'การชุมนุมประท้วงโดยสงบ' ความหวังของวันพรุ่งนี้ เรื่องราวของ 'เนลสัน แมนเดลา' นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนระดับโลก สู่ 'เสื้ออิสรภาพ'

16 กรกฎาคม 2566

Amnesty International Thailand

 

‘การชุมนุมประท้วงโดยสงบ’ ความหวังของวันพรุ่งนี้

เรื่องราวของ ‘เนลสัน แมนเดลา’ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนระดับโลก สู่ ‘เสื้ออิสรภาพ’

“คุณคือความหวังของวันพรุ่งนี้” ประโยคสั้นๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหมายอันลึกซึ้ง  ที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ต้องการสื่อสารถึงสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันว่า ‘สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ’ อาจเป็นประตูแห่งโอกาสครั้งสำคัญ ที่ทำให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างชอบธรรมและสวยงาม หากเรื่อง ‘สิทธิมนุษยชน’ ถูกทำให้ทุกคนตระหนักรู้ว่าการเคารพสิทธิกันและกันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รู้และได้รับในชีวิตประจำวัน 

การเปลี่ยนผ่านขั้วอำนาจทางการเมืองที่ผ่านมา ทำให้เกิดการรณชุมนุมประท้วงมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในประเทศไทย ขณะที่เว็บไซต์ม็อบดาต้าไทยแลนด์ (Mob Data Thailand) เปิดเผยตัวเลขการชุมนุมช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมาพบว่า ตั้งแต่ปี 2563 ถึง ปี 2566 เกิดการประท้วงชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในเรื่องต่างๆ กว่า 3,350 ครั้ง ในจำนวนนี้ปี 2564 เกิดการชุมนุมมากที่สุด อยู่ที่ 1,500 ครั้ง นับเป็นปรากฏการณ์สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมช่วงเวลานั้น

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้แรงบันดาลใจในการจัดทำเนื้อหา ‘PROTEST FOR TOMORROW’ หรือ ‘คู่มือการจัดการการชุมนุมโดยสงบเพื่อความหวังของวันพรุ่งนี้’ ขึ้นมา เพื่อเป็นสื่อกลางให้ความรู้กับประชาชนทุกคน ที่ต้องการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกผ่านการชุมนุม ที่ใช้ยุทธวิธีและแนวทางการแสดงออกหลากหลายรูปแบบ เพื่อแสดงจุดยืนเรียกร้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนและนักกิจกรรมที่ออกมาชุมนุมโดยสงบ 

หลายครั้งที่ผ่านมาเมื่อเกิดการชุมนุมประท้วง นักกิจกรรมส่วนใหญ่ถูกตั้งคำถามว่าการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์หรือเคลื่อนไหวด้วยประเด็นที่ต้องการเรียกร้องหรือส่งเสียงสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรม เป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมหรือไม่ในการแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ ถ้าเชื่อมโยงเรื่องนี้ในระดับสากล พบว่าหลายประเทศทั่วโลกยอมรับและยึดถือสิทธิในการแสดงออกให้เป็นเรื่องสากล ตามมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่รับรองและประกาศใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อตั้งกติกาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมานานแล้ว 

โดย ‘สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง’ เป็นหนึ่งในกติกาที่ถูกบัญญัติไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้วย และแม้ปฏิญญานี้จะไม่ใช่สนธิสัญญาระหว่างประเทศ แต่ตามธรรมเนียมและในทางปฏิบัติถือเป็นกฎหมายจารีตที่ทุกประเทศต้องให้เรื่องความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนมากที่สุดในสังคมนั้นๆ  ขณะที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อที่ 19 ได้รับรองให้ ‘สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก’ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทำได้ หากเป็นการชุมนุมประท้วงโดยสงบ โดยให้คำจำกัดความว่า “ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธิรวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซงที่จะแสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสาร และความคิดเห็นไม่ว่าโดยวิธีใดๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน”

สำหรับการชุมนุมประท้วงในปัจจุบัน นักกิจกรรมมีวิธีรวมพลหรือเคลื่อนไหวที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เห็นการแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์หรือการเรียกร้องที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังสิทธิเสรีภาพหลายแง่มุม เช่น การชุมนุมที่ใช้วิธีเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ด้วยการเดินขบวนหรือขับรถไปใจกลางเมืองสำคัญที่สะท้อนประเด็นที่ต้องการแสดงออก การชุมนุมแบบค้างคืนจัดตั้งเวทีปราศรัย ให้นักกิจกรรมหรือมวลชนปักหลักอยู่กับที่เพื่อให้สะดวกต่อการจัดการดูแล การชุมนุมระยะสั้นหรือ ‘แฟลชม็อบ’ เน้นความรวดเร็วและสั้นด้วยการชูป้าย เต้น ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งพบว่าการชุมนุมลักษณะนี้เป็นที่นิยมในปัจจุบัน  

แม้ว่า ‘การชุมนุมประท้วง’ จะถูกตีความว่าสามารถทำได้โดยอิสระ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ ‘การชุมนุมประท้วงโดยสงบและใช้สันติวิธี’ โดยข้อมูลจากศูนย์นานาชาติด้านความขัดแย้งแบบสันติ (International Center on Nonviolent Conflict) สหรัฐอเมริกา พบว่า การชุมนุมที่ไร้ความรุนแรง มีแนวโน้มสร้างการเปลี่ยนแปลงและประสบความสำเร็จมากกว่าการชุมนุมที่มีถ้อยคำเชิงลบและการกระทำที่รุนแรง เพราะการใช้ความรุนแรง อาจทำให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาครัฐ ใช้เป็นเหตุผลในการปราบปรามด้วยวิธีที่ไร้มนุษยชน 

 

สิทธิจะม็อบ (โดยสงบ) สิทธิที่จะช้อปกับ แอมเนสตี้ ประเทศไทย 

“อิสรภาพไม่ใช่แค่เพียงการปลดเปลื้องพันธนาการของตัวเองเท่านั้น  แต่คือการใช้ชีวิตที่เคารพและส่งเสริมเสรีภาพของคนอื่นด้วย”

 

ประโยคข้างต้นคือถ้อยคำของ เนลสัน โรลีลาลา แมนเดลา (Nelson Rolihlahla Mandela) ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาค’ หรือ ‘วีรบุรุษแห่งแอฟริกาใต้’ ชายผู้นี้เคยถูกจองจำในห้องขังนาน 27 ปี ซึ่งถือว่าเป็นนักโทษทางการเมืองที่ถูกคุมขังในเรือนจำยาวนานที่สุดในโลก เขาคือบุคคลระดับโลกที่เป็นแกนนำออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมด้านเชื้อชาติระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำ ที่ในช่วงนั้นมีการต่อต้านคนผิวสีในสังคม  

 

ในปี พ.ศ.2505 เนลสัน ได้เขียนจดหมายถึงแอมเนสตี้ หลังถูกจับกุมระหว่างต่อสู้ปกป้องสิทธิของผู้ใช้แรงงาน ในจดหมายเขียนว่า “ผมต้องขอให้คุณรับจดหมายนี้ไว้ แทนมิตรภาพอันเหนียวแน่นและอบอุ่นจากหัวใจของผม” ซึ่งเนลสันเป็นหนึ่งใน ‘นักโทษทางความคิด’ ที่แอมเนสตี้ร่วมรณรงค์เรียกร้องให้เขาถูกปล่อยตัวและได้รับอิสรภาพทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข หลังถูกตัดสินจำคุก 5 ปี กรณีขับเคลื่อนปกป้องสิทธิแรงงาน

 แต่ต่อมาเมื่อเขากลายมาเป็นผู้นำกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ และได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่อต้านใต้ตินโดยใช้อาวุธ เช่น การก่อวินาศกรรม จนถูกประณามจากผู้นำต่างชาติว่าเป็น “การก่อการร้าย” และถูกจับกุม แอมเนสตี้ ถือว่าเขาเป็น “นักโทษทางการเมือง” จึงเรียกร้องให้มีการไตร่สวนอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ในตอนนั้นมีสมาชิกแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้ร่วมเขียนจดหมายรณรงค์ในครั้งนั้นด้วย

ทันทีที่ ‘เนลสัน แมนเดลา’ ออกจากเรือนจำ ชายผู้นี้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกในฐานะ ‘ผู้ส่งเสริมการให้อภัยและความเสมอภาค’ เหตุการณ์จำคุกในครั้งนั้นกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และเป็นตัวอย่างของการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพเรื่องนโยบายต่อต้านผิวสี แม้ชีวิตของเขาในช่วงวัยหนุ่มที่ยังมีกำลังวังชา ต้องถูกกักขังอิสรภาพนาน 27 ปี แต่การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในครั้งนั้น ทำให้เนลสัน แมนเดลา เป็นที่ยอมรับของประชาชน ซึ่งทำให้เขาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้อย่างชอบธรรม ทำให้เนลสันเป็นคนผิวสีคนแรกที่ได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี

 

เรื่องราวของ ‘เนลสัน แมนเดลา’ ที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมเรื่องเชื้อชาติระหว่างคนผิวดำและผิวขาวให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี พ.ศ. 2536และแอมเนสตี้ประกาศให้เขาเป็น “ทูตแห่งมโนธรรมสำนึก” (Ambassador of Conscience) เพื่อเป็นการยกย่องการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของเขา ในปี 2549

การกระทำที่ดังก้องโลกของเขาถูกมองว่าเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังดีต่อเพื่อนมนุษย์และโลก ทำให้ทุกวันที่ 18 กรกฎาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันเกิดของชายผู้นี้ ถูกยกย่องให้เป็น วันเนลสัน แมนเดลาสากล (Nelson Mandela International Day) เพื่อเป็นเกียรติและศักดิ์ศรีให้เขา ในฐานะคนที่อุทิศตนเพื่อชาวแอฟริกาใต้และร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ในระดับโลก 

 

เส้นทางชีวิตของ ‘เนลสัน แมนเดลา’ เป็นสารตั้งต้นที่ทำให้แอสเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จุดประกายความคิด ผลิตเสื้อยืดรุ่น ‘อิสรภาพ’ ขึ้นมา ด้านหน้าและด้านหลังมีคมภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ของ ‘นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาค’ เนลสัน แมนเดลา เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ที่สวมใส่เสื้อนี้ มีพลังขับเคลื่อนเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเรื่องต่างๆ ในสังคม 

ความพิเศษของ ‘เสื้อยืดรุ่นอิสรภาพ’ นอกจากมีคำคมที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังชีวิตและพลังจิตใจของเนลสัน แมนเดลาแล้ว เสื้อรุ่นนี้ผลิตจากผ้าฝ้าย คอตตอน 100% มีความยืดหยุ่นกว่าผ้าชนิดอื่นๆ ระหว่างสวมใส่ไปในที่ต่างๆ เพราะเนื้อผ้ามาจากเส้นใยธรรมชาติ นุ่ม ลื่น สบาย ระบายอากาศได้ดี สามารถซักทำความสะอาดและสวมใส่ได้เลย หรือหากต้องการความเรียบร้อยสามารถใช้เตารีด รีดเสื้อรุ่นนี้ในอุณหภูมิที่สูงได้ เพราะเนื้อผ้าทนทานต่อความร้อน 

“ทุกคนมีสิทธิที่จะชุมนุมประท้วงโดยสงบ ทุกคนมีสิทธิที่จะใส่เสื้อหรือซื้ออะไรที่สร้างสรรค์สังคมในทางที่ดีขึ้น เรียกง่ายๆ ว่า มีสิทธิที่จะม็อบ หรือมีสิทธิที่จะช้อปตามใจชอบได้”

แอสเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชวนทุกคน เปิดใจให้กับ ‘เสื้ออิสรภาพ’ ให้เสื้อรุ่นนี้นำพาชีวิตและจิตใจของผู้ที่สวมใส่ขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการเคารพสิทธิกันและกัน เพื่อสร้างสรรค์สังคมให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องสนใจและใส่ใจ หรือจะให้เสื้อรุ่นนี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม

 

 

สนใจใส่เสื้อยืดรุ่น ‘อิสรภาพ’  Freedom T-Shirt และสินค้าอื่นๆของแอมเนสตี้ ประเทศไทย สามารถสั่งซื้อสินค้าได้ที่ https://shop.amnesty.or.th/ หรือ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Amnesty Shop Thailand