถิ่นอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่น่าสนใจ

การเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนี้จึงไม่ใช่รูปแบบของการแสดงเจตจำนงทางตรงของสิทธิในการมีส่วนร่วม เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาและความก้าวหน้าของประเทศไทย หากแต่เป็นพื้นที่สำคัญที่จะให้เสียงของคนสามัญได้รับฟังและตอบรับโดยตัวแทนประชาชนตามกลไกของรัฐสภา อันเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนประชาชนทั่วไป และเป็นหุ้นส่วนในการกำหนดทิศทางการบริหารประเทศ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในนามขององค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่หลากหลายมองเห็นและคาดหมายถึงโอกาสในการผลักดันให้ประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งมิใช่เพียงประเด็นที่ทางองค์กรได้ขับเคลื่อนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทั่วไป เนื่องจากความเป็นธรรมทางสังคมในด้านต่างๆ จะทำให้บุคคลดำรงอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิและเสรีภาพเสมอกัน และได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพนั้นตามกฎหมายแห่งรัฐ

ตั้งแต่เริ่มต้นปี 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้รวบรวมข้อมูลสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และพัฒนาข้อเสนอแนะจากภาคประชาสังคม ตลอดจนจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นร่วมกับ "เด็กและเยาวชน" และสมาชิกแอมเนสตี้ เพื่อจัดทำ 31 ข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของภาคประชาสังคม เสนอต่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมือง เรียกร้องให้มีการทบทวนภาวะขาดดุลด้านสิทธิมนุษยชนดังที่เป็นอยู่ และแสดงความยึดมั่นในพันธกิจต่อประชาชนที่จะปฏิรูปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน

 

โดยสามารถจำแนกเป็น 5 หัวข้อใหญ่ ดังต่อไปนี้

1.การไม่เลือกปฏิบัติ ธรรมาภิบาล เเละมาตรการป้องกันการทุจริต

2.ประเด็นเฉพาะกลุ่ม (รวมถึงเรื่องผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง แรงงานข้ามชาติ ผู้พิการ ฯลฯ)

3.สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม เเละวัฒนธรรม

4.กรอบกฎหมายระหว่างประเทศเเละภายในประเทศ นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน เเละสถาบันสิทธิมนุษยชน

5.สิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง (รวมถึงการสังหารนอกกฎหมาย การป้องกันการทรมานเเละการบังคับบุคคลให้สูญหาย คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ สิทธิในการสมรส การค้ามนุษย์ การใช้แรงงาน ฯลฯ)

 

“เลือกตั้ง : 66 หมู่เฮา มาเว้าเรื่องสิทธิถึงผู้แทน”

 

 

นิติกร ค้ำชู ตัวแทนจากขบวนการอีสานใหม่เปิดเวทีคุย “เลือกตั้ง 66 : หมู่เฮามาเว้าเรื่องสิทธิถึงผู้แทน” ซึ่งดำเนินรายการโดย อาชวิชญ์ อินทร์หา ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าการกระจายอำนาจเข้าสู่ท้องถิ่น คือ  ส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น อำนาจมันทับซ้อนกัน ทำให้ท้องถิ่นไม่กล้าออกแบบนโยบายกลไกถูกรวบไปส่วนกลาง ส่วนกลางสามารถควบคุมได้ งบประมาณ รวมไปถึงสุราไทยถูกผูกขาด กฎหมายไม่เอื้อ ทั้งการขายและโฆษณา

เราคงเคลื่อนไหวกับชาวบ้านแบบนี้จนตาย เพราะรัฐได้ออกแบบมาแบบนี้ การกำหนดนโยบายของรัฐที่อยู่ห่างไกลเหล่านี้เป็นข้อต่อสำคัญในการนำเสนอนโยบาย ประชาชนไม่มีอำนาจในการกำหนดชีวิตตัวเอง นโยบายต้องรอส่วนกลาง รัฐกำหนดชาวบ้านไม่มีอำนาจตัดสินใจ

 

ดร.ชีรา ทองกระจาย อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ หลายๆ พรรคจะให้ประเด็นในเรื่องของเพศมันจะถูกนำมาเป็นวาระหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาคณะทำงานความหลากหลายทางเพศใน กลุ่มเปราะบางในมิติทางเพศ ประเด็นเพศมักไม่ถูกจัดว่าเป็นประเด็นร้อน นโยบายที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ ที่เห็นในรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่เห็นการนำมาปรับใช้ เช่น เรื่องการถูกบังคับเกณฑ์ทหาร การถูกครอบงำด้วยสองเพศเพราะมองแค่ระบบสองเพศ มิติเพศภาวะจะลึกซึ้งมากกว่าเพศชายหญิง การมีส่วนร่วมของเจ้าของปัญหา รวมไปถึงกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ที่ถูกกดทับด้วยประเด็นแห่งเพศ เช่นกลุ่มที่เป็นพนักงานบริการหรือที่เรียกว่า sex workers หรือ พนักงานบริการ ที่ไม่ถูกมองเห็นโดยรัฐเลย เมื่อรัฐมองไม่เห็นกลุ่มคนเหล่านี้จึงไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ได้

สังคมส่วนใหญ่จะมองเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นร้อน ประเด็นเรื่องเพศมักจะไม่ได้ถูกจัดลำดับให้เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องปฏิบัติหรือทำตามอย่างเร่งด่วน ส่วนมากจะถูกมองว่าไม่ใช่เรื่องปากท้อง แต่เราอยากจะบอกว่ามันเป็นส่วนหนึ่ง มันเป็นมิติที่คาบเกี่ยวกับปากท้องของประชาชน ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศหรือ sex workers เองถูกกีดกันออกจากสังคม ไม่เข้าถึงสิทธิ์ต่าง ๆ ซึ่งมันไม่ใช่เป็นการเรียกร้องที่มากอะไรไปแต่เป็นการเรียกร้องที่ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้ถูกเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ของพวกเขาเช่นเดียวกัน

 

ณัฐวุฒิ กรมภักดี ตัวแทนจากกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น เผยว่า กลุ่มคนชายขอบที่อยู่ในจ.ขอนแก่น อย่างเช่น กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มคนที่อยู่ในชุมชนแออัดที่มีสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างเปราะบาง อย่างในจ.ขอนแก่นก็มีกลุ่มคนเหล่านี้ที่ริมทางรถไฟ และกลุ่มคนที่มักจะถูกไม่ได้ยินเสียง ไม่ได้ถูกยอมรับ หรือเป็นกลุ่มที่มักเข้าไม่ถึงสิทธิ์ ซึ่งกลุ่มคนที่กล่าวไปข้างต้นมีแฝงอยู่ในเมืองขอนแก่นเยอะมาก

“ปัญหาชีวิตคนต้องแก้ปัญหาโครงสร้างประเทศไทยเน้นช่วยเหลือคนโดยวิธีสงเคราะห์ ต้องสร้างนโยบายรัฐสวัสดิการที่ทำให้คนมีศักดิ์มีศรีให้แก่กลุ่มคนเปราะบาง ไม่ทำให้ใครต้องตกหล่น”

สุธีวัน ธรรมพงศ์พันธ์ รองนายกสโมสร คณนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า ปัญหาที่พบเจอบ่อย ๆก็คือปัจจัยในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของนักศึกษา โดยเฉพาะการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ ความไม่เพียงพอในด้านทรัพยากรในการจัดกิจกรรม วัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมของเรามันไปขัดกับระเบียบของทางมหาวิทยาลัย ทำให้หลาย ๆ ครั้งเรามักที่จะไม่ได้พื้นที่ตรงนั้นในการจัดกิจกรรม รวมไปถึงความปลอดภัย  ของผู้เข้าร่วมและผู้จัดเอง ที่ถูกเจ้าหน้าที่คุกคาม โดยการติดตาม การถูกดำเนินคดี

“เราไม่ได้อยากเห็นกฏหมายที่ถูกสร้างออกมาเพื่อให้จำกัดสิทธิของเราแต่กฏหมายเนี่ยมันควรถูกสร้างขึ้นมาเพื่อขยายขอบเขตสิทธิของเราเนี่ยให้มันกว้างมากที่สุดแล้วก็สิทธิตรงนั้นมันควรจะถูกสร้างออกมาโดยที่มันจะต้องไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าคุณจะมีความคิดเห็นแบบใดหรือว่าเป็นอย่างไรกฎหมายมันไม่ควรจะถูกสร้างออกมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการที่จะกลั่นแกล้งกล่าวหาหรือใส่ร้ายซึ่งกันและกันกฎหมายมันควรถูกสร้างออกมาเพื่อที่จะทำให้ตัวสังคมเป็นสังคมที่ทำให้คนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยที่มันจะต้องไม่ผลักใครออกไปหรือทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

 

เลือกตั้ง 2566 : วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”

 

 

