สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 20-26 มกราคม 2567

30 มกราคม 2567

Amnesty International Thailand

 

สหรัฐฯ: คำสั่งประหารชีวิต ‘เคนเนธ สมิธ’ เป็นการกระทำที่ล้มเหลว โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม เรียกร้องพักการใช้โทษประหารชีวิตทันที หลังผู้เชี่ยวชาญ UN เตือนวิธีการใหม่ยังไม่ผ่านการทดสอบ 


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา ประณามการประหารชีวิตเคนเนธ สมิธในแอละแบมา พร้อมเรียกร้องให้พักการใช้โทษประหารชีวิตเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญ ชี้เป็นเรื่องน่าละอายที่ผู้ว่าไอวีย์ไม่หยุดคำตัดสินของคณะลูกขุนให้กับเคนเนธ สมิธ และหยุดการประหารชีวิต ทั้งที่เธอยังมีโอกาสใช้สิทธิในเสรีภาพที่มีพลัง เพื่อทำให้เกิดการยุติโทษประหารชีวิตสำหรับผู้ที่ถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกัน

สืบเนื่องจากการประหารชีวิตเคนเนธ สมิธ โดยรัฐแอละแบมา จัสติน แมซโซลา นักวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า โทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอประณามสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ‘เคนเนธ สมิธ’ เพราะเป็นการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยชน ทั้งที่คดีความของเขามีข้อกังวลมากมายให้ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริง รวมถึงมีสัญญาณเตือนจากผู้เชี่ยวชาญของ UN เกี่ยวกับวิธีการประหารชีวิตแบบใหม่ที่ยังไม่ผ่านการทดสอบ

“วิธีการประหารชีวิตแบบใหม่ที่ยังไม่ผ่านการทดสอบนี้ เกิดขึ้นหลังจากความพยายามที่ล้มเหลวหลายครั้งในการประหารชีวิตด้วยการฉีดยาพิษในแอละแบมา หนึ่งในความล้มเหลวที่เกิดขึ้นคือการพยายามประหารชีวิตเคนเนธ สมิธเมื่อ 14 เดือนที่ผ่านมารวมอยู่ด้วย” 

จัสติน แมซโซลา นักวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา กล่าวอีกว่า ช่วงเวลาสุดท้ายของเคนเนธ สมิธ ที่ถูกประหารชีวิตไป แสดงให้เห็นถึงการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีสูงสุดของมนุษย์คนหนึ่งที่ถูกกระทำ จึงตั้งคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่ผู้มีอำนาจจะต้องหยุดการทดลองนี้ เพราะสะท้อนถึงความล้มเหลวจากโทษประหารชีวิต โดยแนะนำว่าควรหาทางเลือกอื่นจัดการกับอาชญากรรมที่เป็นต้นตอให้เกิดปัญหา เพื่อทำให้เกิดการปกป้องสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เราขอเรียกร้องให้ทางการของแอละแบมาทำข้อตกลงชั่วคราว เพื่อพักใช้การประหารชีวิตทั้งหมดโดยทันที ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญไปสู่การยกเลิก”

“ข้อบกพร่องเชิงระบบในระบบโทษประหารชีวิตของแอละแบมา ทำให้คดีของเคนเนธ สมิธด่างพร้อยและไม่ได้จบลงแค่เพียงการประหารชีวิตครั้งนี้เท่านั้น เหนือสิ่งอื่นใดโทษประหารชีวิตของเขา ได้รับหลังจากที่ผู้พิพากษายกเลิกคำตัดสินของคณะลูกขุนให้จำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีทัณฑ์บน ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่สภานิติบัญญัติของแอละแบมาและผู้ว่าไอวีย์ สั่งห้ามในปี 2560 แต่เคนเนธ สมิธ และนักโทษประหารคนอื่นๆ ประมาณ 30 คน ที่เป็นผลมาจากการยกเลิกคำตัดสินโดยผู้พิพากษา กลับไม่ได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปดังกล่าว และเราหวังว่าสภานิติบัญญัติของรัฐจะออกร่างกฎหมายที่จะทำให้กฎหมายห้ามการยกเลิกคำตัดสินโดยผู้พิพากษามีผลย้อนหลัง”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/49eXb54

