หยุดตีทะเบียนสื่อ หยุดครอบงำประชาชน

3 พฤษภาคม 2560

เรื่อง: จักร์กฤษ เพิ่มพูล
ที่ปรึกษาและกรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

การต่อสู้เพื่อเสรีภาพครั้งสำคัญของสื่อไทย

 

          องค์กรวิชาชีพสื่อ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อทั่วประเทศ รวมตัวกันครั้งใหญ่ในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปีนี้ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีทูตและตัวแทนประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สวีเดน ออสเตรีย ฟินแลนด์ เข้าร่วมสังเกตการณ์

 

          พวกเขามารวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งมีเนื้อหาในการควบคุมเสรีภาพในการรายงานข่าว การแสดงความคิดเห็นของสื่อและประชาชนอันขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยการรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อและประชาชน อีกทั้งดัชนีชี้วัดการพัฒนาสื่อขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ แลtวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

 

          นับเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งของสื่อมวลชนไทย หลังจากยุคการต่อสู้เพื่อให้ยกเลิกกฎหมายลิดรอนเสรีภาพสื่อ คือ ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 (ป.ร.42) ในสมัยของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

 

          “หยุดตีทะเบียนสื่อ หยุดครอบงำประชาชน” อันมาจากเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือการประกาศถ้อยคำที่เป็นหมุดหมายสำคัญในวาระวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกวันนี้ ความหมายของถ้อยคำคือการตอกย้ำการที่รัฐกำหนดให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติซึ่งมีตัวแทนรัฐอยู่ 2 ตำแหน่งตามกฎหมายฉบับนี้ มีอำนาจรับขึ้นทะเบียนออกและเพิกถอนใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

 

          สื่อมวลชนที่ไม่มีใบอนุญาต องค์กรสื่อที่รับสื่อมวลชนที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน จะต้องรับโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

          ถึงแม้ว่ากรรมาธิการจะยอมถอยในที่สุด ตัดอำนาจออกและเพิกถอนใบอนุญาต ยกเลิกกำหนดโทษจำคุกสื่อมวลชนที่ไม่มีใบอนุญาตกับองค์กรสื่อที่รับผู้ไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน แต่ก็ยังมีความพยายามออกใบรับรองซึ่งอาจเชื่อมโยงถึงอำนาจของกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติได้

 

          ในขณะที่ตัวแทนรัฐยังอยู่ในคณะกรรมการและคำนิยามผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งขยายปริมณฑลไปไกลกว่าสื่อวิชาชีพยังคงอยู่

 

          นี่คือภาวะถดถอยของเสรีภาพในยุครัฐบาลทหารที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความเชื่อถือในประเทศไทย ตลอดไปจนถึงผลกระทบทางด้านการเมือง สังคม การลงทุน และเศรษฐกิจ

 

          องค์กรสื่อไร้พรมแดนได้จัดอันดับเสรีภาพสื่อโลกปี 2017 พบว่าเสรีภาพสื่อไทยร่วงลงไป 6 อันดับ อยู่อันดับที่ 142 ได้คะแนน 49.49 คะแนน อยู่ในกลุ่มสีแดง หรือยังอยู่ในสถานการณ์สื่อที่ยากลำบากต่อไป

 

          ก่อนหน้านี้ ผลการสำรวจของฟรีดอมเฮ้าส์ของสหรัฐฯ ปี 2016 ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ “ไม่มีเสรีภาพ” อันดับที่ 168 จาก 190 ประเทศและเป็นอันดับที่ 8 ของกลุ่มประเทศอาเซียน

 

          การอยู่ในภาวะที่เสรีภาพสื่อถูกจำกัดหรือไม่มีเสรีภาพนี้ หากมิใช่ประเทศสังคมนิยมแล้วก็คงมีประเทศที่ปกครองโดยผู้นำแบบอำนาจนิยมเท่านั้น ซึ่งโดยหลักการลักษณะเฉพาะของผู้นำแบบอำนาจนิยมคือความพยายามกำจัดศัตรูทางการเมืองหรือกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามทุกวิถีทาง

 

          ผู้นำแบบอำนาจนิยมจะไม่ยอมให้มีกลุ่มคิดทางการเมืองที่แตกต่าง มีการจำกัดเสรีภาพของประชาชนเห็นประชาชนอยู่ในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่จะสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับตนเอง และสุดท้ายคือมีการควบคุมสื่อสารมวลชนหรือช่องทางสาร เสนอข้อมูลข่าวสารด้านเดียว เสนอข้อมูลข่าวสารและทัศนคติของตัวเองซ้ำๆ โดยยึดถือว่าแนวทางเช่นนี้เท่านั้นที่ถูกต้อง ซึ่งขัดกับหลักประกันเสรีภาพที่จะต้องเสนอข่าวอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน

 

          ดัชนีชี้วัดความตกต่ำของเสรีภาพสื่อไทยไม่ใช่เพียงอันดับขององค์กรสื่อไร้พรมแดนและผลสำรวจของฟรีดอมเฮ้าส์เท่านั้น แต่ร่างกฎหมายคุมสื่อล่าสุดของรัฐไทยยังชี้วัดถึงการพัฒนาที่ถดถอยของสื่อไทย อันขัดกับหลักเกณฑ์ของยูเนสโกด้วย

 

          การกำหนดข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่จำเป็น บทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดว่าใครจะทำงานด้านสื่อมวลชนได้หรือไม่ได้ หรือกำหนดให้นักข่าวต้องขอใบอนุญาตหรือลงทะเบียน เป็นตัวชี้วัดหลักการพัฒนาของสื่อของยูเนสโก ซึ่งหากพิจารณาประกอบกับร่างกฎหมายคุมสื่อฉบับนี้ ก็ถือเป็นการพัฒนาที่ถอยหลังลงคลอง มากกว่าก้าวไปข้างหน้า 

 

          แน่นอนว่าสื่อไทยไม่อาจยืนยันเสรีภาพเต็มร้อยในสถานการณ์พิเศษเช่นนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นเสรีภาพที่มีความระมัดระวังมีความพยายามที่จะนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร ที่ถูกต้อง รอบด้านพอสมควรแล้ว ถึงกระนั้นก็ยังเป็นด้านที่ตรงกันข้ามกับความคิดทัศนคติของผู้มีอำนาจอยู่เสมอ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการมีเสรีภาพอยู่ภายใต้แนวคิดแบบอำนาจนิยม

 

          การเคลื่อนไหวต่อสู้ คัดค้าน กฎหมายคุมสื่อ ภายใต้สโลแกน “หยุดตีทะเบียนสื่อ หยุดครอบงำประชาชน” ครั้งนี้ แม้ไม่อาจเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของกฎหมายเผด็จการได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ได้แสดงให้เห็นว่าเสรีภาพนั้น คือหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต้องหวงแหน และต่อสู้เพื่อเสรีภาพจนถึงที่สุด