หลังกรงขังมีเรื่องราว เรื่องเล่าของผู้ถูกลิดรอนสิทธิมนุษยชนในเรือนจำ

26 กรกฎาคม 2565

Amnesty International

วันที่ 8 กรกฏาคม 2565 ที่ผ่านมา Amnesty International Thailand ได้จัดวงพูดคุยบน Twitter Spaces ในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชนที่ถูกลืม ของผู้อยู่หลังกรงขัง” สืบเนื่องจากประเด็นเรื่องการถูกละเมิดสิทธิของผู้ต้องขังทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเรือนจำ ดินแดนสนธยาที่ไม่เคยปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชน จนนักกิจกรรมทางการเมืองที่เข้าไปอยู่ด้านในได้ส่งเสียงและเปิดเผยให้เห็นถึงประเด็นเรื่องการถูกละเมิดสิทธิในเรือนจำ

ส่วนหนึ่งถูกสนับสนุนจากทัศนคติของคนในสังคม ในการมองผู้ต้องขังว่าเป็นผู้ทำความผิดที่ไม่สมควรได้รับการให้อภัย ซึ่งมายาคติที่ฝังรากลึกลงไปเหล่านี้ ได้นำมาสู่ปัญหาเรื่องการถูกละเมิดสิทธิและการที่ผู้ต้องขังไม่ได้รับสิทธิอย่างที่สมควรได้รับตามข้อกำหนดแมนเดลา[1] ที่รัฐไทยได้ลงนามไว้ นอกจากนี้ยังเป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันมีนักกิจกรรมทางการเมืองหลายคนที่ยังต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำและเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวผ่านการอดอาหาร รวมถึงการมีสภาวะทางจิตใจที่นำมาสู่ความพยายามในการทำร้ายตัวเอง  แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกปฏิบัติการด่วน (Urgent Action)เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนักกิจกรรมที่อดอาหารและยกเลิกเงื่อนไขประกันตัวที่เข้มงวดเกินกว่าเหตุ (ร่วมลงชื่อและศึกษาเกี่ยวกับปฏิบัติการด่วน ของแอมเนสตี้ฯ ได้ที่ https://www.amnesty.or.th/get-involved/take-action/ua24/

โดยวงสนทนาออนไลน์ครั้งนี้ได้ร่วมแลกเปลี่ยนจากบุคคลอันหลากหลายประสบการณ์ทั้ง อานนท์ นำภาทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและเป็นหนึ่งในผู้ต้องขังทางการเมืองที่เคยมีประสบการณ์อยู่ในเรือนจำ พี่แหวน ณัฏฐธิดา มีวังปลา กลุ่มเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำ และอดีตผู้ต้องขังทางการเมืองในยุคคสช. พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ      คนสุดท้าย รศ.ดร. กฤตยา อาชวนิจกุล นายกสมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม ผู้ที่จะมาให้ภาพความสำคัญของสิทธิทางด้านสุขภาพและสุขภาวะในเรือนจำ ดำเนินรายการโดย พลอย วศินี พบูประภาพ ผู้สื่อข่าว เวิร์คพ้อยท์ ทูเดย์

 

สุขภาวะด้านพื้นฐานและการเข้าถึงสาธารณสุขของผู้ต้องขัง

2.png

อาจารย์กฤตยา อาชวนิจกุล นายกสมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม ได้ให้ภาพของสิทธิทางด้านสุขภาพและการเข้าถึงสาธารณสุขของผู้ต้องขังในเรือนจำที่ยังคงเป็นปัญหา แม้ว่าจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาจากกรมราชทัณฑ์ แต่ดูเหมือนว่านั่นก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งอาจารย์กฤตยาพยายามเชื่อมโยงให้เห็นว่าปัญหานั้นมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมและรัฐไทยที่เกี่ยวกับเรื่องการบริการในงานของกรมราชทัณฑ์ โดยรัฐไทยใช้การลงโทษเป็นวิธีการหลักในการแก้ไขปัญหา

เราส่งคนเข้าคุกโดยที่เราไม่ต้องคิดอะไรเลย และไม่มีนโยบายที่ดีในการทำให้เรือนจำสามารถจะบริหารงานในการดูแลผู้ต้องขังได้ นอกจากนี้ระบบยุติธรรมทางอาญาของเราดำเนินการไปอย่างแยกส่วน ผู้พิพากษาหลายคนไม่รู้จักคุกว่าสภาพความเป็นอยู่จริง ๆ นั้นเป็นอย่างไร

ปัญหาเรื่องสุขภาวะผู้ต้องขังต้องอยู่ร่วมกันอย่างแออัด เพราะเนื่องจากสถานการณ์คนล้นคุกในประเทศไทย มีคนที่นอนหัวชนเท้า นอนอย่างแออัด และที่สำคัญผู้ต้องขังต้องอยู่ในเรือนนอนถึง 14 ชั่วโมง และอยู่นอกห้องนอนเพื่อมาเข้ากลุ่มงาน      เข้าห้องน้ำ กินข้าวอีก 8-10 ชั่วโมง การอยู่ร่วมกันอย่างแออัดในเรือนนอนตั้งแต่เวลา 16.30- 06.30 น.  

“โรคที่พบเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของผู้ต้องขังคือโรคทางเดินหายใจ รองลงมาคือไข้หวัดใหญ่ หอบ หืด จากการเคลื่อนไหวที่น้อยมากในพื้นที่จำกัด ทำให้เกิดปัญหาอาการปวดกล้ามเนื้อตามร่างกาย ปวดคอ ปวดไหล่ เป็นปัญหาสุขภาพที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการถูกบังคับให้ใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในพื้นที่จำกัด การฝึกวิชาชีพด้วยท่าซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานาน ล้วนแต่เป็นกระบวนการทำงานที่ไม่มีวิธีคิดเรื่องไม่สร้างโรคให้กับผู้ต้องขัง

ถ้ามีปัญหาสุขภาพคุณต้องไปสถานพยาบาลในเรือนจำ ซึ่งเปิดเฉพาะเวลากลางวันแค่ ชั่วโมง เท่านั้น พอกลางคืนคุณต้องตะโกนเรียก ล่าสุดน้องผักบุ้งที่มีอาการปวดท้องต้องใช้เวลาเรียกเจ้าหน้าที่ ชั่วโมง กว่าที่เจ้าหน้าที่จะมา เพราะฉะนั้นผู้ที่บาดเจ็บในเวลากลางคืน มีโอกาสที่จะเจ็บป่วยมากขึ้น เพราะกว่าที่จะได้รับการรักษานั้นนานมาก” 

นอกจากนี้อาจารย์กฤตยายังเสริมในประเด็นเรื่องสิทธิของการได้รับข่าวสารและการไม่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก อันเป็นข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ซึ่งประเทศไทยได้ไปลงนามไว้ในข้อกำหนดแมนเดลา

การติดต่อกับโลกภายนอกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขังตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังขององค์การสหประชาชาติ ที่เรียกว่าข้อกำหนดแมนเดลา ประเทศไทยไปรับรองให้สัตยาบันไว้ แต่เราสอบตก เพราะมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาดู การติดต่อกับโลกภายนอกนั้นรวมถึงอะไรบ้าง  ประเด็นแรกเรื่องการเขียนจดหมาย ซึ่งยากมากที่ผู้ต้องขังจะเขียนจดหมายอย่างที่อยากเขียน บ่อย หรือยาวแค่ไหน ประเด็นที่สอง เราไม่ให้ผู้ต้องขังโทรศัพท์ มีความพยายามจะให้บริการอันนี้ที่ไปเห็นในบางเรือนจำเขาเอาตู้มาติดแต่ก็ไม่มีการให้บริการ ในต่างประเทศสิทธิในการโทรศัพท์มีได้ทุกวัน เราอาจจะจำกัดเวลาในการโทรก็ได้ อันที่สามการเข้าถึงข่าวสารทั่วไปไม่มี ทีวีในเรือนจำเป็นรายการแห้ง เป็นวีดีโอที่เจ้าหน้าที่เป็นคนจัดทำเอง

 

การถูกลิดรอนสิทธิมนุษยชนในทัณฑสถานหญิงกลาง 

4.png

แหวน ณัฏฐธิดา มีวังปลา กลุ่มเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำ ได้มาเล่าเรื่องราวปัญหาของการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรือนจำ จากประสบการณ์ตรงของคนที่ตกเป็นผู้ต้องขังทางการเมืองในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช. โดยได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการเยี่ยมญาติของผู้ต้องขัง มองว่าเป็นการชุบชูจิตใจให้กับผู้ต้องขัง และรู้ว่าข้างในนั้นว้าเหว่มากเพียงใด ซึ่งการเยียวยาจิตใจของผู้ต้องขังเกิดขึ้นด้วยกันเอง และการมีญาติมาเยี่ยมจึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ทำให้ผู้ต้องขังมีกำลังใจ ซึ่งนั่นจึงเป็นที่มาที่ทำให้พี่แหวนตั้งกลุ่มเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำขึ้น 

“หลักการง่าย ๆ ที่คุณจะอยู่ในนั้นให้รอด เขาจะให้คุณเป็นกระเบื้องปูพื้นคุณก็เป็นไป ให้เป็นต้นหญ้า เป็นยุง คุณก็ต้องเป็นไป หรือเป็นแมลงวัน คุณไม่มีสิทธิอะไรเลย ยกเว้นญาติมาเยี่ยม การมีรายชื่อว่าญาติมาเยี่ยมเหมือนได้ขึ้นสวรรค์เลย ไม่แปลกใจที่เด็กผู้หญิงสองคนจะเอาวิญญาณเข้าแลกเพื่อรับกับอิสรภาพ การที่เราเข้าไปอยู่ในนั้นเราไม่มีโอกาสได้รับข้อมูลข่าวสารอะไรเลยหนังสือใหม่ที่สุดที่ได้อ่านตอนเราเข้าไปอยู่ข้างในคือปี 2546 หนังสือเปื่อยขาดเราก็โดนทำโทษ สิทธิในการเรียนไม่มีสำหรับผู้ต้องขังที่ฝากขัง เราร้องขออะไรไม่ได้ ความสุขในนั้นเราสะกดไม่เป็น

ในยุคสมัยปี 2558 ณัฏฐธิดาเล่าว่า  “เข้าไปในคุกทุกคนต้องถูกจับแก้ผ้า เข้าไปผ่านด่านแรกเลย คือต้องถอดเสื้อผ้าใส่แค่ผ้าถุงเดินจากศูนย์อนามัยสักอย่างหนึ่ง และไปขึ้นที่ขาถ่างรอเรียกชื่อว่ามาจากศาลไหน ชื่อตรงไหม ขึ้นขาถ่างเพื่อตรวจภายใน เจ้าหน้าที่ผู้คุมจะมาตรวจภายในเรา เราไม่มั่นใจว่าเขาเป็นหมอหรือพยาบาล และมาตรวจตัวอีกครั้งหนึ่ง ก้มหัวโน่นนั่นนี่ เป็นการตรวจที่ซ้ำซากมาก”

คุกหญิงจะอยู่ยากมากกว่าคุกชายมาก ถ้าใครไปอาบน้ำทีหลังน้ำไม่พออาบ สิ่งที่เลวร้ายไปมากกว่านั้นคือคุณจะไม่ได้กินข้าวเลยถ้าคุณอาบน้ำช้า เพราะคุณต้องมารอน้ำเพื่ออาบน้ำ ข้าวเช้าเวลาประมาณ 06.30 - 7.30 น. ทุกคนต้องกินให้เสร็จ       ทานเสร็จแล้วมาเข้าแถวนับยอด การทำกิจกรรมของผู้ต้องขังที่ฝากขังถูกลิดรอนสิทธิมากกว่าผู้ที่เป็นนักโทษเด็ดขาดแล้ว ไม่มีสิทธิในการช่วยงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งถ้าเราได้ช่วยงานเจ้าหน้าที่เราก็จะมีโอกาสได้เดินไปไหนมาไหนได้บ้าง ซึ่งเราจะถูกนั่งอยู่ในกระเบื้อง 30 คูณ 30 เข่าชนเข่า เวลานอนเราก็ได้นอนในพื้นที่เท่านี้ ประมาณสี่แผ่นกระเบื้องครึ่ง เราได้ผ้าห่ม ผืน ไม่มีหมอน อยู่อย่างอัตคัดมาก

 

สิทธิของการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และกระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง

6.png 

อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในผู้ต้องขังทางการเมือง ได้บอกเล่าประสบการณ์และมุมมองจากทนายความที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ทนายอานนท์ได้พูดถึงทัศนคติของคนในสังคมที่มองว่าผู้ต้องขังคือผู้ทำผิด การโดนทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจคือสิ่งที่พวกเขาสมควรจะได้รับ ซึ่งเป็นการสร้างมายาคติเพื่อลดทอนศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง   

เท่าที่ผมไปติดมา 3 เรือนจำ มีลักษณะที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งก็คือ วิธีมองผู้ต้องขังเป็นคนที่เอาไปควบคุมเพื่อไม่ให้ออกมา เป็นโทษ และมาตรการในการเยียวยาฟื้นฟูจิตใจ ผมเน้นคุกของไทยคือที่ผมไปสัมผัสมา มันเหมือนไปลงโทษซ้ำซ้อน ไม่ใช่ขังเพื่อลงโทษและปรับปรุง แต่เป็นการขังเพื่อเอาไปขัง ทำให้มันไม่ค่อยมีสิทธิ มีกระทำการทรมานให้มันเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจ สังคมมองว่ามันคือโทษที่เขาควรได้รับทางสังคม ถ้าไปอยู่สบายไม่เรียกว่าคุก”

ทนายอานนท์เล่าต่อถึงลักษณะที่เขาเห็นว่าเป็นการกระทำการทรมานต่อผู้ต้องขัง มันมีลักษณะของการทำให้ทรมาน เช่น ไม่ให้ใส่รองเท้า มีเครื่องพันธนาการที่ใส่แล้วบาดขา แต่ผมโชคดีที่เป็นนักโทษทางการเมืองครั้งนี้เลยไม่ได้ใส่ แต่คนอื่นใส่หมด มันคือการลดทอนความเป็นมนุษย์ของเราลงไป ไม่ให้เรามีศักดิ์ศรีเท่ากับมนุษย์คนธรรมดา นี่คือวิธีการลงโทษแบบคุกไทย การเข้าห้องน้ำของคุกชายพยายามทำลายศักดิ์ศรีไม่ให้เรารู้สึกว่าเรามีตัวตนในคุก การให้นั่งอุจจาระต่อหน้าคนอื่น มันทำลายกัดกร่อนความเป็นคนของเราไปหมด มันกลายเป็นเรื่องที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์”

การบริหารของคุกไทย คือการลงโทษซ้ำซ้อน พรากเสรีภาพ ทรมาน ลดทอนความเป็นมนุษย์ หรือการทำให้ไม่มีส่วนไหนเลยที่สบาย เพราะถ้าสบายคือไม่ใช่คุก สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมน้อยมาก ห้องเยี่ยมทนายมีไม่เพียงพอหากเทียบกับสัดส่วนของผู้ต้องขัง

ทนายอานนท์ยังได้เสริมในเรื่องของสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้ต้องขัง ที่เขาไม่รู้ว่าสิทธิของตนคืออะไร   ซึ่งนั่นทำให้เราได้เห็นช่องโหว่ของกระบวนการยุติธรรมในบ้านเรา ปัญหาอันสลับซับซ้อนซึ่งเกิดจากระบบที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ทนายอานนท์ยังได้เน้นถึงเรื่องการทำให้เรือนจำต้องเป็นพื้นที่เปิด คนข้างนอกต้องเห็นว่าข้างในนั้นเป็นอย่างไร เพื่อนำมาสู่การทำให้เรือนจำจะต้องปรับตัวและรวมไปถึงการใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย คนรุ่นใหม่รวมถึงพวกเราจะต้องพูดเรื่องความเท่าเทียมและเรื่องสิทธิมนุษยชนเพื่อทำให้มุมมองของคนในสังคมเปลี่ยนไปกับผู้ต้องขัง

เรื่องสำคัญที่อยากพูด ผมพูดในฐานะที่เป็นนักกฏหมายสิทธิ สิทธิของการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกระบวนการฝากขังบ้านเราแย่มาก ไม่มีทนายเข้าไปให้คำปรึกษา ไม่มีทนายไปให้สิทธิบอกสิทธิของเขาว่าควรทำอะไรได้หรือไม่ได้”

ถ้าไม่มีตัวกลางที่เป็นทนาย โอกาสที่จะสื่อสารแทบจะไม่มี การกระทำของเรือนจำมันจึงไม่ถูกตรวจสอบ มันมีหลายครั้งที่ผู้ต้องขังร้องเรียนและไม่ถูกตรวจสอบอย่างจริงจัง หลังจากที่มีผู้ต้องขังทางการเมืองเข้าไปในเรือนจำทำให้ภาพเรือนจำออกมาสู่สาธารณะมากขึ้น เรารู้ว่ามีโควิดระบาดในเรือนจำก็เพราะพวกผมเข้าไปติดในเรือนจำ สมมติมีการทำร้ายกันมันก็ไม่มีข่าวออกมาเรื่องก็เงียบ

ผมติดคุกมาหลายครั้ง ครั้งล่าสุดเป็นคุณูปการของการสื่อสารของคนข้างในระดับหนึ่ง เรือนจำเกิดการปรับตัวเยอะขึ้น เรื่องง่าย ๆ ช้อนยังต้องเวียนกันใช้ไม่มีช้อนประจำตัว เรามีช้อนประจำตัวทุกคนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพราะไผ่ ดาวดิน ส่วนอาหารดีขึ้นมาหน่อย หรือเรื่องการรักษาพยาบาลหมอเข้ามาอาทิตย์ละครั้ง ดังนั้นการทำให้เรือนจำเป็นที่เปิด เข้าถึงได้ วิจารณ์ได้ จับต้องได้ ให้คนสามารถเข้าไปเห็นได้ มันทำให้เรือนจำต้องปรับตัว การที่มีผู้ต้องขังทางการเมืองเข้าไปมันทำให้ดินแดนสนธยานี้ปรับตัว

 

 

หลักการความเป็นส่วนตัว และคืนสิทธิการประกันตัวให้กับพวกเขา

8.png

ทนายเมย์  พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ให้ภาพของสถานการณ์ผู้ต้องขังทางการเมืองที่อยู่ในเรือนจำ ปัจจุบันผู้ต้องขังทางการเมืองอยู่ระหว่างการขังการพิจารณคดีมี 23 คน (ข้อมูลเมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม 2565) ที่คดียังไม่สิ้นสุดมี 20 คน อยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นผู้ชายมี 2 คน ที่อยู่ทัณฑสถานหญิงกลางมีบุ้งกับใบปอ และเป็นพลทหาร 1 คน อยู่มณฑลทหารบกที่ 11  อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารโดนดำเนินคดี 112  ณ ตอนนี้ใน 23 คน กลุ่มคนที่อดอาหารเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวมี 3 คน ผักบุ้ง ใบปอ ธีรวิทย์ อีก 4 คน มีสภาวะความเสี่ยงเรื่องของจิตใจและพยายามฆ่าตัวตาย       พลพล ที่ทานยาเกินขนาดทานยาพาราไป 60 กว่าเม็ด มีอีก 3 คนที่พยายามกรีดแขนด้วยฝาปลากระป๋อง และมี 7 คนที่กลับมาติดโควิดต้องเข้าไปรักษาในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์

เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ฯ เป็นเรือนจำขนาดใหญ่ โดยหลักการแล้วทนายความต้องสามารถสื่อสารกับลูกความเป็นการส่วนตัวได้ แต่ในเรือนจำไม่มีทางเป็นส่วนตัวเพราะเราต้องสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์หรือไลน์ (ในสถานการณ์โควิด) ซึ่งเจ้าหน้าที่เคยแทรกเข้ามาและมาอธิบาย ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าสิทธิในการพบทนายเป็นการส่วนตัวไม่เกิดขึ้นจริง ราชทัณฑ์เคยแถลงหรือชี้แจงว่าไม่มีการดักฟัง เพียงแต่ทนายไม่เคยขอคุยเป็นส่วนตัว ซึ่งจริง ๆ ทนายไม่จำเป็นต้องขอคุยกับผู้ต้องขังเป็นการส่วนตัว แต่ตามหลักการคือต้องมีความเป็นส่วนตัว

การเขียนจดหมายนั้น หลาย ๆ เรือนจำมีการจำกัดจำนวนบรรทัดด้วย มีอยู่วันหนึ่งเราได้รับจดหมายจากคุณเวหาส่งมาวันเดียวกัน 3 ฉบับ และส่งให้ 3 คน เราก็สงสัยพอเรามานั่งอ่านรวมกันจึงคิดว่า เพราะทางเรือนจำจำกัดบรรทัดในการเขียน ห้ามเขียนยาวไม่เกิน 15 บรรทัด อาทิตย์หนึ่งไม่เกิน 3 ฉบับ ในเรือนจำหญิงมีข้อสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ตรวจสอบกระทั่งว่าห้ามเขียนขอเงินญาติ หรือเล่าเรื่องไม่ดีของเรือนจำ

นอกจากนี้ทนายเมย์ยังได้เล่าอาการของผักบุ้งและใบปอที่เข้าขั้นวิกฤต และยังไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว

เรื่องการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ผักบุ้งแทบจะวิกฤตแล้ว ตอนที่ไปถึงโรงพยาบาลคือมีภาวะเจ็บหน้าอกและแสบท้อง หมอบอกว่าน่าจะมาจากโพแทสเซียมต่ำ มาช้ากว่านี้กล้ามเนื้อหัวใจก็อาจจะวายหรือตายได้ และเขายังอดอาหารต่อเนื่อง และยังไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว และยังต้องกลับเข้ามาอยู่ในเรือนจำอีก ใบปอในช่วงแรกพยายามดื่มน้ำหรือนมบ้างแต่             2 อาทิตย์ที่ผ่านมาดื่มแต่น้ำเปล่า และมีเรื่องทัศนคติกับแพทย์ก็ยิ่งไม่ปฏิเสธการรักษาพยาบาล ยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้นอย่างในช่วงเดือนนี้ที่มีวันหยุดเยอะ เพราะเขาบอกว่ามันเกิดอะไรขึ้นก็ได้ เราได้วันหยุดเราดีใจ แต่สำหรับคนในเรือนจำช่วงวันหยุดของเขามันยาวนานมาก เพราะเขาไม่ได้เจอใคร   

ตอนนี้ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์จัดผู้ต้องขังเป็นผู้ป่วยจิตเภท คน ทนายที่ไปเยี่ยมบอกว่านอกจากกินยาพาราแล้วเขายังเอาหัวโขกกับผนัง เขายังมีความคิดอยู่ว่ามีโอกาสเมื่อไหร่เขาก็จะทำ ซึ่งมีภาวะเสี่ยงมาก

 

ข้อเสนอที่มีต่อคนในสังคม กระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์

