Do you Hear the People Sing? ทลายทุกกำแพงอำนาจ ด้วยเสียงแห่งความเป็นหนึ่งเดียว

12 กุมภาพันธ์ 2567

Amnesty International Thailand

แต่ไหนแต่ไรมา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความศรัทธาในศาสนา การปลุกสำนึกรักชาติบ้านเมือง การสร้างภาพลักษณ์ของผู้นำประเทศ ดนตรีล้วนมีบทบาทสำคัญในเวทีการเมืองเหล่านี้ แม้กระทั่งทุกวันนี้ ที่บรรดาผู้นำเผด็จการต่างสรรหาทุกวิถีทางเพื่อกลับสู่อำนาจ ดนตรีก็เป็นอาวุธที่ประชาชนใช้ตอบโต้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม โดยเฉพาะในช่วงเวลา 3 - 4 ปีที่ผ่านมา ที่กระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมมาแรงมากในประเทศไทย รวมถึงเมียนมา ที่เผชิญกับการรัฐประหารย่างเข้าสู่ปีที่ 3

ท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพลงจำนวนไม่น้อยถูกเขียนขึ้นมาเพื่อวิพากษ์อำนาจรัฐและจุดประกายการต่อสู้ ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ มากมายตามมา

เนื่องในวันครบรอบ 3 ปี การรัฐประหารในเมียนมา เสมสิกขาลัยและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดงาน Do you Hear the People Sing? เวทีเสวนาและการแสดง ที่มีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทหารของเมียนมายุติการนองเลือดในประเทศ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเปิดทางให้ผู้หนีภัยสงครามทุกคนจากเมียนมาได้รับการช่วยเหลือในฐานะเพื่อนมนุษย์ และหลักสิทธิมนุษยชน

 

เสียง ดนตรี และความเป็นหนึ่ง

 

 

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจจากช่วงเสวนา คือพลังของเสียงที่ก่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียว ในการต่อสู้อำนาจรัฐของประชาชนในเมียนมา โดยอรดี อินทร์คง นักศึกษาปริญญาเอกจากคณะมานุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล ผู้ศึกษาเรื่องเสียงและดนตรีของคนพลัดถิ่นที่มาอาศัยอยู่ในเมืองไทย ได้ศึกษาและทำความเข้าใจมุมมองความเป็นบ้าน ผ่านเสียงต่างๆ ที่กลุ่มคนพลัดถิ่นเล่าให้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่มีความสุขจากเสียงของพ่อแม่ หรือบ้านที่กลายเป็นบาดแผล ด้วยเสียงจากการสู้รบและความสูญเสีย หรือแม้กระทั่งคนที่ไม่เคยมีความทรงจำเกี่ยวกับบ้าน เพราะเติบโตมาในค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งเสียงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และผลกระทบจากการสู้รบในประเทศที่ยืดเยื้อยาวนานต่อชีวิตของประชาชน

อย่างไรก็ตาม อรดีกล่าวว่า บรรยากาศโดยรวมก่อนการรัฐประหารเมื่อปี 2021 ก็เต็มไปด้วยความหวัง หลายคนมีความฝันที่จะกลับไปสร้างเนื้อสร้างตัวที่บ้านเกิด แต่แล้วความฝันและความหวังเหล่านี้ก็พังทลายลงในพริบตา จากการรัฐประหาร

ความผิดหวัง คับแค้นใจ ก่อตัวเป็นความโกรธเกรี้ยว และแสดงออกในรูปแบบของการใช้เสียง หนึ่งในวิธีการที่น่าสนใจและได้รับการพูดถึงแทบทุกสื่อ คือการ “เคาะหม้อ” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการขับไล่สิ่งชั่วร้าย ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนทั้งชาวพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ไม่กลัวอำนาจรัฐ และยืนยันว่าพวกเขาเป็น “เจ้าของบ้าน” ที่มีสิทธิในการขับไล่อำนาจอันไม่ชอบธรรมออกไป

“คนพม่า ในสัปดาห์แรกของการต่อต้านรัฐประหาร จนถึงทุกวันนี้ ในพื้นที่ของประเทศเมียนมา 92% ที่ออกมาต่อต้านการทำรัฐประหาร เพราะฉะนั้น มันคือครอบคลุมทุกภูมิภาค และแทบจะทุกชาติพันธุ์ ไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มปาหม่า (พม่า) เท่านั้น” อรดีกล่าว

นอกจากการใช้เสียงเพื่อแสดงการต่อต้านแล้ว ช่วง 3 ปีของการต่อต้านรัฐประหาร ยังให้กำเนิดเพลงเพื่อการต่อต้านเป็นจำนวนมาก ในหลากหลายแนวเพลง ไม่ว่าจะเป็นป็อป ร็อก พังก์ แร็ป โดยแนวเพลงที่เติบโตอย่างน่าจับตามองที่สุด ได้แก่ เพลงแร็ป อรดีได้ยกตัวอย่างซิงเกิลชื่อ Blood ของ Rap Against Junta ศิลปินแร็ปชื่อดังของเมียนมา ที่มีจุดเด่นคือการใช้ท่อนแร็ปภาษาชาติพันธุ์ 8 ภาษา พร้อมเสียงเครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาติพันธุ์นั้นๆ ซึ่งนอกจากจะใช้เพื่อต่อต้านเผด็จการแล้ว เพลงนี้ยังทำให้แต่ละชาติพันธุ์ได้รับรู้เรื่องราวของบ้านของชาติพันธ์ุอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ อรดียังชี้ให้เห็นว่า วัฒนธรรมแร็ปนั้นมีความเชื่อมโยงกับศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่เรียกว่า Thung Kyat ซึ่งเป็นการแสดงที่มีเนื้อหาต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ เรียกได้ว่า การใช้เสียงเพื่อการต่อต้านนั้นอยู่ในวัฒนธรรมของชาวพม่า สะท้อนผ่านเพลงแร็ป, Thung Kyat และเสียงในการประท้วงตามถนน

“ใน 3 ปีมานี้ เสียงที่เราได้ยิน ไม่ได้มีอยู่แค่ในเมียนมา เสียงมันตามผู้คนที่เป็นผู้คนที่ออกมาจากเมียนมา หรือชุมชนคนพม่าที่อยู่ทั่วโลก ไม่ใช่แค่ระดับท้องถิ่น แต่มันเป็นระดับสากล และกลุ่มที่มีความสำคัญ นอกจากกลุ่มผู้พลัดถิ่น คือกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ทำให้เสียงดังต่อเนื่อง ยืนระยะมาถึง 3 ปี”

“ในขณะที่ทหารพม่าใช้กลยุทธ์เพียงกลยุทธ์เดียวในการทำร้ายประชาชน นั่นก็คือการทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกกลัว เราขอสรุปสิ่งที่เราได้ยินจากเสียงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา คนพม่ากำลังส่งเสียงอะไร อันแรกก็คือ Courage ความกล้าหาญ, Creativity ความคิดสร้างสรรค์, Collectivity การต่อต้านมันดำรงอยู่ได้ด้วยการเชื่อมต่อของคน 92% รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งในประเทศและนอกประเทศ และสุดท้ายก็คือ Commitment ก็คือความมุ่งมั่นที่เขาจะไม่หยุด จนกว่าจะชนะ” อรดีกล่าว

สำหรับประเทศไทย ดนตรีก็มีบทบาทไม่ต่างกันกับในเมียนมา สถานการณ์การเมืองของไทยในช่วงที่ผ่านมาก็ให้กำเนิดศิลปินที่ทำดนตรีการเมืองหลายคน หนึ่งในนั้นคือวง “สามัญชน”

 

 

 ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ นักร้องนำวงสามัญชนเล่าว่า เพลงมันทำซ้ำง่ายที่สุด มีจังหวะ มีทำนองที่ทำให้เข้าไปอยู่ในสมองคนได้ง่าย เพราะฉะนั้น แทนที่จะให้เชื่อในสิ่งอื่น เราก็พยายามผลิตเพลงที่ทำให้เขาเชื่อในตัวเอง เชื่อในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เชื่อในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน นี่คือบทบาทที่เราทำ อะไรที่มันมีเซนส์ของการมีเครื่องมือทางวัฒนธรรมที่ทำให้คนไม่เท่ากัน เราก็พยายามสร้างเครื่องมือโต้ว่าคนมันเท่ากัน

ชูเวชมองว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยโดยรวมถูกปลูกฝังว่าเราไม่เป็นเจ้าของอะไรเลย เมื่อไม่เป็นเจ้าของอะไรเลย ก็ทำให้เราไม่ตระหนักถึงสิทธิ

“สิทธิมันคือการที่เรารู้สึกว่าอำนาจมันอยู่กับเรา ผมก็เลยคิดว่า ทุกครั้งที่เราแต่งเพลง และทุกครั้งเวลาเราอยู่ในโชว์ด้วย เราพยายามทำให้เพลงมันเป็นของเขา คือให้เขาร้องเองให้มากที่สุด เพราะฉะนั้น การมีดนตรี การมีเหตุการณ์จำลองให้คนมายืนในที่สาธารณะแล้วตะโกนอะไรดังๆ ไม่ใช่ขนบของความเป็นไทยเลย การที่เขาได้ตะโกนในที่สาธารณะก็ถือว่าเป็นการครอบครองอำนาจ ครอบครองสิทธิแบบหนึ่ง มันเป็นเสียงของเขาเอง”

“ผมพบว่าคนเหล่านี้มีโอกาสที่จะขยับจาก passive ally (แนวร่วมเชิงรับ) มาเป็น active (เชิงรุก) มากขึ้น มีโอกาสที่จะมี loyalty (ความภักดี) กับการเข้าร่วมกิจกรรมอะไรต่างๆ มากขึ้น เอาง่ายๆ ว่า สมมติเราจะขยับคนจากแนวร่วมที่ passive (เชิงรับ) มาเป็น active (เชิงรุก) เราก็มักจะบอกว่าให้ไปทำอีเวนต์อะไรของตัวเอง แต่ว่ามันเป็นบันไดที่มันสูงไปน่ะ ต้นทุนมันสูงไป อะไรล่ะที่ลดทอนลงมา ไปทำโพลล์ไหม หรือไปล่ารายชื่อไหม พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ก็กังวลอีก มาอยู่กับคนเยอะๆ แล้วตะโกนไหม อยู่กับคนเยอะๆ แล้วตะโกนไหม ไม่ได้อีก ตัวต่อตัวไหม”

“ผมคิดว่ามันเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทุกคนพยายามย่อบันไดของต้นทุนในการแสดงออกให้มันต่ำลงที่สุด ให้มีสเต็ปที่หนึ่งน่ะ เพราะฉะนั้น การยื่นไมค์มันเป็นสเต็ปของการทดลองตะโกนเสียงของตัวเอง ถ้าได้ เดี๋ยวขั้นสอง ขั้นสาม เขาก็ไปเอง” ชูเวชกล่าว

 

หลากมิติของดนตรีสู่ความเป็นหนึ่งเดียว

Do you Hear the People Sing? เป็นการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินจากประเทศไทยและเมียนมา รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จำนวนทั้งสิ้น 6 ศิลปิน ในหลากหลายแนว ทั้งดนตรีพื้นบ้าน โฟล์ก คลาสสิก ฮิปฮอป และร็อก ซึ่งแต่ละวงได้ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในหลากหลายมิติ พร้อมทั้งเสนอทางออกอย่างสันติ

คอนเสิร์ตเปิดตัวโชว์แรกด้วยเพลง “เฉลิมฉลองชัยชนะ” (Triumph of the Victory) ซึ่งเป็นดนตรีบรรเลงด้วยพิณพม่า ฝีมือของวา วา ซาน เสียงพิณกังวาลใส พร้อมท่วงทำนองที่มีชีวิตชีวา นับเป็น “บทเปิดเรื่อง” ที่ตรึงสมาธิของผู้ชม ให้พร้อมที่จะรับฟังเรื่องราวของเหล่านักต่อสู้ในบทต่อๆ ไป

 

 

มิติหนึ่งที่คอนเสิร์ต Do you Hear the People Sing? ได้ถ่ายทอด คือการตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจ ซึ่ง Triple Edge วงดนตรีกลุ่มชาติพันธุ์และชนพื้นเมืองจาก จ.เชียงใหม่ ได้บอกเล่ามุมมองนี้ผ่านเพลง Inner-net ที่ว่าด้วยกลุ่มคนที่แสดงความคิดเห็นโจมตีผู้เห็นต่างในอินเตอร์เน็ต โดยลืมไปว่าศัตรูที่แท้จริงคือผู้มีอำนาจ และการใช้อำนาจอย่างไม่สมเหตุสมผล และเพลง Borda Boiz ที่สะท้อนภาพชีวิตแรงงานอพยพ และตั้งคำถามกับการใช้ความรุนแรงของรัฐในการปราบปรามประชาชน

ขณะเดียวกัน วงสามัญชน ซึ่งเป็นวงดนตรีของนักกิจกรรมทางการเมืองของไทย ก็ได้วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดในชีวิตประจำวัน ในประเทศที่ไร้ซึ่งสวัสดิการสนับสนุนความใฝ่ฝันของผู้คน ในเพลง “อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้” หรือเพลง “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” ที่เชื่อมโยงภาพของลอร์ดโวลเดอมอร์ จากวรรณกรรม Harry Potter เข้ากับผู้มีอำนาจที่คอยใช้กำลังปิดปากผู้คนที่เห็นต่างและวิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐ รวมทั้งเพลง “กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง” ที่สะท้อนภาพชะตากรรมของผู้ลี้ภัยทางการเมือง พร้อมกราฟิกฉายบนจอ LED เป็นภาพผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่เสียชีวิตและถูกอุ้มหายขณะลี้ภัย

 

 

อีกมิติหนึ่งที่ได้รับการถ่ายทอดในหลายๆ โชว์ คือการปลุกขวัญและกำลังใจให้ประชาชนลุกขึ้นสู้กับอำนาจที่กดขี่ หนึ่งในโชว์ที่น่าประทับใจไม่น้อย คือการแสดงจาก Co-Culture Ensemble ซึ่งเป็นวงดนตรี Chamber Music ที่ประกอบด้วยนักดนตรีจากหลายเชื้อชาติ ถ่ายทอดกำลังใจสู่นักต่อสู้รุ่นใหม่ ผ่านเพลง “คำสาบานเลือด” (Oath by Blood), “อย่ายอมแพ้” (Don’t Give up), “ปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ” (Spring Revolution) ซึ่งเป็นเพลงที่แต่งโดยกลุ่ม Generation Z ดัดแปลงจากเพลงกะบามะเจวู ให้มีเนื้อหาสะท้อนการต่อสู้ทางการเมืองในยุคใหม่ รวมถึงเพลง “สหพันธรัฐ” (Federal Union) ที่มีเนื้อหาเรียกร้องความเป็นหนึ่งเดียวในการต่อสู้โค่นล้มระบอบเผด็จการ

เช่นเดียวกับ Triple Edge ที่ใช้อารมณ์เกรี้ยวกราดสไตล์แร็ป ปลุกใจให้ประชาชนคนธรรมดาส่งเสียงไปให้ถึงเผด็จการ ผ่านเพลง “Built on Blood” รวมทั้งเพลง “Hero” ที่แต่งเนื้อเพลงเป็นภาษาเหนือ ไทยกลาง ภาษาอังกฤษ และภาษาพม่า เพื่อบอกคนรุ่นใหม่ว่า สังคมที่ดีไม่จำเป็นต้องมีฮีโร่ แค่คนที่รับรู้ปัญหาและออกมาแก้ไข ออกจากระบบที่ทำให้คนเชื่อง และทำในสิ่งที่รัก

 

 

ด้าน “น้ำ คีตาญชลี” ศิลปินไทย ได้บรรเลงเพลง “รามัญคดี” ที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาติพันธุ์มอญ รวมทั้งเพลง “จวบจนวันสิ้นโลก” ที่มาจากต้นฉบับเพลง “Dust in the Wind” ก็เป็นการระลึกถึงวีรบุรุษในอดีต และปลุกใจให้ลุกขึ้นสู้ต่อเช่นกัน

เมื่อการต่อสู้ที่ยาวนานจำเป็นต้องมีเพื่อนร่วมทางที่เข้าอกเข้าใจและมีเป้าหมายเดียวกัน หลายเพลงในคอนเสิร์ต Do you Hear the People Sing? จึงถ่ายทอดประเด็นเกี่ยวกับมิตรภาพและความเป็นหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นเพลง “มิงกาละบา” และ “Rise of Freedom” โดยศิลปินวง Rattikan ที่ยึดโยงแนวคิดเรื่องมิตรภาพระหว่างไทยกับเมียนมา ที่ต่างก็เผชิญชะตากรรมเดียวกัน จากการรัฐประหาร

เช่นเดียวกับวงสามัญชน ที่นำเอาเพลง “บทเพลงของสามัญชน” ขึ้นมาเล่นบนเวที เพื่อให้กำลังใจนักต่อสู้ และเพลง “เราคือเพื่อนกัน” ซึ่งเป็นเพลงที่ทางวงนำมาดัดแปลงเป็นภาษาพม่า หลังจากทราบข่าวการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อ 3 ปีก่อน เพื่อแสดงว่าพวกเขายืนเคียงข้างประชาชนในเมียนมา ให้พี่น้องในเมียนมาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว

นอกจากการปลุกใจให้ฮึกเหิมพร้อมต่อสู้แล้ว หลายวงในงาน Do you Hear the People Sing? ยังนำเสนอมิติแห่งการเยียวยาและให้กำลังใจ ไม่ว่าจะเป็นเพลง “เริ่มใหม่” ที่ให้กำลังใจในวันที่ทุกคนเหนื่อยล้าและสิ้นหวังจากการเดินทางอันยาวไกล หรือ “กระเป๋าเดินทาง” เพลงโทนสดใส รื่นเริง เชิญชวนให้ทุกคนส่งต่อความฝันที่จะสร้างโลกนี้ให้สวยงาม ส่วนวงสามัญชน ก็เล่นเพลง “รุ้ง” ซึ่งเป็นเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อเป็นกำลังใจให้ “รุ้ง ปนัสยา” ที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112

นอกจากนี้ ยังมีมิติของการส่งเสริมสันติภาพ โดยน้ำ คีตาญชลี ได้ถ่ายทอดเรื่องราวภารกิจของศิลปิน ในการสร้างสันติภาพให้กับโลก ตั้งแต่เพลงประจำครอบครัวอย่าง “เสียงจากคีตาญชลี” หรือ “อย่าเด็ดปีกผีเสื้อ” ที่ใช้ผีเสื้อเป็นสัญลักษณ์แทนเด็ก ที่มีเสรี แต่บอบบาง และมักจะตกเป็นเหยื่อในสงครามเสมอ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ตามด้วยเพลง “สันติภาพ” ที่น้ำเป็นผู้เขียนขึ้นเอง เพื่อสื่อสารว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่จากความรุนแรง แต่มาจากแนวทางอหิงสา

คอนเสิร์ตจบลงด้วยเพลงธีมหลักของงาน ได้แก่เพลง Do you Hear the People Sing? ซึ่งเป็นเพลงประกอบละครเวทีและภาพยนตร์ Les Miserables และมีเนื้อหาปลุกใจให้ประชาชนลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ โดยมีปลายทางเป็นความหวัง

แม้ประเด็นเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองจะเป็นเรื่องที่จริงจัง ตึงเครียด และในบางครั้งก็หดหู่และเป็นเส้นทางอันยาวนานน่าท้อใจ แต่คอนเสิร์ต Do you Hear the People Sing? ก็เป็นบทพิสูจน์ว่า เสียงดนตรีกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นย่อมอยู่คู่กัน การเมืองเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดงานศิลปะเพื่อการต่อต้าน ขณะเดียวกัน ศิลปะอย่างดนตรีก็เชื่อมโยงเหล่านักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพเข้าด้วยกัน ช่วยปลอบประโลมจิตใจในยามสิ้นหวัง และสร้างความสุขในยามที่เหน็ดเหนื่อย

และที่สำคัญ ดนตรีและคอนเสิร์ตครั้งนี้ต่างมอบความสุขและความอิ่มเอมใจให้กับทั้งศิลปินและผู้ชมไม่ว่าเชื้อชาติใด เพราะพวกเขารู้ว่า เราต่างไม่ได้ต่อสู้อยู่เพียงลำพัง และตราบใดที่พวกเรายังหัวเราะได้ เผด็จการจะไม่มีวันชนะ

 

แอมเนสตี้ชี้ 3 ปีหลังรัฐประหารยังมีการโจมตีอย่างเนื่องต่อพลเรือนโดยกองทัพเมียนมา

 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยจากการตรวจสอบครั้งล่าสุดพบว่า การโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมาในเวลาประมาณ 10.30 น. ของวันอาทิตย์ที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้พลเรือน 17 คน รวมทั้งเด็ก 9 คนเสียชีวิต ขณะไปเข้าโบสถ์

การโจมตีทางอากาศเกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายใกล้กับโบสถ์เซ็นต์ปีเตอร์แบบติสต์ในหมู่บ้านคานัน ภาคสะกาย ใกล้กับพรมแดนด้านตะวันตกของประเทศติดกับอินเดีย ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 20 คน

พยานให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า ระเบิดชุดแรกทำให้เด็กเสียชีวิตสองคน ระหว่างที่เล่นฟุตบอลในสนามใกล้กับโรงเรียน ผู้เสียชีวิตหลายคนอยู่ระหว่างวิ่งหนีไปหาความปลอดภัย เมื่อเกิดการโจมตีทางอากาศครั้งที่สอง โดยการโจมตีครั้งนี้ทำให้โบสถ์และโรงเรียนเสียหาย รวมทั้งบ้านพลเรือนหกหลัง

โดยแอมเนสตี้ระบุว่า การโจมตีเหล่านี้ต้องถูกสอบสวนในฐานะเป็นอาชญากรรมสงคราม และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติต้องส่งสถานการณ์ในเมียนมาเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ ผู้ก่ออาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศเหล่านี้ต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย”