ไม่ควรมีใครมาพรากการมองเห็นของเราไป การสูญเสียดวงตาของธนัตถ์ ธนากิจอำนวย (ลูกนัท) ดวงตาแรกที่ไม่ท้ายสุด ผลกระทบจากการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐ

21 สิงหาคม 2566

Amnesty International Thailand

เส้นทางในการออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองของธนัตถ์เริ่มต้นด้วยการออกมาชุมนุมกับกลุ่ม กปปส.[1] ในปี 2556 ก่อนการเกิดรัฐประหารโดยกองทัพไทยในปี 2557 หลังจากนั้น 8 ปีต่อมา ธนัตถ์ได้ออกมาใช้สิทธิในการแสดงออกทางการเมืองอีกครั้งในปี 2564 จากการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่เยาวชนนักศึกษา และนักเรียนมัธยมอายุน้อยกว่า 18 ปี ที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบหลายครั้งทั่วประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563 และในครั้งนี้เขาได้สูญเสียดวงตาข้างขวาไปตลอดกาล

ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือที่สังคมรู้จักเขาในนาม ‘ไฮโซลูกนัท’ เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในประเทศไทย ธนัตถ์เริ่มรู้จักการเมืองจากการอ่านการ์ตูน "ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน" โดยชัย ราชวัตร ในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ การที่มีครอบครัวเป็นนักธุรกิจใหญ่ในไทย ทำให้เขาต้องติดตามสถานการณ์การเมืองไปพร้อมกับครอบครัวด้วย

 

 

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 2553 ธนัตถ์ในวัย 18 ปี  ขับรถปอร์เช่สีน้ำเงิน พุ่งชนมอเตอร์ไซค์ของกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่จอดไว้ริมฟุตบาท ที่ในเวลานั้นพวกเขาออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพทางการเมือง ธนัตถ์ยอมรับว่าในวันนั้น เขาไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ส่วนใหญ่คือคนรากหญ้าที่มาจากต่างจังหวัด การชุมนุมของคนเสื้อแดงสร้างความเดือดร้อนให้กับกลุ่มชนชั้นผู้มีอันจะกินในกรุงเทพฯ

“ผมกลายเป็นฮีโร่ราชประสงค์ของกลุ่มคนมีฐานะร่ำรวย เขารู้สึกสะใจกับการกระทำที่คิดว่าผมจะขับรถชนคนเสื้อแดง”

การกระทำของธนัตถ์ได้รับการยกย่องจากพวกพ้องของเขา และเป็นใบเบิกทางให้เขาได้ขึ้นเวทีการชุมนุม กปปส. หลังจากนั้นก็เกิดรัฐประหารขึ้นในปี 2557 โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยธนัตถ์รู้สึกและยอมรับว่าเขามีส่วนที่ทำให้เกิดการรัฐประหาร

จนกระทั่งปี 2562 ประเทศไทยมีการจัดการเลือกตั้งอีกครั้ง ธนัตถ์ได้รับการทาบทามจากพรรคประชาธิปัตย์ ให้ลงลงสมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 15  เขาพ่ายแพ้ในสนามการเลือกตั้ง แต่ได้รับโอกาสชิมลางงานทางการเมือง ด้วยการไปเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ช่วงเวลาสั้น ๆ ระหว่างวิกฤตโควิด และก็เหมือนคนไทยอีกหลายคน ในช่วงเวลาวิกฤตโควิด ประชาชนหลายคนได้เห็นถึงปัญหาที่ถูกหมักหมมไว้ในเมืองไทย ประกอบกับมีการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่นำเสนอข้อเรียกร้องและข้อมูลที่เป็นการเปิดโปงขั้วอำนาจเดิม ทำให้เกิดปรากฏการณ์ในสังคมที่เรียก ‘ตาสว่าง’

ธนัตถ์เป็นหนึ่งในนั้น เขาออกมาขอโทษกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยปฏิบัติตัวเช่นนั้นกับคนเสื้อแดง  ธนัตถ์เริ่มออกมาชุมนุมและได้รับความสนใจจากสังคม จนกระทั่งทุกสายตาต่างจับจ้องมาที่ตัวเขา ในวันที่ธนัตถ์ถูกยิงจากตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) จนสูญเสียดวงตา 

 

วันที่สูญเสียดวงตา หลังจากตาสว่างได้ไม่นาน 

 

 

ก่อนวันเกิดเหตุ 13 ส.ค. 2564 ธนัตถ์ได้รับการชักชวนจากกลุ่มทะลุฟ้า จัดกิจกรรมศุกร์ 13 ไล่ทรราช ประกาศเดินคล้องแขนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปบ้านนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข

มีการยืนยันออกมาจากกลุ่มทะลุฟ้าว่า การชุมนุมในวันดังกล่าวจะเป็นไปตามแนวทางสันติวิธี

“เราจะเดินคล้องแขนกัน เป็นจุดประสงค์ของการชุมนุมวันนั้นคือยุติความรุนแรง”

ธนัตถ์ขึ้นปราศรัยในเวลา 16.00 น. และเริ่มจัดขบวนออกเดินไปบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตั้งอยู่ในกรมทหารราบที่ 1 ถนนวิภาวดี-รังสิต ในเวลา 16.28 น.

“เรารู้ว่าไปไม่ถึงบ้านเขาหรอก”

ธนัตถ์กล่าว เพราะเขาเห็นแล้วว่ามีการตั้งกำลังสกัดกั้นอย่างแน่นหนา ทั้งแนวตู้คอนเทนเนอร์ กำลังตำรวจพร้อมอาวุธควบคุมฝูงชน ผู้ชุมนุมบางส่วนมีการจุดพลุไปยังฝั่งตำรวจ ทำให้เวลา 17.12 น.  เจ้าหน้าที่เริ่มเปิดฉากยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ชุมนุม

เมื่อเห็นสถานการณ์ไม่สู้ดีนัก ธนัตถ์กับทางกลุ่มทะลุฟ้า จึงตัดสินใจยุติการชุมนุมในช่วงเวลาประมาณ 17.30 น. ธนัตถ์รับหน้าที่ขึ้นไปบนรถเครื่องเสียง เพื่อประกาศยุติการชุมนุม

“ผมกำลังบอกมวลชนว่า อย่าวิ่งเดี๋ยวมันจะเกิดอุบัติเหตุ แต่ยังไม่ทันพูดจบ แก๊สน้ำตาก็พุ่งมาปะทะที่ดวงตา สติครบทุกอย่างแต่เรี่ยวแรงหายไปหมดเลย”

กระสุนแก๊สน้ำตาถูกยิงลงมาจากทางยกระดับแยกดินแดง เป็นการยิงลงมาจากที่สูงลงมาที่ต่ำ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสากล[2] ธนัตถ์ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล เขารู้ตัวตั้งแต่ถูกยิงแล้วว่าตาคงบอด แต่โชคดีที่กระสุนแก๊สน้ำตาดังกล่าวแก๊สไม่ทำงาน จึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบแทรกซ้อนตามมา

การผ่าตัดและการรักษาผ่านไปอย่างราบรื่น ครอบครัวของธนัตถ์เลือกทีมแพทย์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ เขาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน พร้อมค่าใช้จ่ายที่หมดไปหลักแสนบาท

“สำหรับการสูญเสียดวงตาไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ขนาดนั้น ผมยังเหลือดวงตาอีกข้าง ให้ใช้ชีวิตตามปกติ และไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิการ”

หลังออกมาจากโรงพยาบาล ธนัตถ์จำเป็นต้องจ้างพยาบาลประจำตัวเพื่อคอยมาดูแลบาดแผลของเขาในช่วงระยะเวลา 6 เดือนแรก เขาสังหรณ์ใจว่าความรุนแรงเช่นนี้จะเกิดขึ้นอีก และก็เป็นดังที่เขาคิดในอีก 1 ปีต่อมา พายุ บุญโสภณ หรือ พายุ ดาวดิน ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่สูญเสียดวงตาจากกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน

ธนัตถ์ตัดสินใจจ้างทีมทนายที่ดีที่สุด เพื่อฟ้องร้องจำเลยที่ 1 คือสำนักนายกรัฐมนตรี และจำเลยที่ 2 คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขาต้องการสร้างบรรทัดฐานใหม่ เพื่อบอกแก่เจ้าหน้าที่รัฐว่า “คุณไม่สามารถละเมิดประชาชนได้ และถ้าคุณละเมิดคุณต้องรับผิดชอบ”

 

กระบวนการยุติธรรม ที่ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการ

 

 

