ใช้ชีวิตเป็นชาวเน็ตอย่างปลอดภัยช่วงวิกฤตโรคโควิด-19 

21 เมษายน 2563

Amnesty International

ในขณะที่คนจำนวนมากในโลกอยู่ในช่วงล็อคดาวน์ เนื่องจากการระบาดของโคโรนาไวรัส พวกเราหลายคนต้องพึ่งพาโทรศัพท์ โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อเชื่อมโยงกัน ในขณะที่การสอดแนมทางไซเบอร์เป็นภัยคุกคามอย่างยาวนานต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและบุคคลอื่น ๆ สภาพการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ย่อมทำให้ทางเลือกด้านความมั่นคงปลอดภัยทางกายภาพน้อยลงอย่างมาก (รวมทั้งการสื่อสารข้อมูลที่ละเอียดอ่อนโดยตรงกับบุคคล แทนที่จะติดต่อทางอินเตอร์เน็ต) ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน อาจหมายถึงว่าทุกคนต้องเจอกับการโจมตีทางไซเบอร์และนักต้มตุ๋นทางอินเตอร์เน็ตที่จ้องใช้ประโยชน์จากช่วงโรคระบาดนี้มากขึ้น ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำหกประการ เพื่อให้สามารถใช้เน็ตอย่างปลอดภัย 

 

1. อัพเดทโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ และแอพ 

เครื่องมือและโปรแกรมที่ใช้สื่อสารทางอินเตอร์เน็ต ควรได้รับการอัพเดทเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงจากการโจมตี บราวเซอร์ส่วนใหญ่สามารถอัพเดทตัวเองโดยอัตโนมัติ แต่ให้ระวังแอพที่ใช้ในการอ่านเอกสารหรือดูภาพและวีดีโอทางออนไลน์

หากคุณยังใช้แอพเหล่านี้ในเวอร์ชันเก่า มีความเสี่ยงว่าจะมีช่องโหว่ ทำให้อุปกรณ์เสี่ยงต่อการถูกโจมตี 

“คุณอาจดาวน์โหลดไฟล์จากอินเตอร์เน็ต และไฟล์นี้อาจใช้ประโยชน์จากช่องโหว่เหล่านี้ ซึ่งมักเป็นวิธีการที่บุคคลถูกโจมตีทางเน็ต”

เอเตียน เมย์เนีย นักวิจัยด้านความมั่นคงปลอดภัย แอมเนสตี้เทคกล่าว และให้เลือกใช้ซอฟต์แวร์ที่น่าเชื่อถือจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น จากแอพสโตร์หรือกูเกิลเพลย์ 

  

 

2. คิดก่อนคลิก 

นักต้มตุ๋นแบบฟิชชิง มักใช้ประโยชน์จากความกลัวและความไม่มั่นใจ รวมทั้งสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ด้วย อีเมล์หรือข้อความสั้นที่เสนอข้อมูลใหม่เกี่ยวกับไวรัสตัวนี้ อาจมาพร้อมกับมัลแวร์ในลิงก์และในเอกสารแนบ ซึ่งมักเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์วิศวกรรมทางสังคมที่นักต้มตุ๋นใช้ เพื่อล่อบุคคลให้คลิกเข้าไปในลิงก์ซึ่งเข้าใจว่าจะให้ข้อมูลยามฉุกเฉิน 

“ถ้าการโจมตีแบบฟิชชิงมาจากพวกอาชญากรไซเบอร์ พวกเขามักต้องการเข้าถึงอุปกรณ์เพื่อขโมยข้อมูลการเงิน ทั้งยังอาจปล่อยแรนซัมแวร์เพื่อล็อคอุปกรณ์ และเรียกเงินหากต้องการให้พวกเขาปลอดล็อค”

เมย์เนียกล่าว 

หากคุณไม่รู้จักคนที่ส่งข้อมูลมา หรือไม่คุ้นเคยกับหน่วยงานที่ส่งอีเมล์หรือข้อความ อย่าคลิกลิงก์หรือเปิดเอกสารแนบ

และให้ตรวจสอบความผิดปรกติในข้อความที่ถูกส่งมา โดยมักจะมีการสะกดคำผิด หรือมักจะเขียนด้วยข้อความราวกับว่าเป็นข้อมูลที่ถูกส่งมาจากหน่วยงานที่คุณรู้จัก แต่ถ้าคุณไม่แน่ใจว่าเป็นข้อความจริงหรือไม่ ให้ไปที่เว็บไซต์นั้น แทนที่จะเปิดอ่านเอกสารที่แนบมากับอีเมล์ 

 

 

3. คุ้มครองความเป็นส่วนตัว

ยิ่งใช้เวลาออนไลน์มากเท่าไร ก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อข้อมูลส่วนตัวมากเท่านั้น ถึงเวลาที่เราควรมาตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว 

“คุณสามารถจำกัดข้อมูลมากมายที่กูเกิลรวบรวมไป เช่น ข้อมูลตำแหน่งที่ตั้ง และประวัติการค้นหาข้อมูล โดยการปิดออพชันเหล่านี้ในบัญชีกูเกิลของคุณ” เมย์เนียกล่าว “คุณแทบไม่สามารถควบคุมข้อมูลที่เฟซบุ๊กรวบรวมได้ แต่อย่างน้อยคุณสามารถควบคุมสิ่งที่คนอื่นเห็น” เขากล่าวเสริม 

กูเกิลและเฟซบุ๊ก แทร็กข้อมูลอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน มีการติดตามสอดส่องชีวิตออนไลน์ของเราตลอด อาจถึงเวลาแล้วที่เราต้องทดลองใช้บริการที่ไม่ได้เป็นของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของโลก แอพรับส่งข้อความอย่าง Signal เป็นทางเลือกที่ไม่แสวงหากำไร แทนที่จะต้องใช้วอทส์แอพของเฟซบุ๊ก เพราะสามารถรับส่งข้อความที่เข้ารหัสแบบเอ็นด์ทูเอ็นด์ และเก็บเมตะดาต้าน้อยกว่า 

 

Sébastien Thibault

 

4. คุยผ่านวิดีโอคอลล์อย่างปลอดภัย

การคุยผ่านวิดีโอคอลล์เพิ่มขึ้นอย่างมากในยุคโรคระบาด เพื่อนร่วมงาน ญาติพี่น้อง และเพื่อนของคุณได้หันไปใช้แอพที่ทำให้สามารถโทรคุยแบบกลุ่มได้ มีการตั้งคำถามว่าแล้วแอพเหล่านี้ปลอดภัยเพียงใด Zoom ต้องออกมาถอนคำพูดที่บอกว่าเป็นแอพที่ เข้ารหัส แบบเอ็นด์ทูเอ็นด์ ในขณะที่ไต้หวันสั่งห้ามหน่วยงานของรัฐใช้ซูมด้วยเหตุผลด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย

เราอาจทดลองใช้ทางเลือกที่แสวงหาประโยชน์น้อยกว่าอย่างแอพที่เป็นโอเพนซอร์ส Jitsi Meetซึ่งไม่บังคับให้ต้องดาวน์โหลดซอฟต์แวร์มาลง หรือไม่บังคับให้ต้องสร้างบัญชี สำหรับการพูดคุยในกลุ่มย่อย อาจปลอดภัยกว่าที่จะใช้แอพที่มีการเข้ารหัสแบบเอ็นด์ทูเอ็นด์ เช่น Signal, WhatsApp หรือ Wire

 

 

5. ยกเลิกบัญชีที่ไม่ใช้แล้ว

ยกเลิกบัญชีที่คุณเลิกใช้แล้วเพื่อลดความเสี่ยงด้านข้อมูล “การกำจัดบัญชีเหล่านี้ จะช่วยลดข้อมูลที่เปิดเผยของคุณ และลดความเสี่ยงต่อความเป็นส่วนตัว” เมย์เนียกล่าว 

อาจรวมถึงการติดตั้งซอฟต์แวร์เพื่อจัดการกับพาสเวิร์ด เป็นซอฟต์แวร์ที่เก็บข้อมูลพาสเวิร์ดทั้งหมดแบบเข้ารหัส และสร้างพาสเวิร์ดใหม่ที่ยากต่อการคาดเดาได้ ทดลองใช้ KeePassXC ซึ่งเป็นแอพแบบโอเพนซอร์สและออฟไลน์ นอกจากนี้ยังมีบริการออนไลน์เชิงพาณิชย์ด้วย เช่น LastPass และ 1Password ซึ่งให้บริการแบบไม่มีค่าใช้จ่าย 

 

 

6. ตระหนักถึง Infodemic

นอกจากการปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของคุณเองแล้ว ยังควรเรียนรู้ที่จะจัดการกับข้อมูลปริมาณมหาศาลที่ถาโถมเข้ามา ในขณะที่เราท่องเน็ตเพื่อค้นหาคำตอบเกี่ยวกับโรคระบาด 

ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์เร่งรีบทำความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัส ทำให้มีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ และการจงใจบิดเบือนข้อมูลมากมายในอินเตอร์เน็ต เป็นข้อมูลเกี่ยวกับทุกอย่างตั้งแต่การอ้างว่ามียารักษาไวรัส ไปจนถึงข้ออ้างว่าเทคโนโลยี 5G เกี่ยวข้องกับการระบาดครั้งนี้ 

ให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลที่ได้รับ และตรวจสอบความถูกต้องเมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออื่น ๆ ในปัจจุบันสำนักข่าวใหญ่ ๆ บางแห่งมีทีมงานเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และมักส่งข้อความแจ้งเตือนเพื่อเปิดโปงเรื่องเท็จที่มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางในเน็ต องค์การอนามัยโลกก็มีหน้าเพจ เปิดโปงข่าวปลอมเกี่ยวกับโรคโควิด

บริษัทอย่างกูเกิลและเฟซบุ๊กบอกว่า ดำเนินการเพื่อต่อต้านการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ แต่ให้ระวังว่ารัฐบาลประเทศต่าง ๆ อาจฉวยโอกาสอ้างว่าข้อมูลเป็น “ข่าวปลอม” เพื่อปราบปรามคนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างชอบด้วยกฎหมาย 

“ข่าวลือและข้อมูลที่ปราศจากมูลความจริงอาจแพร่กระจายอย่างกว้างขวางในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพ” เมย์เนียกล่าว “เราไม่ควรเพิ่มความทุกข์ให้กับตัวเราเองและคนอื่นด้วยการแชร์ข้อมูลเท็จเหล่านี้”

ที่สำคัญสุด สิ่งที่เราต้องทำเพื่อให้ใช้เน็ตได้อย่างปลอดภัยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต คือการสนับสนุนสิทธิด้านดิจิทัล รัฐบาลและบริษัททั่วโลกต่างแข่งขันกันสร้างเครื่องมือสอดแนมข้อมูลที่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรับมือกับโรคระบาด เครื่องมือบางอย่างอาจช่วยชีวิตคนได้ แต่บางอย่างก็อาจเป็นอันตรายต่อความเป็นส่วนตัวและสิทธิมนุษยชน โดยอาจเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราในอนาคตได้ ถึงเวลาที่ต้องร่วมมือกัน ไม่เพียงเพื่อดูแลตัวเราเอง หากยังช่วยให้การใช้สิทธิมนุษยชนออนไลน์สามารถรอดชีวิตจากโรคระบาดนี้ได้  

 

ความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัล