ยุติการทรมาน - อุ้มหาย กับเส้นทางของกฎหมายที่ยังต้องสู้ต่อ

21 กันยายน 2564

Amnesty International Thailand

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดการอภิปรายร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายทั้งสี่ฉบับ ในช่วงเย็นของวันนั้น เราได้เห็นเหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากหลากหลายพรรคการเมืองร่วมพูดชื่อของผู้ที่ถูกทรมาน และผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายในสภา 

 

แม้ในช่วงบ่ายของวันที่ 16 กันยายน 2564 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ….ทั้ง 4 ฉบับ โดยถือร่างที่นำเสนอโดยกระทรวงยุติธรรมเป็นหลัก และตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณาปรับปรุงเพื่อเสนอให้พิจารณาวาระ 2 และ 3 ต่อไป โดยหวังว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยหน้า ซึ่งจะมีในเดือนพฤศจิกายน วันนี้ เราจึงขอชวนคุณมาย้อนอ่านเรื่องราวจากการพูดคุยในคลับเฮาส์เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา 



รอคอย - ความหวัง - ส่งต่อ เรื่องราวที่หายไปผ่านสายตาของสื่อมวลชน

วิญญู วงศ์สุรวัฒน์  กล่าวว่า ในฐานะสื่ออิสระ ตลอดเวลาสิบสี่ปีที่ผ่านมา เขาได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้ที่ชวนให้สะเทือนใจอยู่เสมอ การเดินทางของสถานการณ์เรื่องการทรมานและบังคับให้สูญหายในประเทศไทย ดำเนินผ่านเส้นทางของกาลเวลาอย่างเงียบ ๆ ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมามักมีเรื่องราวของกรณีเหล่านี้ปรากฏอยู่ในสื่ออยู่เสมอ  

 

 

เช่นเดียวกับพรทิพย์ โม่งใหญ่ ที่ได้ลงพื้นที่ไปทำสารคดีเกี่ยวข้องกับครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย เธอกล่าวว่า กฎหมายที่จะออกมาคืนความยุติธรรมให้พวกเขาฉบับนี้ มีการเดินทางมานานนับสิบปี แต่ถูกดึงขึ้นดึงลงมาตลอดโดยปราศจากการคำนึงถึงครอบครัวของคนที่สูญหายไป 

 

“เจี๊ยบได้คุยกับครอบครัวชื่นจิตร หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมานเพื่อบังคับให้สารภาพโดยตำรวจ และพบว่าการดึงขึ้นดึงลงของกฎหมายเช่นนี้ มันทำให้ความรู้สึกของพวกเขาจมดิ่ง ความทรมานกลับจมลงไปใต้ดิน จนแทบไม่เหลือเส้นทางที่ทำให้เขาได้มาซึ่งความยุติธรรมให้กับครอบครัว” 

 

เธอได้เล่าว่า ในการลงพื้นที่เพื่อทำสารคดี พรทิพย์ได้ไปพบกับสี่ครอบครัวในบริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รอคอยความยุติธรรมมากว่าสิบเจ็ดปี ทั้งจากเหตุการณ์ความไม่สงบ การอุ้มหาย ที่ไม่ได้รับการเยียวยา 

 

“พวกเขาต้องถูกตีตราว่าเป็นลูกโจร เมียโจร ไม่กล้าไปพบใคร ในหลาย ๆ เหตุการณ์ที่คนในครอบครัวถูกบังคับให้สูญหายนั้นแทบจะไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงเลย ว่าพวกเขาเป็นสมาชิกของผู้ก่อการร้าย โดยการอุ้มหายหรือซ้อมทรมานมันจะอยู่ในขั้นตอนของการสอบสวนเพื่อหาหลักฐานหรือพยานที่จะเชื่อมโยง ซึ่งหากพิจารณาตามลำดับกฎหมายแล้ว พวกเขายังเป็นผู้บริสุทธิอยู่ ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่สามารถปรักปรำ อุ้มหาย หรือซ้อม หรือปรักปรำว่าเขาเป็นโจรได้โดยเด็ดขาด

“สิ่งที่อยากสะท้อนคือ ครอบครัวทั้งสี่ครอบครัวต้องเผชิญกับความเจ็บช้ำมาตลอดสิบกว่าปี ทำให้เขาไม่ค่อยวางใจคนภายนอก เพราะเราแทบจะทวงหาความยุติธรรมไม่เคยได้เลย และเขาได้บอกกับเจี๊ยบว่า ‘ขอบคุณนะที่มารับฟัง และทำให้มะไม่รู้สึกถูกทิ้งหรือถูกลืม’  

“ก่อนหน้านี้หลายครอบครัวมาที่กรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือ แต่เรื่องราวกลับเงียบไป มีแม่คนหนึ่งที่รอลูกชายกลับบ้านมาสิบห้าปี แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลให้ถอดรายชื่อออกจากครอบครัวที่ถูกบังคับให้สูญหายจากการเรียกร้องกับองค์การสหประชาชาติ เพื่อลดลำดับหรือลดตัวเลขลง

พ.ร.บ.นี้ จึงเสมือนเป็นเหมือนยาที่จะช่วยเยียวยารักษาบาดแผล แม้ว่าบางครอบครัวที่สูญหายเป็นแผลเป็นแล้ว แต่ยานั้นอาจทำให้แผลเป็นนั้นรอยตื้นขึ้น และที่สำคัญ ร่างพ.ร.บนี้ จะเป็นวัคซีนให้หลาย ๆ ครอบครัวเพื่อไม่ให้เกิดการทรมานหรืออุ้มหายกับครอบครัวไหนอีก”

 

สื่อมวลชนจึงมีบทบาทสำคัญ ในการส่งเสียงให้สภาผู้แทนราษฎรได้รับรู้ว่าการตีตกร่างกฎหมายคือการเล่นกับความรู้สึกของครอบครัวผู้สูญหายและผู้ถูกซ้อมทรมาน 

 

“การออกมาเรียกร้องให้ไทยเป็นประชาธิปไตยจริงๆ เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง ที่เราต้องช่วยกันผลักดัน ถ้าอยากให้กฎหมายนี้ผ่านและมีประสิทธิภาพ เกิดการตื่นตัวในสังคม นำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงจริง ๆ ผมว่าประเทศไทยต้องเป็นประชาธิปไตย รวมถึงผมเชื่อว่าโลกโซเชียลจะทำให้คนเห็นปัญหาเหล่านี้ได้มากยิ่งขึ้น เพราะการที่เราสามารถเผยแพร่ข้อมูลมันช่วยเราได้มาก แต่ถ้ามันไม่มีการกระทำเพื่อเรียกร้องให้มากขึ้นกว่านี้ มันก็จะอยู่แค่ในอินเตอร์เน็ต ผมจึงหวังว่าคนจะให้ความจริงใจและหยิบยกมันขึ้นมาพูดให้มากกว่านี้” วิญญูกล่าว




 

การเดินทางของกฎหมาย กับไฟแห่งการทรมานที่ไม่เคยมอดดับ

 

 

แม้กรณีต่าง ๆ จะปรากฏขึ้นตามหน้าข่าว ทว่าไม่มีครั้งใดที่ภาพจะปรากฎชัดเท่ากรณีคลิปวิดิโอการคลุมถุงดำจนผู้ต้องหาเสียชีวิตในจังหวัดนครสวรรค์ ในกรณีนี้ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ให้ความคิดเห็นว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะนี้ เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในเหตุการณ์ที่รวมไปถึงขั้นตอนการจับกุม และควบคุมตัวโดยกฎหมายพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายยาเสพติด กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ พรก.ฉุกเฉิน ฯลฯ 

 

“มีขั้นตอนที่ประชาชนหรือเยาวชนเสี่ยงต่อการทรมานและควบคุมตัวโดยมิชอบ และอาจพลาดพลั้งจนเกิดการขาดอากาศหายใจ เสี่ยงต่อการเสียชีวิต ทำให้เกิดการซ่อนศพหรือทำลายศพ และหลายครั้งการอุ้มหายเกิดขึ้นกับนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม ผู้ที่มีความเห็นต่าง หรือที่มีรายงานว่าผู้ลี้ภัยทางการเมือง รวมถึงผู้ทำกิจกรรมทางการเมือง ส่งผลให้เกิดต่อความเสี่ยง ถูกเรียกตัว ติดตามตัวไปต่างประเทศ เช่นหลังการรัฐประหารโดยคสช. ได้เกิดการหายไปของนักกิจกรรมทางการเมืองที่ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านรวมแล้ว 9 กรณี รวมถึงกรณีของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่เพิ่งครบรอบหนึ่งปี สี่เดือนได้ไม่นาน 

 

สถานการณ์เหล่านี้ทำให้ประเทศไทยถูกจับจ้องโดยพันธมิตรที่เราเรียกว่าประชาคมโลก พร้อมเกิดการตั้งคำถามว่า เมื่อไหร่ประเทศไทยจะทำให้การทรมาน เป็นความผิดทางอาญา 

 

“อันที่จริงแล้ว การทำร้ายร่างกายนั้นเป็นความผิดทางอาญาอยู่แล้ว เมื่อเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ ประชาชนก็สามารถดำเนินคดีทางอาญาได้ แต่เหตุของเรื่องคือมันต้องแจ้งความร้องทุกข์ หรือเรียกร้องให้องค์กรเดียวกันมาสืบสวนสอบสวนตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ ทำให้กฎหมายปกติไม่สามารถใช้ได้อย่างเพียงพอแล้ว  เพราะมันไม่สามารถปราบปรามและควบคุมการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐได้ พ.ร.บ. นี้จึงเกิดขึ้นมาหลังจากไทยไปประชุมที่กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ เมื่อปี 2556”

 

นั่นทำให้สถานการณ์ของการทรมานถูกรายงานเป็นครั้งแรกในปี 2556 นับเป็นเวลา 6 ปีหลังจากที่ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ซึ่งทั้งการทรมานและการบังคับให้สูญหายนั้น ไม่มีคำนิยามอยู่ในกฎหมายไทย  โดยในปีนั้น ได้มีการรายงานสถานการณ์ต่าง ๆ ไปยังองค์การสหประชาชาติ ว่ามีการทรมานเกิดขึ้นหรือเยียวยาผู้เสียหายหรือไม่”

 

โดยตลอดเวลา 12ปี การเดินทางของร่างพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับให้บุคคลสูญหาย ยังคงค้างอยู่ในระบบและถูกทบทวนหลายรอบ 

 

“ร่างฉบับที่เรากำลังพูดกันเป็นฉบับที่เกิดขึ้นหลังจากปี 2557 ริเริ่มโดย อดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ณรัชต์ เศวตนันทน์ ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้มีการนำกฎหมายความผิดทางอาญาทั้งสองข้อหาดังกล่าวที่ไทยยังไม่มี มารวมเป็นฉบับเดียว กลายเป็นพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ร่างฉบับนี้ได้เข้าไปพิจารณาโดยสำนักงานกฤษฎีกาแล้ว จากนั้นก็ถูกตัดออก อาจจะไม่สอดคล้องกับหลักการสากล ก็ถูกปรับแก้ และเพิ่มเติม 

“เมื่อภาคประชาสังคมทราบว่ามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งหลังคสช. แต่ยังพร้อมเชื่อมั่นในระบบสภา ก็เลยหยิบฉบับที่กระทรวงยุติธรรมร่าง มาปรับแก้และเสนอกมธ.ในสมัยที่ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน”

“อาจารย์ได้ให้คำมั่นกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นฉบับที่ชาวบ้านพึ่งพิงได้จริงๆ” พรเพ็ญย้ำ  “ในกรณีที่รัฐทำผิด ส่วนมากมันสืบสวนสอบสวนยาก อาจจะมีฎีกาหรือเจ้าหน้าที่รัฐโดนดำเนินคดีบ้าง แต่ต้องอาศัยความพยายามของผู้เสียหายและทนายความและต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน หากเรามีพ.ร.บ. ฉบับนี้ มันจึงจะช่วยเอื้อให้การสืบสวนเป็นอิสระมากขึ้น รวมถึงขยายนิยามให้ครอบคลุมถึงการอุ้มหาย เพราะสถานการณ์ ณ ตอนนี้ ถ้าเราไม่พบศพของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินคดีอาญาได้เลยโดยผู้เสียหายทั้งภรรยา บุตร ไม่สามารถเป็นโจทย์ร่วมได้”

 


 

ความสำคัญในเวทีโลก 

สัณหวรรณ ศรีสด ผู้แทนจากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists: ICJ) เล่าว่า การทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย เป็นอาชญากรรมสำคัญที่บันทึกอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ จากอนุสัญญาทั้งเก้าฉบับ เราจะพบว่ามีเรื่องของการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายอยู่ในนั้นไปแล้วสองฉบับ 

 

“ประเทศไทยเป็นสมาชิกของอนุสัญญาเหล่านี้ แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในไทย เราก็ต้องเผชิญปัญหากับกฎหมายภายในที่ออกมาไม่ได้สักที บางครั้งเหตุผลคือความไม่พร้อมของระบบต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่ประเทศที่ใกล้เคียงกันกับเราทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม สามารถออกกฎหมายภายในที่ป้องกันการทรมานและอุ้มหายได้ โดยใช้ถ้อยคำในกฎหมายที่ได้มาตรฐาน เช่น ฟิลิปปินส์ อาเจนติน่า ศรีลังกา แอฟริกาใต้ อาเซอร์ไบจาน อูกันดา

“ถึงในด้านการบังคับใช้กฎหมาย หลายประเทศนี้ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหา แต่อย่างน้อยเขาก็ได้ความสำเร็จก้าวที่หนึ่งมาแล้ว แต่ไทยยังไม่มีก้าวไหนเลยที่สำเร็จ” 

 

 

สัณหวรรณให้ความเห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายนั้นมีกระบวนการออกได้ยากมากหากไม่มีการผลักดันจากสังคม แต่จะออกง่ายขึ้นต่อเมื่อมีการเปลี่ยนผู้มีอำนาจ จากข้อสังเกตที่ว่าเป็นกฎหมายที่ลงโทษอาชญากรรมโดยรัฐ 

 

วัฒนธรรมการทรมานนั้นอยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนจากหลายประเทศ มีการคาบเกี่ยวในเรื่องของการคอรัปชัน และแรงกดดันในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ จากการสำรวจเราพบว่าเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลในการกระทำเหล่านั้นว่า เจ้าหน้าที่ได้ใช้การทรมานเนื่องจากได้รับแรงกดดันจากผู้บังคับบัญชาให้ไขคดีให้ได้ตรงตามเวลา พวกเขาต้องหาผู้กระทำผิดให้ได้ ทำให้มีการบังคับให้สารภาพในลักษณะเช่นนี้

 

“สิ่งที่น่ากลัวและสำคัญคือ วัฒนธรรมการทรมานที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าตนเองเป็นผู้เสียสละและมีความเชื่อว่าต้องยอมทำงานสกปรก เพื่อให้ได้คำสารภาพ และข้อเท็จจริง”



วัฒนธรรม - หลักสากล - กับคดีทางอาญาที่ไม่มีวันหมดอายุ 

การทำให้กรณีของการซ้อมทรมานและบังคับให้สูญหายกลายเป็นคดีอาญานั้น เป็นเรื่องสำคัญมาก จากความคิดเห็นโดยองค์การสหประชาชาติได้กล่าวว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้นไม่ควรกำหนดให้คดีมีอายุความ เพราะเป็นคดีที่ต้องสู้กับผู้มีอำนาจ  

 

สัณหวรรณ ศรีสด เสริมว่า สิ่งที่หายไปในร่างของรัฐบาล ซึ่งต่อมากลายเป็นหลักที่สภาผู้แทนราษฎรรับพิจารณา  คือเรื่องของการทำให้การอุ้มหายเป็นคดีต่อเนื่อง หมายความถึงว่า หากใครถูกอุ้มหายไป ไม่ว่าเป็นอดีตนานแค่ไหน แต่หากปัจจุบันไม่มีใครทราบชะตากรรมของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย นั่นแปลว่าผู้กระทำผิดก็ยังกระทำผิดอยู่เช่นนั้น ทำให้เราสามารถเอาผิดเรื่องราวในอดีตได้ 

 

“ปกติแล้วกฎหมายอาญาจะมีเรื่องไม่เอาโทษย้อนหลัง แต่การอุ้มหายมันร้ายแรงมากในต่างประเทศ นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ว่าทำไมกฎหมายเช่นนี้จึงออกตามหลักสากลได้ยาก เพราะมันแปลว่าคดีอุ้มหายในอดีตทั้งหมด จะต้องถูกดึงขึ้นมาพิจารณาทั้งหมด 

“ซึ่งนิยามว่าเป็นอาชญากรรมที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในร่างกฎหมายนี้เช่นกัน นี่คือสิ่งสำคัญ เพราะส่วนใหญ่คนก็จะบอกว่ามันไม่ใช่ทรมานโดยใช้เหตุผลทางเทคนิค มันก็ไม่มีอะไรมารองรับ การทำความผิด การละเมิดของจนท.รัฐ ปัญหาที่เกิดขึ้นในตัวร่างเป็นภาพกว้าง จึงมีการพยายามแก้ไขกฎหมายในภาคคู่ขนาน โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และภาคประชาสังคม”

 

 

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล อดีตบุคลากรตำรวจ ได้ให้ความคิดเห็นว่า เขาเห็นด้วยอย่างยิ่งหากเราจะมีกฎหมายดังกล่าวที่เป็นไปตามหลักสากล และมองว่ามันเป็นเหมือนยาวิเศษที่จะป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่อุ้มหายและทรมานผู้ใดก็ตามได้ 

 

เขามองว่าปัญหาที่แก้ไขได้ยากที่สุด คือวัฒนธรรมองค์กรของตำรวจ ที่นิยมการอยู่เป็นกลุ่ม และสั่งการตามสายงาน “ในโลกประชาธิปไตยเขาจะไม่เน้นว่าตำรวจจะต้องมีระบบโรงเรียนฝึกเหมือนทหาร เพราะจะทำให้ตำรวจกลายเป็นงานที่ขาดความเป็นประชาธิปไตย เช่นการตัดผมสั้น สวนสนาม หรือสั่งให้กลิ้งไปมา ที่เยอรมันเขาบอกว่านี่คือจุดเริ่มต้นเลยที่ตำรวจถูกละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเมื่อเขาฝึกด้วยระบบแบบนี้ เราสามารถอนุมานได้เลยว่ามันแปลว่าเขาจะละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อภาคประชาชน 

 

“การปฏิญาณตนว่าคำสั่งผู้บังคับบัญชาเป็นพรจากสวรรค์ มันไม่ได้บอกว่าคำสั่งนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย ตำรวจทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะเขาต้องทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน และจะทำให้ดุลพินิจของตำรวจที่จะสอดคล้องกับหลักสากลนั้นลดน้อยลงไปด้วย  

“ดังนั้นเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร จึงเป็นมิติสำคัญที่เรามองข้ามไปไม่ได้ และผมเองก็เชื่อว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วงป้องกันเจ้าหน้าที่ไม่ให้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีเจ้าหน้าที่กระทำเช่นนี้อีกเลย ถ้ายังไม่มีการปฏิรูปตำรวจ”

 

 

ด้านปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล  นักกิจกรรมเยาวชน ได้เสริมว่า ตอนมัธยมปลายเธอเองต้องเคยดูแลเพื่อนที่เรียนในโรงเรียนช่างฝีมือทหารเช่นเดียวกัน ที่ถูกซ่อม 

 

“มันเจ็บปวดมาก เขาเจ็บ หนูเองก็เจ็บปวด ตอนนั้นเราอายุแค่สิบหก แต่ทำไมต้องมาเจอการทรมานในระบบ ที่สู้อะไรไม่ได้เลยเพราะเป็นคำสั่งที่ได้รับมา หนูไม่รู้นะคะว่าในสังคมทหารมีหลักการอะไร แต่การทรมานคือการทำลายคนคนหนึ่ง และละเมิดสิทธิของเราอย่างชัดเจน 

“ตอนนี้เรามีกำลังมากพอแล้ว เราโตขึ้นแล้ว เราเองก็อยากจะเป็นอีกคนหนึ่งที่สนับสนุนให้พ.ร.บ.นี้ได้ดำเนินต่อไปได้ เพื่อวันหนึ่งมันจะถูกประกาศเป็นกฎหมาย”

 

เธอมองว่าแต่จำความได้ การเห็นข่าวแบบนี้มันไม่ได้แปลกเลยที่จะเห็นว่ามีคนโดนอุ้ม มันไม่แปลกเลยที่เห็นคนโดนซ้อม มันกลายเป็นเรื่องไม่แปลกไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่มันผิดปกติ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศของเรากำลังมืดมนอยู่จริง ๆ 

 

“กฎหมายนี้จะปกป้องทุกคนจากการกระทำอันเลวทรามนี้ได้ ถ้ามันถูกประกาศใช้ เราหวังว่าคนที่เป็นผู้กระทำในอดีต ของทุกคน ที่เคยถูกทรมานหรือครอบครัวของผู้สูญเสียหรือถูกอุ้มหาย จะต้องได้รับการลงโทษ และเราต้องประกาศอย่างชัดเจนว่าเราจะไม่ปล่อยไปในการเคลื่อนไหว สังคมต้องช่วยกันนำความจริงให้ปรากฎออกมา ให้คนที่ทำเขามาได้รับบทลงโทษให้ได้ ญาติเขาต้องได้รับการเยียวยาและดูแล เมื่อคนคนนี้หายไป”

 

 

 

 

เส้นทางที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง 

คู่ขนานไปกับการปฏิรูปตำรวจ ส่งเสียงจากภาคประชาชน และร่วมมือกันแก้กฎหมายจากภาคประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคืออีกหนึ่งเสียงสำคัญที่จะช่วยผลักดันทิศทางของกฎหมายฉบับนี้ให้เดินทางสู่เส้นชัยคือกฎหมายที่จะเป็นไปตามหลักสากล เพื่อปกป้องไม่ให้ใครถูกทรมานหรืออุ้มหายไปได้อีก 

 

 

ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติ กล่าวว่า เขาต้องการขอโอกาสให้ทุกคนได้รับความยุติธรรมกลับคืนมา 

 

“ในส่วนของร่างกระทรวงยุติธรรม ถึงคุณสัณหวรรณจะบอกว่ามันยังไม่สมบูรณ์ แต่ในมาตราหก ผมเองก็คิดว่ามันอาจจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยได้ นั่นคือการกล่าวว่า ‘ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทำการกักขัง ลักพาหรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้ผู้อื่นโดยปราศจากเสรีภาพทางร่างกาย โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิเสธ ว่าไม่กระทำดังกล่าว หรือปกปิดชะตากรรมของบุคคลที่นำไปให้ตกอยู่ในการคุ้มครองอำนาจกฎหมาย  ให้ถือว่าผู้นั้นทำผิดฐานทำให้บุคคลสูญหาย’ 

“อย่างไรก็ตามคำว่าอาชญากรรมนั้น ไม่ได้หมายความถึงเพียงแค่ผู้กระทำผิด แต่รวมถึงกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และบุคคลในกระบวนการยุติธรรมด้วย” พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า กมธ. ที่พิจารณากฎหมายฉบับนี้ควรมีจำนวนมากกว่า 25 คน 

 

 

มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ย้ำว่ากฎหมายนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เขาพบว่าผู้ต้องหาที่อยู่ในเรือนจำ ส่วนหนึ่งคือชาวบ้านที่ถูกคุมขังจากคดีป่าไม้ ผู้ถูกกักขังผ่านกระบวนการทรมาน และต้องพบเจอกับกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม 

 

“ผมเชื่อว่าเหตุการณ์ลักษณะที่เกิดขึ้นกับบิลลี่ มันเป็นเพียงกรณีตัวอย่างกรณีเดียวในพื้นที่ชายขอบ แต่มันยังมีอีกเยอะ ไม่ใช่แค่เรื่องอุ้มหาย แต่ในหลายพื้นที่ และหลายกรณี เกิดการทำร้ายร่างกายและการฆาตรกรรม เช่นกรณีคุณชัยภูมิ ป่าแส 

“เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ทั้งหมดต้องอาศัยกำลังทั้งจากนอกสภา และในสภาผู้แทนราษฎร ผมเห็นด้วยกับท่านทวี ว่ากมธ.นั้นควรมีจำนวนตั้งแต่ 35 คนขึ้นไป เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับภาคประชาชนให้มากขึ้น รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่นกรณีของประชาชนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และชนเผ่าพื้นเมือง” 

“ผมถือว่ามันเป็นความต้องการของพี่น้องประชาชนโดยแท้จริง ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนี้ และเป็นกฎหมายที่จำเป็นต้องมีในสถานการณ์ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อปกป้องและคุ้มครองพี่น้องประชาชน” อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ กล่าว 

“ผมเป็นทนายความในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำงานคดีช่วยเหลือในระดับหนึ่ง แม้ไม่ได้มาก แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือสภาพปัญหาของกฎหมายที่มีบังคับใช้ในสามจังหวัด  โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 47 ที่มีกฎหมายพิเศษ กฎอัยการศึก พรก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.ความมั่นคง แต่เราก็ยังเห็นสภาพกฎหมายที่มีการทรมาน บังคับให้ซักทอด ในฐานะนักกฎหมาย ในตอนนั้นเราต้องหาหลักฐานมาสู้คดีให้กับบุคคลที่โดนกระทำ 

“ปี 2562 ผมได้เป็นสส.ที่ตั้งคำถามต่อทางรัฐบาล เรื่องพ.ร.บ. ทรมาน ในฉบับของสนช.ที่ถูกกล่าวขานว่าโดนแปลงร่างแทบไม่เห็นเค้าเดิมของร่างที่เสนอโดยกรมคุ้มครองสิทธิ และเล็งเห็นว่าส.ส. เองต้องช่วยกันจับตาดูในส่วนของร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับให้สูญหาย ที่ผ่านวาระหนึ่งในวันที่ 16 กันยายน 2564 

“ผมเชื่อว่าคณะกรรมการวิสามัญที่จะพิจารณาต่อไปหลังผ่านวาระหนึ่งแล้ว จะมาจากผู้แทนจากภาคประชาชนที่ได้รับสัดส่วนของพรรคการเมืองในการทำหน้าที่ปกป้องและกำหนดทิศทางของร่างกฎหมายฉบับนี้ และอยากให้ร่างที่สิระ เจนจาคะลงนาม ที่ได้รับการพิจารณาอย่างครบถ้วนและรอบด้านในระดับหนึ่ง จากทั้งคุณรังสิมันต์ โรม และคุณพรเพ็ญ เป็นร่างหลัก แม้ในวันลงมติ ร่างครม. จะยังเป็นร่างหลักโดยมีอีกสามร่างประกบก็ตาม แต่เราที่เป็นคณะกรรมการวิสามัญก็ต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และขอให้ทุกท่านช่วยกันส่งแรงใจเพื่อผลักดันให้มันสำเร็จให้ได้”

 

 

รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคก้าวไกล คือหนึ่งในผู้แทนของประชาชนที่ได้กล่าวนามของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายในสภา เพื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา 

 

เขากล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องถูกอุทิศให้กับคนที่ถูกทรมานและบังคับให้สูญหายหลาย ๆ คน ซึ่งเป็นเรื่องสะเทือนใจและปลุกให้คนจำนวนมากได้ตระหนักว่าเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองของเรา

 

“ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านออกมา มันจะสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการช่วยให้เกิดการติดตามและสืบสวนสอบสวนคดี โดยไม่ถูกกำหนดโดยระยะเวลา สถานที่ รวมถึงกำหนดให้คดีเหล่านี้ไม่มีอายุความ ผมคิดว่ามันต้องครอบคลุม และจุดเด่นของร่างกมธ.คือ คณะกรรมการมีคนหลากหลาย มีความเข้าใจในด้านสิทธิมนุษยชน

“ร่างของกมธ. สะท้อนให้เห็นถึงดุลยภาพของคนที่ทำงานในรัฐ และคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงมีตัวแทนของคนที่เคยได้รับผลกระทบมาเป็นกรรมการด้วยเช่นกัน ผมคิดว่ามันจะช่วยทุเลาความกังวลใจ เมื่อการหายตัวไป 48 ชั่วโมงแรกของคนในครอบครัวเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้ามีกลไกลที่มีประสิทธิภาพเราอาจหยุดยั้งไม่ให้เขาสูญหายหรือเสียชีวิตจากการถูกทรมานได้

“กฎหมายนี้ยังรับรองความเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา ที่ทำให้คู่ชีวิต ผู้สืบสันดาน บุพการี คนในอุปการะ มีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมได้ ได้รับทราบความจริง สุดท้ายคือเรื่องของการไม่มีอายุความ ที่มันจะทำให้เราตามหาได้ว่าใครเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทรมานและอุ้มหาย เพราะการกระทำผิดทางด้านอาญาเหล่านี้  วันนึงเราอาจจะเกิดขึ้นกับเราก็ได้” 

“ผมมีคนรอบตัวที่เคยถูกทรมาน” รังสิมันต์เสริม“ณ วันนั้น เราก็ไม่เคยคิดว่ามันจะเกิดขึ้นกับเรา ผมว่าอย่างน้อยที่สุด ถ้ามันมีกฎหมายนี้ มันจะสร้างมาตรฐานทางสังคมว่าจะต้องไม่มีการทรมานและอุ้มหายอีกต่อไป และการกระทำเช่นนี้ต้องไม่ถูกยอมรับว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดหรือต้องซิกแซกเพื่อไม่ให้ถูกรับได้” 

“ผมคิดว่าเรามีความหวังมากขึ้นในการติดตามกับคนที่สูญหายเพื่อความเป็นธรรมต่อไป  ถ้ามันผ่านได้ ผมก็อยากจะอุทิศให้กับครอบครัวของคนที่สูญหายและถูกทรมานทุกคน มันเป็นช่วงที่เราอยู่ในรัฐสมัยใหม่มานานแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ มันเสมือนว่าเราไม่เคยเปลี่ยนเข้าสู่รัฐสมัยใหม่เลย อดีตทำอย่างไร ปัจจุบันเราก็ยังทำแบบนั้นอยู่ ซึ่งมันน่าเสียใจ และเป็นความทุกข์ทรมานของหลาย ๆ ครอบครัวที่ได้แต่รอ  

“ผมเชื่อว่าหลายคนฝัน ได้ยินเสียงของคนในครอบครัวตัวเอง บางครั้งได้ยินเสียงว่าเขายังมีชีวิตอยู่ ผมว่าเราต้องมีความหวังกับมัน แต่ที่ผ่านมาเราไม่มีกลไกในการช่วยในการตรวจสอบเลย

“กฎหมายนี้อาจช่วยทุเลาความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับครอบครัว คนใกล้ชิด ไม่มากก็น้อย มันคงเป็นหลักประกันให้กับสังคมไทย”



 

 

ผลักดัน เพื่อก้าวต่อไป

 

 

เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ตั้งคำถามว่า “ผ่านมาสิบสองปีแล้ว เราจะอยู่กับสังคมที่มีการลอยนวลพ้นผิดจริง ๆ หรือ?”

 

“คนที่ต้องเจ็บปวดคือญาติ องค์กรเราตามร่างกฎหมายมาหลายร่างมาก ที่ถูกปัดตกแล้วปัดตกอีก และเราหวังว่าคนที่สนับสนุนจะร่วมกันผลักดันต่อไป รวมถึงเราหวังว่ามันจะมีกลไกความยุติธรรมและการปกป้องเรื่องเหล่านี้ ให้ไปถึงมาตรฐานที่ประเทศไทยยึดมั่นคำสัญญาเอาไว้ และทำให้เห็นว่าคนที่ถูกทรมานและทำร้ายจากรัฐ จะมีพื้นที่ในการเรียกร้องความยุติธรรม ให้กลุ่มคนเหล่านั้นไม่ถูกลืมไป

 

แอมเนสตี้เองก็ขอผลักดัน และขอชวนให้ทุกคนรณรงค์จนร่างนี้กลายเป็นกฎหมายจริง ๆ ให้ได้ เพื่อคนความยุติธรรมให้กับครอบครัวทุกคน ผ่านแฮชแท็ก #พรบอุ้มต้องไม่หาย #พรบทรมานอุ้มหาย และ #พรบต้องไม่หายกฎหมายต้องมี 

 

“ในฐานะของคนในประเทศและเห็นด้วย เราขอชวนให้ทุกคนเอาเรื่องวันนี้ไปเล่าให้กับคนรอบตัวได้ฟัง เพื่อส่งเสียงให้กับความอยุติธรรมที่ถูกซ่อนไว้ให้สังคมได้เห็น เล่าต่อกับเพื่อน เล่าต่อกับทุกคน เราเชื่อว่าเรามีตัวแทนคือส.ส. แต่เราเองเชื่อว่าพลังของประชาชน คือพลังที่ยิ่งใหญ่ และเราเชื่อในพลังของประชาชนคนธรรมดา ว่าเราจะผลักดันให้มันเป็นกฎหมายได้” เพชรรัตน์กล่าวทิ้งท้าย