'พลังนักเขียน' เปลี่ยนสังคมด้วยพลังทางวัฒนธรรม ได้ : ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ นักเขียนเจ้าของนามปากกา 'ปราปต์'

12 กรกฎาคม 2566

Amnesty International Thailand

‘พลังนักเขียน’

เปลี่ยนสังคมด้วยพลังทางวัฒนธรรมได้

 

เพราะ...การเล่าเรื่อง เหมือนคลื่นลม ค่อยๆ เปลี่ยนทิศทางสังคมให้ดีขึ้นได้ 

ชวนทุกคนรู้จักการเขียนที่สร้างพลังทางสังคม ในเวิร์กชอป Writers That Matter กับเจ้าของนามปากกา 'ปราปต์'

 

“ผมจะบอกนักอยากเขียนเสมอว่านอกจากการอ่านและการเขียน ประสบการณ์ในชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะว่ามันจะทำให้เรารู้และตระหนักถึงเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต จนนำไปสู่การตกตะกอนที่ทำให้ทุกคนมีสารและมีเสียงของตัวเอง ที่จะใช้ในการถ่ายทอดงานต่างๆ ออกมา”

 

ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ หรือ เต็ก นักเขียนเจ้าของนามปากกา 'ปราปต์' เจ้าของผลงาน กาหลมหรทึก ชวนนักอยากเขียนทุกคนมาจุดไฟในตัวเอง สร้างพลังจากตัวอักษรที่เต็มไปด้วยซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ที่จุดประกายความแข็งแรงและจับต้องได้ งานนี้เขาจะมาเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ถ่ายทอดประสบการณ์จากการมีหัวโขนเป็น ‘นักเขียน’ ให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมเวิร์กชอปทุกคน ด้วยการแนะนำเทคนิคและวิธีเขียนให้สนุก แต่..เต็มไปด้วยสาระ ทำให้เรื่องไกลตัว กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่คนอ่านสนใจมากขึ้น

 

สิ่งที่ไม่ควรพลาดจากเวิร์กชอป Writers That Matter ครั้งนี้

  • รู้วิธีเล่าเรื่องแบบ Fiction ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์
  • แนะการเขียนอย่างไรตรงประเด็น สนุก ไม่น่าเบื่อสำหรับคนอ่าน
  • เทคนิคเล่าเรื่องยากให้ง่าย สไตล์ ‘ปราปต์’ นักเขียนผู้ที่เชื่อว่างานเขียนคือศิลปะ

 

เต็ก ชัยรัตน์ นักเขียนเจ้าของนามปากกา 'ปราปต์' มองว่า งานเขียนแบบ Fiction หรือ บันเทิงคดี ที่เน้นให้สาระความรู้ผู้อ่านเพียงอย่างเดียว อาจเป็นสิ่งที่หลายคนรู้จักมาแบบนั้น แต่สำหรับเขางานงานเขียนแบบ Fiction คือศิลปะการเล่าเรื่องที่มีสาระ แต่จะต้องเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ คนอ่านเข้าใจง่าย ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว เช่น นิยาย เรื่องสั้น นิทาน หรือการเล่าเรื่องที่พลิกประเด็นต่างๆ ให้น่าสนใจ แต่ยังเต็มไปด้วยแง่คิดที่ทำให้ผู้อ่านอยากรู้ต่อ

 

“งานเขียนในโครงการ Writers That Matter ครั้งนี้จะเป็นการทำให้นักอยากเขียน ทำเรื่องที่อ่านแล้วสนุก ทุกคนจะได้รู้วิธีการดึงประเด็นอย่างไรในการเขียน ไม่ได้พูดเรื่องสิทธิแบบตรงไปตรงมาอย่างเดียว เพราะอาจฟังดูเป็นเรื่องที่หนักสำหรับผู้ที่เริ่มต้นเขียน จึงคิดว่าจะต้องมีวิธีที่เอาเรื่องสิทธิ หรือเรื่องยากอะไรก็ตาม มาทำให้เป็นเรื่องใกล้ตัว คนอ่านเข้าใจได้ ไม่ได้รู้สึกถูกบังคับให้อ่านงานที่หนักหัวมากเกินไป”  

 

เจ้าของนามปากกา ‘ปราปต์’ ผู้ที่เชื่อว่า นักเขียนมีพลังซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power)

สำหรับการเล่าเรื่องแบบ Fiction สไตล์ เต็ก ชัยรัตน์ จะไม่ใช้คำศัพท์เฉพาะหรือเล่าเรื่องที่ยากเกินไป แต่จะเน้นเรื่องที่ทำให้คนอ่านสัมผัสความจริงด้วยวิธีสื่อสารที่ไม่ซับซ้อน และเข้าใจง่าย เพื่อให้คนอ่านยอมเปิดใจ โดยไม่ต้องถูกบังคับหรือถูกยัดเยียดเนื้อหา แต่จะเล่าเรื่องราวที่ทำให้คนอ่านอยากไปหาข้อมูลต่อเอง ตรงจุดนี้เขาเชื่อว่าจะทำให้เกิดพลังซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมทางอ้อมได้ คล้ายกับคลื่นลมที่ค่อยๆ ซัดไปเรื่อยๆ ไม่ได้เร่งรีบแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือในพริบตาเดียว

 

สิทธิและอิสรภาพของนักเขียน ในมุมมองเจ้าของนามปากกา ‘ปราปต์’

สำหรับสิทธิในเสรีภาพการแสดงเรื่องการคิดและเขียนในทัศนะ เขาเห็นว่างานเขียนคือเวทีแห่งโอกาสในการพูดหรือทำอะไรที่เป็นอิสระ ปัจจุบันเรื่องนี้พบว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่เชื่อว่าหากพลังการสื่อสารของนักเขียนและนักอยากเขียนทุกคน ถูกเรียงร้อยเป็นตัวอักษรและเรื่องเล่าออกมาจำนวนมาก จะเป็นสิ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมด้านสิทธิมนุษยชน และด้านอื่นๆได้แน่นอน

 

“ผมมองว่าตัวงานเขียนจริงๆ มันคือเวทีที่เราควรมีโอกาสในการพูดอะไรก็ได้ที่เราอยากจะพูด ก่อนหน้านี้ตอนเด็กๆ ผมเข้าใจว่าบ้านเมืองเราเป็นแบบนั้น คือเราสามารถพูดหรือเถียงอะไรก็ได้ แต่พอโตมาก็พบว่ามีอะไรหลายๆ ที่เราซื่อมาก มีอะไรหลายอย่างที่เราไม่สามารถพูดหรือเถียงได้จนทำให้สังคมไทยหยุดอยู่แค่นี้”

 

เต็ก ชัยรัตน์ เจ้าของนามปากกา ‘ปราปต์’ พูดทิ้งท้ายว่า สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกรวมถึงสิทธิในการผลิตงานสื่อสารต่างๆ ในประเทศไทยว่า ปัจจุบันพบการถูกปิดกั้นหลายมิติ ทำให้หลายเรื่องไม่ถูกผลิตหรือกล้าคิดอะไรออกมา ทั้งที่สามารถทำได้ ส่วนตัวมองว่าการที่ประเทศปิดกั้นไม่ให้งานเขียน หรืองานสื่อสารรูปแบบอื่นๆ ไปแตะวงการหรือประเด็นที่ละเอียดอ่อน อาจทำให้งานศิลปะของประเทศไทยล้าหลัง และไปไม่ถึงไหนเหมือนในต่างประเทศ ง่ายๆ คือ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าละครหรือภาพยนตร์ไทยทำแต่เรื่องซ้ำๆ ล่องลอยในอากาศ เพราะหยิบความจริงบางอย่างมาพูดไม่ได้ จึงเป็นอุปสรรคในการเติบโตในตลาดโลก เพราะถูกกีดกันแม้กระทั่งความคิดสร้างสรรค์  

 

“ถ้าพูดเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของคน การที่เราถูกปิดปากให้ไม่สามารถพูดอะไรได้เลย เหมือนเราถูกกระทำฝ่ายเดียว โดยที่เราไม่สามารถร้องขอความช่วยเหลือได้เวลาเกิดเหตุการณ์อะไร แต่คนมีอำนาจที่ได้อำนาจสามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีการบอกได้ว่าสิ่งที่เขาทำได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า”

 

แต่ชายผู้นี้ยังมีอีกมุมมองถึงผู้มีอำนาจว่า บางคนอาจไม่ได้ตั้งใจทำสิ่งที่มันไม่ดี แต่การที่สังคมไทยเกิดการจำกัดเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก หรือการถูกปิดปาก อาจทำให้ความคิดเห็นหรือเสียงสะท้อนต่างๆ ที่ไม่ดีไปไม่ถึงผู้มีอำนาจ ซึ่งเขาอยากให้งานเวิร์กชอป Writers That Matter ของแอมเนสตี้ ประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งงานสำคัญที่จุดประกายให้ทุกคนกล้าขีดเขียดเรื่องราวต่างๆ ด้วยสไตล์ของตัวเอง สู่การเป็นที่เปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นได้

 

สมัครเข้าร่วมเวิร์กชอปได้ที่นี่ถึงวันที่ 15 ก.ค. นี้เท่านั้น : https://forms.gle/Vw6fcm9FV8GdLy8c9

 

กิจกรรมนี้จัดในวันเสาร์ที่ 22 และวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม 2566  เวลา 09.00-17.00 น. ณ ร้านเล่นงาน Play+work co-working space ถ.สีลมซอย 2 กรุงเทพ