อาจารย์กฤตยา อาชวนิจกุล

  • ปรับระบบวิธีคิดของคนในสังคม ที่มีมายาคติต่อผู้ต้องขัง อาทิ การที่สังคมไทยมองผู้ต้องขังเพื่อมุ่งเป็นการแก้เเค้นในสิ่งที่เขากระทำผิด เป็นการลงโทษ แต่ต้องมีวิธีคิดใหม่ว่าการเป็นผู้ต้องขังเป็นเพียงสถานะชั่วคราว วันหนึ่งพวกเขาก็จะได้พ้นโทษมาจากเรือนจำ
  • กรมราชทัณฑ์ ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังโดยมุ้งเน้นแก้ไขและฟื้นฟูอย่างจริงจัง เพื่อทำให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษสามารถปรับตัวใช้ชีวิตได้จริงในสังคม 
  • การยกเลิกกฎกติกาแบบเจ้าขุนมูลนาย อาทิ การที่มีเจ้าหน้าที่เดินผ่านต้องคลานเข่าหรือทรุดตัวลงต่อเจ้าหน้าที่ กฎกติกาเหล่านี้ต้องถูกยกเลิก เพราะเจ้าหน้าที่ต้องมีมุมมองว่าผู้ต้องขังเป็นมนุษย์เท่ากับคนอื่น  

แหวน ณัฏฐธิดา มีวังปลา

  • เรียกร้องให้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ปฏิบัติตามพันธกรณีอย่างจริงใจ โดยเฉพาะในประเด็นการคืนสิทธิในการประกันตัวแก่ผู้ต้องหาในระหว่างพิจารณาคดี เพราะตามหลักการต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องปฏิบัติกับผู้ต้องขังทุกคนอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังทุกคน
  • กระทรวงยุติธรรมต้องให้ผู้ต้องขังในเรือนจำทุกคนได้รับข้อมูลข่าวสารที่อัปเดตสถานการณ์ปัจจุบันอย่างครบถ้วน และรวดเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดแมนเดลา 

ทนายอานนท์ นำภา

  • คนในสังคมต้องมีมุมมองว่าคนทุกคนนั้นเท่าเทียมกันและมีหลักสิทธิมนุษยชนเดียวกัน ซึ่งจำเป็นจะต้องผลักดันให้เรื่องสิทธิความเท่าเทียมที่เราเรียกร้องถูกพูดถึงในกว้าง โดยเฉพาะการพูดถึงสิทธิของผู้ต้องขังในเรือนจำ  
  • ส่งเสริมให้รัฐมนตรี และกลุ่มผู้บริหารงานในเรือนจำ มีความก้าวหน้าและปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ อาทิ การให้สิทธิการประกันตัวแก่นักโทษในระหว่างพิจารณาคดีเพื่อเป็นการลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ต้องปฏิบัติกับผู้ต้องขังโดยเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 
  • ทำให้เรือนจำเป็นพื้นที่เปิดที่สามารถตรวจสอบได้ ไม่ทำให้เป็นดินแดนสนธยา เพื่อลดการใช้อำนาจนอกกระบวนการยุติธรรมโดยเจ้าหน้าที่ และเพื่อลดอำนาจของนักโทษบางกลุ่มที่ใช้อิทธิพลโดยมิชอบ 

ทนายเมย์ พูนสุข พูนสุขเจริญ

  • รัฐไทยต้องลงนามในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาการต่อต้านการทรมานอีกหนึ่งฉบับที่เรายังไม่ได้ลงนาม หรือที่เรียกว่า CAT (อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี) 

หลังการลงนามในพิธีสารแล้วจะมีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการที่เรียกว่า NPM (National Prevention Mechanism) ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นกลไกอิสระตรวจสอบสถานที่คุมขังต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทรมาน รวมไปถึงสภาพของเรือนจำที่คุมขังต้องเคารพศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์  



[1] ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์กรสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners) (ข้อกำหนดแมนเดลา-Mandela Rules)