สำหรับเวทีดีเบตพรรคการเมือง “เลือกตั้ง 2566 : วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน” ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจาก 5 พรรคการเมืองมาร่วมถามตอบกับ 4 องค์กรภาคประชาสังคม เพื่อแสดงจุดยืนและวิสัยทัศน์ด้านสิทธิมนุษยชน นำโดย ปริเยศ อังกูรกิตติ พรรคไทยสร้างไทย วีรนันท์ ฮวดศรี พรรคก้าวไกล โตบูรพา สิมมาทัน พรรคเสรีรวมไทย สุขสันต์ แสงศรี พรรคไทยภักดี และภรณ์ทิพย์ สยมชัย พรรคสามัญชน

 

พรรคไทยสร้างไทย : การละเมิดสิทธิทางการเมือง สิทธิที่ดินทำกิน และสิทธิคนไร้บ้าน

ปริเยศ อังกูรกิตติ มองว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาสิทธิทางการชุมนุมนั้นมีอย่างจำกัด และสิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งเลยคือมีเยาวชนที่ต้องถูกจำกัดสิทธิทั้งที่ออกมาแสดงออกทางความคิดซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามาเหตุการณ์การชุมนุมกว่า 200 ครั้ง และมีเยาวชนถูกดำเนินคดีไปกว่า 300 คน ซึ่งการชุมนุมนั้นภาครัฐควรสนับสนุนในทุกการชุมนุมต้องได้รับการคุ้มครองเพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ให้พื้นที่ในการแสดงออก รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ ที่มีความเปราะบางเป็นอย่างมาก เช่น มาตรา 112 ที่บุคคลต่าง ๆ นำไปใช้ทางการเมือง เห็นว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นปัญหา ต้องถูกนำไปพูดคุยในสภา หากใครใช้กฎหมายทำร้ายคนอื่นในทางการเมืองจะถูกลงโทษด้วย

“มันถึงเวลาแล้วกับการทบทวนกฎหมายที่หลายคนพูดถึงกัน เพราะกฎหมายเหล่านี้กลับถูกนำมาใช้เพื่อที่จะทำร้ายคู่ขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งมันเกิดแต่ผลเสีย ทั้งต่อสถาบันสำคัญของชาติ ทั้งตัวของประชาชนธรรมดาเองก็ตาม”

นอกจากการละเมิดสิทธิทางการเมืองแล้วนั้น เรื่องของที่ดินทำกินของชาวบ้านรวมไปถึงคนไร้บ้านก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ปริเยศย้ำว่า เรื่องของปัญหาคนไร้บ้านไม่ได้มีแต่เพียงในพื้นที่เปราะบางเพียงเท่านั้น ทุกพื้นที่มีปัญหาเหล่านี้หมด และสิ่งเหล่านี้มันนำมาซึ่งปัญหาไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงปัญหาสิทธิต่าง ๆ อย่าง สาธารณสุข การศึกษา แม้แต่ สาธารณูปโภคพื้นฐาน ปัญหาตรงนี้ทางด้านของหน่วยงาน พวกเรามองว่ามันยังคงไม่เพียงพอ มันต้องมีการบูรณาการร่วมกันกับทางกระทรวงมหาดไทยด้วย  ซึ่งที่ผ่านมาทางกระทรวงมหาดไทยไม่ค่อยได้ลงมาแก้ปัญหาตรงนี้สักเท่าไหร่ ฉะนั้นหากพรรคไทยสร้างไทยได้เป็นรัฐบาลจะต้องมีการบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทยอย่างแน่นอน

“กระทรวงพัฒนาสังคมเป็นกระทรวงที่ได้งบประมาณน้อยมาก และเราเข้าใจว่าการที่จะลงไปสนับสนุนด้านงบประมาณการแก้ไขปัญหาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผมเชื่อว่ากระทรวงมหาดไทยมีงบประมาณเหลือเฟือ ซึ่งถ้าเราสามารถบูรณาการกับกระทรวงมหาดไทยได้จะทำให้มีการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

 

พรรคก้าวไกล : สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

วีรนันท์ ฮวดศรี เผยว่า กฎหมายที่ปิดกั้นการแสดงออก ยกตัวอย่างก็คือ ประมวลกฎหมายมาตรา 112   ที่พรรคก้าวไกลมองว่าเป็นอัตราโทษที่สูงเกินไป เสนอว่าปรับเปลี่ยนโทษจาก สามถึงสิบห้าปี เป็นศูนย์ถึงหนึ่งปี ปรับไม่เกินสามแสนบาท และควรให้ตัวแทนจากสำนักพระราชวังฟ้องแทนเพื่อลดอัตราการกลั้นแกล้ง และย้ายกฎหมายมาตรานี้ออกจากหมวดความมั่นคง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่มีไว้ใช้เพื่อฟ้องปิดปาก เจตนารมณ์ของกฎหมายข้อนี้ก็คือการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบ ป้องกันแฮคเกอร์ แต่กฎหมายพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ถูกนำมาใช้ส่วนมากนั้นมีเรื่องของการหมิ่นประมาท การลงข้อมูลอันเป็นเท็จ การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นหลัก

“ในเรื่องของการฟ้องร้องกฎหมายมาตรา 112 ยกตัวอย่างลูกความที่ผมเคยทำคดีเกี่ยวกับกฎหมายมาตรานี้ ที่อยู่ที่ลำพูน แต่ต้องไปถูกรับทราบข้อกล่าวหาที่จ.นราธิวาส ซึ่งมันคือภาระในการดำเนินคดีของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ถูกกล่าวหาเลย เพราะกฎหมายหมายข้อนี้สามารถให้ใครก็ได้สามารถแจ้งความร้องทุกข์ นั่นก็เท่ากับว่ามันเปิดโอกาสให้มีการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง”

 

พรรคเสรีรวมไทย : อนาคตการศึกษาไทย ต้องไร้ยาเสพติด

โตบูรพา สิมมาทัน เผยว่า ตอนนี้สิ่งเสพติดมันแพร่เข้าไปอยู่ในสถานศึกษามากเกินไป ทุกวันนี้ ยาเสพติดเข้าไปถึงเด็กเยาวชน ต้องโฟกัสการปราบยาเสพติด โตบูรพายังเสริมอีกว่า ทางพรรคเสรีรวมไทยนั้นก็ได้มีนโยบายเรียนฟรี ไม่ต้องมีระบบกู้หนี้กยศ. เพราะถือว่ามันเป็นการลดความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่ง สามารถเรียนฟรีได้ไปจนจบปริญญาตรี

“ทุกวันนี้ประเทศไทยเรามีปัญหาในเรื่องของยาเสพติดที่หนักมาก หนักมากถึงขั้นที่เด็กป.4 นั่งสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันแล้ว คือเราจะโตกันไปแบบนี้กันจริงเหรอ ซึ่งสิ่งที่เราต้องทำก็คือการปราบปรามสิ่งเหล่านี้ให้เป็นศูนย์ให้ได้”

 

พรรคไทยภักดี : ลดความเหลื่อมล้ำ

สุขสันต์ แสงศรี ชี้ว่า ในวันนี้ปัญหาของพวกเราก็คือการต่อสู้กับกลุ่มทุนผูกขาดในประเทศ เวลากลุ่มทุนเหล่านี้มีอำนาจมาก ๆ เทียบให้เห็นว่าเมื่อก่อน ทุนผูกขาดกับรัฐอาจจะเป็นเพื่อนกัน แต่ในทุกวันนี้กลุ่มทุนผูกขาดกับรัฐอาจจะเป็นคนเดียวกัน ฉะนั้นเวลาทำอะไรก็ตามกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุดก็คือกลุ่มทุนผูกขาด แต่ความเดือดร้อนกลับมาตกอยู่กับชาวบ้านธรรมดา ๆ ยกตัวอย่างเช่น ค่าไฟที่ประชาชนทุกคนในประเทศกำลังประสบปัญหากันอยู่ในทุกวันนี้ ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการที่มาจากทุนผูกขาด ดังนั้นสิ่งที่พรรคไทยภักดีจะทำเลยตั้งแต่วันแรกที่เข้าสภาเลยก็คือการปราบโกง เพราะถ้าไม่ปราบโกงมันก็ไม่สามารถขยับไปสู่ปัญหาอื่นได้

“นักวิชาการหลายคนออกมาพูดกันเยอะแยะว่า ประเทศไทยสามารถผลิตไฟฟ้าเองได้ 100% แล้วเหตุไฉนถึงไม่ผลิต ทำไมถึงไปซื้อเอกชนไปซื้อกับกลุ่มทุนผูกขาด ไทยภักดีจึงคิดว่าต้องปรับโครงสร้างของพลังงานทั้งหมดของประเทศให้เป็นพลังงานสะอาดเราจึงเสนอในเรื่องของ เกษตรพลังงานแต่ปรากฎว่าไปดูในส่วนของกฎหมายพลังงานรัฐก็ปิดกั้นไม่ให้พืชเกษตรสามารถเข้าไปผลิตพลังงานได้”

 

พรรคสามัญชน : สิทธิชุมชน สตรีและความหลากหลาย และ sex workers

ภรณ์ทิพย์ สยมชัย  เผยว่า สิทธิที่จะมีดินน้ำอากาศสะอาด ก็เป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่เราควรจะมีเช่นเดียวกับสิทธิมนุษยชนในด้านอื่น ๆ สืบเนื่องจากการต่อสู้กับเหมืองแร่ทองคำที่อ.วังสะพุง จ.เลย ที่ถูกละเมิดสิทธิ์โดยนายทุนที่เข้ามาทำเหมืองแร่แห่งนี้ ทำให้ชุมชนไม่มีน้ำสะอาดใช้ ดินมีพิษ พื้นที่แถวนั้นมีสารโลหะหนักปนเปื้อน รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำทั้งในเมืองหลวงและต่างจังหวัด ภรณ์ทิพย์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “คนกรุงเทพฯมีชีวิตที่ดีแต่คนชายขอบครับพยายามเอาโครงการขนาดใหญ่ลงในพื้นที่ลงในต่างจังหวัดเพื่อที่จะเอาทรัพยากรดีๆเข้าไปในส่วนกลางที่กรุงเทพฯเราไปเห็นกรุงเทพรถไฟฟ้ารถลอยฟ้ามีสิ่งดีๆล้วนแต่คนชายขอบต้องแบกรับอะไรบ้าง”

ขณะที่ในประเด็นสตรีและความหลากหลาย พรรคสามัญชนได้พยายามจะจัดสรรผู้สมัครที่เป็นเพศหญิงขึ้นมาให้ได้เยอะมากที่สุด  ให้มีบทบาทเป็นแม่ทัพ ส่วนในเรื่องของ LGBTQIA+ ตอนนี้ทางหัวหน้าพรรคกำลังขับเคลื่อนประเด็นนี้อยู่

ด้าน sex workers พรรคสามัญชนกำลังผลักดันกฎหมายคุ้มครองการทำงานของกลุ่มคนเหล่านี้ โดยพยายามจะออกกฎหมายเรื่องผู้หญิงที่ทำงานบริการ ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายหรือว่าเพศไหน ๆ ก็ต้องมีกฎหมายคุ้มครอง ทั้งเรื่องเวลาการเข้าออกงาน การคุ้มครองเมื่อถูกแขกที่มาใช้บริการทำร้าย หรือ ขโมยของซึ่งตรงนี้ทางพรรคสามัญชนก็กำลังผลักดันกฎหมายข้อนี้อยู่

 

 

ท้ายที่สุด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขอเน้นย้ำว่า วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ประชาชนชาวไทยจะเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เป็นวิธีการหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นการแสดงออกถึงเจตจำนงของประชาชนในการคัดเลือกบุคคลที่จะเข้าไปทำหน้าที่และใช้อำนาจอธิปไตยแทนพวกเขาในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ รวมทั้งกำหนดทิศทางและสัญญาประชาคมสำหรับการบริหารประเทศในอีก 4 ปีข้างหน้า

ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับรองพันธกิจสำคัญที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งการส่งเสริม คุ้มครอง และปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนหลายประการ ตั้งแต่การปลอดจากการทรมานไปจนถึงเสรีภาพในการแสดงออก การเลือกตั้งรัฐบาลใหม่จึงเป็นโอกาสที่จะได้เห็นการเคารพต่อพันธกิจเหล่านี้และความพยายามจะขับเคลื่อนพันธกิจเหล่านี้ให้เป็นกฎหมายและนโยบายภายในประเทศ ประเทศไทยต้องเตรียมปฏิบัติการภารกิจด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรวดเร็วและครอบคลุม รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายหรือคำสั่งซึ่งมีลักษณะจำกัดหรือคุกคาม การเข้าถึงสิทธินานัปการ รัฐบาลควรเสนอให้มีมาตรการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน และจัดตั้งกลไกเพื่อสนับสนุนให้ผู้เสียหายเข้าถึงความยุติธรรมได้ นอกจากนี้รัฐบาลใหม่ควรให้คำมั่นสัญญาในการแก้ไขข้อท้าทายในอนาคต รวมถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติและภัยคุกคามทางไซเบอร์ ผ่านการกำหนดนโยบายเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยไม่จำเป็น

ก่อนการเลือกตั้งในครั้งนี้ พบกับ เวทีดีเบตพรรคการเมือง “เลือกตั้ง 2566 : วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน” เวทีต่อไปในวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ จ. ปัตตานี เพื่อรับฟังวิสัยทัศน์และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนจากพรรคการเมืองก่อนเข้าคูหา เลือกผู้แทนของคุณ!