ผู้ลี้ภัยทางการเมือง – ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย
ทุกคนต้องได้กลับบ้าน และได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม : อังคณา นีละไพจิตร

25 สิงหาคม 2566

Amnesty International Thailand

“เรื่องผู้ลี้ภัยทางการเมือง เราก็อยากให้ทุกคนที่ลี้ภัยได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมเหมือนกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่มีหลักประกันว่าถ้าเขาได้กลับมาประเทศไทยแล้ว จะได้รับการปฏิบัติและการดูแลที่ปลอดภัยเท่าเทียมกัน ทำให้เขาทุกคนสามารถกลับมาได้โดยไม่ถูกทำร้าย หรือถูกทำอันตราย”

 

จากกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย เดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 หลังลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศนาน 15 ปี อังคณา นีละไพจิตร ตัวแทนกลุ่มญาติผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทย ในฐานะสมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ (Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances – WGEID) แสดงความคิดเห็นว่า ช่วงปี พ.ศ.2545 คณะรัฐมนตรีสมัยนายทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศให้นโยบายปราบปรามยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติเพื่อทำสงครามกับยาเสพติด ในช่วงนั้นมีประชาชนจำนวนมากถูกทรมาน ถูกวิสามัญฆาตกรรม ไม่ต่ำกว่า 2,500 คน ในจำนวนนี้มีเพียง 1 คดีที่ได้รับการพิจารณาในชั้นศาล ส่วนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส มีนโยบายการแก้ไขปัญหาความรุนแรงออกมา ทำให้ประชาชนจำนวนมากถูกทำร้ายอย่างรุนแรงและอุ้มหายไป  

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังเป็นที่จดจำมาถึงทุกวันนี้ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ค่ายปิเหล็ง ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส คือจุดเริ่มต้นความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ 

 

ผ่านไปสามเดือนเกิดเหตุความรุนแรงต่อเนื่องอีกครั้ง วันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2547 มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี เจ้าหน้าที่ปะทะกับกลุ่มคนต้องสงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบ ขณะนั้นเจ้าหน้าที่ใช้ปืนยิงเข้าไปในพื้นที่มัสยิด ทำให้มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก 

 

6 เดือนต่อมา วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2547 อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมด้วยการใช้แก๊สน้ำตา และกระสุนจริงหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ ทำให้มีผู้เสียชีวิต มีประชาชนกว่า 1,000 คน ถูกนำตัวขึ้นรถบรรทุก จากข้อมูลพบว่าคนที่ถูกควบคุมตัวขึ้นรถ ผู้ชายถอดเสื้อ ต้องเอามือไพล่หลัง ส่วนคนอื่นๆ ต้องนอนทับกันในรถบรรทุก ระหว่างเดินทางไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อถึงจุดหมายปลายทางที่ค่ายทหาร พบคนบาดเจ็บ เสียชีวิต และพิการจนใช้ชีวิตได้ไม่เหมือนเดิมจำนวนมาก 

 

การกลับมาของทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ในครั้งนี้ อังคณา สะท้อนความรู้สึกจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นสมัยที่ชายคนนี้เป็นผู้นำประเทศว่ามีคนจำนวนมาก ถูกสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม ถูกทรมาน ถูกอุ้มหายจากนโยบายระดับชาติที่ประกาศสงครามปราบปรามยาเสพติดให้สิ้นซาก นอกจากนี้สิ่งที่เห็นชัดคือการปราบปรามเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ทำให้คนกลุ่มเปราะบาง ชาวบ้านในพื้นที่ต้องเจอกับความรุนแรงทางกายและหัวใจ ขณะที่บางครอบครัวต้องสูญเสียคนในบ้านไปตลอดกาล จากการถูกทรมาน ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างไร้มนุษยธรรม และที่ร้ายแรงที่สุดคือการที่มีคนถูกบังคับให้สูญหาย 

 

“อยากสะท้อนว่าในช่วงสมัยคุณทักษิณเอง ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่หายไป ภายใต้นโยบายปราบปรามยาเสพติด หรือประกาศสงครามกับยาเสพติด โดยเฉพาะการปราบปรามการก่อการร้ายทางภาคใต้” 

 

ข้อมูลจากรายงานการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย โดยมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ปี 2555 เผยว่า ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์การใช้ความรุนแรงโดยรัฐ และการปกครองแบบเผด็จการเป็นเวลานานหลายทศวรรษ ‘การบังคับบุคคลให้สูญหาย’ เป็นเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อำนาจลักษณะนี้ ควบคู่กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยวิธีการร้ายแรงหลายรูปแบบ เช่น การทรมาน ข่มขู่ คุกคาม การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การควบคุมตัวโดยที่ไม่มีหมายจับ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าการที่รัฐใช้อำนาจเพื่อปราบปรามความเห็นต่างหรือทำตามนโยบาย เปลี่ยนแปลงชีวิตหลายครอบครัวที่เคยมีความสุขให้เป็นทุกข์เพียงชั่วข้ามคืน 

 

สถิติที่ในรายงานฉบับนี้รวบรวมกรณีการถูกบังคับให้เป็นบุคคลสูญหาย พบว่ามี 41 คดี ส่งผลกระทบต่อประชาชน 60 คน ส่วนใหญ่คนที่หายตัวไปเป็นกลุ่มชาติพันธุ์  เช่น กลุ่มชาติพันธ์ุส่วนน้อย เช่น ชาวมาเลย์ หรือลุ่มชาติพันธ์ุบนพื้นที่สูง คิดเป็น 86% โดย 94% ของผู้สูญหายเป็นผู้ชาย แต่ที่น่าสนใจมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพพบว่า การบังคับบุคคลให้สูญหายเกิดขึ้นทั่วประเทศและทุกภูมิภาคในประเทศไทย 

 

ในจำนวนผู้สูญหาย 60 คน แบ่งเป็นผู้สูญหายภาคเหนือ 12 คน ภาคตะวันตก 5 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 7 คน ภาคใต้ 33 คน ภาคกลาง 1 คน และกรุงเทพมหานคร 2 คน ขณะที่ข้อมูลจากรายงาน The Security forces systematically torture in southern counter-insurgency จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เมื่อปี 2552 ได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการทรมานในภาคใต้ของประเทศไทย พบว่าผู้ถูกควบคุมตัวส่วนใหญ่มักถูกทุบตี ถูกลนด้วยเทียนไขอย่างทารุณ หรือถูกฝังไว้ในดินให้เหลือแค่ศีรษะโผล่ขึ้นมา บางคนถูกช็อตไฟฟ้าหรือถูกจับไปอยู่ในห้องที่อากาศร้อนหรือเย็นจัด เพื่อให้รับสารภาพหรือบังคับให้ทำอะไรสักอย่างจากเจ้าหน้าที่

 

นโยบายที่ทำให้เกิด ‘การบังคับบุคคลให้สูญหาย’

 

 

1. นโยบายการต่อต้านการก่อความไม่สงบด้วยกำลังทหารทางภาคใต้ 

- นโยบายเริ่มตั้งแต่ปี 2544 ‘รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร’ และ ปี 2554 ‘รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’

- ปี 2547 – 2548 และ 2550 พบจำนวนผู้สูญหายมากที่สุดในภาคใต้ 

-ในภาคใต้  ชายมุสลิม เชื้อสายมาเลย์ เป็นผู้ถูกบังคับให้สูญหายมากที่สุด 

- ผู้สูญหาย 80% เป็นผู้ชายอายุต่ำกว่า 40 ปี และ 45% อายุต่ำกว่า 30 ปี 

- นโยบายนี้ทำให้มีผู้ถูกบังคับให้สูญหายมากถึง 55% 

 

2.นโยบายสงครามปราบปรามยาเสพติด

- นโยบายเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2546 ทำให้มีผู้ถูกบังคับให้สูญหาย การทรมานอย่างเป็นระบบ และการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม

- การเก็บสถิติบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายจากคดียาเสพติดเป็นเรื่องยาก เพราะครอบครัวหวาดกลัว 

- มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ พบผู้ต้องสงสัยในคดียาเสพติด เป็นบุคคลสูญหายอย่างน้อย 10 กรณี

- แต่ในความเป็นจริงเชื่อว่า จำนวนผู้สูญหายคดียาเสพติดที่แท้จริง มีจำนวนมากกว่าที่พบข้อมูล

 

3.คนที่มีความเสี่ยงต่อ ‘การถูกบังคับให้สูญหาย’ ในประเทศไทย 

- คนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตำรวจ ทหาร และ/ หรือคนที่ขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ เช่น คดียาเสพติด ค้ามนุษย์ 

- นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน การเมือง หรือต่อต้านการทุจริต กลุ่มนี้ยังเสี่ยงต่อการถูกสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมด้วย 

- ประจักษ์พยานที่พบเห็นเหตุอาชญากรรมหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

- คนไร้สัญชาติ หรือ คนต่างด้าว เพราะขาดสถานภาพด้านกฎหมาย ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามประเทศ 

 

อังคณาในฐานะสมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ มีความคิดเห็นถึงการกลับมาของอดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของไทยอีกว่า การที่อดีตนายกทักษิณเดินทางกลับถึงเมืองไทย ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าหน้าที่รัฐ อาจเป็นกรณีตัวอย่างในการทำ ‘หลักประกันความปลอดภัย’ ให้ผู้ลี้ภัยทางการเมืองของประเทศไทย ได้มีโอกาสกลับประเทศและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม โดยไม่ถูกทำร้ายหรือถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ หากฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำได้เชื่อว่าจะทำให้ครอบครัวที่ตั้งตารอคอยหรือต้องแยกจากกัน ได้กลับมามีความหวังและมีความสุขอีกครั้งหนึ่งในชีวิต 

 

“พอคุณทักษิณเดินทางกลับมาเมืองไทย ได้รับการต้อนรับอย่างดี แน่นอนว่าญาติๆ ผู้สูญหาย ผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลายคน เช่น จอม เพชรประดับ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา จรัล ดิษฐาอภิชัย ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในฝรั่งเศส ปัจจุบันได้สถานะเป็นพลเมืองแล้ว และอีกหลายครอบครัวคงตั้งคำถามว่าทำไมคนเหล่านี้ไม่สามารถจะกลับมาได้บ้าง” 

 

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองวัย 37 ปี ที่หายตัวไปจากหน้าคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ นับตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2563 เป็นอีกกรณีที่อังคณาพูดถึงกรณีผู้สูญหายที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกทักษิณ เธอมองว่าหากประเทศไทยมีหลักประกันความปลอดภัยให้ทุกคนที่ถูกทรมานหรือถูกอุ้มหายได้ จะเป็นอีกแนวทางที่ดีในการทำให้ครอบครัวผู้สูญหายหรือครอบครัวผู้ลี้ภัยทุกคนมีความหวังและได้รู้ชะตากรรมอีกครั้ง

 

“เรื่องผู้ลี้ภัยในสมัยรัฐบาลทักษิณไม่ได้ยินเท่าไหร่ มีแต่อุ้มฆ่า อุ้มหาย พอหลังจากคุณทักษิณโดนคดี คนใกล้ชิดคุณทักษิณเองหรือแม้กระทั่งวันเฉลิมที่ทำงานใกล้ชิดกับลูกชายคุณทักษิณและคุณยิ่งลักษณ์ ก็หายตัวไป”

 

เนื่องในวันผู้สูญหายสากลที่ใกล้กับในช่วงที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกลับเมืองไทย อังคณาสะท้อนว่า ครอบครัวผู้สูญหายที่ไม่สามารถติดต่อครอบครัวได้ โดยเฉพาะในยุคสมัยคุณทักษิณ เธอหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ จะสืบสวนสอบสวนหรือรื้อคดีขึ้นมาใหม่อย่างจริงจัง ตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่ประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566

 

“อย่างน้อยที่สุดสำหรับครอบครัว เขาอยากรู้ว่าคนในครอบครัวเขายังมีชีวิตอยู่ไหม เขาอยู่ที่ไหน หรือว่าถ้าตายไปแล้วเขาก็มักจะพูดว่า คืนศพให้เขาก็ยังดี”