เวลาผ่านมา 2 ปี ตอนนี้กระบวนการยุติธรรมของธนัตถ์ เพิ่งเสร็จสิ้นการสืบพยานนัดแรกไป ทางภาครัฐมีการใช้ข้ออ้างว่า  ในช่วงเวลาเกิดเหตุมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ ประชาชนจึงไม่สิทธิในการชุมนุม

“คุณไม่ควรไปอยู่ตรงนั้น”

คือถ้อยคำจากภาครัฐที่บอกแก่ธนัตถ์ โดยที่เขาโต้กลับว่า

“ถึงผมไม่มีสิทธิอยู่ตรงนั้น และคุณมีสิทธิในการสลายการชุมนุม แต่คุณต้องสลายการชุมนุมตามหลักสากล”

นอกจากนี้ระหว่างการสืบพยาน ภาครัฐตั้งคำถามเพื่อชี้ว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธหรือไม่ และการที่ธนัตถ์ถูกยิง อาจเกิดจากการมีกลุ่มคนที่แฝงตัวเข้ามาและใช้ความรุนแรง จนทำให้เกิดการบาดเจ็บกันเอง

ธนัตถ์มองว่ากระบวนยุติธรรมนั้นเป็นสิ่งยุ่งยาก และไม่ใช่ทุกคนจะได้รับมันอย่างเท่าเทียม เพราะการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง ผู้ฟ้องต้องวางค่าธรรมเนียมศาล 2% และไม่ว่าจะแพ้หรือชนะก็จะไม่ได้รับเงินส่วนนี้กลับมา

“การฟ้องแพ่ง ควรเป็นการฟ้องเพื่อลงโทษผู้ละเมิดด้วยการจ่ายเงิน แต่เมืองไทยเหมือนเป็นการให้สินไหมชดเชย”

ธนัตถ์เน้นย้ำว่าการฟ้องร้องครั้งนี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการแก้แค้น หรือความรู้สึกโกรธต่อเจ้าหน้าที่แต่เขาต้องการเอาผิดคนสั่งการ ที่ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติงานชั้นผู้น้อยที่ต้องรับคำสั่งมานั่นเอง

“เราทำเพื่อแก้ไขระบบ เพื่อที่จะบอกว่าตาชั่งความยุติธรรมมันเพี้ยนไปหมดแล้ว เราไม่ได้ทำไปเพื่อแก้แค้นตัวบุคคล”

อย่างไรก็ดีการชุมนุมที่ผ่านมาในช่วงปี 2563 - 2565 ธนัตถ์มองว่าความรู้สึกที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน มีให้แก่ผู้ชุมนุมนั้น เต็มไปด้วยความแค้น เป็นอารมณ์เดียวกันกับที่เขาเคยรู้สึกกับผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงในอดีต

“เราเข้าใจความรู้สึกพวกเขา สิ่งเหล่านี้เกิดจากการเสพข้อมูลที่มาจากฝ่ายอำนาจ จึงไม่แปลกใจว่าทำไมเจ้าหน้าที่ถึงรู้สึกแบบนั้น”

ธนัตถ์กล่าวทิ้งท้ายในประเด็นนี้ว่า ปัญหาความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชน ไม่ใช่ปัญหาที่เขาสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวคนเดียว โดยใช้เงินหรือชื่อเสียง เขามองว่ามันต้องใช้ความพยายามของคนหมู่มาก เป็นการอารยะขัดขืนที่ไม่ยอมให้อำนาจใดมาละเมิดอำนาจของประชาชน

เพราะสุดท้ายเจ้าหน้ารัฐก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง ถ้าเขาเข้าใจและเคารพในสิทธิมนุษยชน ธนัตถ์เชื่อว่าสักวันเขาจะปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา และถือเกียรติในอาชีพของพวกเขา เพราะถ้าเขาปฏิบัติตามหลักสากล โดยไม่สนใจว่านายจะสั่งมาอย่างไรนั้นจะ เป็นทางเดียวที่ความเสียหายและการสูญเสียจะไม่เกิดขึ้นอีก

 

ข้อเสนอเพื่อยุติความรุนแรงและการสูญเสียจากการชุมนุม

“เราเห็นด้วยกับข้อเสนอของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แต่ถ้ามีแล้วเจ้าหน้าที่เขาไม่ปฏิบัติ? ดังนั้นผมคิดว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมันมาจากข้อผิดพลาดของมนุษย์ที่กระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน”

 

 