 

-----

 

 

ฮ่องกง: เรียกร้องปล่อยตัว ‘โจว ฮั่ว ถง’ นักกิจกรรมจัดรำลึกเหตุการณ์ ‘เทียน อัน เหมิน’ ชี้ศาลกลับคำพิพากษายกฟ้อง เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม

25 มกราคม  2567

 

จากกรณีที่ศาลอุทธรณ์สูงสุดฮ่องกง กลับคำพิพากษายกฟ้องคดี ‘โจว ฮั่ง ถง’ นักกิจกรรมและทนายความนักเคลื่อนไหวหญิง หนึ่งในแกนนำที่ร่วมจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์นองเลือดบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่งเมื่อปี 2532 ที่ถูกตั้งข้อหายุยงให้ประชาชนร่วมการชุมนุมที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งอาจมีโทษจำคุกตลอดชีวิต ภายใต้กฎหมายความมั่นคงของฮ่องกง

ซาราห์ บรูคส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคจีน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การที่ศาลฮ่องกงกลับคำพิพากษา เป็นเรื่องน่าผิดหวังในกระบวนการยุติธรรม เพราะสะท้อนให้เห็นว่าเกิดการละเมิดหลักนิติธรรมในเมือง แสดงให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ

“คำตัดสินของเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง สะท้อนให้เห็นความอยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมที่มีต่อโจว ฮั่ง ถง นักกิจกรรม เพราะปัจจุบันเธอยังถูกควบคุมตัวอย่างไม่เป็นธรรมในหลายข้อหาภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ จากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ แอมเนสตี้ เรียกร้องให้ทางการฮ่องกง ปล่อยตัวโจว ฮั่ง ถง พร้อมยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมด และรับประกันว่าจะไม่ถูกทรมาน ไม่ถูกกระทำอย่างโหดร้ายหลังได้รับอิสรภาพ”

ซาราห์ ผู้อำนวยการภูมิภาคจีน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวอีกว่า การสั่งห้ามจัดงานรำลึกเหตุการณ์ปราบปรามเทียนอันเหมินเมื่อปี 2564 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในฐานะองค์กรที่ขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก ต้องการให้ทางการฮ่องกงทบทวนคำสั่งดังกล่าว เพราะกังวลว่าจะทำให้ตำรวจมีทางเลือกมาขึ้นในการสลายการชุมนุม และอยากย้ำว่าการชุมนุมโดยสงบไม่ใช้อาชญากรรม แต่เป็นการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกที่ทุกคนสามารถทำได้

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/49fxMIO

 

-----

 

 

ศรีลังกา: กฎหมายความปลอดภัยออนไลน์ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เข้าข่ายละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนครั้งใหญ่

24 มกราคม  2567

 

จากกรณีที่ประเทศศรีลังกาผ่านร่างกฎหมายความปลอดภัยออนไลน์ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ด้านเทจี รูวันปาติรานา นักวิจัยภูมิภาคประจำเอเชียใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การที่ร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ในศรีลังกา รัฐบาลอาจใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือหรืออาวุธในการเอาผิดหรือสกัดกั้นไม่ให้ประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกในโลกออนไลน์ แอมเนสตี้เรียกร้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องยกเลิกกฎหมายนี้ทันที และให้หลักประกันว่าจะเคารพสิทธิมนุษยชนของทุกคนในประเทศ

“เนื้อหาของกฎหมายนี้พบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มีการตั้งบทบัญญัติที่กว้างเกินไป อาจทำให้การใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและความเป็นส่วนตัวทางออนไลน์ของประชาชนถูกผิดกั้น รวมถึงในตัวกฎหมายพบการใช้คำคลุมเครือ เช่น 'ข้อความต้องห้าม' ที่ถูกกำหนดและประกาศโดย 'คณะกรรมการความปลอดภัยออนไลน์' ที่มีอำนาจยังไม่ชัดเจนเรื่องการให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองและความเป็นส่วนตัว ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ศรีลังกาเป็นรัฐภาคี”

เทจี รูวันปาติรานา นักวิจัยภูมิภาคประจำเอเชียใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวอีกว่า ขณะที่คนกำลังต่อสู้และเกิดความกังวลท่ามกลางความยากลำบากในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของศรีลังกา ที่รัฐบาลออกมาตรการให้ประชาชนรัดเข็มขัดเพื่อชีวิตที่อยู่รอด แต่กฎหมายฉบับนี้จะพร้อมสำหรับการใช้งานในทางที่ผิด เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ประชาชนที่เห็นต่างวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในปีแห่งการเลือกตั้ง แอมเนสตี้ อยากให้ทางการศรีลังกาทบทวนเจตจำนงทางการเมือง ที่จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีและคำมั่นสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ด้วยการให้หลักประกันว่า จะเคารพสิทธิมนุษยชนทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเลือกตั้ง

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3UjiQFe

 

-----

 

อิสราเอล: เรียกร้อง ‘หยุดฆ่าล้าเผ่าพันธุ์ชาวปาเลนไตน์’ ในฉนวนกาซา สั่งอิสราเอลทำตามคำตัดสินศาลโลก (ICJ) ทันที

26 มกราคม  2567

 

จากกรณีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) มีคำสั่งตัดสินเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมาว่า จะใช้มาตรการชั่วคราวเพื่อหยุดคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของอิสราเอลที่ถูกฟ้องร้องโดยแอฟริกาใต้ เพื่อทำให้เรื่องนี้เป็นก้าวสำคัญช่วยปกป้องชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ที่ถูกยึดครองจากความทุกข์ทรมานและอันตราย จนไม่สามารถเยียวยาแก้ไขได้ ประเด็นนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวในวันเดียวกันว่า คำตัดสินที่สั่งให้ใช้มาตรการชั่วคราว 6 ประการ ที่รวมไปถึงให้ทางการอิสราเอล หยุดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ภายใต้อนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และหันมาป้องกันและลงโทษกลุ่มที่ยั่วยุให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทั้งหมด

แอมเนสตี้ ย้ำว่า การใช้มาตรการต่างๆ โดยเฉพาะอนุสัญยาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จะเป็นหลักประกันว่าทุกคนในฉนวนกาซาจะได้รับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทันทีและมีประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ศาลยังสั่งให้อิสราเอลเก็บรักษาหลักฐานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และส่งรายงานมาตรการทั้งหมดที่ดำเนินการตามคำสั่งต่อศาลภายในหนึ่งเดือน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีตามหลักสิทธิมนุษยชน

“คำตัดสินวันนี้เป็นเครื่องย้ำเตือนถึงบทบาทที่สำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศในการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการปกป้องเหยื่อของอาชญากรรมที่โหดร้าย ทำให้เห็นชัดเจนว่าโลกจะไม่นิ่งเฉยต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่อิสราเอลเปิดปฏิบัติการทางทหารอย่างโหดเหี้ยม เพื่อทำลายล้างประชาชนในฉนวนกาซา ด้วยการใช้วิธีปลดปล่อยความตาย ความหวาดกลัว และความทุกข์ทรมานไปสู่ชาวปาเลสไตน์ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน” แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า คำตัดสินของ ICJ เพียงอย่างเดียวยุติความโหดร้ายและความหายนะที่ชาวกาซากำลังเผชิญไม่ได้ เพราะการที่อิสราเอลเพิกเฉยต่อกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน เป็นสัญญาณที่น่าตกใจของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในฉนวนกาซา จึงต้องการเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วน กดดันอิสราเอลให้หยุดการโจมตี หยุดยิงชาวปาเลสไตน์ทันที โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากศาล เพราะเชื่อว่าเป็นเงื่อนไขที่มีประสิทธิผลมากที่สุด ในการดำเนินมาตรการชั่วคราวและยุติความทุกข์ทรมานของประชาชนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

