สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 8 เมษายน - 14 เมษายน 2566

17 เมษายน 2566

Amnesty International

 

เมียนมา : ความจำเป็นเร่งด่วนในการระงับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน 

11 เมษายน 2566

 

สืบเนื่องจากการรายงานการโจมตีทางอากาศอย่างโหดร้ายในเมืองกันต์บาลู  แคว้นสะกาย 

มอนต์เซ แฟร์เรอร์ นักวิจัยและที่ปรึกษาด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า 

“รายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับการโจมตีทางอากาศที่ร้ายแรงในแคว้นสะกายนั้นน่าสะพรึงกลัว การโจมตีทางอากาศโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่สังหารและทำร้ายพลเรือน ไปจนถึงทำลายบ้านเรือน ถือเป็นเครื่องหมายของกองทัพเมียนมา ซึ่งดำเนินไปอย่างน่ารังเกียจเพื่อทำลายการต่อต้านและสร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชากร พลเรือนเมียนมาต่างต้องแบกรับความรุนแรงของกลวิธีที่น่าสะอิดสะเอียนเหล่านี้”

“การโจมตีทางอากาศอย่างต่อเนื่องทั่วเมียนมา เน้นย้ำถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการระงับการนำเข้าเชื้อเพลิงอากาศยาน แอมเนสตี้ขอย้ำถึงการเรียกร้องให้ทุกรัฐและธุรกิจต่างๆ ยุติการส่งสินค้าที่อาจตกไปอยู่ในมือของกองทัพอากาศเมียนมา ห่วงโซ่อุปทานนี้ก่อให้เกิดการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงอาชญากรรมสงคราม และจะต้องหยุดชะงักเพื่อช่วยชีวิตผู้คน” 

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/41qmBc1 

 

-----

 

 

เวียดนาม : นักข่าวอิสระ เหงียน ลัน แทง ต้องโทษจำคุกสูงสุด 12 ปี

10 เมษายน 2566

 

ก่อนการพิจารณาคดีของนักข่าวอิสระและนักกิจกรรม เหงียน ลัน แทง ผู้ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหา “ต่อต้านรัฐ” ในเดือนกรกฎาคม 2022 หลังจากรายงานการชุมนุมประท้วงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม

มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานภูมิภาค ฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า

“เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่ เหงียน ลัน แทง ได้บันทึกการชุมนุมประท้วงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม ท่ามกลางการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง การเคลื่อนไหวอย่างสันติและการรายงานของเขาควรได้รับการยอมรับในฐานะส่วนหนึ่งของการอภิปรายสาธารณะที่ชอบด้วยกฎหมาย ทว่าเขากลับต้องเผชิญกับโทษจำคุกหลายปี” 

“การพิจารณาคดีของ เหงียน ลัน แทง อย่างไม่เป็นธรรมแสดงให้เห็นว่าทางการเวียดนามกำลังปิดปากผู้ผลิตเนื้อหาที่พวกเขามองว่า “เป็นภัย” ไม่เพียงเท่านี้ เขายังถูกจำกัดสิทธิในการปรึกษาทนายความอย่างเป็นอิสระ ไปจนถึงการติดต่อกับครอบครัว”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3KDtksm 

 

-----

 

 

จีน : โทษจำคุกอย่างหนักต่อนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนถือเป็นเรื่อง “น่าอับอาย”

10 เมษายน 2566

 

สืบเนื่องจากการต้องโทษจำคุกอันยาวนานของซู ฉียอง นักวิชาการด้านกฎหมายจีน และดิง จาชี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน 

อัลคัน อาคารด์ นักวิจัยประจำประเทศจีน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า

“การตัดสินลงโทษที่น่าอับอายต่อ ซู ฉียอง และ ดิง จาชี นักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนสำคัญของจีนนับว่าเป็นการละเมิดสิทธิของพวกเขาในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบอย่างโจ่งแจ้ง พวกเขาควรได้รับการปล่อยตัวในทันทีและไม่มีเงื่อนไข”

“ไม่ควรมีใครถูกจำคุกเพียงเพราะเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ และเผชิญกับการทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายขณะถูกคุมขังโดยพลการเป็นเวลาหลายปี ขณะนี้ซู ฉียอง และ ดิง จาชี ต่างถูกคุมขังมากกว่า 10 ปีจากการพิจารณาคดีที่เข้มงวดและไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะ”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/416ByjV 

 

-----

 

โมร็อกโก: นักข่าวต้องโทษจำคุก 3 ปีฐานโพสต์เฟซบุ๊ก

10 เมษายน 2566

 

สืบเนื่องจากการพิจารณาคดีของนักข่าว ฮาเนน์ บาคอร์ ที่ต้องโทษจำคุกสูงสุดสามปีและถูกปรับหลังจากถูกดำเนินคดีในข้อหา “เผยแพร่ข่าวปลอมโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตส่วนตัว” จากการโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นของพรรครัฐบาลบนเฟซบุ๊ก

เฮบา โมราเยฟ ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ กล่าวว่า

“เป็นเรื่องที่น่าตกใจและไร้เหตุผล ที่นักข่าวคนหนึ่งจะถูกตั้งข้อหาทางอาญาจากการโพสต์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์พรรคการเมืองหลักของโมร็อกโก ฮาเนน์ บาคอร์ มีสิทธิในการแสดงออกหรือสื่อสารความรู้สึกนึกคิดของเธอ แม้ว่าเหล่านักการเมืองจะไม่เห็นด้วยก็ตาม”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3GIUYTO 

 

-----

 

ไนจีเรีย : 9 ปีหลังจากกลุ่มโบโก ฮาราม ลักพาตัวนักเรียนหญิงในชิบก 

14 เมษายน 2566

 

9 ปีหลังจากกลุ่มโบโก ฮาราม ลักพาตัวนักเรียนหญิง 276 คนจากโรงเรียนหญิงล้วนในชิบก ขณะนี้เด็กหญิงจำนวน 98 คนยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ ท่ามกลางคดีลักพักตัวที่เกิดขึ้นอีกมากมาย สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของทางการไนจีเรียในการรับมือกับการก่อเหตุในลักษณะเดียวกันและความพยายามในการปกป้องเด็กๆ 

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น โรงเรียนอีกหลายแห่งถูกตกเป็นเป้าหมายในการโจมตีของกลุ่มโบโก ฮาราม และกลุ่มติดอาวุธเรื่อยมา มีเด็กหญิงจำนวนมากถูกลักพาตัว ข่มขืน ฆ่า หรือแม้กระทั่งบังคับให้ “แต่งงาน” ท่ามกลางการเพิกเฉยของทางการไนจีเรียที่ไม่ได้มีการดำเนินการสอบสวนเกี่ยวกับความปลอดภัยที่ทำให้เด็กๆ มีความเสี่ยงต่อการกระทำที่โหดร้ายจากกลุ่มต่างๆ แต่อย่างใด 

“ผู้ปกครองของนักเรียนหญิงโรงเรียนชิบก 98 คนที่ยังคงถูกกลุ่มโบโก ฮาราม กักขังไว้ เช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆ ที่ถูกกลุ่มติดอาวุธลักพาตัวไป ต้องทนทุกข์ทรมานกับความปวดร้าว เพราะรู้ว่าลูกของพวกเขาตกอยู่ในเงื้อมมือของบุคคลที่โหดร้ายทารุณ” Isa Sanusi รักษาการผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไนจีเรีย กล่าว

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/40eYc8k