หมดเวลาเงียบ.. ถึงเวลา “ยุติการทรมาน”

30 มิถุนายน 2564

Amnesty International Thailand

 จากการพูดคุยเรื่อง “หมดเวลาเงียบ ถึงเวลายุติการทรมาน” เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

หลากหลายเรื่องราวได้ถูกถ่ายทอดผ่านวิทยากรที่ครั้งหนึ่งเคยได้พบเจอกับเหตุการณ์การทรมานผ่านอำนาจของรัฐจนสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้รับฟังในห้อง วันนี้ เราจึงขอชวนคุณมาร่วมส่อง “รูปแบบการทรมานจากทั่วโลก” และขอชวนอ่านเหตุการณ์การถูกทรมานที่ผ่านมา

การทรมาน คือการที่เจ้าหน้าที่รัฐสร้างความเจ็บปวดต่อผู้เสียหาย เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ให้ยอมรับสารภาพ หรือเพื่อข่มขู่ให้กลัว โดยการทรมานอาจก่อให้เกิดบาดแผลทางร่างกายจากการถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย

หลากหลายเรื่องราวที่ได้รับฟังชวนให้คิดว่า การทรมานเช่นนี้คลับคล้ายคลับคลา กับภาพที่เคยเห็นในภาพยนตร์ ที่ครั้งหนึ่งเคยมองว่าเป็นภาพที่โหดร้าย.. ทว่ากลับเกิดขึ้นจริง อย่างเช่นการจับผู้ต้องสงสัยเปลือยแล้วลงไปแช่ในถังน้ำเย็นจัด รวมถึงการเทน้ำใส่หน้าผ่านผ้าขนหนู (Waterboarding) เพื่อให้ความรู้สึกเหมือนกำลังจมน้ำ หรือการตีด้วยไม้ที่พันด้วยผ้า เพื่อไม่ให้เกิดหลักฐานบนร่างกาย

นอกจากนี้ ยังมีการทรมานจากทั่วโลกอีกหลายรูปแบบ ดังที่ปรากฏในภาพอินโฟกราฟฟิคดังกล่าว หลากหลายสิ่งยังคงเกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆ ในมุมหนึ่งของโลก.. หรืออาจในประเทศไทย

 

สมศักดิ์ ชื่นจิตร พ่อของ ‘ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร’ ผู้เสียหายจากการทรมาน

เป็นเวลาสิบสองปีแล้ว ที่สมศักดิ์ต้องต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรม หลังจากลูกชายของเขาต้องตกเป็นเหยื่อจากการเป็น “แพะ” ในคดีชิงทอง เขากล่าวว่า เรื่องราวที่ครอบครัวของเขาได้เผชิญนั้น เปรียบดังไฟนรกที่แผดเผาทุก ๆ คนมาตลอดหนึ่งทศวรรษ หลังจากวันที่ลูกชายของเขาถูกตำรวจจับไป

ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ถูกจับตัวไปยังสถานีตำรวจในช่วงค่ำของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ หลังออกจากโรงหนัง ในจังหวัดปราจีนบุรี และได้เผชิญหน้ากับการซ้อมทรมานในระหว่างการสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ เพื่อบังคับให้สารภาพ.. ในคดีที่เขาไม่ได้เป็นคนทำ

เขาเล่าว่า วิชาการสืบสวนที่เจ้าหน้าที่ได้ใช้ เป็นวิชาที่อยู่นอกเหนือออกไปจากตำรา นั่นคือการจับใส่กุญแจไพล่หลัง จับกดลงกับพื้น และพอลูกชายของเขาปฏิเสธ ตำรวจก็เอาถุงขยะสีดำมาคลุมหัว ไม่ให้มีอากาศหายใจ จนลูกชายของเขาชัก.. และต้องรับสารภาพ ก่อนจะถูกยัดข้อหายาเสพติดจากคำกล่าวอ้างว่าปัสสาวะเป็นสีม่วง

ตลอดการสืบสวนนั้น ฤทธิรงค์ถูกยึดโทรศัพท์มือถือไม่ให้ติดต่อครอบครัว จนกระทั่งชาวบ้านในพื้นที่กล่าวขอให้แจ้งผู้ปกครองก่อนการตรวจปัสสาวะ จากนั้นฤทธิรงค์จึงสามารถใช้โทรศัพท์ติดต่อกับครอบครัวได้ และเมื่อสมศักดิ์ได้ไปพบกับลูกชาย และทราบผลตรวจปัสสาวะจากโรงพยาบาล ที่ระบุว่าไม่พบสารเสพติดอีกด้วย

เขาพบว่าลูกชายไม่ยอมปริปากบอกว่าถูกทรมานขณะครอบครัวอยู่โรงพัก แต่สังเกตได้ว่าลูกชายตัวสั่นและหวาดผวา รวมถึงไม่ยอมปริปากพูดเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ใครได้ฟัง สมศักดิ์จึงใช้วิธีค่อย ๆ ถาม และพบว่าลูกชายถูกข่มขู่ว่าห้ามนำเรื่องนี้ไปเล่าให้ใครฟัง ถ้าเรื่องนี้ถึงหูใคร ตำรวจจะไปดักอุ้มเขาที่โรงเรียน และนำไปฆ่าทิ้ง วินาทีนั้นเอง สมศักดิ์พบว่าลูกถูกตำรวจซ้อมทรมานถึงสามชั่วโมง

นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เขาได้นำลูกชายไปร้องขอความเป็นธรรมกับทุกกระทรวง และทุกหน่วยงานรัฐที่คาดว่าจะมอบความเป็นธรรมได้ ทั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทั้งหกท่านที่ผ่านมา รวมถึงผู้นำประเทศอีกสามท่าน ทว่ากลับพบเพียงแต่ความว่างเปล่า ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการเท่านั้น

 

นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ หลานสาววิเชียร เผือกสม ผลทหารที่ถูกซ้อมทรมานขณะเกณฑ์ทหาร

พลทหารวิเชียร เผือกสม คือน้าชายของนริศราวัลถ์ ผู้สมัครไปเป็นทหาร ในช่วงปี 2554 เธอเล่าว่า จากการสอบสวนของกองทัพภาคที่สี่และสถานีตำรวจระบุว่า หลังจากที่น้าชายหนีจากหน่วยฝึกทหารสามครั้ง พลทหารวิเชียรถูกตบหน้า และลงโทษให้กินข้าวเปล่า พร้อมนำไปปรับปรุงหลังหน่วย เช่น ให้กระโดดตบแคงการู ถอดเสื้อผ้า ให้ครูฝึกลากไปกับพื้น แม้น้าชายจะร้องขอด้วยความเจ็บปวด แต่เขากลับถูกเท้ากระทืบบริเวณขาและลำตัว โดยการกำกับการของร้อยตรี ที่มีร้อยโทเป็นหัวหน้าชุดครูฝึก

พลทหารวิเชียรถูกทำร้ายร่างกายด้วยการซ้อม กระทืบ ใช้เกลือทาบริเวณแผล เหยียบหน้าอก ต่อเนื่องเป็นเวลาสามวัน แม้ข้อบังคับการจะระบุชัดว่าห้ามแตะเนื้อต้องตัวพลทหารก็ตาม

ก่อนเสียชีวิต เขาถูกมัดตราสัง ห่อผ้าขาว และแห่รอบบริเวณที่ฝึก

นี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรม ด้วยความคิดที่ว่า เธอไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับใครได้อีก เธอไม่อยากให้ชีวิตของเขาที่เสียไปต้องสูญเปล่า และระบุว่า นี่คือการต่อสู้เพื่อคุณภาพชีวิตของพลทหารให้ดีขึ้น รวมถึงเพื่อให้กองทัพตระหนักถึงความรุนแรงในค่ายทหาร ว่าจะต้องไม่เกิดเหตุการณ์ทารุณกรรมเช่นนี้ขึ้นอีก

เธอกล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้บังคับบัญชาพูดถึงเพียงแต่เรื่องการเยียวยาผ่านตัวเงิน แต่กลับไม่เคยพูดถึงการดำเนินการกับคนผิด ใช้เวลาถึงห้าปี กว่าที่จะสามารถทำเรื่องพักราชการร้อยโทคนนั้นได้ และพบว่าในการต่อสู้ครั้งนี้ เธอไม่ได้เพียงแค่ต้องสู้กับเรื่องการซ้อมทรมานเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสู้กับระบบอุปถัมภ์ เมื่อร้อยโทคนดังกล่าว เป็นลูกชายของทหารระดับ “นายพล”

 

นี่เป็นเรื่องราวการทรมานเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว ตามพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย ก็ยังคงมีการทรมานในรูปแบบต่าง ๆ  นับตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์การทรมานนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนถึงแก่ชีวิตจากอาการสมองบวม ซึ่งคาดว่าเกิดจากการขาดอากาศหายใจมาเป็นเวลานาน

โดยอัญชนา หืมมิหน๊ะ ตัวแทนจากกลุ่มด้วยใจ ระบุว่า รูปแบบการทรมานในอดีตก่อนเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น มีความรุนแรงที่ รวมไปถึงการบังคับให้เปลือยแล้วแช่ในถังน้ำแข็งที่อุณหภูมิเย็นจัด  ถอนฟันกรามด้วยคีม ใช้ไม้กวาดตีฝ่าเท้า ให้ทำท่าต่าง ๆ เช่น อมขวดน้ำ ทำท่าออกกำลังกายนานถึงเก้าชั่วโมง ใช้ถุงพลาสติกหรือผ้าคลุมแล้วเอาน้ำราดให้หายใจไม่ออก รวมถึงการทรมานทางด้านจิตใจ อย่างการบังคับไม่ให้นอน การขู่ทำร้ายครอบครัว บีบบังคับให้ยืนเปลือย และจำลองการประหารชีวิตด้วยการจี้ปืนที่ด้านหลังแล้วเหนี่ยวไก

ประเทศไทยนั้นเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานมาเป็นเวลาหลายปี แต่กลับเกิดเหตุการณ์การทรมานโดยภาครัฐ และเหตุการณ์การอุ้มหายที่ไม่เคยได้รับความยุติธรรม ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่พวกเราทุกคนจะต้องผลักดันให้การทรมานมีความผิดทางอาญา ซึ่งรวมไปถึงการมีบทลงโทษที่เหมาะสม และการกำหนดมาตรการเยียวยาให้กับผู้เสียหายและครอบครัว

แม้เราจะได้ร่างกฎหมายจากกระทรวงยุติธรรมที่เกิดจากการกดดันจากนานาชาติ มาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว แต่กลับไม่มีความคืบหน้าที่เร็วและมีมาตรฐานเท่าที่ควร เราจึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมผลักดันให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันจับตามองว่ากระบวนการร่างกฎหมายนี้อยู่ที่ไหนในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งจากการทรมาน และการอุ้มหาย