คนทำงานเพื่อสังคมกับการไร้ที่ยืนในอาเซียน

17 พฤศจิกายน 2560

เรื่อง: วิภาณี ชำนาญไพสณฑ์ 
เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายและรณรงค์
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ตั้งแต่วันที่ 4 ถึง 13 พฤศจิกายน 2560 หรือ 11 วันเต็ม ทีมงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้เดินทางไปร่วมงาน ASEAN Youth Forum และ ASEAN Civil Society Conference/ASEAN People Forum ซึ่งปีนี้ที่จัดขึ้นที่กรุงมะนิลาของฟิลิปินส์ โดยพวกเราได้ร่วมจัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด ความรู้ และประสบการณ์กับผู้ที่สนใจงานด้านสิทธิมนุษยชนหลายกิจกรรมด้วยกัน

 

พวกเราได้จัดเวิร์กช็อปให้กับเยาวชนอาเซียนเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ ของเยาวชน(Youth Defending Human Rights and Freedom) ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 40 คนจากทั่วภูมิภาคอาเซียนโดยหวังว่าบทเรียนจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยของเราจะเป็นประโยชน์ต่ออาเซียนไม่มากก็น้อย ตลอดจนสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในการเคลื่อนไหวเพื่อสังคมในทุกประเทศ

 

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ประเทศไทยยังได้หยิบยกกรณี ‘พูดเพื่อเสรีภาพ’ มาพูดคุยกับประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นกรณีที่นักศึกษา นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิที่ดิน และทนายความสิทธิมนุษยชนรวมแปดคนถูกสั่งฟ้องต่อศาลทหารจังหวัดขอนแก่น หลังจากจัดการพูดคุยอภิปรายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญไทยทีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา เนื่องจากขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 3/2558 ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองมากกว่าห้าคน

 809.JPG

 

กรณีการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกดังกล่าวเป็นที่สนใจของเยาวชนและภาคประชาสังคมอาเซียนจำนวนมาก หลายคนสนใจร่วมลงชื่อกับเราในจดหมายปฎิบัติการด่วนเพื่อเรียกร้องให้ทางการไทยยุติข้อกล่าวหาต่อบุคคลทั้งแปด ยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร ตลอดจนให้คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมอย่างสงบของประชาชนด้วย

 

นอกเหนือจากการลงชื่อแล้ว พวกเรายังมีกิจกรรมให้ผู้ที่สนใจร่วมแสดงพลังอีกเล็กน้อย คือการถ่ายรูปกับข้อความคัดค้านการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารในประเทศไทย เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากลอย่างร้ายแรง ซึ่งหนึ่งในผู้เข้าร่วมคือ ‘โกรเวอร์ โจเซฟ รีส’ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำติมอร์-เลสเต ซึ่งเข้ามาร่วมถ่ายรูปพร้อมลงชื่อเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของพวกเรา

 810.JPG

 

กิจกรรมของแอมเนสตี้ประเทศไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับกิจกรรมของภาคประชาสังคมทั่วอาเซียน เพราะหัวข้อหลักของ ASEAN Youth Forum และ ASEAN Civil Society Conference/ASEAN People Forum ในปีนี้คือ ‘พื้นที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมที่กำลังหดตัวลง’ (Shrinking of Civic Space) ซึ่งเป็นสถานการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วภูมิภาค การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกในไทย การคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม การปราบปรามผู้เห็นต่างกับรัฐบาลในกัมพูชา การเข่นฆ่ากลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา สงครามยาเสพติดในฟิลลิปินส์ การจับกุมศิลปินในสิงคโปร์ ไปจนถึงการล้างบางผู้มีความหลากหลายทางเพศในอินโดนีเซีย และอื่นๆ อีกมากมายที่เพื่อนๆ ภาคประชาสังคมต่างนำมาพูดคุยกันตลอดงาน

 

การจะปลดล็อกปัญหาสิทธิเสรีภาพจึงดูเหมือนไม่ใช่ภารกิจของคนประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป หากแต่เป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนในฐานะพลเมืองอาเซียนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังและเข้มแข็งมากขึ้น การละเมิดสิทธิมนุษชนเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการเพิกเฉยต่อการคุกคามพิ้นที่ภาคประชาสังคมแม้ในประเทศใดประเทศหนึ่งย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างถึงระดับภูมิภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

 

สิทธิมนุษยชนในอาเซียนสามารถพัฒนาได้ และการรวมตัวของพวกเราในงานนี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าภาคประชาสังคมทุกประเทศจะทำงานร่วมกันอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อสังคมอาเซียนที่เคารพสิทธิมนุษยชน เปิดกว้าง เท่าเทียม และยุติธรรมมากขึ้นในอนาคต