Amnesty Regional MEETUP #2 เปิดพื้นที่คุย สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า

18 ตุลาคม 2566

Amnesty International Thailand

ในชีวิตของคนหนึ่งคน ย่อมต้องมีสิทธิที่จะฝันถึงวันอันสดใสได้อย่างอิสระ 

 

ท่ามกลางสายฝนพรำในวันอังคารช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ณ ร้านหนังสือกลางสวนดอกไม้ ฟิลเดลเฟีย จังหวัดอุบลราชธานี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรมเดินสายพบปะสมาชิกและ Amnesty partner shop ในภาคอีสาน พร้อมทั้งวงเสวนาเรื่องของสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ เพื่อเปิดพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนสู่สังคมที่ดีกว่าเดิม 

 

เปิดพื้นที่ เปิดโอกาส สร้างการเปลี่ยนแปลง 

เราจะมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างไร หากยังไร้ซึ่งพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน 

กิจกรรมเริ่มขึ้นในช่วงเย็นหลังฝนของปลายฤดูซาลง ผู้เข้าร่วมเต็มไปด้วยนักศึกษา นักวิชาการ และอาจารย์มหาวิทยาลัยกว่า 20 คน ที่ต่างรีบมาจับจองที่นั่งสำหรับฟังเสวนา เพราะด้วยพื้นที่จัดกิจกรรมเป็นร้านหนังสือที่มีพื้นที่ไม่มากนัก ดังนั้นที่นั่งจึงมีจำกัดไว้เพียงแค่ไม่กี่คน 

บรรยากาศเริ่มต้นขึ้นด้วยการกล่าวต้อนรับอย่างเป็นกันเองของ สินีนาฏ เมืองหนู ผู้จัดการฝ่ายระดมทุนและสมาชิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย 

“เราอยากให้ทุกคนได้มีพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ และรับฟังความคิดเห็นเรื่องต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้วที่มีวงคุยที่พูดถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม ทั้งนี้แอมเนสตี้ ประเทศไทยได้ทำงานร่วมกับ Mob Data Thailand เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล สถิติ และการจัดชุมนุมจากทั่วประเทศ” 

หลังจากนั้นไม่นานนัก วงเสวนาจึงเริ่มต้นขึ้น เฝาซี ล่าเต๊ะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบายแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นคนแรกของการพูดคุย โดยหยิบยกสถานการณ์การชุมนุมตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาเล่า เพื่อให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่หลังจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา ตลอดจนความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่ใช้เพื่อปราบมวลชนในปี 2563 

“เราจะเห็นภาพตามข่าวต่างๆ ว่ามีการข่มขู่คนที่ร่วมม็อบ แม้กระทั่งตัวผมเองที่โดนข่มขู่และด่าทอ ซึ่งผมมองว่าทุกอาชีพมีคนเลว แต่สำหรับตำรวจผมมองว่าไม่สมควรที่จะมี เข้าใจว่าเป็นคนที่มีอาวุธปืน เป็นคนที่มีอำนาจ เป็นคนของรัฐ แต่ก็ไม่ควรที่จะมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้น” 

เช่นเดียวกับ อนุวัตน์ พรหมมา อาสาสมัคร Mob Data Thailand ผู้ลงพื้นที่สังเกตการณ์ชุมนุมที่ได้หยิบยกตัวเลขและสถิติขึ้นมาเล่าอธิบาย ทำให้ผู้ฟังได้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าในแต่ละจังหวัดและพื้นที่ของประเทศไทยเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการรวมตัวที่ปรับเปลี่ยนไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่จำนวนของผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการออกไปใช้เสรีภาพในการแสดงออก 

“รูปแบบการชุมนุมค่อนข้างมีความหลากหลาย ที่เห็นได้ชัดเลย คือมีการรวมตัวนัดหมายมาชุมนุม มีเวทีปราศรัย มีการแสดงดนตรี ใช้เวลาประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง รูปแบบต่อมาา คือมีการเคลื่อนไหวจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง อาจจะเป็นการเดินขบวน ถือป้ายเดินตามถนน การปิดถนน ปิดช่องทางการจราจร หรือภายหลังจะมีการใช้รูปแบบของ Car Mob ที่มีการใช้ขบวนรถ บางพื้นที่ใช้รถไถนาเดินตาม และมีการแสดงออกพร้อมกับป้ายต่างๆ และรูปแบบบสุดท้าย คือ Flash Mob ซึ่งเป็นการแสดงออกอย่างรวดเร็ว และจะมีการทำสัญลักษณ์ต่างๆ ร่วมด้วย” 

เวลาผ่านเลยไป ฝนที่ตกพรำๆ กลับมาหนักขึ้นอีกครั้ง ประหนึ่งว่าท้องฟ้ากำลังสร้างบรรยากาศให้เข้ากับความเข้มข้นของเนื้อหาที่ ผศ.ดร.เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้หยิบเอาประวัติศาสตร์ของการชุมนุมในภาคอีสานขึ้นมาร้อยเรียงตั้งแต่อดีต ไปจนถึงต้นตอของความวุ่นวายที่สิ่งผลมาจนถึงปัจจุบัน

“จุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวทางการเมือง อาจจะเริ่มต้นจากความไม่พอใจ ความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่ได้รับการแก้ไข เกิดการทำรัฐประหาร เกิดการแซงจากทหาร จนกลายเป็นที่มาของการเพิ่มความขัดแย่งระหว่างประชาชนและฝ่ายรัฐ ขัดแย้งไปถึงจนถึงขั้นเกิดจราจน มีความสูญเสีย และเกิดสิ่งที่หลายคนเรียกว่าโลกาภิวัตน์ เป็นการใช้องคาพยพต่างๆ ของรัฐบาลในช่วงนั้น” 

 

 

ปิดท้ายด้วย ณัชปกร นามเมือง ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญได้เล่าเป็นคนสุดท้าย เพื่อขมวดเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมาจากทุกคนให้ผู้ฟังได้ตกผลึกกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น 

“สิ่งที่เราควรจะคาดหมายกับรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน คืออะไรก็ตามที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างที่เกิดขึ้นในรัฐบาลยุคของ คสช. เราไม่ควรเห็นการที่เดินขบวนไปหานายกแล้วต้องไปเจอกับ คฝ. เราไม่ควรเห็นการออกไปเรียกร้องนโยบายบางอย่าง แล้วต้องจบด้วยการล้อมปราบ หรือการใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตา” ณัชปกรกล่าว 

 

เมื่อถึงเวลา ดอกไม้แห่งเสรีภาพก็จะเบ่งบาน 

เป็นที่แน่นอนแล้วว่าการเมืองของบ้านเรากำลังเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับกิจกรรมวงเสวนานี้ ได้มีการพูดคุยถึงขั้วอำนาจดังกล่าว แต่ถึงอย่างไรก็ตาม อดีตที่ผ่านมานั้นกลับมีความรุนแรงมากเกินกว่าที่เราจะลืม There’s always spring หนังสือภาพที่รวบรวมมาจากการชุมนุมตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาถูกหยิบหยกขึ้นมาเล่าในวง เพราะถึงแม้ว่าการเบ่งบานของดอกไม้แห่งความรุ่งโรจน์จะถูกขัดขวาง แต่หนทางดังกล่าวกลับไม่เคยดับสิ้นลง วงคุยเริ่มเชื่อมโยงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังสือมายังภาคอีสาน เพื่อตีแผ่ให้เห็นถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น 

 

 

เวลาเริ่มผ่านเลยไป แสงสว่างจากด้านนอกเริ่มหมดลง หลอดไฟภายในร้านเริ่มทำงาน เช่นเดียวกับผู้ฟังที่ต่างคนเริ่มเกิดความสงสัยในประเด็นต่างๆ ที่วิทยากรได้เล่าให้ฟัง บ้างจดสิ่งที่ได้ฟังลงสมุดอย่างจริงจัง พลางทำหน้างงสงสัยกับเรื่องราวที่ผ่านมา หรือบางคนหันไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนข้างๆ อย่างเบาเสียงก่อนที่จะยกมือตั้งคำถามหลังจากบทสนทนาของวิทยากรจบลง 

กิจกรรมเดินทางมาถึงช่วงท้ายอย่างรวดเร็ว การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจึงเริ่มต้นขึ้น จากร้านหนังสือที่เต็มไปด้วยเสียงเงียบ กลับถูกแทนที่ด้วยการตั้งคำถามระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม ของว่างที่ตั้งอยู่ด้านนอกถูกหยิบเข้ามากินอย่างเอร็ดอร่อย บางคนเล่าว่าดีใจที่มีกิจกรรมดีๆ เช่นนี้ให้เหล่านักกิจกรรมและผู้ที่สนใจประเด็นประชาธิปไตยได้มารวมตัวกัน หรือบางคนเองก็บอกว่าไม่เคยรับรู้ถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาก่อน กระทั่งได้ฟังวิทยากรเล่าถึงประสบการณ์ที่เคยพบเจอ พร้อมทั้งชวนคาดเดาทิศทางของอนาคต 

เช่นเดียวกับต้า พงศธร กันทวงค์ นักกิจกรรมจากลุ่มคบเพลิง ที่เล่าถึงเหตุผลของการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ว่าตัวเองอยากเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป และทิศทางของการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งอยากดูปฏิกิริยาของพรรคการเมืองต่างๆ ต่อประเด็นการเรียกร้องที่ต่างๆ ที่ประชาชนได้ยื่นไป ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยความประทับใจที่ได้รับ 

“หนึ่งสิ่งที่เรามีความประทับใจมากๆ คือสิ่งที่ณัชปกรพูดว่า การที่เราจะสามารถรักษาขบวนไว้ได้ เราจำเป็นจะต้องมีหัวใจที่กว้างและยิ่งใหญ่มาก ซึ่งส่วนตัวเราคิดว่าเป็นวิธีคิดที่ดี เพราะการที่เราจะต่อสู้ หรือเคลื่อนไหวในประเด็นประชาธิปไตย มันจะต้องหาเพื่อนหรือแนวร่วมให้ได้มากที่สุด เพื่อให้สามารถผลักดันประเด็นต่างๆ ที่เราเรียกร้องได้ และอีกหนึ่งสิ่งที่ ผศ.ดร.เสาวนีย์พูด คือก่อนที่เราจะเรียกร้องอะไร เราจำเป็นต้องย้อนกลับมามองตัวเองก่อน ว่าเรามองทุกคนในมุมมองที่มีความเท่าเทียมกันแล้วหรือยัง อันนี้เป็นจุดเล็กๆ ที่เราสามารถเริ่มได้ด้วยตัวเอง” 

ซึ่งคำพูดดังกล่าวนั้นเป็นหนึ่งข้อปฏิบัติที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญเสมอมา 

สามารถย้อนดูภาพเหตุการณ์ของการชุมนุมที่ผ่านมาได้ที่หนังสือ There's Always Spring เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน โดยกดสั่งซื้อผ่าน https://bit.ly/3OKAIW5  

หรือทดลองเป็นสมาชิกกับเราฟรี 1 ปี เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้สิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในสังคมได้ที่ https://shorturl.asia/RfG7B