'เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน' ยื่นหนังสือ UN หนุนเรียกร้องรัฐบาลไทย ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน คดีการเมือง - ม. 112 ภายในสิ้นปี 2567

22 มกราคม 2567

Amnesty International Thailand

ภาพถ่าย : ชนากานต์ เหล่าสารคาม / TNP

 

‘เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน’ ยื่นหนังสือถึง UN หนุนเรียกร้อง ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทย ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ปล่อยตัวประชาชน นักกิจกรรม ข้อหาคดีการเมือง - ม. 112 พร้อมชวนคนไทยติดแฮชแท็ก #นิรโทษกรรมประชาชน เพื่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นหนึ่งในเครือข่าย ได้เดินทางไปที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ถ.ราชดำเนินนอก เขตพระนคร กรุงเทพฯ ยื่นหนังสือถึงสำนักข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชน เพื่อเรียกร้องถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ยกเลิกข้อกล่าวหาประชาชนและนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 (หมิ่นประมาทกษัตริย์) แห่งประมวลกฎหมายอาญา และข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบทุกคน

การเดินทางไปยื่นหนังสือและอ่านแถลงการณ์ครั้งนี้ นำโดยรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ตัวแทนนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกดำเนินคดีในมาตรา 112, มายด์ ภัสราวดี ธนกิจวิบูลย์ผล อัครชัย ชัยมณีการเกษ หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศและนโยบายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และตัวแทนจากเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน โดยข้อเรียกร้องครั้งนี้มีเป้าหมายใหญ่คือการขอให้รัฐบาลสนับสนุนสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนทุกคน ด้วยการผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ให้ได้ก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงการรณรงค์หาเสียงสมัครเข้าเป็นสมาชิกคระมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก่อนการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม พ.ศ.2567 

“ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมอันนี้ อาจหมายถึงชีวิตทั้งชีวิต เวลาเราเข้าคุกเราไม่ได้เข้าคนเดียวแต่มันคือครอบครัวของเราด้วย และไม่ใช่แค่ครอบครัวรุ้งแต่นั้นหมายถึงครอบครัว คนที่ถูกดำเนินคดีกว่า  1,000 คน” รุ้ง ปนัสยา กล่าวต่อตัวแทนของสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN)

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเกิดจากความร่วมมือจากองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรด้านกฎหมาย นักวิชา และนักกิจกรรม กว่า 20 องค์กร มีจุดยืนคือการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนถึงรัฐบาลให้เห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้เกิดการคลี่คลายด้วยการปล่อยตัวชั่วคราวประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีทางการเมืองและคดีมาตรา 112 ทุกคน เพื่อสร้างความปรองดองในประเทศไทยให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

 

โดย เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน มีข้อเรียกร้องถึงสหประชาชาติ ดังนี้

  1. สนับสนุนให้รัฐบาลไทยรับประกันสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ตามข้อบทที่ 19 และข้อบทที่ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
  2. สนับสนุนให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีต่อผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงออกทางความคิดและการชุมนุม
  3. สนับสนุนให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง โดยรวมไปถึงเด็กและเยาวชนที่ถูกคุมขังสืบเนื่องมาจากการแสดงออกทางการเมือง
  4. สนับสนุนให้รัฐบาลไทยทบทวนและแก้ไขมาตรา 112 (หมิ่นประมาทกษัตริย์) แห่งประมวลกฎหมายอาญา เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ข้อเรียกร้องดังกล่าวสอดคล้องกับข้อแนะนำภายใต้กระบวนการพิเศษแห่งสหประชาชาติ รวมถึงคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ
  5. สนับสนุนให้มีการผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน ภายในปี พ.ศ. 2567 

 

ทั้งนี้ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) ยืนยันเบื้องต้นว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของสหประชาชาติว่า ไม่ควรมีใครถูกดำเนินคดีและถูกคุมขังเพียงเพราะใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม และตลอดปีนี้แอมเนสตี้ ชวนคนไทยติดแฮชแท็ก #นิรโทษกรรมประชาชน #AmnestyPeople และ #FreeRatsadon เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบในประเทศไทย

 

ภาพถ่าย : ณัฐพล โลวะกิจ / SPACEBAR 

 

ภาพถ่าย : ณัฐพล โลวะกิจ / SPACEBAR