“สถานการณ์มีความเสี่ยงสูงมาก มาตรการชั่วคราวของ ICJ ระบุว่าในมุมมองของศาล ความอยู่รอดของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาตกอยู่ในความเสี่ยง รัฐบาลอิสราเอลจะต้องปฏิบัติตามคำตัดสินของ ICJ ทันที ทุกประเทศ รวมถึงประเทศที่วิพากษ์วิจารณ์หรือคัดค้านการยื่นฟ้องคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของแอฟริกาใต้ มีหน้าที่ที่ชัดเจนในการประกันว่า มาตรการเหล่านี้จะถูกนำมาปฏิบัติ โดยผู้นำโลกจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปจะต้องแสดงความเคารพต่อคำตัดสินที่มีผลผูกพันทางกฎหมายของศาล และทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีในการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การไม่สามารถทำเช่นนั้นได้จะกระทบต่อความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจในระเบียบกฎหมายระหว่างประเทศ”

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกประเทศต้องทำให้ข้อเรียกร้องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อป้องกันอาชญากรรมระหว่างประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ รวมถึงการค้าอาวุธกับอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์อย่างครอบคลุม

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3UkiHkN

 

-----

 

อินเดีย: เรียกร้องรัฐบาลหยุดนโยบายเลือกปฏิบัติ รื้อถอนทรัพย์สินของชาวมุสลิมอย่างไม่ชอบธรรม

24 มกราคม  2567

 

หลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในชุมชนชาวมุสลิมในอินเดีย จากการชุมนุมของชาวฮินดูในเมืองมุมไบ เมืองหลวงของอินเดีย จนทำให้ทรัพย์สินและที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายเมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา อาคาร์ ปาเตล ประธานคณะกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเดีย กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าตกใจที่พบการลอยนวลพ้นผิดของทางการอินเดีย ที่ใช้นโยบายเลือกปฏิบัติลงโทษรื้อถอนทรัพย์สินของชาวมุสลิมโดยพลการ ภายหลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในชุมชน ซึ่งการกระทำที่เกิดขึ้นยังพบว่ามีคนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาโดยที่ไม่มีหมายจับ ซึ่งถือเป็นการละเมิดหลักนิติธรรมครั้งใหญ่

“ทางการอินเดียต้องยุตินโยบายใช้การไล่รื้อถอนนี้ เป็นข้ออ้างในการกำหนดเป้าหมายไปที่ชาวมุสลิมโดยทันที และให้หลักประกันกับทุกคนว่ามีการใช้มาตรการป้องกันการบังคับขับไล่ ตามที่ระบุไว้ในมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิด้านเศษรฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งพบว่าอินเดียเป็นหนึ่งในรัฐภาคี ที่ลงนามห้ามมิให้มีการบังคับขับไล่ หากเกิดขึ้นจะต้องจ่ายค่าชดเชยที่เพียงพอให้กับทุกคนที่ได้รับผลกระทบโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ และนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ”

อาคาร์ ปาเตล ประธานคณะกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเดีย กล่าวทิ้งท้ายว่า อินเดียต้องเร่งให้หลักประกันว่า ผู้ที่รับผิดชอบในการยุยงให้เกิดความรุนแรงและทำลายทรัพย์สิน จะถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมผ่านการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม โดยเป็นหน้าที่ของรัฐในการปกป้องทุกคนที่อยู่ในเขตอำนาจของตน รวมถึงชุมชนชนกลุ่มน้อย

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/48ReGbP