เปิดประตูความคิดกรณี ‘หยก’  : อันนา อันนานนท์ นักกิจกรรม เยาวชน ‘กลุ่มนักเรียนเลว’

26 มิถุนายน 2566

Amnesty International Thailand

ขอบคุณภาพประกอบจาก The Modernist

 “เด็กคนนั้นจะไปทำอะไรมา จะไม่มีพ่อแม่ เคยทำผิดมา มีความเชื่อใดก็ตาม มีศาสนาอะไรหรือมีความเชื่อเรื่องการเมืองใดก็ตาม หรือเขาจะเป็นเหมือนหยกว่าสิทธิในเนื้อตัวร่างกายเป็นของเขาเอง เขาไม่สมควรถูกลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของเขา รัฐต้องจัดเตรียมการศึกษาให้เขา” 

หากพูดถึงการเคลื่อนไหวของ น.ร.ล ตัวย่อชื่อกลุ่มนักเรียนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษา อาจยังไม่คุ้นชินเท่าไหร่นักในสังคมไทย แต่ถ้าบอกว่านี่เป็นชื่อย่อของ ‘กลุ่มนักเรียนเลว’ ที่เคยออกมารวมตัวชุมนุมเรียกร้องสิทธิการศึกษาต่อกระทรวงศึกษาธิการครั้งแรกเมื่อปี 2563 หลายคนคงจำภาพเหล่านั้นได้จากข่าวสารที่ปรากฎตามสื่อต่างๆ 

‘อันนา อันนานนท์’ คือหนึ่งในแกนนำแถวหน้าในตอนนั้น จากรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่กล้าออกมาร่วมเรียกร้องสิทธิต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งกฎระเบียบโรงเรียนที่ ‘ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน’ ปัจจุบันเธอได้ไปเป็นตัวแทนเยาวชนไทยในเวทีระดับโลก ทำหน้าที่สื่อสารเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเตรียมตัวเป็นนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อันนาเล่าด้วยน้ำเสียงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังว่า โครงสร้างต่างๆ ในประเทศไทย จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ตราบที่เธอยังมีลมหายใจ และมีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเด็กและสิทธิการศึกษา ที่ต้องมีกฎระเบียบที่ไม่ลิดรอนความเป็นมนุษย์ แม้เขาจะถูกนิยามว่าเป็น ‘เด็กคนหนึ่ง’ โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่ทำให้นักเรียนคนไหนถูกทิ้งขว้าง ถูกทำร้าย ต้องไม่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา เพราะการศึกษาคือสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ทุกคนควรได้รับในแผ่นดินไทย 

กรณีของ ‘หยก’ นักกิจกรรม เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิการศึกษา อันนามองว่า เป็นเรื่องไม่ยุติธรรมถ้าเด็กคนหนึ่งต้องถูกตัดสิทธิ์ ถูกไล่ออก เพียงเพราะไม่มีผู้ปกครองที่แท้จริงเซ็นรับรอง หรือแต่งกายไม่เป็นไปตามกฎระเบียบโรงเรียน ทั้งที่หยกปีนรั้วโรงเรียนเพื่อเข้าไปเรียนหนังสือกับเพื่อนๆ ไม่ได้ปีนออกจากรั้วโรงเรียน เพื่อหนีไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการศึกษา และกฎกระทรวงศึกษาธิการมี 4 สถาน คือ หักคะแนน ทำทัณฑ์บน พักการเรียน ทำกิจกรรม ไม่มีคำว่าไล่ออก ฉะนั้น หยกควรได้รับการศึกษาในโรงเรียนต่อไป 

“หากเด็กคนหนึ่งต้องการเข้าถึงการศึกษา ต้องการไปห้องเรียน ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องไม่ผลักไสเด็ก หรือทำให้เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัยในสถานที่ที่ชื่อว่า ‘โรงเรียน’ ส่วนเรื่องกฎระเบียบคิดว่าเป็นเรื่องที่หาทางออกร่วมกันได้ แต่สิ่งที่ต้องทำและจำเป็นที่สุดคือ เด็กทุกคนต้องได้เรียน” อันนา พูดย้ำเรื่องนี้ 

นักเรียนเลว-เคยถูกล้อมจับ สู่การเดินหน้าขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนเต็มกำลัง 

อันนา คือ เด็กนักเรียนที่เคยโดนตำรวจล้อมจับ ระหว่างนั่งกินอาหารที่ร้านแห่งหนึ่ง ซึ่งตรงกับช่วงที่เธอเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิการศึกษาใต้ชื่อ ‘กลุ่มนักเรียนเลว’ เหตุการณ์ในครั้งนั้นคือจุดเริ่มต้นครั้งยิ่งใหญ่ ที่ทำให้อันนาประกาศเจตนารมณ์และบอกตัวเองว่า จะไม่หยุดสู้ ไม่หยุดเคลื่อนไหวเพราะเจอความไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แม้ตำรวจจะอ้างว่า ได้ทำการจับตัวเด็กทุกคนแบบละมุนละม่อม แต่อันนาในตอนนั้นมองว่าเป็นฝันร้าย ที่ทำให้เห็นเบื้องลึก เบื้องหลัง ความไม่ยุติธรรม ความไม่ปกติในสังคมไทย   

“ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้มาไกลขนาดนี้ เพราะในประเทศนี้ ไม่มีอะไรที่คาดคิดได้ ตั้งแต่นั่งอยู่ที่ร้านแมคโดนัลด์แล้วโดนจับอุ้มหิ้วตัวเราไป เหตุการณ์นั้น ทำให้เราต้องพบเจอกับความไม่เป็นธรรม ที่เป็นแรงผลักดันให้สู้มาไกลขนาดนี้ และไม่เข้าว่าเขาจะทุ่มทุนตามตัวเด็กคนหนึ่งทำไม ไม่เข้าใจว่าการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพเรื่องเส้นผมเด็กคนหนึ่ง มันจะเป็นเรื่องความมั่นคงได้ยังไง” อันนา เล่าความรู้สึกที่มีกับเหตุการณ์นั้น  

ความตายเลวร้ายที่สุด แต่…คุ้มค่า ถ้าเปลี่ยนแปลงสังคม-กฎหมายได้

สำหรับอันนา ‘ความตาย’ คือ สิ่งที่เลวร้ายที่สุดระหว่างเคลื่อนไหว ระหว่างเรียกร้องสิทธิการศึกษา สิทธิเด็ก สิทธิการเมือง และสิทธิมนุษยชน แต่สิ่งที่เลวร้ายกว่าตัวเองต้องตาย คือ คนรอบตัวของอันนาถูกอุ้มหาย ถูกจองจำในคุก หรือล้มหายตายจากกันไปทีละคน กรณีของ ‘หยก’ มีสถานะเป็นรุ่นน้อง และเพื่อนของเรา คงเป็นฝันร้ายที่สุด ถ้าการเรียกร้องสิทธิของเขา ถูกตอบแทนด้วยการหลุดจากระบบการศึกษา หรือต้องไปติดคุกอีกครั้ง เพียงเพราะ แสดงออกเรื่องกฎหมาย และเห็นต่างจากสิ่งที่ถูกกำหนดจากเบื้องต้น ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ควรเป็นเรื่องที่สามารถถกเถียง หาแนวทางตรงกลางร่วมกันได้ในสังคม ขณะที่การออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ถือเป็นความคุ้มค่า หากทำมันออกมาได้สำเร็จ แต่ต้องไม่แลกด้วยชีวิตและลมหายใจของใครทั้งสิ้น 

“คุ้มค่ามาก เพราะถ้าเราไม่เปลี่ยนประเทศวันนี้ จะให้เรารออีกกี่ปี ถ้างั้นเราจะต้องมี สยาม ธีรวุฒิ คนที่ 2 วันเฉลิม คนที่ 2 หรืออาจจะมีอันนา 2 ที่โดนอุ้มเพราะกินแมคโดนัลด์ ต้องมีน้องหยก 2 ที่ออกมาเรียกร้องเรื่องสิทธิเนื้อตัวร่างกาย และสิทธิการศึกษา หรือต้องมีคนที่เจอเรื่องแบบนี้อีกเรื่อยๆ ฉะนั้น มันก็ต้องจบเรื่องนี้ให้ได้ อันนาอยากเป็นคนสุดท้ายที่ติด WatchList คนที่ถูกจับตามอง และอยากให้หยกเป็นคนสุดท้ายที่โดนติดคุกเพราะแสดงความคิดเห็น จุดยืนเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112” 

แม้ชีวิตของอันนา จะจบการศึกษาระดับมัธยมเพื่อก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยแล้ว แต่อันนายืนยันว่า จะไม่หยุดเคลื่อนไหวแม้จะหมดสถานะความเป็นนักเรียนแล้ว เธอจะยังเคลื่อนไหวในฐานะ ‘กลุ่มนักเรียนเลว’ หรือคนธรรมดาที่ต้องการมีสิทธิเสรีภาพต่อไป เพราะ “การขับเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิ ไม่ใช่วุฒิการศึกษา” อันนาต้องการทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง เรื่องกฎทรงผม กฎหมายมาตรา 112 และการรัฐประหาร โดยทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทั้งในสภาและนอกสภาต่อไป 

“นอกสภาต้องยอมรับว่ามีคนได้รับผลกระทบทุกวัน มีเด็กโดนตัดผมทุกวัน ปีก่อนๆ กลุ่มนักเรียนเลวเคยรับเคสเด็กถูกตัดผมอาทิตย์ละ 200 คน มีนักเรียนโดนตัดผม ครูทำร้ายในโรงเรียน เราพบว่านอกสภาเดือดร้อนมาก เราจึงต้องต่อสู้ เราจะรอดูว่ารัฐบาลชุดใหม่จะแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนเรื่องนี้อย่างไรใน 100 วันแรกที่ได้รับตำแหน่ง” 

สุดท้าย…อันนาย้ำว่า ทุกคนควรมีเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก รัฐต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกคนจริงๆ อย่างกรณี  ‘หยก’ ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิการศึกษา กลับมีคนบางกลุ่มนำประเด็นอื่นๆ ออกมาดิสเครดิต ทำลายความน่าเชื่อถือของเด็กคนหนึ่ง เอารูปไปตัดต่อในทางเสียหาย เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำในยุคสมัยนี้ และนี่คือประตูความคิดของ อันนา อันนานนท์ เยาวชนที่เชื่อว่าการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่างๆ ในสังคมควรมีจุดยืน มีสิทธิที่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ 

“หากคุณเห็นด้วยกับแนวคิด แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ ถ้าเรามีจุดร่วมเดียวกัน ก็ออกมาทำในรูปแบบที่คุณทำได้ เพื่อให้แนวคิดนั้นประสบความสำเร็จ เราไม่ได้คาดหวังว่า เด็กทุกคนต้องปีนรั้วแบบหยก เด็กทุกคนมีวิธีแสดงออกของตัวเอง อย่างนักเรียนเลวทำมาทุกอย่างแล้ว เคยไปถึงกระทรวงศึกษาธิการด้วยซ้ำ แต่ว่าทำไมสิ่งนี้ไม่สำเร็จ แสดงให้เห็นแล้วว่าเราสู้กับรัฐกับความไม่เป็นธรรม มันเกิดขึ้นยากจริง ทำให้เราต้องเรียกร้องหนักกว่าเดิม ถ้าเกิดมีใครอยากไปกราบกระทรวงฯ อีกก็ไม่ได้ว่าอะไร”