กลิ่นอายความกลัวจากอำนาจที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ 'นักกิจกรรม' ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ ประเทศไทย

13 กรกฎาคม 2566

Amnesty International Thailand

“หน้าที่ก่อนลมหายใจสุดท้ายของคนรุ่นเก่า คือต้องสนับสนุน ต้องเข้าใจ และคิดว่าจะทำอย่างไรให้โลกในวันพรุ่งนี้ เป็นโลกแห่งความหวังของคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเรามีหน้าที่เท่านี้ในการส่งเสริม เราไม่ได้มีหน้าที่ไปหยุดยั้ง หรือตัดสินว่าโลกเก่าของเราคือโลกที่ดีที่สุดสำหรับเขา มันไม่ใช่แล้ว โลกในปัจจุบันควรเป็นโลกที่เคารพสิทธิกันเพื่ออนาคตที่ดี”            

เกือบ 10 ปี นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารปี 2557 พบนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องสิทธิ ถูกดำเนินคดีความจากภาครัฐจำนวนมาก ทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมในหลายครั้งว่า การใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐที่มีต่อผู้เห็นต่างเข้าข่ายใช้กฎหมายที่จำกัดเสรีภาพ (Repressive Legislation) สร้างความหวาดกลัวให้ประชาชน ไม่กล้าออกมาแสดงความคิดเห็นหรือทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องรัฐหรือไม่ และท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยการถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ทำให้นักกิจกรรมจำนวนหนึ่ง ต้องเดิมพันชีวิตด้วยการกลายเป็น ‘นักโทษทางความคิด’

ความกล้าหาญของ ‘นักกิจกรรม’ ที่ออกมาแสดงออกและเคลื่อนไหวชุมนุมโดยสงบเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ หลายครั้งถูกฝังกลบให้เกิดความกลัวจากการถูกดำเนินคดีความ ทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เสนอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องยกเลิกหรือแก้กฎหมาย เรียกร้องให้ ปล่อยตัวนักโทษทางความคิดทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข หากการแสดงออกหรือชุมชนเกิดขึ้นโดยสงบ ไม่เกิดความรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน  

 

 

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ ประเทศไทยที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมมองว่า การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและรัฐบาลชุดใหม่ทุกครั้งในประเทศไทย สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการเปิดกว้างเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบที่มีประชาชนหรือนักกิจกรรมที่เห็นต่างจากขั้วอำนาจในตอนนั้น เห็นได้จากช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบการชุมนุมหลายรูปแบบ จากนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่ม ที่ต่อมาหลายคนถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดี 

“สิ่งที่แอมเนสตี้เป็นห่วงมากที่สุดตอนนี้ คือเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ที่เป็นสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หลังจากเห็นการชุมนุมหลากหลายรูปแบบและเยอะมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากเว็บไซต์ม็อบดาต้าไทยแลนด์ (Mob Data Thailand) พบว่ามีมากกว่า 3,000 ครั้ง สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมว่าประชาชนกระตือรือร้นที่จะใช้สิทธิใช้เสียงของตัวเองในการแสดงออกมากขึ้น”  ปิยนุช พูดถึงสถานการณ์การชุมนุมในประเทศไทย

ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ ประเทศไทย ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การบริหารงานของผู้มีอำนาจในรัฐบาลที่ผ่านมาพบการเคลื่อนไหวชุมนุมหลายครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้ว่าประชาชนตระหนักถึงสิทธิในการเสรีภาพแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบมากขึ้น แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการบริหารงานของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา พบการคุกคามสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการชุมนุมที่มีประเด็นเห็นต่างหรือไม่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของของรัฐบาล 

“ถ้าประชาชนวิพากษ์วิจารณ์หรือส่งเสียงไม่ได้ มันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนหรือสร้างความก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้อย่างไร เห็นได้จากช่วงสามถึงสี่ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากเว็บไซต์ม็อบดาต้าไทยแลนด์ พบว่ามีคดีความเกี่ยวกับการชุมนุมกว่า 3,350 คดี ในจำนวนนี้มีเด็ก-เยาวชนที่โดนคดีความเกือบ 300 คน แอมเนสตี้มองว่าทุกคนมีสามารถใช้สิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือภาครัฐยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก”

นอกจากนี้ข้อมูลจากม็อบดาต้าไทยแลนด์ (Mob Data Thailand) ยังพบว่า ตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 พบประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,916 คน คิดเป็น 1,226 คดี  ในจำนวนนี้มีเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกดำเนินคดีความ  286 คน คิดเป็น  215 คดี

ปิยนุชมองว่า การใช้กฎหมายควบคุมการชุมนุมของภาครัฐในบางครั้ง อาจเข้าข่ายลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมที่แสดงออกทางความคิดหรือชุมนุมโดยสงบ การทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับโทษทุกครั้งที่ออกมาเคลื่อนไหว อาจเป็นฉนวนเหตุที่ทำให้เด็ก เยาวชน และคนทั่วไป ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะมองว่าถูกคุกคามและควบคุมมากเกินไป

“ที่ผ่านมาพบการใช้กฎหมายเข้ามาปิดปาก คุกคาม ควบคุม ลิดรอนสิทธิอย่างเป็นระบบกับนักกิจกรรมอยู่หลายครั้ง จึงเป็นสิ่งที่ทำให้แอมเนสตี้ ประเทศไทย มองว่าเราจะต้องขับเคลื่อนเรื่องสิทธิในการชุมนุมประท้วงโดยสงบเป็นประเด็นหลักในการดำเนินงานเพื่อสิทธิมนุษยชนช่วงนี้

 

โลกของคนรุ่นใหม่ ปล่อยให้เขาได้ออกแบบเรื่องสิทธิ

“เราอยู่ในรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ อยู่ในวิถีที่ต้องเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ อยู่ในความอ่อนน้อมถ่อมตน พอเห็นเยาวชน เห็นคนรุ่นใหม่ออกมาส่งเสียงอย่างกล้าหาญ กลับมองว่าเด็กๆ เหล่านี้ถูกหลอก ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จริงๆ แล้วคุณมองศักยภาพเด็กและเยาวชนรุ่นนี้ต่ำเกินไป เขาไม่เป็นเครื่องมือให้ใครหลอกง่ายๆ เขามีความคิด หาข้อมูลได้เอง เขารู้ว่าเขาต้องสู้ยังไง รู้ว่าต้องการอนาคตยังไง”ผอ.แอมเนสตี้ ประเทศไทย พูดถึงการที่เด็ก-เยาวชนออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

ปิยนุช ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ ประเทศไทย พูดถึงสังคมไทยว่าอาจเคยชินกับยุคที่เด็กต้องเชื่อฟังและรับฟังผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว ถูกสอนให้ท่องจำ ใครแสดงความคิดเห็นแตกต่างจะถูกมองว่าเป็น ‘แกะดำ’ การที่เด็กในยุคนี้กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ หรือกล้าแสดงออกทางความคิดและการชุมนุม อาจสร้างความตกใจให้กับผู้ใหญ่ที่มีชุดความคิดหรือวิถีชีวิตที่แตกต่างออกไป มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีงาม ทั้งที่การแสดงออกแบบนี้ คือการสร้าง Critical Thinking หรือ ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ซึ่งเป็นทักษะจำเป็นต่อโลกยุคนี้ที่จะขับเคลื่อนประเทศในอนาคตต่อไปได้ 

ปิยนุช เล่าว่า เธอเกิดมาอยู่ในรุ่นระหว่างคนรุ่นเก่าและใหม่ ก่อนลมหายใจสุดท้ายที่เหลืออยู่ จะทำหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริม และเข้าใจสิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเธออยากให้โลกในอนาคตยังคงเป็นโลกแห่งความหวังของคนรุ่นต่อๆ ไป โดยไม่นำโลกแบบเดิมที่เธอเคยเติบโตขึ้นมา ไปตีกรอบว่าคนรุ่นใหม่ต้องเผชิญโลกแบบที่เธอเคยเจอ สำหรับปิยนุชการการที่โลกเป็นโลกแห่งการเคารพสิทธิกันและกัน คือความความหวังที่ยังอยู่ในใจของเธอในการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชน

 

ปัญหาสิทธิมนุษยชน เหมือนฝุ่น PM2.5 ที่ทุกคนต้องเจอมลพิษร่วมกัน

ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ ประเทศไทย มองว่า ปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามและถูกละเลยจากผู้มีอำนาจและภาครัฐ ทั้งที่เรื่องนี้ควรเป็นเรื่องระดับสากลที่ทุกคนต้องเห็นปัญหาและร่วมมือกันแก้ไข ร่วมช่วยเหลือหากเห็นการถูกละเมิดสิทธิในมิติต่างๆ  เหมือนปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่คนในหลายประเทศทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับมลภาวะนี้ ต่างลงทุนด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหานี้ เพราะเชื่อว่าเราทุกคนมีสิทธิที่จะหายใจเอาอากาศที่ดีเข้าไป การใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศบริสุทธิ์คือสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ หรือการที่รัฐบาลแต่ละประเทศลงทุนไปกับขีปนาวุธและอาวุธเพื่อปราบปราม ป้องกันภัยคุกคามประเทศ ฉะนั้นเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับประเทศไทยและทุกประเทศทั่วโลกก็ควรเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนเช่นกัน

“ตอนนี้ปัญหาสิทธิมนุษยชนเป็นเหมือนฝุ่นควันที่เข้าตา เรามีปัญหาฝุ่น PM2.5 ฉันใด สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคนี้ก็เหมือนมลภาวะที่เราต้องเผชิญฉันนั้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง อยากให้ทุกคนคิดว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องของพรมแดนอีกแล้ว เพราะขณะที่รัฐบาลแต่ละประเทศลงทุนมากมายกับขีปนาวุธเพื่อปราบปรามคน แต่แทบจะไม่ลงทุนเรื่องสิทธิมนุษยชนเลย เรียกได้ว่ามีการติดลบเกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองสิทธิในภูมิภาคนี้ด้วยซ้ำไป”

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ ประเทศไทย ย้ำจุดยืนว่า จะยืนหยัดต่อสู้เคียงข้างนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มแข็งต่อไป เพราะหากไม่มีใครที่ทำเรื่องสิทธิในภูมิภาคนี้ อาจทำให้สังคมไม่มีที่พึ่งพากันและกันได้อีกต่อไป

“ถ้าในแง่สถานการณ์อาจจะติดลบ แต่ในแง่ของความหวังยังไม่ติดลบ ยิ่งสถานการณ์เลวร้ายเท่าไหร่ แต่เรายังเห็นจิตวิญญาณของผู้คน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่เร่งเร้าในการใช้สิทธิของตนหรือไม่ยอมให้ใครมาละเมิดสิทธิ เชื่อว่าเขาไม่ยอมล้มง่ายๆ จะเห็นว่าต่อให้รัฐใช้วิธีการปราบปรามเพียงใด พวกเขาก็ยังลุกขึ้นมาใช้พลังอย่างสร้างสรรค์ด้วยวิธีการสื่อสารรูปแบบต่างๆ เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว”ปิยนุช เล่าถึงความหวังที่มีต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน