เสียงจากสามจังหวัดชายแดนใต้: ปากท้อง ประวัติศาสตร์ และบาดแผล

28 กันยายน 2564

Amnesty International Thailand

เมื่อพูดถึงเรื่องของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาพในความทรงจำที่หลายคนมักนึกถึงคงจะเป็นเสียงของปืน ควันระเบิด ความขัดแย้ง และการพับนกกระดาษ รวมไปถึงความเป็นภาพสะท้อนของการใช้กฎหมายพิเศษ ที่ทำให้เกิดการอุ้มหายและทรมานเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง 

 

ทว่าในความเป็นจริงแล้ว สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีเรื่องราวที่ซ่อนอยู่มากเกินกว่าการรับรู้เรื่องเหล่านั้นผ่านหน้าสื่อ และวันนี้ เราจึงขอชวนคุณมาคุยกับนักกิจกรรมเยาวชน “มิน” หรือ สูฮัยมี ลือแบซา เจ้าของสุนทรพจน์ทรงพลังที่เรียกร้องความยุติธรรมให้คืนกลับมาสู่ผู้ถูกบังคับให้สูญหายและถูกทรมาน ที่บริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา

 

 

เศรษฐกิจ ยาเสพติด และอำนาจ

“ผมเกิดและเติบโตที่บ้านโสร่ง เป็นชุมชนที่อยู่ลึกมาก ๆ อยู่ท่ามกลางภูเขาสลับกับทุ่งนา อยู่ตรงกลางระหว่างยะลาและปัตตานี” มินเล่าให้เราฟังด้วยเสียงสดใส พร้อมพาเราให้ก้าวเข้าไปสู่เรื่องราวที่ถูกซ่อนไว้ในบ้านเกิดที่เขาเติบโตมา 

“คนในหมู่บ้านจะทำอาชีพสวนยางกับสวนผลไม้สลับกัน แต่ปัญหาในชุมชนเอง คือการที่เยาวชนหลายคนมากครับ ที่ต้องออกจากระบบการศึกษา และติดยาเสพติด บางคนถึงกับต้องติดคุก มีเด็กน้อยมากที่สามารถถีบตัวเองเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ ทั้งในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย ด้วยสภาพแวดล้อม และต้นทุนชีวิต.. 

“ต้นทุนชีวิตของพวกเขาไม่เพียงพอในการต่อยอดการศึกษาเข้าไปในระดับมัธยม ง่าย ๆ คือ เขาไม่มีเงินที่จะส่งเสียให้เรียนจบ เด็กบางคนเองก็ถูกตำรวจจับเพราะติดยาเสพติด ติดคุกก็มี ทำให้อนาคตของเขามันไปต่อไม่ได้ ด้วยสภาพแวดล้อม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในหมู่บ้านที่เราอยู่ แต่ละแวกใกล้เคียงในสามจังหวัดเองก็เจอกับปัญหาแบบนี้” 

 

มินกล่าวว่า แม้จะมีนโยบายเรียนฟรีเหมือนพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ แต่สิ่งสำคัญคือสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ที่ทำให้เด็กกลุ่มหนึ่งหลงใหลไปกับยาเสพติดจนเสียอนาคตของตนเอง 

 

“ในหมู่บ้านเองก็รู้ว่ามีปัญหานี้ แต่ข้างนอกไม่รู้ว่ามันมีปัญหาที่ถูกซ่อนไว้ภายใต้เปลือกนอกของความไม่สงบ เพราะนอกจากเรื่องของยาเสพติด ยังมีปัญหาการก่ออาชญากรรมขึ้นหลายครั้ง ทั้งการขโมยของต่าง ๆ รวมถึงปัญหาของการเมืองท้องถิ่น ที่ก่อให้เกิดการยิงกันก็มี แต่ไม่ได้รับการพูดถึง 

“เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น มันจะถูกเชื่อมโยงไปยังเรื่องความไม่สงบ ทั้ง ๆ ที่มันคือเรื่องการเมืองท้องถิ่น ผลประโยชน์ การแย่งตำแหน่ง ที่เกิดขึ้นเกือบทุกที่ในสามจังหวัด.. อาจจะเพราะด้วยเรื่องปากท้องเป็นหลัก”

“ความยากจนทำให้ผู้คนพากันอยากจะมีเงินเดือน  แม้จะมีอาชีพหลักแล้ว เช่น ทำสวน แต่ถ้าได้มีเงินเดือนด้วยก็จะยิ่งดี รวมถึงตำแหน่ง ในหมู่บ้านจะมีคนที่เป็นผู้นำชุมชน แล้วก็จะมีเรื่องสายสัมพันกับผู้นำชุมชนอีกชุมชนหนึ่ง รวมถึงการมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาด้วย” 

 

ปัญหาเรื่องปากท้องของคนในพื้นที่ ที่จุดประกายขึ้นมาจากความยากจนและเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จึงกลายเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้มินลุกขึ้นมาทำกิจกรรมครั้งแรก เมื่อครั้งที่เขาอยู่ชั้นมัธยม

 

“ตอนนั้นเป็นช่วงเดือนรอมฎอน ผมกับเพื่อนเดินทางไปที่สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำปัตตานีที่ยะลา ข้าง ๆ จะเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีบ้านคนยากไร้อยู่เรียงกัน ตอนนั้นได้ลงพื้นที่กับเพื่อนแล้วถามพวกเขาว่าเขาทำงานอะไรในแต่ละวัน พบว่าบางคนบอกว่าเขาทำงานลากรถที่ตลาด ผมเลยนำข้อมูลและภาพถ่ายไปโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ปรากฏว่ามีคนแชร์เยอะมาก จากนั้นจึงเปิดรับบริจาค นำมาช่วยซื้อของที่จำเป็นให้เขา และได้เปิดเป็นชมรมเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนยากไร้ ชื่อชมรมธารน้ำใจแบ่งปันรอยยิ้ม  

“แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างชัดเจนนะครับ แค่อยากช่วยเหลือชาวบ้านที่ลำบาก”

 

มินเล่าว่า หลังจากลงพื้นที่ครั้งแรก เขาได้เดินทางไปที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี และพบกับครอบครัวหนึ่งที่ ในหมู่บ้านใหญ่ที่อยู่ติดริมทะเล 

 

“เมื่อก่อนเขาไม่มีบ้านอยู่ และเคยอาศัยอยู่ใต้สะพาน ทำอาชีพแยกปลา ได้เงินวันละห้าสิบบาท มีลูกอายุสามหรือสี่ขวบ วันหนึ่งมีพายุซัดเข้ามา ทำให้เขาต้องหนีไปอยู่ใต้ถุนบ้านของครอบครัวหนึ่งที่ไม่ยอมให้เขาขึ้นบ้าน เพราะเนื้อตัวของเขาสกปรก หลังจากนั้นก็มีคนมาช่วยเหลือเขา แล้วสร้างบ้านให้ที่สายบุรี แต่ถามว่าพอบ้านเสร็จแล้วเขากินดีอยู่ดีไหม ก็ไม่ เพราะเขายังต้องแยกปลา และมีรายได้วันละห้าสิบบาท โดยที่คนในครอบครัวมีห้าคน 

 

มินตั้งคำถามว่าผู้นำชุมชนสนับสนุนอะไรเขาบ้าง ผู้นำท้องถิ่นทำไมถึงไม่ช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้ชีวิตดีขึ้นกว่านี้ เพราะสุดท้ายการที่คนในหมู่บ้านช่วย ก็ช่วยได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น และองค์การที่จะสามารถช่วยเหลือเขาได้โดยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง คือกระทรวงพัฒนาสังคม ที่จะสามารถทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำน้อยลงกว่านี้ 

 

“หลังจากนั้นผมกับเพื่อนก็ชอบขี่รถไปตามหมู่บ้าน และได้เห็นอะไรหลายอย่าง.. ผมเห็นว่าบ้านที่ติดถนนหลังใหญ่มาก แต่พอเข้าไปในซอย หลังบ้านใหญ่หลังนั้นมีบ้านคนยากจนอยู่เป็นกระท่อม” 

“แล้วต้นตอปัญหาที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขนาดนี้ในพื้นที่คืออะไร” เราถามมินอีกครั้ง 

“การจ้างงานในพื้นที่คือส่วนหนึ่ง พวกเขากดค่าแรงมาก ๆ โดยที่ชาวบ้านไม่มีความรู้เกี่ยวกับค่าแรง เขาคิดว่าได้ทำงานและได้เงินมาห้าสิบบาทก็บุญแล้ว ผมจึงไปถามนายจ้าง นายจ้างก็ตอบมาว่าเขาเอาปลาพวกนี้ไปขายให้ตลาดกลางในเมือง ที่รับซื้อในราคาถูกมาก ดังนั้นเขาจึงถามกลับว่า แล้วผมจะเอาเงินที่ไหนไปจ้างแรงงานมาแยกปลา 

“มันคือปัญหาเชิงโครงสร้างในแง่เศรษฐกิจ ยิ่งตลอดเวลาตั้งแต่ประยุทธ์เข้ามา มันทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนได้รับผลกระทบมาก ๆ เศรษฐกิจตกต่ำ และไม่มีการฟื้นตัวจนถึงตอนนี้” 

 

หลังจากจบมัธยม มินได้เข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเกิดความสนใจในเรื่องของการเมืองมากขึ้น รวมถึงได้เริ่มต้นจับไมค์ขึ้นปราศรัย เพื่อสื่อสารเกี่ยวกับปัญหาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนได้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเวลาหนึ่งเทอม 

 

“ตอนนั้นทำกิจกรรมห้องเดียวกับเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) นี่แหละครับ เพนกวินก็ถามผมว่าจะขึ้นปราศรัยมั้ย เพราะเดี๋ยวจะจัดชุมนุมของธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผมก็ตอบรับเลย เอา! 

“ที่ลานพญานาคที่รังสิต  ผมได้ปราศรัยอีกครั้งหนึ่ง และได้พูดในฐานะของคนที่มาจากสามจังหวัดชายแดนใต้ มีสื่อเอาข้อความไปเผยแพร่ต่อ ๆ กัน ทำให้ประเด็นนี้ได้รับการพูดถึงในเวทีสาธารณะในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ ชีวิต ความเป็นธรรม หรือการอุ้มหายในพื้นที่สามจังหวัด 

“จากนั้นผมได้ขึ้นเวทีที่สนามหลวงอีกครั้ง และได้พูดเรื่องคุณอับดุลเลาะห์ อีซอมูซอ ที่ถูกทรมาน รวมถึงกรณีของผู้พิพากษาคุณากร เพียรชนะ ที่ปลิดชีวิตตัวเองเนื่องจากฝ่ายความมั่นคงพยายามแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมที่ยะลา ที่เราสื่อสารเรื่องนี้ มันไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของคนในสามจังหวัดเท่านั้น แต่มันคือเรื่องของคนในประเทศ” 



ไฟใต้: ผลพวงจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย

มินเล่าต่อว่า สาเหตุหลัก ๆ ของปัญหาในสามจังหวัด เป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยจะพูดถึงเท่าไหร่ มีเพียงเรื่องผิวเผินเท่านั้นที่ถูกถ่ายทอดออกไป แต่แท้จริงแล้ว มันคือปัญหารากเหง้าและบาดแผลทางประวัติศาสตร์ ที่รวมไปถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดในพื้นที่ ก่อนจะพาเราย้อนประวัติศาสตร์ไปยังจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง ผ่านมุมมองของเขาซึ่งเป็นคนในพื้นที่ที่สนใจเรื่องของการเมืองและประวัติศาสตร์ 

 

“รัฐเองก็พยายามปกปิดสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ และพยายามที่จะกลืนประวัติศาสตร์ทั้ง ๆ ที่ในแง่ชาติพันธุ์ เขาคือมลายู ทางส่วนกลางเอง สยามในสมัยนั้นได้ทำการโจมตีหัวเมืองทางใต้ รวมถึงรัฐปัตตานีในอดีต และผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม มันเป็นบาดแผลของคนที่นี่ เพราะเจ้าเมืองของปัตตานีไม่ได้ยินยอม ทำให้เกิดการสู้รบอยู่บ่อยครั้ง และประวัติศาสตร์เล่านี้ก็ถูกเล่าและส่งต่อกันมาแบบรุ่นสู่รุ่น เหมือนที่คนไทยจำนวนมากได้เล่าประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานฟัง ว่าพม่าเผาบ้านเผาเมือง และนี่คือเรื่องเล่าของปัตตานี ที่เล่าว่าสยามเผาเมืองเราไป และเกณฑ์คนไปขุดคลองแสนแสบที่กรุงเทพ 

“แต่เหตุการณ์ที่ย้ำเตือนถึงความเจ็บปวดมาก ๆ คือเหตุการณ์กรณีตากใบ เมื่อปี 2546 ที่ได้จุดให้ไฟใต้โหมกระหน่ำขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงกรณีกรือเซะ ที่รัฐได้ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างโหดเหี้ยม 

“ในกรณีเหล่านั้น มีผู้ถูกทรมานและบังคับให้สูญหายจำนวนมาก ตรงนั้นทำให้เกิดบาดแผลซ้ำเติมอีกครั้งหนึ่ง ที่ทำให้คนในพื้นที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และทำให้คนที่รอดจากเหตุการณ์ ไม่เชื่อในสันติวิธีอีกต่อไป บางคนลุกขึ้นมาจับอาวุธ และอยู่ร่วมกับขบวนการติดอาวุธในป่า พร้อมต่อสู้กับรัฐโดยใช้ความรุนแรง 

“หลัก ๆ ที่เขาตัดสินใจทำแบบนี้ มันมาจากความไม่เป็นธรรมที่รัฐกระทำกับเขาในอดีต” 

 

มินเล่าให้ฟังว่า ก่อนจะเกิดเหตุการณ์กรือเซะ - ตากใบ ได้มีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว ย้อนไปสมัยหลังสงครามโลก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เนื่องจากนโยบายรัฐนิยมของจอมพลป. พิบูลสงครามที่กดทับอัตลักษณ์และศาสนาของคนในพื้นที่ 

 

“เขาพยายามกลืนอัตลักษณ์ความเป็นมลายูของคนที่นี่ให้เป็นไทย บังคับให้คนที่นี่ไม่แต่งกายแบบมลายู ให้แต่งกายแบบไทย มีคนออกมาสู้ รวมถึงลูกหลานเจ้าเมืองที่ออกมาสู้และถูกจับกุม จนต้องไปอยู่มาเลเซีย 

“หลังจากนั้นเป็นช่วงที่ปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี เขาได้พยายามแก้ไขปัญหาในสามจังหวัด ได้ลงพื้นที่และพูดคุยกับคนที่นี่ ตอนนั้นหะยีสุหลงได้เจรจากับปรีดีเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้สงบลง”

 

หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา คือผู้นำทางศาสนาและการเมืองคนสำคัญของปัตตานี 

 

“หะยีสุหลงได้ร่างข้อเสนอร่วมกับผู้นำอิสลามในสี่จังหวัด (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล) จนได้มาเจ็ดข้อ แต่กลับเกิดเหตุการณ์รัฐประหารขึ้นมาโดยทหาร ทำให้หน้าการเมืองในรูปแบบประชาธิปไตยได้ถูกปิดตัวลง  

“หะยีสุหลงถูกมองว่าเขาเป็นคนที่กระด้างกระเดื่องต่อรัฐ ทั้ง ๆ ที่ข้อเรียกร้องของเขาเป็นเรื่องพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย ที่รัฐจะต้องยอมรับความหลากหลายของคนในพื้นที่ รวมถึงสิทธิเสรีภาพในการแต่งกาย ประเพณี ศาสนา.. แต่บริบทของไทย ณ เวลานั้นมันคือระบอบเผด็จการ จากการที่ทหารยึดอำนาจ

“สองปีหลังการรัฐประหาร เขาถูกอุ้มหายโดยรัฐไทย”

 

การบังคับให้สูญหายของหะยีสุหลงได้นำมาสู่การลุกขึ้นมาจับอาวุธของประชาชนเพื่อต่อสู้กับรัฐในป่าด้วยความรุนแรง จากนั้นไม่นาน เมื่อถึง พ.ศ. 2518 ได้เกิดการชุมนุมใหญ่ขึ้นที่ปัตตานี เนื่องจากทหารนาวิกโยธินกลุ่มหนึ่งได้ทำการฆาตรกรรมชาวบ้านห้าศพ และนำไปทิ้งสะพานที่คั่นระหว่างปัตตานีกับนราธิวาส ที่อำเภอสายบุรี แต่มีผู้รอดชีวิตกลับมาหนึ่งคนและเล่าให้ชาวบ้านฟังว่าเพื่อนอีกสี่คนเสียชีวิต 

 

“ชาวบ้านในเวลานั้นได้ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม แต่เจ้าหน้าที่กลับทิ้งระเบิดในที่ชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตสิบเจ็ดศพ แต่ชาวบ้านก็ยังยืนยันที่จะใช้สันติวิธีในการเรียกร้องความเป็นธรรม และยกระดับการชุมนุม ใช้เวลา 45 วัน แต่ท้ายที่สุด เรื่องก็เงียบ ส่วนคนที่กระทำความผิดก็ลอยตัว 

 

นี่ทำให้คนในพื้นที่ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการสันติวิธีอีกต่อไป ในตอนนั้นแกนนำโดนไล่ล่า จับกุม โดนตีตราว่าเป็นกบฎแบ่งแยกดินแดน ทั้ง ๆ ที่เขาเรียกร้องด้วยสันติวิธี ไม่ได้ใช้อาวุธเลย.. หลายปีต่อมา ก็เกิดกรณีตากใบขึ้นมา

 

มินเล่าต่อว่า เหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้นจากการปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง หรือ กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ใน ต.ปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อมีคนร้ายได้อาวุธปืนประจำกายของเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนมากรวม 413 กระบอก ทั้งอาวุธปืนไรเฟิลเป็นส่วนใหญ่ ปืนพก และปืนกล มีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตไปด้วยกัน 4 นาย ส่วนคนร้ายหนีไปอย่างลอยนวล ก่อนที่ต่อมา อาวุธปืนเหล่านี้ถูกส่งต่อไปยังกลุ่มคนร้ายในแต่ละพื้นที่นำไปใช้ก่อเหตุยิงประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ สูญเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่บอกว่าคนปล้นปืนคือชาวบ้าน เขาจับกุมชาวบ้านไปขังไว้ที่โรงพัก ต่อมาชาวบ้านออกมาชุมนุมให้ปล่อยตัว เพราะเขาเชื่อว่าพวกเขาไม่ได้ทำความผิด เขาคือคนที่เป็นแพะ คนกระทำลอยนวลไปแล้ว 

 

“พอคนออกมาชุมนุมกันเยอะ ก็มีคำสั่งจากส่วนกลาง สั่งให้มีการสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง มีรถฉีดน้ำ ทุบผู้ชุมนุมด้วยปลายกระบอกปืน และสั่งให้ผู้ที่ออกมาชุมนุมถอดเสื้อ นอนราบกับพื้น มีการนำผู้ชุมนุมมาซ้อนท้ายรถบรรทุก จากปัตตานีไปนราธิวาส บนระยะทางนับร้อยกิโลเมตร เพื่อไปค่ายอิงคยุทธ มีคนเสียชีวิตเพราะหายใจไม่ออก หนึ่งในผู้รอดชีวิตก็คือ มะรอโซ จันทราวดี ที่ภายหลังตัดสินใจจับอาวุธไปร่วมขบวนการกับกลุ่ม RKK ในป่า

“หลายปีต่อมา เขาถูกหมายหัวจากเจ้าหน้าที่ว่าเขาคือผู้ก่อความไม่สงบ และยกกำลังมาบุกค่ายทหารในนราธิวาส ก่อนถูกวิสามัญ หากเราลองสืบประวัติของพวกเขา เราจะเห็นได้ว่าเขาคือผู้รอดชีวิตจากกรณีตากใบ และมีความคิดแค้นจากเหตุการณ์เหล่านั้น ว่าคนที่ทำกับเพื่อนของเขาไม่ได้รับโทษ ทำให้เขาไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรมของไทยอีกต่อไป เขาเลยจับอาวุธขึ้นมา 

“มุมมองของรัฐไทยที่ไม่เปลี่ยนไป คือการที่รัฐไม่มองว่าคนต่างภูมิภาคนอกจากกรุงเทพฯ มีกลุ่มคนที่หลากหลาย ซึ่งไม่ได้มีแค่หลากหลายศาสนา แต่รวมไปถึงหลากหลายอัตลักษณ์​ภาษา ชาติพันธุ์ แต่สิ่งที่เขายังคงทำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือการพยายามกลืนคนต่างพื้นที่ให้เป็นแบบเดียวกัน”

 

มินยกตัวอย่างประเทศในยุโรป ที่เขาเล็งเห็นว่ารัฐบาลได้ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทำให้ความแตกต่างเหล่านั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้ และสามารถแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ได้ในที่สาธารณะ 

 

“ถ้ารัฐจะแก้ไขปัญหา คุณต้องยอมรับความหลากหลายของผู้คนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางด้านอัตลักษณ์ ศาสนา วัฒนธรรม และความคิดของคนในพื้นที่ ถ้าคุณจะบังคับให้เขาเป็นแบบเดียวกับคุณ คุณจะแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดไม่ได้

“ในแง่ของความเป็นธรรมและข้อกฎหมาย ในสามจังหวัดมีกฎหมายพิเศษ ที่ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปจับกุมผู้ต้องสงสัยและ ผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยไม่ต้องขอหมายจากศาลในการตรวจค้นบ้าน พอกฎหมายให้อำนาจพิเศษกับเจ้าหน้าที่ มันก็ทำให้เขาสามารถเข้าไปจับกุมผู้ต้องสงสัย และพาตัวเข้าไปในค่ายทหาร โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการปกติ พอเข้าไปในค่าย วิธีการที่เขาใช้ในการสอบสวน ก็ไม่ใช่วิธีการแบบสากล มันคือวิธีการที่ป่าเถื่อน เช่น การคลุมถุงดำ นำผู้ต้องสงสัยไปขังในห้องเย็น กดน้ำ 

“พอคนที่ถูกจับ ถูกกระทำ แล้วก็บาดเจ็บ หรือหายใจไม่ออกจนต้องส่งตัวไปรพ เจ้าหน้าที่มักจะออกมาพูดกับนักข่าวว่ามันเป็นเรื่องปกติ ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่ วิธีที่คุณใช้กับคนในพื้นที่ มันป่าเถื่อนมาก ๆ  พูดง่าย ๆ คือมันก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะกฎหมายมอบสิทธิพิเศษให้กับคุณ เพราะผู้ต้องสงสัยยังไม่ทันพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรมเลยว่าเขาผิดหรือไม่ผิด แต่อำนาจพิเศษทำให้รัฐได้ลงมือกระทำกับเขาไปแล้ว” 



ชีวิตของมินเปลี่ยนไปแค่ไหนหลังกรณีตากใบ?

มินเกิดปี 2542 ตอนที่เกิดเหตุการณ์ตากใบเขาอายุประมาณห้าขวบ เขาจำได้ว่ามีการพูดคุยเรื่องนี้จากคนในพื้นที่ว่าตำรวจทำแบบนี้กับผู้ชุมนุมนะ มีคนหาย มีคนถูกจับกุม คนในพื้นที่กลัวกันมาก 

 

“หลังจากนั้นชีวิตของเรามันไม่ปกติอีกต่อไป มีการยิงกันหลายวันเลย ครูที่มาสอนเราเป็นไทยพุทธ ก็เริ่มออกไปจากโรงเรียน หรือย้ายไปสอนในเมืองที่ไม่ใช่พื้นที่สีแดง เพราะเกิดการลอบยิงครูในพื้นที่รายวัน 

“พอขึ้นมัธยมก็ยังเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกบ่อยครั้ง ผมไม่อยากอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้อีกต่อไปแล้ว อยากออกจากพื้นที่ตรงนั้นไปที่อื่น แต่พอออกไป ผมก็อยากกลับมา เพราะท้ายที่สุดแล้วผมก็ผูกพันกับพื้นที่ตรงนี้ ดังนั้นทางเดียวในการอยู่ในพื้นที่ คือต้องหาทางแก้ไขปัญหาที่นี่ เพราะมันมีความผูกพันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” 

“ตอนนี้สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือแง่ของการก่อเหตุมันเริ่มลดลง แต่กฎหมายพิเศษก็ยังอยู่ ผมกล้าพูดเต็มปากเลยนะ ว่าพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศนี้ไม่ต่างจากสามจังหวัดเมื่อหลายปีก่อนเลย เพราะเกือบทุกพื้นที่มีกฎหมายพิเศษ หรือแม้กระทั่งรูปแบบการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่เป็นรูปแบบจริงที่เคยใช้ในสามจังหวัดมาก่อน เช่น กรณีผู้กำกับโจ้”

 

 

คนใกล้ตัวที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ

มินเล่าว่า มีญาติห่าง ๆ ของเขาได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษนี้ วันนั้นเขาขายของตามปกติ แต่ตำรวจจับสัญญาณได้ว่าเพื่อนคนหนึ่งได้โทรศัพท์มาหา จากนั้นก็ได้ล้อมบ้าน และเข้าจับกุมเข้าไปในค่ายทหาร แม้จะบอกว่าไม่ได้เป็นผู้ที่ก่อความไม่สงบ แต่ผู้ต้องสงสัยคือเพื่อนที่แค่โทรมา 

 

“เขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย และปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่เจ้าหน้าที่ก็อ้างว่าคุณโทรคุยกับผู้ต้องสงสัย จากนั้นเขาต้องอยู่ในคุกและถูกจับกุมมาสองปี ไม่มีโอกาสเลยที่แกจะได้ออกมาเจอหน้าลูก เพราะลูกแกคลอดไม่นานก็เสียชีวิตหลังจากนั้น 

 

ไม่มีใครรู้เลยว่า ช่วงเวลาที่สอบสวนเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการแบบไหนบ้าง แต่ได้ยินมาว่าเขาถูกกดดันให้รับสารภาพว่าเป็นผู้กระทำความผิดทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำ

 

“มันมีอีกหลายกรณีนะครับ ที่ต้องเจออะไรแบบนี้ ก่อนหน้านี้ก็มีกรณีที่ถูกจับกุมไปสอบสวนแล้วออกมาด้วยสภาพที่ไม่เป็นปกติ เขาต้องกลัวทุกวันว่าจะมีคนมาใช้กำลังกับเขา เจอทหารไม่ได้เลย อาการเหล่านี้มันสะท้อนได้หลายอย่างว่ากระบวนการสอบสวนมันไม่ปกติ เพราะถ้าเป็นกระบวนการปกติ คนที่ออกจากค่ายทหารมาคงไม่เป็นแบบนี้ 

“มีครอบครัวที่อยากใช้ชีวิต ก็จะบอกว่าไม่ต้องคุยกันแล้วเรื่องนี้ ส่วนบางครอบครัวที่โดนกระทำหนักจริง ๆ ก็โพสต์ลงในโซเชียลและได้รับการแชร์ต่อ  คนก็ตั้งคำถามว่าคุณจับกุมชาวบ้านที่เป็นผู้ต้องสงสัย คุณทำอะไรเขาบ้าง พอมีการตั้งคำถามแบบนี้ เจ้าหน้าที่ก็ออกมาแถลงด้วยคำพูดเดิม ๆ ที่อ้างว่ามันไม่มีการใช้ความรุนแรง ไม่มีการใช้กำลัง แต่ถ้าเราดูกันแบบชัด ๆ  คือมันไม่ปกติตั้งแต่การใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่แล้ว 

“การสอบสวนผู้ต้องสงสัย ควรเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ใช่ทหาร สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนให้เห็นกระบวนการหลาย ๆ อย่างที่คุณใช้กับคนในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ที่จับได้ว่าทำผิดจริง ๆ ที่ชาวบ้านพูดได้ว่าคนนี้กระทำความผิด จับได้ ท้ายที่สุดก็ไม่มีการดำเนินการใด ๆ กับเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดเลย บางครั้งก็มีการสั่งย้าย แค่นั้นก็จบเรื่อง  

“สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นสองมาตรฐานของการบังคับใช้กฎหมายระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนธรรมดาได้อย่างชัดเจน” 

 

 

แล้วถ้ามินเป็นนายก ตอนนี้มินจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างไร?

ผมไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ แต่เราเชื่อในกระบวนการสันติวิธี จากการพูดคุยกันอย่างจริงใจ ทั้งจากผู้เห็นต่างและรัฐบาล ถ้าทั้งสองคนนี้มาคุยกันในพื้นที่สาธารณะ และอัปเดตให้ประชาชนในพื้นที่รับรู้ว่าเราพูดคุยกันแล้วนะ การเจรจาไปถึงไหนแล้ว คนในพื้นที่จะได้รู้แล้วว่า เรื่องกลุ่ม BRN ไปถึงไหนแล้ว คนจะรับรู้ด้วย พอเกิดเรื่อง BRN วางระเบิด ทหารไปจับกุมผู้ต้องสงสัย ไปวิสามัญเขา ถามว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบมั้ย ได้รับครับ 

“ที่ผ่านมาการพูดคุย เจรจากันแต่ละครั้งมักเกิดขึ้นที่มาเลเซียหรือที่อื่น ๆ ซึ่งเขาไม่เคยอัปเดตให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้เลย ซึ่งผมมองว่ามันไม่มีความคืบหน้า ไม่มีความจริงใจ 

“รัฐประหารคือวงจรที่ปิดพื้นที่ทางการเมือง ขับไล่กลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มของตน ใช้การปกครองแบบเผด็จการ เมื่อพื้นที่ทางการเมืองถูกปิดตัวลง มันก็ทำให้อะไรหลาย ๆ อย่างเริ่มแย่”

“ดังนั้นถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรี ผมจะยอมรับความหลากหลายของคนในพื้นที่ ชุดความคิด​ (mindset) ของเขา(รัฐบาล) คือชุดความคิดของคนในยุคสงครามเย็นเลย ที่ยังไม่เปลี่ยนชุดความคิดในปัจจุบัน ที่มองว่าคนเห็นต่างเป็นศัตรูที่ต้องกำจัด ต้องจับกุมให้ได้ว่าผู้เห็นต่างเป็นโจร ทั้ง ๆ ที่คนในพื้นที่คือประชาชนที่ต้องการพื้นที่ในการแสดงออกในชุดความคิดที่เขาคิดว่าถูก ถ้ารัฐเปิดพื้นที่ในการแสดงความเห็นอย่างสันติ เราเชื่อว่าปัญหาสามจังหวัดจะถูกแก้ไขครับ




มุมส่วนตัวของมิน

นอกเหนือไปจากมุมมองของนักกิจกรรม มินคือนักศึกษาที่มีงานอดิเรกคือการไปนั่งคุยกับเพื่อนที่ร้านกาแฟ เพื่อถกเถียงปัญหาสังคมกับเพื่อน ๆ 

 

เช่นเดียวกับเยาวชนหลาย ๆ คน ก่อนหน้านี้เขาคือคนที่ไม่รู้มาก่อนว่าสิ่งที่ตนได้ผ่านมาคือการใช้อำนาจนิยม ก่อนจะเจอ “จุดเบิกเนตร” คือเวทีเสวนาทางการเมือง ที่เขาได้รับรู้ว่าสิ่งที่เคยกระทำในวัยเด็กคือการใช้อำนาจกดขี่ กดทับ ให้รุ่นน้องอยู่ในระบบในฐานะของสภานักเรียน และครั้งหนึ่งที่เขาได้เปิดใจรับรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนแล้ว มินก็ไม่สามารถหันกลับไปจุดเดิมจุดนั้นได้อีกเลย พร้อมลงมือทำเพื่อให้ประเทศไทยได้ก้าวไปสู่วันที่สดใสมากขึ้นกว่านี้ 

 

ก่อนจบบทสนทนา เราจึงชวนมินมาถามตอบคำถาม เพื่อให้เราทุกคนได้รู้จักกับนักกิจกรรมเยาวชนคนนี้ให้มากขึ้น 

 

  • ชอบหนังหรือซีรีส์เรื่องไหน 

    • Nacos 

  • ชอบหนังสือเรื่องอะไร

    • ขุนศึก ศักดินา พระยาอินทรี

  • ตัวละครที่ชอบ 

    • ลูฟี่ จาก One Piece (ชอบการผจญภัยครับ อยากรู้ว่าปลายทางจะไปเจออะไร มันมีการทำให้ความรู้สึกของเรามันมีความหวังว่าอยากเจออะไรในปลายทางต่อไป) 

  • เพลงที่อยากส่งให้คนที่ชอบตอนนี้ฟัง 

    • ผมฟังเพลงวงสามัญชนอะ ส่งเพลงของสามัญชนให้เขาได้มั้ย

  • เวลามีความรักชอบทำอะไรให้คนที่ชอบ

    • ชอบซื้อของให้

  • ไอดอลในชีวิตคือใคร 

    • ไม่รู้เลย! ผมมองหลายคนแล้วเอาข้อดีของเขามาปรับใช้ ถ้าไอดอลที่ผมเห็นนะ ผมสนใจในตัวเขา แม้เราจะมีความเชื่อต่างกัน แต่ผมชอบความตั้งใจในการเปลี่ยนแปลงสังคม คนนั้นคือ เช กูฮาร่า

  • คนที่เรารักหรือคนที่รักเรา 

    • คนที่รักเรา

  • ของคาวหรือของหวาน 

    • หวาน (บราวนี่)

  • วิชาที่ชอบ 

    • ประวัติศาสตร์ สังคม

  • วิชาที่เกลียด 

    • ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แต่เรียนสายวิทย์ครับ

  • ถ้าได้เป็นนายกจะทำอะไรเป็นอย่างแรก 

    • ลาออก!!! 

  • สามคำที่นิยามความเป็นตัวเอง

    • ทุ่มเท พยายาม อดทน 

  • อยากขอบคุณใครที่สุดในชีวิต 

    • พ่อกับแม่ที่สนับสนุนเรา 

  • ความฝันตอนเด็กอยากเป็นอะไร 

    • อยากเป็นทหาร พอโตขึ้นมาก็คือไม่ชอบทหาร ที่ตอนเด็ก ๆ อยากเป็นก็เพราะผมชอบดูหนัง เพราะชอบดูอังกอร์ เป็นทหารมันเท่ดี ถูกโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ครอบแหละ (หัวเราะ) 

  • อีก 10 ปีข้างหน้าอยากทำอะไร 

    • อยากเป็นนักการเมือง 

  • ถ้าเทียบประเทศไทยเป็นคนเขาจะเป็นคนยังไง 

    • คนชราที่ใกล้ตาย

  • ถ้าการเมืองดี ตอนนี้อยากทำอะไร

    • อยากทำธุรกิจ อยากเปิดร้านขายเนื้อ เพราะผมชอบกินเนื้อ