สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 9-15 มีนาคม 2567

19 มีนาคม 2567

Amnesty International Thailand

 

ประเทศไทย: ครบ 20 ปีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร เน้นย้ำให้เห็นถึงวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดที่หยั่งรากลึก

11  มีนาคม  2567

 

ในวาระครบรอบ 20 ปีของการบังคับให้สูญหายกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ทางการไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการอำนวยให้เกิดความยุติธรรม ความจริง หรือการเยียวยาต่อทนายสมชายและครอบครัวของเขา การบังคับให้สูญหายกรณีนี้และอีกหลายกรณีที่เน้นย้ำให้เห็นวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดที่หยั่งรากลึกในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันรัฐพยายามที่จะเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

“นับตั้งแต่20 ปีของการหายตัวไปของทนายสมชายในจังหวัดกรุงเทพฯ ที่ผ่านมา ยังมีคำตอบเพียงน้อยนิด และมีความหวังที่เลือนลาง ในขณะยังมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะปิดปาก จูงใจหรือข่มขู่สมาชิกในครอบครัวของเขาล้มเลิกการรณรงค์เรียกร้องความยุติธรรม”

“จากความล้มเหลวในการนำตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสู่กระบวนการรับผิดทางอาญา และจากการเพิกเฉยสิทธิในการเยียวยาอย่างเต็มที่ของครอบครัวของเขา อีกทั้งการยุติการคุ้มครองพยาน เป็นที่ชัดเจนว่าเหยื่อของการบังคับให้สูญหายนั้น ไม่สามารถพึ่งพาทางการไทยได้อย่างเต็มที่ และผู้กระทำความผิดอาจไม่ต้องรับโทษตามความผิดที่ตนเองกระทำ”

“เป็นเวลามากกว่าหนึ่งปีแล้วที่รัฐบาลไทยประกาศใช้กฎหมายในประเทศ เพื่อเอาผิดทางอาญากับการบังคับให้สูญหาย แต่เนื่องจากยังไม่มีการฟ้องคดีเกี่ยวกับการบังคับให้สูญหายในชั้นศาล ทำให้กฎหมายฉบับนี้เป็นเพียงกระดาษแผ่นหนึ่งเท่านั้น”

“หากประเทศไทยประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิกในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติอย่างมีเกียรติ ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีอีกหลายประการที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แม้การมีกฎหมายในเรื่องนี้เป็นก้าวย่างแรกที่ดี แต่ต้องมีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป เพื่อประกันให้เกิดความรับผิดรับชอบและการเยียวยาต่อผู้เสียหายทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย อีกทั้งประเทศไทยต้องให้สัตยาบันรับรองโดยไม่ประกาศข้อสงวนใด ๆ ต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) และยอมรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการว่าด้วยการบังคับให้หายสาบสูญ ที่จะรับฟังและพิจารณาข้อมูลจากผู้เสียหายและคู่กรณีที่เป็นรัฐอื่น ๆ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นอย่างจริงใจที่จะต่อต้านอาชญากรรมนี้ตามหลักการกฎหมายระหว่างประเทศ”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/49SU9nV

 

-----

 

 

ญี่ปุ่น: คำตัดสินการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันคือชัยชนะที่รอมานานสำหรับสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

14  มีนาคม  2567

 


สืบเนื่องจากคำตัดสินของศาลสูงของซัปโปโรและศาลโตเกียวเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ว่าการห้ามการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันของรัฐบาลญี่ปุ่นขัดต่อรัฐธรรมนูญ

โบรัม จาง นักวิจัยภูมิภาคเอเชียตะวันออก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า
คำตัดสินของศาลในวันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุความเสมอภาคในการสมรสในญี่ปุ่น คำตัดสินในซัปโปโร ซึ่งเป็นคำตัดสินของศาลสูงครั้งแรกเกี่ยวกับการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันในประเทศ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงแนวโน้มการยอมรับการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันในญี่ปุ่น

“คำตัดสินว่าการห้ามการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันของรัฐบาลขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้นได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าไม่มีพื้นที่สำหรับการเลือกปฏิบัติดังกล่าวในสังคมญี่ปุ่นอีกต่อไป

“ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องดำเนินการเชิงรุกไปสู่การออกกฎหมายการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน เพื่อให้คู่รักสามารถใช้สิทธิในการแต่งงานได้อย่างครบถ้วนเช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศ

“กฎหมายที่รัฐบาลผ่านเมื่อปีที่แล้วเพื่อ ‘ส่งเสริมความเข้าใจ’ เกี่ยวกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีมาตรการทางกฎหมายที่เป็นรูปธรรมเพื่อปกป้องคู่รักเพศเดียวกันและชุมชนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในญี่ปุ่นจากการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3IEsSK3

 

-----

 

 

คีร์กีซสถาน: กฎหมายองค์กรภาคประชาสังคมที่เข้มงวดของรัฐสภาจะต้องถูกยับยั้ง

14  มีนาคม  2567

 


สืบเนื่องจากข่าวที่รัฐสภาคีร์กีซสถานผ่านกฎหมาย "ผู้แทนต่างชาติ" (Foreign Representatives) ที่เข้มงวดเพื่อควบคุมภาคประชาสังคม

มารี สตรูเทอร์ส ผู้อำนวยการภูมิภาคยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การที่รัฐสภาผ่านกฎหมายนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง ตลอดกว่าทศวรรษที่ผ่านมาในรัสเซียและทั่วทั้งภูมิภาค เราเห็นแล้วว่ากฎหมายลักษณะที่คล้ายกันนี้ได้วางรากฐานในการทำลายภาคประชาสังคมอย่างเป็นระบบอย่างไร

“การเคลื่อนไหวนี้ไม่เพียงแต่บ่อนทำลายสิทธิในเสรีภาพการสมาคมและคุกคามความเป็นอิสระขององค์กรภาคประชาสังคมเท่านั้น แต่ยังทำให้โครงสร้างของภาคประชาสังคมที่ครั้งหนึ่งเคยมีชีวิตชีวาในคีร์กีซสถานอ่อนแอลงอีกด้วย

“ประธานาธิบดีสามารถและควรยับยั้งกฎหมายฉบับนี้ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พันธมิตรระหว่างประเทศของคีร์กีซสถานจะต้องเตือนรัฐบาลและผู้ร่างกฎหมายว่าเสรีภาพในการสมาคมหมายถึงอะไรในทางปฏิบัติ และกดดันให้พวกเขามีส่วนร่วมในการเจรจากับองค์กรภาคประชาสังคมทันที เพื่อให้ความคิดริเริ่มที่เป็นอันตรายนี้ไม่กลายเป็นกฎหมาย รัฐบาลมีพันธกรณีที่จะต้องประกันว่าสิทธิมนุษยชนนั้นจะได้รับการเคารพและใช้ในระดับสากล เพื่อให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตของผู้ที่อยู่ชายขอบที่สุด”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3TFBzKd

 

-----

 

สหภาพยุโรป: กฎหมายธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในยุโรปฉบับใหม่ผ่านการลงมติครั้งสำคัญ

8 มีนาคม  2567

 

สืบเนื่องจากคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปได้บรรลุข้อตกลงเมื่อวันที่ 8 มีนาคม เกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนฉบับใหม่ที่เรียกว่า Corporate Sustainability Due Diligence Directive (CSDDD)

ฮันนาห์ สโตรีย์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายเกี่ยวกับธุรกิจและสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การลงมติในคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปในวันนี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าผิดหวังที่กฎหมายฉบับนี้ถูกลดทอนลงอย่างมากโดยรัฐสมาชิกบางประเทศในขั้นตอนที่ล่าช้าผิดปกติของกระบวนการออกกฎหมายของสหภาพยุโรป

“แม้จะเป็นเรื่องน่าโล่งใจที่กฎหมายนี้รอดพ้นจากความพยายามที่จะกำจัดออกไป แต่บางประเทศได้ทำให้ข้อความอ่อนลงจน กฎหมาย CSDDD ในปัจจุบันไม่เป็นไปตามความคาดหวังดั้งเดิม โดยขณะนี้จะใช้กับธุรกิจที่มีขนาดใหญ่มากเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทที่ร่างฉบับก่อนหน้านี้ครอบคลุมจะได้รับการยกเว้น

“แม้ว่าขอบเขตของบริษัทที่ครอบคลุมจะลดลง แต่กฎหมายนี้ยังคงเป็นก้าวสำคัญในการสร้างหลักการในกฎหมายของสหภาพยุโรปที่ว่าธุรกิจต่างๆ จะต้องจัดการกับความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในการดำเนินงานและห่วงโซ่คุณค่าของตน กฎหมายที่กำหนดกรอบยังคงเป็นเส้นทางสำคัญไปสู่ความยุติธรรมผ่านศาลยุโรปสำหรับเหยื่อของบรรษัท เช่น ผู้ที่ถูกละเมิดแรงงาน ถูกบังคับไล่รื้อ หรือได้รับผลกระทบจากมลภาวะต่างๆ

“ผู้ออกกฎหมายของสหภาพยุโรปต้องอนุมัติกฎหมายนี้อย่างรวดเร็วก่อนการเลือกตั้งของสหภาพยุโรปในปลายปีนี้ จากนั้นนำไปปฏิบัติและบังคับใช้อย่างเต็มที่และเข้มงวด”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3VjLp5O

 

-----

 

แกมเบีย: รัฐสภาต้องไม่ผ่านร่างกฎหมายยกเลิกการห้ามขริบอวัยวะเพศหญิง (FGM)

4 มีนาคม  2567

 

สืบเนื่องจากการลงมติที่กำลังจะเกิดขึ้นในรัฐสภาแกมเบียในวันที่ 18 มีนาคม เกี่ยวกับร่างกฎหมายยกเลิกการห้ามขริบอวัยวะเพศหญิง (FGM)

มิเชล เอเคน นักวิจัยอาวุโส สำนักงานภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ร่างกฎหมายนี้จะสร้างบรรทัดฐานที่เป็นอันตรายต่อสิทธิสตรี และทำให้ประวัติด้านสิทธิมนุษยชนของแกมเบียเสื่อมเสีย เราขอเรียกร้องให้รัฐสภาลงมติคัดค้าน

“เป็นเรื่องน่าผิดหวังมากที่หลังจากการต่อสู้อันยาวนานของนักกิจกรรมชาวแกมเบียเพื่อส่งเสริมสิทธิสตรี แต่รัฐสภากำลังเตรียมที่จะพิจารณาการถอยหลังกลับนี้

“ขริบอวัยวะเพศหญิงป็นการละเมิดสิทธิในสุขภาพและร่างกายของตนเองของเด็กผู้หญิงและผู้หญิง การออกกฎหมายรับรองจะเป็นการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และกฎบัตรแอฟริกาว่าด้วยสิทธิและสวัสดิการเด็ก ซึ่งทั้งหมดนี้แกมเบียได้ให้สัตยาบันแล้ว นอกจากนี้ยังจะละเมิดหลักการ "ศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกันของบุคคล" ที่รับรองในรัฐธรรมนูญของแกมเบียอีกด้วย

“นอกจากนี้ รัฐบาลแกมเบียจำเป็นต้องแก้ไขสาเหตุที่แท้จริงและแรงผลักดันของ FGM และดำเนินนโยบายที่ครอบคลุมเพื่อส่งเสริมผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในการเรียกร้องและใช้สิทธิมนุษยชนของตน”

ตามข้อมูลของยูนิเซฟระบุว่า ประมาณ 46% ของเด็กผู้หญิงอายุไม่เกิน 14 ปีในประเทศแกมเบีย ต้องผ่านการขริบอวัยวะเพศ เปอร์เซ็นต์นี้อาจจะเพิ่มขึ้นถึง 73% ในเด็กผู้หญิงและผู้หญิงที่มีอายุ 15-49 ปี การขริบอวัยวะเพศหญิงอาจทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพต่างๆ เช่น การเจ็บปวดเรื้อรัง การติดเชื้อ การคลอดลูกยาก และการเสียชีวิตในระหว่างกระบวนการขลิบหรือหลังจากนั้น

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/43oCbaE