"ช่วยโลกกี่ครั้งก็ยังไหว" แอมเนสตี้เปิดตัวคู่มือสุขภาวะนักเคลื่อนไหวทางสังคม

30 มกราคม 2567

Amnesty International Thailand

27 มกราคม 2567 แอมเนสตี้จัดกิจกรรมเสวนา “ช่วยโลกกี่ครั้งก็ยังไหว (ไหมนะ?)” พร้อมเปิดตัวหนังสือ “ช่วยโลกกี่ครั้งก็ยังไหว: คู่มือดูแลรักษากายและใจของนักเคลื่อนไหวทางสังคม”

พ.ศ.2563 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 เกิดเหตุการณ์ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่นคือการชุมนุมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่หลายครั้งเกือบตลอดทั้งปี ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความไม่พอใจการบริหารจัดการสถานการณ์โรคระบาดของรัฐบาลในเวลานั้น การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่นี้ ส่งผลให้มีนักเคลื่อนไหวถูกจับกุมตัวและดำเนินคดีเป็นจำนวนกว่าพันคน บางส่วนในนั้นเป็นเด็กและเยาวชน

แรงกดดันจากภารกิจเคลื่อนไหวทางสังคม ความขัดแย้งกับครอบครัวและคนรอบข้างจากมุมมองทางการเมืองที่แตกต่าง รวมถึงการถูกดำเนินคดี ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ “สุขภาวะ” (well-being) ของนักเคลื่อนไหวทางสังคม โดยเฉพาะเยาวชน ที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น

 

นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่เจออะไรกันบ้าง

 

 

ธเนศ ศิรินุมาศ หัวหน้าฝ่าย Learning Community สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) เป็นหนึ่งในผู้ที่ทำงานร่วมกับเยาวชน กล่าวว่า ปัญหาหลักที่นักเคลื่อนไหวทางสังคมรุ่นใหม่เผชิญ ได้แก่ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งความรู้สึกสงสัยในตัวเอง เมื่อการเคลื่อนไหวไม่ได้เป็นไปอย่างรวดเร็วอย่างใจคิด

“คนรุ่นใหม่จะมีความเชื่อ ความฝัน อยากให้จบในรุ่นเรา แต่พอทุกอย่างมันเกิดขึ้นช้าๆ จะรู้สึกอึดอัด จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอหรือเปล่า ถึงทำไม่สำเร็จ”

นอกเหนือจากการชุมนุมทางการเมือง คนรุ่นใหม่เหล่านี้ยังมีชีวิตอีกด้านหนึ่ง ทั้งเรื่องการเรียน ความรัก ครอบครัว รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนรุ่นใหม่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ณิชกานต์ รักวงษ์ฤทธิ์ หรือ “มีมี่” นักกิจกรรมเฟมินิสต์ ก็ได้กล่าวถึงประสบการณ์การถูกโจมตีจากการเคลื่อนไหว ซึ่งไม่เพียงแต่ถูกโจมตีอุดมการณ์ทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังถูกโจมตีเรื่องเพศ รูปร่างหน้าตา ไปจนถึงการถูกดำเนินคดีทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียด มีมี่และนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ กลับไม่สามารถหยุดพักได้ แม้แต่คำว่า “สุขภาวะ” ก็ยังไม่เคยได้ยินในขบวนการเคลื่อนไหว

“ขบวนประชาธิปไตยตอนนี้ยังใช้ dominant culture อยู่ ก็คือยังมีวัฒนธรรมการใช้อำนาจเหนือ เช่น การกดดันให้ต้องสู้ ต้องไปต่อ ไม่พัก หรือเรากำลังทำเพื่อประเทศชาติ เราจะมาอ่อนแอ หรือแสดงความรู้สึกไม่ได้ การขอความช่วยเหลือถูกตีตราว่าเป็นความอ่อนแอ”

“เราอาจจะไม่รู้ว่า ในแต่ละวันเราโดนความรุนแรงบางอย่างโดยที่เราไม่รู้ตัว การที่ถูกบอกว่าต้องสู้สิ พักไม่ได้ พรุ่งนี้ต้องไป ต้องจัดม็อบอีก จริงๆ แล้วมันทำให้เหนื่อยมาก เรารู้ว่าหลายคนที่เราคุยด้วยเหนื่อย แต่เขาพักไม่ได้ เพราะว่าขบวนมันขึ้น เราต้องไป จังหวะนี้มันมี มันต้องจบที่รุ่นเรา” นาริฐา โภไคยอนันต์ เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายกิจกรรมและสิทธิมนุษยชนศึกษา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวเสริม

 

“ช่วยโลกกี่ครั้งก็ยังไหว: คู่มือดูแลรักษากายและใจของนักเคลื่อนไหวทางสังคม”

จากแรงกดดันต่างๆ ที่นักเคลื่อนไหวต้องเผชิญ จะเห็นได้ว่า ประเด็นเรื่องสุขภาวะ หรือ  well-being ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญของสังคมนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหว และยังเป็นความท้าทายของสังคมโดยรวมด้วย

ดังนั้น ในปี 2021 แอมเนสตี้ได้จัดทำคู่มือดูแลสุขภาวะของนักเคลื่อนไหวทางสังคม และคู่มือนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และล่าสุดคือภาษาไทย โดยใช้ชื่อว่า “ช่วยโลกกี่ครั้งก็ยังไหว: คู่มือดูแลรักษากายและใจของนักเคลื่อนไหวทางสังคม” ซึ่งมีแนวคิดหลักคือ การเคลื่อนไหวและความสุขในการทำงานสามารถเกิดไปพร้อมๆ กันได้

“ช่วยโลกกี่ครั้งก็ยังไหว: คู่มือดูแลรักษากายและใจของนักเคลื่อนไหวทางสังคม” ประกอบด้วยเนื้อหาหลัก 3 ส่วน ได้แก่ กรณีศึกษาเกี่ยวกับสุขภาวะของนักเคลื่อนไหวทั่วโลก หลักการสำรวจสุขภาวะของตัวเอง ที่มีแบบฝึกหัดเกี่ยวกับการดูแลสุขภาวะ และวิธีการดูแลสุขภาวะของตัวเอง อย่างไรก็ตาม สำหรับเวอร์ชันภาษาไทย ได้มีการปรับเนื้อหาให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย และเพิ่มเติมเนื้อหาส่วนที่ 4 คือข้อมูลการดูแลสุขภาวะ จากกลุ่มการเมืองหลังบ้านและบ้านฟื้น ซึ่งเป็นพันธมิตรกับแอมเนสตี้ด้วย

“หนังสือเล่มนี้จะขีดคำว่าคู่มือออก เพราะว่ามันเป็นทั้งหนังสือ เป็นทั้งคู่มือ แต่มันเป็นคู่มือที่เราสามารถเอาไปปรับแก้ เติมได้ เป็นของเราโดยเฉพาะเลย มีช่องว่างให้เขียนชื่อ หนังสือเล่มนี้มีเครื่องมือเยอะมาก ไม่จำเป็นต้องอ่านจากหน้าหนึ่งถึงหน้าสุดท้าย แต่ว่าลองเปิดสารบัญก่อน มีส่วนไหนที่บอกว่า ช่วงนี้ฉันเจออะไรประมาณนี้หรือเปล่านะ ก็ลองไปเปิดได้ มันมีหลายส่วนมากที่มันเชื่อมโยงกับการทำงานของเรา” นาริฐากล่าว

 

ดูแลสุขภาวะอย่างไรให้เคลื่อนไหวทางสังคมได้ด้วย

เพราะการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นงานที่ต้องเผชิญกับความรุนแรง อุปสรรค และความท้าทายอยู่ตลอดเวลา กระนั้น ในฐานะพลเมืองของโลก เราก็อดไม่ได้ที่จะต้องลงมือทำสิ่งต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น แม้จะถูกกัดกร่อนตัวตนอยู่ตลอดเวลาก็ตาม ผู้ร่วมเสวนาจึงช่วยกันให้แนวทางในการดูแลสุขภาวะของนักกิจกรรม ดังนี้

 

(1)  เปลี่ยนทัศนคติ “เราไม่ใช่ซูเปอร์ฮีโร่”

 

 

นาริฐาเล่าว่า ในช่วงปีแรกของการทำงาน เธอทุ่มเททำงานใกล้ชิดกับนักกิจกรรมแทบจะตลอด 24 ชม. จนกระทั่งร่างกายเหนื่อยล้า ดังนั้น เธอจึงสร้างขอบเขตของตัวเอง เพื่อรักษาสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและงานดูแลนักกิจกรรม

“หนังสือเล่มนี้บอกในบทแรกว่า เปลี่ยนความคิดว่าเราเป็นยอดมนุษย์ เราเป็นคนธรรมดาที่ห่วงใยโลก ห่วงใยสังคม เราไม่ใช่ยอดมนุษย์ แต่ว่าเรามีการเข้าถึงทรัพยากรบางอย่าง เราเลยทำงานได้”

“ช่วงหลังเราจะบอกคนที่ทำงานด้วยว่า เราทำงานจันทร์-ศุกร์ เพราะฉะนั้น เสาร์อาทิตย์เราอาจจะตอบข้อความช้าหรือไม่ตอบ ถ้าด่วนจริงๆ โทรมาได้ แต่ถ้าไม่ด่วน ช่วยรอเราหน่อย วันจันทร์เราจะมาตอบแน่ๆ เราสร้างขอบเขตเหมือนกัน แต่เรารู้ว่างานเรามันจะเดินต่อ เพราะว่าเรามีทีม เราไว้ใจทีมเราว่าจะช่วยสานต่อได้ แล้วเราไม่รู้สึกผิดแล้ว เมื่อก่อนเราจะรู้สึกว่า เราไม่อยู่แล้วจะเป็นอะไรหรือเปล่า ไม่เป็นค่ะ เชื่อเรา เราไม่ใช่ซูเปอร์ฮีโร่” นาริฐากล่าว

 

(2)  สื่อสาร “ไม่ไหวบอกไม่ไหว”

“การที่เรามองเห็นว่าเราไม่ไหว คือความสำเร็จอย่างหนึ่งแล้ว ส่วนที่สองคือ การขอความช่วยเหลือเป็นเรื่องยาก แล้วก็การที่เราจะหยุดพัก เราก็กังวลว่าจะทำให้คนอื่นทำงานหนักกว่าเดิม เรารู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารกันภายในกลุ่ม ดังนั้นการสื่อสารที่มีระบบหรือมีวัฒนธรรมที่มารองรับแต่แรก มันจะช่วยได้มาก อย่างเช่น ตอนเราทำกิจกรรมกับเพื่อน เราจะตั้งข้อตกลงกันไว้เลยว่า ถ้าไม่ไหวก็ให้บอก ถ้าจำนวนงานเท่านี้ เราเหลือกันเท่านี้ ทำไม่ไหว ก็ตัดออก เรามองว่าเราต้องมองเป็นระยะยาวมากกว่าว่า มันคือการต่อสู้ระยะยาว” มีมี่กล่าว

 

(3)  Deep Listening รับฟังอย่างตั้งใจ

 

 

มีมี่เป็นนักกิจกรรมเยาวชนที่ผ่านการทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมมานาน เธอและเพื่อนๆ ประสบกับความรุนแรงมาหลายครั้ง จนตัดสินใจทำ “วงอ้วก” ขึ้นมา

“มันมีจุดพีคมากๆ คือทุกคนเจอความรุนแรง เราก็ทำสิ่งที่เรียกว่า ‘วงอ้วก’ ขึ้นมา คือเป็นวงที่มีการทำ deep listening หรือการรับฟังอย่างตั้งใจ อาจจะแค่เปิดหัวข้อมา หรือตั้งคำถามมา แล้วก็ชวนทุกคนมาแชร์เรื่องราวในช่วงเวลานั้นด้วยกัน เราก็ทำวงอ้วกกันทุกเดือน” มีมี่เล่า

 

(4)  Check-in วันนี้ “รู้สึก” อย่างไร

“เราอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคม เราก็จะไม่สร้างปัญหาใหม่ ไม่ใช่เราทุ่มสุดตัวจนเราป่วย”  ธเนศเล่าแนวคิดที่ใช้ในองค์กร

ธเนศเล่าว่า SYSI พยายามสร้างวัฒนธรรมให้แทรกซึมเข้าไประหว่างกระบวนการ โดยเฉพาะการ check-in หรือการบอกความรู้สึกของแต่ละคนในขณะนั้น

“เริ่มจากให้เขารู้คำศัพท์ว่าอารมณ์ต่างๆ มันคืออะไร ถ้าเขารู้สึกไม่ดี เขากำลังรู้สึกหวาดระแวงอยู่นะ อะไรอย่างนี้ครับ ให้ระบุคำเหล่านี้ได้ แล้วก็เริ่มติดตั้งเครื่องมือการฟังกันและกัน การเท่าทันตัวเองได้ และการได้ฟังคนอื่น ทำให้เขารู้ว่า ถ้าจะแก้ปัญหาให้ชุมชน สังคม เขาต้องฟังความรู้สึกของคนเหล่านั้น มันก็จะกลับมาตอบในตัวงานได้”

“SYSI มองเรื่องนี้เป็นองค์รวม ถ้าเกิดสุขภาพร่างกาย จิตใจเราไม่พร้อม เราก็ไม่สามารถทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมตามที่เราฝันได้ ดังนั้น เราเลยต้องกลับมาเช็คตัวเองอยู่เสมอครับ แล้วไม่ได้เช็คแค่ความรู้สึก เราเช็คร่างกายด้วย ว่าตอนนี้ตรงเท้าเรารู้สึกอย่างไร ตรงไหนเราเกร็งอยู่หรือเปล่า ตอนนี้เหน็บกิน เรากำลังกดดันอะไรหรือเปล่า แล้วเราก็ผ่อนคลาย” ธเนศกล่าว

 

(5)  พักผ่อนนอกสถานที่ (Retreat)

นอกจากการ check-in แล้ว SYSI ยังมีกระบวนการพาผู้เข้าร่วมไป “รีทรีต” หรือพักผ่อนนอกสถานที่ เช่น ทะเล ให้ผู้เข้าร่วมได้อยู่กับธรรมชาติ และระบายความรู้สึกผ่านศิลปะ ซึ่งกระบวนการนี้ต้องอาศัยการพูดคุยทำความเข้าใจกับแหล่งทุนด้วย ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอข้อมูลเชิงตัวเลข เกี่ยวกับผลกระทบของการขาดสุขภาวะที่มีต่อประสิทธิภาพของงาน หรือการพาแหล่งทุนไปสังเกตการณ์การรีทรีตด้วยตนเอง เพื่อให้เห็นว่า การรีทรีตช่วยเติมพลังให้ผู้เข้าร่วมพร้อมที่จะเรียนรู้และทำงานต่อ

“จริงๆ แหล่งทุนส่วนใหญ่เขาก็รับฟัง เขาก็อยากรู้ อยากเข้าใจเรา แต่ถ้ากรณีคนใหม่เลย ยังไม่รู้จักกัน เราก็จะสร้างวัฒนธรรมการฟัง เพราะไม่ใช่แค่คนที่มีปัญหาแล้วไม่กล้าเล่าอย่างเดียว มันต้องมีพื้นที่ทำให้เขากล้าออกจากจุดนั้นด้วย พอสร้างวัฒนธรรมการฟัง ความกล้าจะเกิดขึ้นทันที ความเข้าใจจะเกิดขึ้นทันที” ธเนศกล่าว

แม้จะดูเหมือนว่า การสร้างสุขภาวะจะเป็นเรื่องของปัจเจก แต่ที่จริงแล้ว เรื่องสุขภาวะถือเป็นเรื่องของคนทั้งสังคม

“เรื่องของสุขภาวะมันเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างวัฒนธรรม แต่สิ่งนี้จะมีคนอินหรือไม่อินก็ได้ เครื่องมือนี้จะใช้แล้วมันไม่เหมาะกับเรา ก็เป็นเรื่องปกติมากๆ แต่ว่าอย่างน้อยเราต้องมีระบบหรือมีโครงสร้างมารับรองสุขภาวะของเพื่อนๆ ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงหรือมีความรุนแรงเกิดขึ้น จะใช้แล้วไม่ได้ผลไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยมันต้องมี” มีมี่สรุป