ทั่วโลก: การใช้แก๊สน้ำตาโดยมิชอบทำให้ผู้ชุมนุมประท้วงทั่วโลกเสียชีวิตและบาดเจ็บ – เว็บไซต์อินเตอร์แอคทีฟฉบับปรับปรุง

7 มิถุนายน 2566

Amnesty International

ภาพถ่าย : Anadolu Agency via Getty Images

การใช้แก๊สน้ำตาโดยมิชอบอย่างโหดเหี้ยมของกองกำลังความมั่นคงระหว่างการปราบปรามการชุมนุมในอิหร่าน เปรู และศรีลังกาเมื่อปีที่แล้วเป็นหนึ่งในหลายเหตุการณ์ใหม่ที่มีรายละเอียดอยู่ใน แก๊สน้ำตา: การสืบสวน ฉบับปรับปรุงของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล


ขณะนี้เว็บไซต์อินเตอร์แอคทีฟมีรายละเอียดของเหตุการณ์ใหม่ 30 เหตุการณ์ใน 13 ประเทศที่ตำรวจและกองกำลังความมั่นคงก่อให้เกิดอันตรายจากการใช้แก๊สน้ำตาอย่างไม่เหมาะสม

 

นับตั้งแต่เปิดตัวเว็บไซต์ที่ได้รับรางวัล Webby ในปี 2563 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ยืนยันเหตุการณ์การใช้แก๊สน้ำตาโดยมิชอบในกว่า 115 ประเทศและดินแดน รวมถึงฝรั่งเศส กัวเตมาลา อินเดีย อิสราเอล/ดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง เลบานอน มาลี เมียนมา ไนจีเรีย เซอร์เบีย ซูดาน ตูนิเซีย ยูกันดา และสหรัฐอเมริกา

มาริยา ริสติก ผู้จัดการ Digital Verification Corps  ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่าในแต่ละปี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับการใช้แก๊สน้ำตาที่เป็นอันตรายและโดยประมาททั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง

“ผู้คนลงไปเดินบนถนนเพื่อชุมนุมเรียกร้องให้เคารพสิทธิมนุษยชนของพวกเขา แต่ต้องเผชิญกับความรุนแรงที่ไม่จำเป็นหรือการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ รวมถึงในหลายกรณี มีการใช้แก๊สน้ำตาอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“ทางการทั่วโลกต้องเคารพสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ส่วนผู้ที่ใช้แก๊สน้ำตาอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อผู้ที่ใช้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานจะต้องถูกนำตัวมารับผิดชอบ”

แคมเปญ Protect the Protest (ปกป้องสิทธิในการชุมนุมประท้วง) ที่กำลังดำเนินอยู่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังจัดทำรายงานการโจมตีการชุมนุมประท้วงโดยสงบเพื่อยืนหยัดเคียงข้างผู้ที่ตกเป็นเป้าหมาย และสนับสนุนขบวนการเพื่อสังคมที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกอีกด้วย

 

หลักฐานวิดีโอการใช้แก๊สน้ำตาอย่างมิชอบที่ได้รับการยืนยันโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
 
แผนที่: Digital Verification Corps ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลตรวจสอบวิดีโอประมาณ 300 รายการและไฮไลต์วิดีโอมากกว่า 30 รายการไว้ในหน้านี้ ซึ่งเป็นวิดีโอที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายใช้แก๊สน้ำตาในลักษณะที่เป็นปัญหา โดยยืนยันตำแหน่ง วันที่ และความถูกต้อง เหตุการณ์ส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับงานวิจัยและแถลงข่าวของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลก่อนหน้านี้ และครอบคลุมชุมนุมการประท้วงตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ถึงมกราคม 2566 รายการการละเมิดการชุมนุมประท้วงอ้างอิงจากเนื้อหาที่น่าเชื่อถือซึ่งแสดงการใช้อาวุธที่ไม่รุนแรงถึงชีวิตอย่างมิชอบ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลตระหนักว่ารายการดังกล่าวยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ และมีการชุมนุมประท้วงและเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นซึ่งไม่ได้รับการกล่าวถึงในงานวิจัยและแผนที่ • ที่มา: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล • รับข้อมูล 

 

การใช้โดยมิชอบทำให้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

ตลอดปี 2565 ทางการอิหร่านใช้การตอบโต้ด้วยอุปกรณ์และยุทธวิธีทางทหารต่อการชุมนุมประท้วงในท้องถิ่นและทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ โดยใช้กระสุนจริง กระสุนลูกปรายโลหะ แก๊สน้ำตา และปืนฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อสลายการชุมนุมประท้วงที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชุมนุมโดยสงบ ผู้ชุมนุมและผู้มุงดูเหตุการณ์หลายร้อยคนถูกกองกำลังความมั่นคงสังหารอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีเด็กรวมอยู่ด้วยหลายสิบคน เด็กหญิงวัย 6 ขวบเสียชีวิตหลังถูกกระป๋องแก๊สน้ำตายิงเข้าที่ศีรษะ ประชาชนหลายพันคนได้รับบาดเจ็บรุนแรง ซึ่งรวมถึงตาบอด โดยหลายคนไม่ได้เข้ารับการรักษาเพราะกลัวถูกจับกุม

ระหว่างการชุมนุมประท้วงอย่างกว้างขวางในเปรูที่เริ่มต้นในเดือนธันวาคม 2565 กองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเปรูได้ยิงอาวุธร้ายแรงและใช้อาวุธที่ไม่รุนแรงถึงชีวิตอื่นๆ กับประชาชนอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชนเผ่าพื้นเมืองและ campesinos (เกษตรกรในชนบท) การใช้กำลังอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 49 รายจากการปราบปรามของรัฐจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 การชุมนุมประท้วงส่วนใหญ่เป็นการชุมนุมโดยสงบ แต่หลักฐานระบุว่าตำรวจและกองทัพยิงกระสุน กระสุนลูกปราย และแก๊สน้ำตาโดยประมาท สังหารหรือทำร้ายผู้มุงดูเหตุการณ์ ผู้ชุมนุม และผู้ที่กำลังช่วยปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บ

ในศรีลังกา รัฐบาลได้เพิ่มความเข้มข้นในการปราบปรามผู้เห็นต่าง เนื่องจากประชาชนหลายพันคนออกมาชุมนุมประท้วงสถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของประเทศ การใช้แก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำโดยมิชอบกลายเป็นเรื่องปกติในการตอบโต้การเดินขบวน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ชุมนุมและผู้มุงดูเหตุการณ์ ซึ่งรวมถึงเด็กๆ ยุทธวิธีดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยหนึ่งรายในการชุมนุมประท้วงเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565

และในยูเครน กองกำลังความมั่นคงของรัสเซียยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมโดยสงบในเมืองเคอร์ซอน ซึ่งลงไปเดินบนถนนในเดือนเมษายน 2565 เพื่อเรียกร้องให้รัสเซียยุติการยึดครองเมืองของพวกเขา

การอัปเดตเว็บไซต์ล่าสุดรวมถึงตัวอย่างที่คล้ายกันของการใช้โดยมิชอบในโคลอมเบีย เอกวาดอร์ กรีซ อินเดีย อินโดนีเซีย อิรัก อิสราเอล/ดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง และตุรเคีย

 

การตรวจสอบแบบโอเพนซอร์ส

Crisis Evidence Lab ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เริ่มทำการวิจัยเกี่ยวกับการใช้แก๊สน้ำตาโดยมิชอบในปี 2562 ผ่านการวิเคราะห์วิดีโอที่โพสต์บนโซเชียลมีเดียเป็นหลัก โดยใช้วิธีการตรวจสวนแบบโอเพนซอร์ส องค์กรได้ระบุและยืนยันกรณีที่มีการใช้แก๊สน้ำตาโดยมิชอบ โดยยืนยันตำแหน่ง วันที่ และความถูกต้อง การวิเคราะห์ดำเนินการโดย Digital Verification Corps ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นเครือข่ายนักศึกษาใน 5 มหาวิทยาลัยใน 4 ทวีป ได้รับการฝึกฝนให้ตรวจสอบวิดีโอและภาพถ่ายของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งและวิกฤตทั่วโลก

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้จัดทำรายงานการใช้แก๊สน้ำตาอย่างมิชอบของตำรวจในหลายรูปแบบ เช่น ยิงเข้าไปในสถานที่คับแคบ ยิงใส่บุคคลโดยตรง ใช้ในปริมาณที่มากเกินไป ยิงใส่ผู้ชุมนุมโดยสงบ และยิงใส่กลุ่มที่ไม่สามารถหลบหนีได้หรือได้รับผลกระทบมากกว่า เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ 

 

จำเป็นต้องมีกฎระเบียบ

แม้จะมีการใช้โดยมิชอบอย่างแพร่หลาย แต่ก็ไม่มีการตกลงกฎระเบียบระหว่างประเทศเกี่ยวกับการซื้อค้าแก๊สน้ำตาและสารเคมีที่สร้างความระคายเคืองอื่นๆ มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ให้ข้อมูลสาธารณะเกี่ยวกับปริมาณและปลายทางของการส่งออกแก๊สน้ำตา ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมดูแลอย่างอิสระ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและ Omega Research Foundation ได้รณรงค์มานานกว่าสองทศวรรษเพื่อให้มีการควบคุมมากขึ้นสำหรับการผลิต การซื้อขาย และการใช้แก๊สน้ำตา และอุปกรณ์และอาวุธบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ สหภาพยุโรปได้ประกาศใช้การควบคุมการซื้อขายอุปกรณ์บางประเภท และสหประชาชาติและสภายุโรปได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการควบคุมการส่งออกอุปกรณ์บังคับใช้กฎหมายที่สามารถใช้สำหรับการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ

หลังจากการสนับสนุนทางการทูตระดับสูงจากประเทศกว่า 60 ประเทศของ Alliance for Torture-Free Trade (พันธมิตรเพื่อการค้าที่ไม่ก่อให้เกิดการทรมาน) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรสากลขององค์กรภาคประชาสังคม ขณะนี้ สหประชาชาติกำลังสำรวจความเป็นไปได้ในการพัฒนาการควบคุมการซื้อขายระหว่างประเทศเกี่ยวกับอุปกรณ์บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งรวมถึงแก๊สน้ำตา เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้ในการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ ในเดือนมกราคม 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและองค์กรพัฒนาเอกชนกว่า 30 แห่งได้ร่วมกันลงนามใน Shoreditch Declaration โดยเรียกร้องให้มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการซื้อขายเครื่องมือทรมานที่ใช้ปราบปรามการชุมนุมประท้วงโดยสงบและละเมิดผู้ถูกควบคุมตัวทั่วโลก