'พลังการเขียน' สัมผัสไปถึงใจคนอ่านได้ จากเรื่องราวที่ใช้ศิลปะการเล่าเรื่อง :
ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล 

15 กรกฎาคม 2566

Amnesty International Thailand

ขอบคุณภาพจาก : The101World

 

‘พลังการเขียน’ สัมผัสไปถึงใจคนอ่านได้  จากเรื่องราวที่ใช้ศิลปะการเล่าเรื่อง 

เพราะการเล่าเรื่องด้วยศิลปะ มีจุดแข็งแบบเฉพาะที่สร้างสังคมให้ดีขึ้นได้

ชวนทุกคนรู้จักการเขียนที่สร้าง Soft Power ในเวิร์กชอป Writers That Matter 

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองที่สลับขั้วไปมาในประเทศไทย ทำให้ ‘สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก’ ถูกพบการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายครั้ง ทั้งที่ประเทศไทยเป็นภาคีในสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนหลายฉบับในระดับสากล

ปัญหาหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเต็มไปด้วยประเด็นที่หลากหลาย ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากพื้นฐานชีวิตและความเข้าใจของผู้คนที่มาจากสังคมแตกต่างกัน ทำให้การแสดงสิทธิเสรีภาพในรูปแบบต่างๆ ถูกตีกรอบหรือถูกจำกัดให้ไม่สามารถนำเสนอประเด็นต่างๆ ที่อาจจะผิดแปลกหรือน่าสงสัยได้อย่างตรงไปตรงมา

‘พลังตัวอักษร’ หรือ ‘พลังของการเขียน’ ที่จะเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตหรือสังคม เป็นอีกประเด็นที่เนื้อหาบางอย่างต้องถูกจำกัดให้ทำหรือนำเสนอได้เพียงส่วนหนึ่ง ไม่สามารถตีแผ่ความจริงหรือข้อเท็จจริงได้ทุกแง่มุม โดยเฉพาะเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกับสิทธิหรือชีวิตความเป็นอยู่ที่ผูกโยงกับผู้มีอำนาจหรือหน่วยงานรัฐ และต่อจากนี้คือเรื่องราวของ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตประธานคณะกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เธอคือคนหนึ่งที่ยกระดับเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยให้เป็นเรื่องสากลที่ทุกคนเข้าใจและเห็นความสำคัญ 

อีกบทบาทของ ฐิติรัตน์ นอกจากการเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมาย ยังเป็นนักอ่านที่ชอบเสพงานวรรณกรรมหรือผลงานศิลปะแขนงต่างๆ ทั้งละครเวที งานเขียน ละคร และภาพยนตร์ ที่สะท้อนเรื่องราวสิทธิมนุษยชน เธอมองว่าสถานการณ์บ้านเมืองและวัฒนธรรมในประเทศไทย ยังเปิดกว้างไม่มากพอที่จะทำให้เกิดงานเขียนรูปแบบต่างๆ นำเสนอเนื้อหาได้อย่างอิสระ ทั้งที่บางเรื่องไม่ควรถูกซ่อนหรือเก็บเป็นความลับกับผู้อ่านโดยเฉพาะการเมืองหลายครั้งที่ผ่านมา มีส่วนกำหนดชะตาชีวิตผู้คนในการแสดงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

“เนื้อหาต่างๆ ในประเทศไทย มันถูกปิดกั้นในระดับหนึ่ง ไม่ได้ฟรีสไตล์หรือมีความเสรีมากพอที่จะเล่าสู่ผู้คนได้ง่ายไม่ว่าจะด้วยแบบฟอร์มใดๆ เพราะพื้นฐานวัฒนธรรมไทยและสถานการณ์บ้านเมือง มีสิ่งที่ทำให้การเขียน การคิด การแสดงออกมันถูกปิดกั้นหรือถูกกดทับอยู่ ง่ายๆ คือความจริงบางอย่างไม่สามารถพูดหรือเล่าแบบตรงไปตรงมาได้”

 

พลังงานเขียนเรื่องสิทธิมนุษยชน แบบ Fiction พลังตัวอักษรที่สัมผัสหัวใจคนอ่าน

เราจะเห็นงานวรรณกรรมลักษณะนี้ในต่างประเทศที่สังคมมีการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ถ้าสังเกตดีๆ งานศิลปะที่มีความคิดสร้างสรรค์มากๆ จะแฝงไปด้วยเรื่องราวที่น่าเศร้าอยู่ภายใน แน่นอนว่าในสังคมที่มีการเปิดกว้างจะพบงานศิลปะที่มีความหลากหลาย แต่ในสังคมที่มีการปิดกั้นเยอะๆ มันจะมีงานศิลปะที่เล่าอะไรอ้อมค้อมผ่านการใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำให้มันออกมาสู่ผู้คนได้อย่างมีศิลปะ” 

ฐิติรัตน์ เล่าว่า ที่ผ่านมางานเขียนประเด็นสังคมและสิทธิมนุษยชน ถูกผลิตออกมาหลากหลายรูปแบบ สิ่งที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยคืองานเขียนแนว Non Fiction ที่นำเสนอเรื่องราวผ่านงานวิชาการ สารคดี ข่าว เน้นให้ผู้อ่านรับรู้ข้อมูลและข้อเท็จจริงแบบตรงไปตรงมา ไม่ผ่านการใช้ศิลปะการเล่าเรื่องมากนัก จึงอาจทำให้ผู้อ่านซึมซับเนื้อหาในฐานะการเป็นผู้รับข้อมูลเพียงอย่างเดียว ขณะที่การเขียนแนว Fiction หรือการเล่าเรื่องให้มีศิลปะในรูปแบบบันเทิงคดีอาจมีพลังที่แตกต่างจากงานเขียนประเภทอื่นๆ

“สิ่งที่เป็นจุดแข็งในงานเขียนแนว Fiction คือการใช้ศิลปะในการเล่าเรื่องร่วมด้วย ไม่ได้ถ่ายทอดข้อมูลผ่านตัวอักษรเพียงอย่างเดียว งานวรรณกรรมแนวนี้ จะเติมเต็มเรื่องราวการคุ้มครองสิทธิหรือการละเมิดสิทธิได้ดีและกลมกล่อมมากขึ้น เพราะนักเขียนมีการใช้อารมณ์ ความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ใส่ไปในการเล่าเรื่อง ด้วยการวางโครงเรื่องด้วยกลวิธีต่างๆ จนทำให้เรื่องการละเมิดสิทธิและคุ้มครองสิทธิสัมผัสไปถึงหัวใจของคนอ่าน ที่ไม่ได้อ่านแค่ข้อเท็จจริงแต่อ่านเรื่องที่ส่งเข้าไปถึงความรู้สึกนึกคิดภายใน”  

“เขียนเรื่องยากให้อ่านง่ายและเข้าใจมากขึ้น” คือประโยคที่ ฐิติรัตน์ ผู้ที่ชื่นชอบอ่านงานวรรณกรรม ย้ำว่างานเขียนแนว Fiction จะช่วยเปิดโลกและทำให้ผู้อ่านที่ไม่เคยมีประสบการร่วมด้านสิทธิมนุษยชน เข้าใจและมีความเห็นอกเห็นใจอย่างลึกซึ้งได้มากขึ้น หากได้อ่านงานแนวนี้สักครั้งหนึ่งในชีวิต เธอมองว่าการที่ผู้คนไม่เข้าใจ หรือไม่เห็นความสำคัญของสิทธิในบางเรื่องอาจเกิดจากที่พวกเขาไม่มีประสบการณ์ร่วมในประเด็นนั้นๆ จึงเชื่อว่าการเล่าเรื่องแนว Fiction จะทำให้คนเหล่านี้สนใจปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยมากขึ้น  

“เราต้องเข้าใจว่าเหตุการณ์การละเมิดหรือความสำคัญ น้ำหนักของแต่ละสิทธิ สำหรับแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน หรือว่าสังคมที่เขาเติบโตมา งานวรรณกรรมพวกนี้จะเป็นทางลัดที่ทำให้ผู้อ่านเข้าไปสู่โลกใบอื่นๆ จากตัวละครที่เจอ จนกลายเป็นประสบการณ์ที่ใกล้ใจ และทำให้เกิดการเข้าใจความรู้สึก เข้าใจความยากลำบากของผู้อื่น ส่วนตัวคิดว่ามันเกิดขึ้นกับงานวรรณกรรมหลายอย่างที่สร้างพลังต่อโลก”

ฐิติรัตน์ จะเป็นหนึ่งในวิทยากรที่จะร่วมงานเวิร์กชอป Writers That Matter ในครั้งนี้ในวันนั้นเธอจะไปร่วมงานในฐานะคนที่รักและชื่นชอบในงานวรรณกรรม ว่าอะไรที่ทำให้เธอสนใจงานเขียนลักษณะนี้ ร่วมกับนักเขียนและนักวิจารณ์คนอื่นๆ เธอหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานนี้จะเป็นโอกาสดีในการสร้างพื้นที่ให้กลุ่มคนที่เป็นนัก (อยาก) เขียนมาเจอกัน เพื่อรับพลังและแรงบันดาลใจในการเล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษรและประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและเรื่องอื่นๆ ที่สนใจ

“ในงานเวิร์กชอป Writers That Matter เราจะไปในฐานะคนที่สนใจงานเขียน โดยจะสะท้อนในแง่ของคนที่เสพงานวรรณกรรมที่เคยพบเจอมา ขณะเดียวกันเราก็ทำเรื่องสิทธิ มันก็จะเชื่อมโยงไปถึงงานนี้ด้วย อาจจะไปแชร์ในแง่คนเสพงานและคนทำงานเรื่องสิทธิ รวมถึงพูดถึงเรื่องว่าการเล่าเรื่องมันหลอมรวมกันได้อย่างไร”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชวนทุกท่านที่สนใจเป็นนักเขียนเข้าร่วมงานในครั้งนี้ เพื่อจะได้รู้กลวิธี การจับประเด็น การสัมภาษณ์ ในงานจะมีทั้งนักเขียน นักวิจารณ์ นักอ่านงานวรรณกรรม รวมถึงได้รับรู้เรื่องราวบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิที่จะมาแชร์ประสบการณ์ให้ทุกคนสัมผัสชีวิตไปด้วยกัน ทุกคนที่เข้าร่วมสามารถนำไปใช้ในชีวิตได้จริงอย่างแน่นอน

“เวิกชอปนี้จัดให้มันกลมกล่อมเพื่อสะท้อนให้นักอยากเขียนได้เรียนรู้และเก็บประสบการณ์ต่างๆไปใช้ได้ เราไม่ได้มาบอกสูตรว่าจะต้องทำอย่างไร แบบไหน คงไม่มีใครรู้สูตรที่ตายตัวในโลกตอนนี้ อยากให้ทุกคนคิดว่าเป็นโอกาสที่เราทุกคนจะได้เรียนรู้ พบเจอคนที่มีไฟกับงานสื่อสารเรื่องราวที่เปลี่ยนแปลงชุมชนและสังคมไปด้วยกัน”

 

สมัครเข้าร่วมเวิร์กชอปได้ที่นี่ถึงวันที่ 15 ก.ค. นี้เท่านั้น : https://forms.gle/Vw6fcm9FV8GdLy8c9

กิจกรรมนี้จัดในวันเสาร์ที่ 22 และวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม 2566  เวลา 09.00-17.00 น. ณ ร้านเล่นงาน Play+work co-working space ถ.สีลมซอย 2 กรุงเทพ

#Amnesty #WritersThatMatter #นัก(อยาก)เขียนเปลี่ยนโลก