โดยข้อเสนอที่ธนัตถ์กล่าวถึงนั้น เป็นข้อเสนอที่มีความสอดคล้องกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และมูลนิธิโอเมกา ที่ได้ออกรายงานร่วมกันชื่อ “ลูกตาเราแตก” (My Eye Exploded) ที่มีข้อเรียกร้องต่อรัฐในการควบคุมการใช้กระสุนยางของตำรวจต่อประชาชนว่า

1.ห้ามการผลิต การค้า และการใช้งานอาวุธ KIPs (การใช้กระสุนวิถีโค้งที่มีแรงกระแทกหรือกระสุนจลนศาสตร์) ที่มีความไม่แม่นยำ เป็นอันตราย และไม่สามารถเจาะจงการใช้งานได้อย่างเหมาะสม รวมถึงอุปกรณ์ยิงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

2.กำหนดการควบคุมทางการค้าที่เข้มงวดบนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ที่เกี่ยวข้องกับ KIPs รวมทั้งอาวุธปืนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และห้ามการโอนย้ายอาวุธเหล่านี้เข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ที่จะถูกใช้ในการกระทำเพื่อส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยความรุนแรง รวมถึงการทารุณกรรมในรูปแบบอื่นๆ

3.ห้ามใช้งาน KIPs ในการควบคุมฝูงชนโดยทั่วไป รวมถึงเพื่อใช้ในการกระจายกลุ่มคน

4.ต้องมั่นใจว่าจะใช้ KIPs ได้ก็ต่อเมื่อมีบุคคลที่ก่อความรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อชีวิต โดยใช้ในกรณีที่ไม่มีวิธีอื่นที่สามารถปฏิบัติการเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ได้ และไม่เล็งไปยังเป้าหมายในส่วนบนของร่างกายหรือบริเวณเชิงกราน

5.ห้ามใช้อาวุธที่ไม่ได้ออกแบบสำหรับการควบคุมมวลชน เช่น ปืนลูกซองกระสุนโลหะที่ใช้ในการล่าสัตว์ ในการดำเนินการของหน่วยงานตำรวจ

6.ให้การรักษาและฟื้นฟูทางการแพทย์ที่เหมาะสมและทันท่วงที และให้ค่าสินไหมที่เป็นธรรมและและเพียงพอแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ KIPs โดยผิดกฎหมาย

ธนัตถ์มองว่า ทุกวันนี้มีการสั่งซื้ออาวุธควบคุมฝูงชนเข้ามาอยู่ตลอด แต่เขามองว่าอาวุธเป็นส่วน

หนึ่ง แต่ความรุนแรงโดยส่วนมากแล้ว ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้ปฏิบัติงานมากกว่า

“ถ้าเจตนาเจ้าหน้าที่กะเอากันให้ตาย ของทั่วไปที่เขาหาได้ มันก็สามารถทำร้ายคนได้”

ต่อมาธนัตถ์ตั้งข้อสังเกตว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ คฝ. ทุกครั้งจะมีการปิดบังตัวตน ที่ทำให้สังคมไม่สามารถระบุตัวตนของเจ้าหน้าที่ได้ เขาเสนอว่าควรมีการติดหมายเลขที่อุปกรณ์ของตำรวจ คฝ. ทั้งที่หมวก โล่ และอุปกรณ์อื่นๆ

อย่างไรก็ดีสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยยุติความรุนแรง คือการแสดงออกของภาคประชาชนให้รัฐเห็นว่า เมื่อมีการละเมิดเกิดขึ้นแล้ว จะไม่มีใครยอมให้มันเกิดขึ้นโดยที่รัฐไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ

“พายุ ผม และพี่หนึ่ง (3 คนที่สูญเสียดวงตา) ทุกคนพยายามมากที่สุด ที่จะทำอะไรสักอย่าง เพื่อไม่ให้มันเกิดซ้ำกับคนอื่น สังคมต้องไม่ปล่อยผ่าน วันนี้ความรุนแรงเกิดขึ้นกับผม แต่วันข้างหน้ามันอาจจะขึ้นกับคุณหรือคนที่คุณรัก”

และข้อสุดท้ายคือการทวงความเป็นธรรมและการเยียวยาผู้เสียหาย ธนัตถ์มองว่าบรรทัดฐานการพิจารณาความเสียหาย และจำนวนเงินที่จะต้องเยียวยาผู้เสียหาย ไม่ถูกอัปเดตให้ตรงกับบริบทของสังคมและเศรษฐกิจ

เขายกตัวอย่างระหว่างกรณีของเขา กับหนึ่ง ฐนกร ผ่านพินิจ ที่ถูกยิงจนสูญเสียดวงตาทั้ง 2 ข้าง ทั้งยังเป็นเสาหลักของครอบครัวดูแลสมาชิกอีก 3 คน แต่ศาลกับใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาค่าเสียหาย จากรายได้ที่ผ่านมา และอายุงานที่คาดว่าจะสามารถทำงานต่อไปในอนาคต ในขณะที่ฐนกรเรียกร้องค่าเสียหายได้ 10 ล้านบาท แต่ธนัตถ์กลับสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ถึง 50 ล้านบาท เพราะเขามาจากครอบครัวที่มีฐานะ

“ศาลดูจากที่ผ่านมาผมมีรายได้เท่าไหร่ แล้วผมมาจากครอบครัวมีฐานะ เลยกลายเป็นว่าผมมีสิทธิจะเรียกร้องได้มากกว่าเขา

ท้ายที่สุดแล้วธนัตถ์ให้ข้อสรุปว่า แม้เราจะมีกฎระเบียบที่ดี แต่ถ้าผู้ปฏิบัติหน้าที่ไม่ใส่ใจ ไม่ได้มองประชาชนเป็นผู้มีอำนาจ แต่มองผู้บังคับบัญชาที่มีสิทธิให้ประโยชน์เขาในการเลื่อนตำแหน่งมาเป็นตัวตั้ง เขาก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใส่ใจกับประชาชนตัวเล็กๆ ที่ไม่ได้อยู่ในสมการอำนาจของชีวิตพวกเขา

“ทุกวันนี้เวลาผมมองดวงตาข้างที่เสียไป ผมภูมิใจนะ มันเป็นสัญลักษณ์ที่บอกแทนใจผมเสมอว่า เรากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง  และทุกครั้งที่ไปร่วมกิจกรรมทางเมืองผมได้รับพลัง ได้รับการโอบกอดจากมวลชน โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่เมื่อย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว ผมมีความอำมหิตพอที่จะบอกว่า ตาย ๆ ไปให้หมดพวกเขาโอบกอดผมด้วยความรักและเป็นห่วง ทั้งที่เขาลำบากกว่าผมมาก แต่ผมเกิดมาในชีวิตที่สะดวกสบาย แค่ตาข้างเดียวมันไม่เป็นอะไรเลย”

 

บทสัมภาษณ์ของธนัตถ์ ธนากิจอำนวย พายุ บุญโสภณ และหนึ่ง ณฐกร เป็นตัวอย่างในหลายร้อยพันคนทั่วโลกที่ต่างได้รับผลกระทบจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใช้อาวุธเพื่อบังคับใช้กฎหมายที่มีความร้ายแรงต่ำ อย่างไม่บันยะบันยังและไม่ได้สัดส่วน รวมทั้งการใช้กระสุนวิถีโค้งที่มีแรงกระแทกหรือกระสุนจลนศาสตร์ (Kinetic Impact Projectiles - KIPs)  เช่น กระสุนยาง และการยิงกระสุนลูกปรายใหญ่หุ้มยาง (rubberized buckshot) และระเบิดแก๊สน้ำตาที่เล็งและยิงใส่ผู้ชุมนุมประท้วง โดยตรง ซึ่งนั่นแสดงให้เราเห็นความสำคัญของการที่ทุกประเทศทั่วโลกจำต้องเร่งรณรงค์ให้เกิดสนธิสัญญาการค้าที่ปลอดจากการทรมานที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ อันเป็นมาตรการที่จำเป็นเร่งด่วนเพื่อควบคุมการค้าอุปกรณ์ควบคุมมวลชน และเพื่อช่วยคุ้มครองสิทธิของการชุมนุมประท้วงนั่นเอง

 

ดวงตาหนึ่งข้างจะสร้างดาวอีกล้านดวง”

 


[1] กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

[2] ข้อมูลเพิ่มเติม “ทั่วโลก: การใช้แก๊สน้ำตาโดยมิชอบทำให้ผู้ชุมนุมประท้วงทั่วโลกเสียชีวิตและบาดเจ็บ – เว็บไซต์อินเตอร์แอคทีฟฉบับปรับปรุง” จาก https://www.amnesty.or.th/latest/news/1131/