ทำไมรัฐจึงต้องดูแลประชาชน? : การรับมือกับโควิด19 และพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน

27 มีนาคม 2563

Amnesty International

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่กำลังรับมือกับโรคโควิด-19 ระบุว่าจำเป็นต้องยึดมั่นกับการใช้กฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเป็นหัวใจหลักในการรับมือเชื้อไวรัสที่กลังระบาดอยู่ตอนนี้ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองอย่างดีสุดต่อการสาธารณสุข และช่วยเหลือผู้ซึ่งมีความเสี่ยงมากสุดที่จะได้รับผลกระทบร้ายแรง 

 

โดยสรุปเนื้อหาของพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐ และกฎหมาย มาตรฐาน และหลักการสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาในระหว่างการดำเนินงานของรัฐ มีการกล่าวถึงข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนเนื่องจากรัฐอาจนำมาตรการเชิงป้องกันมาใช้เพื่อคุ้มครองการสาธารณสุข รวมทั้งการกักตัวและคำสั่งห้ามเดินทาง รวมทั้งพันธกรณีของรัฐที่จะต้องคุ้มครองการเข้าถึงการดูแลเพื่อป้องกัน สินค้าและบริการ การดูแลที่เข้าถึงได้และมีค่าใช้จ่ายเหมาะสม การเข้าถึงประกันสังคมและสิทธิด้านแรงงาน การป้องกันตราบาปและการเลือกปฏิบัติ และการคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งยังกล่าวถึงพันธกรณีของรัฐที่เกี่ยวกับการให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศ และการสนับสนุนการฟื้นฟูในระยะยาวและการช่วยเหลือเพิ่มเติม

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐบาลทุกประเทศ และบุคคล/องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้การประกันว่ามาตรการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยคำนึงถึงความต้องการเฉพาะของกลุ่มคนชายขอบ และผู้ที่มีความเสี่ยง อีกทั้งให้มีการแก้ไขและบรรเทาความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นผลมาจากมาตรการรับมือกับโรคระบาดด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

 

 

การป้องกันไม่ให้คนติดโรคโควิด-19

 269522.jpg

การกักตัว

คือการแยกบุคคลซึ่งเสี่ยงว่าติดโรคแล้ว หรือแสดงอาการว่าติดโรคระบาด เป็นแนวทางรับมือที่มักนำมาใช้เพื่อควบคุมการระบาดของโรค รวมทั้งการรับมือกับโรคโควิด-19 ของประเทศต่าง ๆ ในหลายประเทศการกักตัวส่งผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชน รวมทั้งการเข้าถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐาน อย่างเช่น อาหาร สุขอนามัย สิ่งของที่จำเป็นต่อชีวิต และการดูแลสุขภาพ รวมทั้งต้องเผชิญกับผลกระทบร้ายแรงต่ออาชีพการงานและรายได้ เนื่องจากไม่สามารถไปทำงานได้ ซึ่งคนจนจะได้รับผลกระทบที่ร้ายแรงกว่าคนรวย เนื่องจากไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อบริการด้านสุขภาพ อาหาร และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ทั้งบุคคลเหล่านี้ยังมีเงินออมที่จำกัดในช่วงเวลาที่ต้องหยุดทำงานแต่ไม่ได้รับค่าจ้าง การกักตัวจึงเป็นสิ่งที่กระทำได้ตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เฉพาะตามเงื่อนไขที่จำกัดเท่านั้น 

หากมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการกักตัว รัฐบาลเองก็ยังคงมีพันธกรณีต้องจัดทำและดำเนินการอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกันให้เกิดการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้ ต้องจัดให้มีระบบติดตามและตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ ควรเคารพและคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกักตัว และดูแลให้ตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของเขา ทั้งการมีที่อยู่อาศัย อาหาร น้ำ และสุขอนามัยอย่างเพียงพอ  

 

คำสั่งห้ามและควบคุมการเดินทาง

คำสั่งห้ามและควบคุมการเดินทางยังอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการเดินทาง รวมทั้งเสรีภาพที่จะเดินทางออกจากประเทศใด ๆ และสิทธิที่จะไม่ถูกจำกัดสิทธิการเข้าถึงประเทศตนเองโดยพลการ หลายประเทศสั่งปิดพรมแดนบางส่วน หรือมีคำสั่งห้ามเดินทางเข้าหรือเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวนมาก ซึ่งมักส่งผลกระทบต่อบุคคลที่พยายามกลับบ้านและกลับมาหาครอบครัวตนเอง คนที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อทำธุรกิจ หรือคนที่ต้องการเข้าถึงการศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย องค์การอนามัยโลกให้ความเห็นโดยทั่วไปในเชิงคัดค้านการนำมาตรการจำกัดการเดินทางหรือการค้ามาใช้ สำหรับประเทศที่เกิดปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 เว้นแต่ในพฤติการณ์ที่จำกัดเท่านั้น ทั้งนี้เพราะเป็นมาตรการที่มีความเสี่ยง 

ตามหลักการของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) อาจมีการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางในบางสถานการณ์ที่จำกัด และต้องมีเหตุผลสนับสนุนอย่างชัดเจน โดยต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และจำเป็นเพื่อคุ้มครองการสาธารณสุข เมื่อนำคำสั่งห้ามและควบคุมการเดินทางมาใช้ ต้องบังคับใช้อย่างสอดคล้องกับพันธกรณีในกติกา ICCPR ทั้งการนำมาใช้อย่างไม่เลือกปฏิบัติ ชอบธรรม จำเป็น และได้สัดส่วน โดยต้องเป็นมาตรการที่มีการจำกัดน้อยสุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

การเข้าถึงข้อมูล ความโปร่งใส และการเซ็นเซอร์

ข้อ 19 ของกติกา ICCPR คุ้มครองเสรีภาพในการ “แสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท”โดยการจำกัดสิทธินี้อาจเกิดขึ้นได้ในสภาพการที่จำกัด ดังนั้นประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ จึงมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลที่อ่านง่าย เข้าถึงได้ เหมาะสมกับช่วงเวลา และมีสาระสำคัญเกี่ยวกับรายละเอียดและระดับของภัยคุกคามด้านสุขภาพนั้น มาตรการที่อาจนำมาใช้เพื่อบรรเทาความเสี่ยง ข้อมูลการเตือนภัยเบื้องต้นกรณีที่อาจมีผลกระทบในอนาคต และข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการการดำเนินงานในปัจจุบัน โดยควรจัดให้มีข้อมูลในภาษาที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบ และให้เผยแพร่ผ่านสื่อและในรูปแบบที่เข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และสามารถตัดสินใจอย่างมีข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการนั้น  

เพื่อให้สามารถควบคุมการระบาดของไวรัสอย่างเป็นผล และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ และเพื่อหลีกเลี่ยงการจัดสรรทรัพยากรอย่างผิดพลาดและก่อให้เกิดอันตราย จำเป็นต้องมีความไว้วางใจ และเพื่อให้ประชาชนเกิดความไว้วางใจ ต้องมีการติดต่อกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที และต้องให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็น เพื่อให้เข้าใจถึงรายละเอียดของวิกฤติด้านสุขภาพนี้ หากการรับมือกับโรคโควิด-19 ของรัฐอยู่บนพื้นฐานการจำกัดการเข้าถึงข้อมูล ขาดความโปร่งใส และมีการเซ็นเซอร์ ย่อมเสี่ยงที่จะกระทบต่อสิทธิที่กล่าวถึงข้างต้น ทั้งยังเสี่ยงที่จะเกิดการสื่อสารที่ยากลำบากมากขึ้นในการ ที่จะบอกให้ประชาชนป้องกันตัวเองจากผู้ติดเชื้อ และเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเห็นภาพที่แท้จริงของสถานการณ์ สามารถประสานงาน และสามารถดำเนินการอย่างเป็นผลเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสได้ 

  

การดูแลเพื่อป้องกัน สินค้าและบริการ

สิทธิด้านสุขภาพครอบคลุมถึง “การป้องกัน บำบัดและควบคุมโรคระบาด โรคประจำถิ่น โรคจากการประกอบอาชีพและโรคอื่น ๆ” ในบริบทที่มีการระบาดของโรคในวงกว้าง รวมถึงพันธกรณีของรัฐที่จะต้องประกันให้มีการดูแลเพื่อป้องกัน สินค้า บริการ และข้อมูลที่มีอยู่ โดยรวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มีความเที่ยงตรง และมีหลักฐานสนับสนุน เพื่อให้ประชาชนทราบว่าจะป้องกันตนเองได้อย่างไร รวมทั้งประกันให้มีสินค้าเพื่อป้องกันอย่างเพียงพอ มีราคาที่เหมาะสมที่ทุกคนสามารถซื้อได้ มีรายงานมากมายเกี่ยวกับการขาดแคลนสินค้าเพื่อป้องกัน เช่น เจลล้างมือและหน้ากากอนามัยในบางพื้นที่ 

รายงานจาก Society for Community Organisation (SoCO) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระบุว่า เกือบ 70% ของครอบครัวที่มีรายได้น้อยในฮ่องกง ไม่มีเงินมากพอเพื่อซื้ออุปกรณ์ป้องกันตนเอง ทั้งหน้ากากและยาฆ่าเชื้อ รัฐจึงต้องประกันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและสามารถซื้อสินค้าเหล่านี้ได้ นอกจากสิทธิด้านสุขภาพครอบคลุมถึงพันธกรณีที่ต้องจัดให้มีความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศ เพราะหลายประเทศอาจไม่มีทรัพยากร หรือไม่มีความสามารถในการรับมือกับการระบาดของโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีเงินและมีความสามารถทางเทคนิค ต้องสนับสนุนรัฐที่มีทรัพยากรน้อยกว่า เพื่อให้เตรียมพร้อมและรับมือกับการระบาดใด ๆ ได้ 

 

สถานการณ์ฉุกเฉิน

ภายใต้สภาพการณ์ที่เป็นข้อยกเว้น รวมทั้งภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุข รัฐอาจประกาศใช้อำนาจฉุกเฉิน กรณีที่สถานการณ์นั้นส่งผลคุกคามต่อการดำรงอยู่ของประชาชาติ (ตัวอย่างเช่น เมื่อโรคนั้นติดกันอย่างแพร่หลาย และมีความร้ายแรงเพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อมีอัตราการเกิดโรคสูง  หรือมีความเสี่ยงที่จะขยายตัว) ในกรณีเช่นนั้น รัฐอาจมีอำนาจที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่สอดคล้องตามกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องมีระยะเวลาจำกัด และสอดคล้องอย่างเคร่งครัดตามความจำเป็นเร่งด่วนของสถานการณ์นั้น “ทั้งในแง่ของระยะเวลา พื้นที่ในการประกาศ และขอบเขตของเนื้อหา รวมทั้งมาตรการใด ๆ ที่จำเป็นในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยอาจเป็นการเลี่ยงพันธกรณี” ต้องมีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องมีการแจ้งให้หน่วยงานระหว่างประเทศทราบข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับมาตรการที่นำมาใช้ และมีการอธิบายเหตุผลอย่างชัดเจน ทั้งนี้มาตรการชั่วคราวเหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างจริงจังและอย่างสม่ำเสมอ ก่อนที่จะตัดสินใจขยายเวลา และให้ลดโอกาสที่จะเลี่ยงพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน โดยเหลือเฉพาะการเลี่ยงพันธกรณีเท่าที่กระทำได้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และเฉพาะเท่าที่จำเป็นอย่างเคร่งครัดต่อสถานการณ์นั้น 

 

 

การเข้าถึงการดูแลสำหรับผู้ได้รับผลกระทบ

269418.jpg 

© Barcroft Media via Getty Images

 

การสนับสนุนการเข้าถึง และค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมของการดูแล

ตามหลักการของสิทธิด้านสุขภาพ ทุกคนสามารถเข้าถึงสินค้า หน่วยงาน และบริการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ รวมทั้งการเข้าถึงการดูแล และการเข้าถึงวัคซีน (ในอนาคต) และการรักษาโรคโควิด-19 ได้อย่างไม่มีการเลือกปฏิบัติ เคารพต่อหลักจรรยาบรรณทางการแพทย์ เหมาะสมด้านวัฒนธรรม และมีคุณภาพดีและเหมาะสมตามหลักวิทยาศาสตร์และการแพทย์

นอกจากนั้นสิทธิด้านสุขภาพยังครอบคลุมทั้งสุขภาพกายและใจ รัฐควรประกันและสนับสนุนให้มีจิตวิทยาสังคม เพื่อรับมือกับปัญหาด้านสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 และผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค รวมทั้งความตื่นเต้นกังวลและภาวะซึมเศร้า โดยผู้ที่ติดเชื้อหรือคาดว่าจะติดเชื้อ หรือบุคคลเสี่ยง รวมทั้งครอบครัวของพวกเขา มีสิทธิที่จะได้รับคำปรึกษาอย่างจริงจัง และได้รับโอกาสที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับชะตากรรมของตนเองมากสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

รัฐยังควรประกันว่า วัคซีนและการรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา จะมีราคาที่เหมาะสมและทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยควรร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ (รวมทั้งบริษัทยา) โดยต้องพิจารณาถึงความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ทั้งยังควรให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการ เพื่อประกันให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงน้ำสะอาดและอนามัย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งเพื่อป้องกันการติดโรคโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

ผลกระทบเป็นการเฉพาะและรุนแรงต่อประชากรบางกลุ่ม

ทุกคนสามารถป่วยเป็นโรคโควิด-19 ได้ อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าประชากรบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงที่จะต้องป่วยหนักและเสียชีวิตมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ในภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอดีต ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมักได้รับผลกระทบเป็นพิเศษและรุนแรงกว่า ดังนั้นมาตรการรับมือของรัฐจึงควรอยู่บนพื้นฐานการวิเคราะห์ด้านเพศสภาพ เพื่อประกันให้มีการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิง เด็กผู้หญิง และบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเหมาะสม

นอกจากนั้น ประชาชนบางส่วนยังต้องเผชิญกับอุปสรรคเพิ่มเติม เนื่องจากไม่สามารถปกป้องตนเองอย่างเพียงพอจากการติดไวรัส  เช่น คนจนซึ่งเข้าถึงมาตรการป้องกันได้น้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ และคนไร้บ้านซึ่งมักต้องประสบกับปัญหามากขึ้นหากต้องกักตนเอง ในทำนองเดียวกัน คนซึ่งไม่สามารถเข้าถึงน้ำและอนามัยอย่างเพียงพอ มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเป็นผู้แพร่โรคโควิด-19 และจะประสบปัญหามากขึ้นในการป้องกันตัวเอง ตามคำแนะนำที่มีอยู่ในขณะนั้น (เช่น การหมั่นล้างมือ) บุคคลอื่น ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบเป็นการเฉพาะรวมถึงผู้ซึ่งไม่มีทางเลือกอื่น หากต้องอาศัยหรือทำงานใกล้ชิดกับบุคคลอื่น โดยไม่สามารถเข้าถึงมาตรการป้องกันอย่างเพียงพอ อย่างเช่น คนที่อยู่ในเรือนจำ หรือคนที่ต้องทำงานในสภาพที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ 

คนที่มีรายได้น้อย และมีการจ้างงานที่ไม่มั่นคง หรือเป็นแรงงานนอกระบบ อาจมีรายได้ลดลง หรือต้องตกงานเนื่องจากผลกระทบที่เพิ่มขึ้นของโรคระบาดที่มีต่อบางภาคส่วนของเศรษฐกิจ คนเหล่านี้จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ดังนั้นในการออกแบมาตรการรับมือกับโรคโควิด-19 รัฐจึงควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษต่อผลกระทบของไวรัสนี้ต่อประชากรบางกลุ่ม และประกันว่าการวางแผนและยุทธศาสตร์ของรัฐ สามารถตอบสนองความต้องการและประสบการณ์ของประชากรกลุ่มนี้ได้อย่างเต็มที่ 

 

ประกันสังคมและสิทธิของคนงาน

มาตรการหลายประการที่นำมาใช้โดยมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองการสาธารณสุข ทั้งคำสั่งห้ามเดินทาง การกักตัว การจำกัดจำนวนผู้ชุมนุมสาธารณะ ฯลฯ อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิทธิของประชาชนที่จะทำงานและอยู่ระหว่างทำงาน โดยผู้ที่อยู่ในภาคการจ้างงานที่ไม่มั่นคงจะได้รับผลกระทบมากสุด ทั้งนี้รวมถึงแรงงานข้ามชาติ คนที่อยู่ในภาคการจ้างงานไม่มั่นคง รวมทั้งผู้มีอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ลักลอบเข้าเมือง และแรงงานนอกระบบ คนงานในภาคส่วนเหล่านี้มักไม่ได้รับประโยชน์จากระบบประกันสังคม หรือได้รับไม่เพียงพอ ส่งผลให้ไม่มีรายได้ระหว่างถูกกักตัว เนื่องจากไม่มีสิทธิลาหยุดงานโดยได้รับค่าตอบแทน ทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาเพิ่มเติมในแง่การเข้าถึงการตรวจหาเชื้อและการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย

รัฐจึงควรประกันให้ทุกคนเข้าถึงประกันสังคม รวมทั้งการได้รับค่าตอบแทนเมื่อลาป่วย การดูแลสุขภาพ และการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร ในขณะที่พวกเขาไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงอย่างเช่น กรณีที่เจ็บป่วยหรือถูกกักตัว หรือต้องดูแลบุตรเนื่องจากโรงเรียนปิด นอกเหนือจากช่วยให้เข้าถึงสิทธิด้านประกันสังคม มาตรการเหล่านี้ยังจำเป็นเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ป้องกันการตีตราและการเลือกปฏิบัติ

มีรายงานหลายฉบับเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติและตีตราคนที่ถูกมองว่ามาจากบางประเทศ หรือเป็นส่วนหนึ่งของบางกลุ่มชาติพันธุ์ ยกตัวอย่างเช่น มีรายงานว่าร้านอาหารจีนประสบปัญหาด้านการค้าในบางประเทศ และร้านอาหารและโรงแรมในบางประเทศไม่ยอมให้บริการลูกค้าชาวจีน คนที่ถูกมองว่ามาจากเอเชียตะวันออกจะถูกคุกคาม ตกเป็นเป้าการเหยียดผิว ถูกทำร้ายร่างกายเมื่ออยู่ในประเทศอื่น 

รายงานขององค์การอนามัยโลกอธิบายว่าการตีตราส่งผลกระทบร้ายแรงด้านสาธารณสุข คือกระตุ้นให้ประชาชนปกปิดความเจ็บป่วยของตนเพื่อหลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติ ทำให้ไม่อยากเข้ารับการรักษาพยาบาล และไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่ดีต่อสุขภาพ ในทำนองเดียวกัน หน่วยงานป้องกันและควบคุมโรคติดต่อแห่งสหรัฐฯ มีข้อสังเกตว่า “การตีตราทำให้ทุกคนเจ็บปวด ทำให้เกิดความหวาดกลัวหรือความโกรธเคืองมากขึ้นต่อคนทั่วไป แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่โรคซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาอย่างแท้จริง รัฐควรใช้มาตรการที่เป็นรูปธรรม มีเจตจำนง และมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติและการตีตรา ทั้งการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาและเพื่อคุ้มครองบุคคลไม่ให้ถูกปฏิบัติมิชอบ 

 

คุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์

บุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นแนวหน้าที่รับมือกับโรคระบาด พวกเขาต้องให้บริการอย่างต่อเนื่องแม้มีความเสี่ยงทั้งต่อตนเองและครอบครัว ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นรวมทั้งการติดโรคโควิด-19 ระหว่างทำงาน การทำงานเป็นเวลานานต่อเนื่องกัน แรงกดดันด้านจิตใจและความเหนื่อยล้า แม้อยู่ระหว่างการประเมินอย่างรอบด้านถึงผลกระทบของโรคระบาดที่มีต่อบุคลากรทางการแพทย์ แต่มีรายงานระบุว่า บุคลากรทางการแพทย์หลายพันคนติดไวรัสนี้ไปแล้ว  

ดังนั้นเพื่อให้เกิดสิทธิด้านสุขภาพ รัฐจะต้อง “จัดทำ ดำเนินการ และตรวจสอบนโยบายระดับชาติที่เป็นเอกภาพอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและโรคจากการประกอบอาชีพ รวมทั้งการจัดทำนโยบายระดับชาติที่เป็นองค์รวมด้านบริการทางอาชีวอนามัยและความปลอดภัยและบริการด้านสุขภาพ” ซึ่งครอบคลุมถึงสภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ป้องกันตัวที่เพียงพอและมีคุณภาพ ข้อมูล การอบรม และการให้ความสนับสนุนด้านจิตใจ ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่รับมือกับวิกฤติ อีกทั้งรัฐต้องประกันให้มีกลไกเพื่อดูแลให้เกิดการสนับสนุนครอบครัวของบุคลากรทางการแพทย์และบุคคลอื่น ซึ่งต้องเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยเนื่องมาจากโรคโควิด-19

 

 269524.jpg

ความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศ

การทำให้เกิดสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ ไม่อาจเป็นจริงได้หากไม่มีความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศ รัฐส่วนใหญ่ในโลกให้การยอมรับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งพันธกรณีที่มีต่อความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศ รวมทั้งสิทธิด้านสุขภาพ รัฐต้องให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับรัฐอื่นและหน่วยงานระหว่างประเทศ เพื่อให้ทราบถึงขอบเขตการระบาดของโรคโควิด-19 ในเขตอำนาจของตน และข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบ และข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาที่เป็นไปได้ ถึงแม้หน้าที่และความรับผิดชอบหลักในการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองประชาชนที่ถูกคุกคามจากภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเป็นของหน่วยงานในประเทศที่ได้รับผลกระทบ แต่หากมีความจำเป็น รัฐต่างๆ สามารถขอความช่วยเหลือระหว่างประเทศได้ เช่น องค์การอนามัยโลก โดยต้องดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนด้วย

ลักษณะสำคัญของพันธกรณีที่มีต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้แก่ รัฐต้องแบ่งปันข้อมูลที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักทราบถึงความเสี่ยงและการระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งมาตรการป้องกันและรักษา และต้องประกันให้เกิดการประสานงานเพื่อรับมือในระดับโลก ซึ่งหมายถึงการเข้าร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักและผู้ได้รับผลกระทบ ตามหลักการของสิทธิด้านสุขภาพ “ควรสนับสนุนการประสานงานให้เกิดการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคส่วนต่าง ๆ ของภาคประชาสังคม”

 

 

การฟื้นฟูในระยะยาวและการช่วยเหลือเพิ่มเติม

ในระยะยาว รัฐที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากไวรัส จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือและกำลังใจจากนานาประเทศ ในระหว่างที่มีการฟื้นฟูระบบสุขภาพและเศรษฐกิจของตน การระบาดของโรคโควิด-19 ยังอาจเผยให้เห็นข้อบกพร่องทางโครงสร้าง และปัญหาในระบบสุขภาพและความมั่นคงด้านสังคมของแต่ละรัฐ ซึ่งจำเป็นต้องมีการลงทุนและใช้เวลาเพื่อซ่อมแซม ยังมีกลุ่มคนที่อาจต้องการความช่วยเหลือเป็นการเฉพาะ การฟื้นฟูในระยะยาวไม่เพียงแต่ต้องอาศัยความสนับสนุนและการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพในประเทศที่มีระบบอ่อนแอเท่านั้น หากยังรวมถึงการยอมรับผลกระทบในวงกว้างของโรคระบาดที่มีต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศที่ได้รับผลกระทบ มีรายงานอยู่แล้วถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจระดับโลกจากโรคโควิด-19 และประเทศที่มีทรัพยากรน้อย ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเล็กกว่า ไม่มีเงินทุนสำรองจำนวนมากนัก รวมทั้งคนที่มีงานที่ไม่มั่นคงและมีรายได้น้อย มักจะได้รับผลกระทบมากสุดและรุนแรงสุด ยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูระยะยาวจึงควรคำนึงถึงผลกระทบเหล่านี้ และความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหานี้  

 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่กำลังรับมือกับโรคโควิด-19 ระบุว่าจำเป็นต้องยึดมั่นกับการใช้กฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเป็นหัวใจหลักในการรับมือเชื้อไวรัสที่กลังระบาดอยู่ตอนนี้ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองอย่างดีสุดต่อการสาธารณสุข และช่วยเหลือผู้ซึ่งมีความเสี่ยงมากสุดที่จะได้รับผลกระทบร้ายแรง 

 

อ่านรายงานฉบับเต็ม