วันยุติโทษประหารชีวิตสากล ปี 2566: ยุติการใช้โทษประหารชีวิตที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการเลือกปฏิบัติในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

10 ตุลาคม 2566

Amnesty International Thailand

วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันยุติโทษประหารชีวิตสากล (World Day Against the Death Penalty) ในปีนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยแพร่รายงานใหม่ว่าด้วย [LINK] การใช้โทษประหารชีวิตสำหรับความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และโทษดังกล่าวถูกนำมาใช้โดยมีการเลือกปฏิบัติ ถึงอย่างนั้น ยังคงมีการประหารชีวิตในคดียาเสพติดเกิดขึ้นหลายร้อยครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบโดยไม่ได้สัดส่วนต่อประชากรกลุ่มเปราะบางในสังคม และมักเป็นกระบวนการที่ละเมิดมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการพิจารณาที่เป็นธรรม

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ขอเรียกร้องอีกครั้งให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ยังคงใช้การลงโทษที่ทารุณเช่นนี้ ให้จัดทำข้อตกลงชั่วคราวเพื่อพักใช้การประหารชีวิต โดยทันที ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งหมด และเรียกร้องรัฐบาลทั่วโลกให้งดเว้นการใช้มาตรการเชิงลงโทษสำหรับความผิดด้านยาเสพติด โดยหันมาใช้มาตรการทางเลือกที่ให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสาธารณสุขที่ดีขึ้น

 

การประหารชีวิตที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายสำหรับความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดกำลังเพิ่มขึ้น

ระหว่างที่ยังไม่มีการยุติการใช้โทษประหารชีวิตอย่างสิ้นเชิง กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศจำกัดให้ใช้โทษประหารได้เฉพาะกับ “อาชญากรรมที่ร้ายแรงสุด”[1] เป็นข้อจำกัดที่ได้รับการตีความอย่างเด็ดขาดจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาชาติ และให้หมายถึงเฉพาะการฆ่าคนตายโดยเจตนา และไม่รวมความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างสิ้นเชิง[2]

เป็นที่น่าตกใจว่า 36 ประเทศยังคงกำหนดให้มีโทษประหารชีวิตในกฎหมายเพื่อลงโทษในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเป็นการละเมิดต่อข้อห้ามที่ชัดเจนเช่นนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้บันทึกข้อมูลการประหารชีวิตกว่า 700 ครั้งในความผิดลักษณะนี้ในช่วงห้าปีตั้งแต่ปี 2561-2565 จำนวนการประหารชีวิตในคดียาเสพติดในปี 2565 (325 ครั้ง) คิดเป็น 37% ของตัวเลขในระดับโลกเท่าที่มีข้อมูล และจำนวนมากกว่าสองเท่าเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขในปี 2564 (134 ครั้ง)

มีการบันทึกข้อมูลการประหารชีวิตในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในหลายประเทศช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในปี 2565 ที่อิหร่าน มีการประหารชีวิตในคดียาเสพติดจำนวน 255 ครั้ง คิดเป็น 78% ของการประหารชีวิตในคดียาเสพติดระดับโลกตามจำนวนที่ยืนยันได้ ซาอุดีอาระเบียได้รื้อฟื้นการประหารชีวิตในความผิดเช่นนี้ในปี 2565 หลังจากงดเว้นไปเป็นเวลาสองปี ตามข้อมูลของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งซาอุดีอาระเบีย โดยมีการประหารชีวิตนักโทษในคดียาเสพติด 57 คน คิดเป็นประมาณหนึ่งในสามของจำนวนการประหารชีวิตทั้งหมดในปี 2565 (196 ครั้ง)

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สามารถยืนยันตัวเลขการประหารชีวิตในความผิดนี้ได้ รวมทั้งในสิงคโปร์ ซึ่งมีการประหารชีวิตในคดียาเสพติด 16 ครั้ง ในช่วงเวลา 18 เดือน ระหว่างสิ้นเดือนมีนาคม 2565 ถึงเดือนกันยายน 2566 ในประเทศจีน มีการเก็บข้อมูลโทษประหารเป็นความลับ ทำให้ไม่สามารถประเมินตัวเลขได้อย่างถูกต้อง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่า ทางการเวียดนามได้ประหารชีวิตบุคคลในคดียาเสพติดเช่นกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ไม่มีข้อมูลมากพอจะยืนยันตัวเลขได้

ตัวเลขที่ยืนยันได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ทำให้เห็นภาพที่ไม่เชื่อมต่อกัน ระหว่างเดือนมกราคมถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2566 ทางการอิหร่านประหารชีวิตบุคคล 282 คน คิดเป็นจำนวนการประหารชีวิตที่เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า เมื่อเทียบกับข้อมูลในช่วงห้าเดือนแรกของปี 2565 และในจำนวนนี้เป็นการประหารชีวิตในคดียาเสพติดอย่างน้อย 173 ครั้ง มีการบันทึกข้อมูลการประหารชีวิตที่เกิดขึ้น 54 ครั้ง รวมทั้งความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในซาอุดีอาระเบีย ในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ วันที่ 27 กรกฎาคม คูเวตประหารชีวิตบุคคล 5 คน รวมทั้งชาวศรีลังกาคนหนึ่งที่ศาลตัดสินว่ามีความผิดในคดียาเสพติด

 

สงครามปราบยาเสพติด สงครามปราบปรามสิทธิมนุษยชน

ที่ผ่านมามีการใช้โทษประหารชีวิตในหลายประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือที่เน้นการลงโทษอย่างรุนแรง “เป็นมาตรการปราบปรามแบบเด็ดขาด” ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั่วโลกเพื่อปราบปรามการใช้และการจำหน่ายยาเสพติด อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาหลายชิ้นชี้ว่า โทษประหารชีวิตไม่ได้ส่งผลในเชิงป้องปรามอาชญากรรมอย่างชัดเจน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศยังยอมรับว่า มาตรการในเชิงลงโทษนี้ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ตามที่สัญญา ในแง่การคุ้มครองสุขภาพและสิทธิของประชาชน จากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากยาเสพติด

หลายทศวรรษของการใช้มาตรการห้ามและการกำหนดให้เป็นอาชญากรรมส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนหลายล้านคน และทิ้งมรดกของความรุนแรงโรค และความเสี่ยงร้ายแรงด้านสุขภาพหลายประการ อีกทั้งการคุมขังคนจำนวนมาก ความทุกข์ทรมานและการปฏิบัติมิชอบ นอกจากการใช้โทษประหารชีวิตแล้ว “สงครามปราบยาเสพติด” ส่งผลให้เกิดการปฏิบัติมิชอบของตำรวจ การเลือกปฏิบัติ การสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย การควบคุมตัวโดยพลการ การควบคุมตัวในสภาพที่ไร้มนุษยธรรม และการละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งสิทธิด้านสุขภาพ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมหลายแห่ง เพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนกระบวนทัศน์ในมาตรการของรัฐ เพื่อรับมือปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด พร้อมเรียกร้องให้พวกทางการใช้มาตรการเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม และส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม และสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในบรรดามาตรการต่าง ๆ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เรียกร้องให้รัฐยกเลิกโทษประหารชีวิต การลดทอนความป็นอาชญากรรมในการใช้ ครอบครอง เพาะปลูก และซื้อยาเสพติดทุกชนิดที่เป็นการใช้ส่วนตัว ขยายบริการด้านสุขภาพและสังคม เพื่อรับมือกับความเสี่ยงเนื่องจากการใช้ยาเสพติด และใช้มาตรการทางเลือกนอกเหนือจากการเอาผิดทางอาญาต่อความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่เป็นลหุโทษและไม่รุนแรงโดยก่อให้เกิดอันตรายกับบุคคลอื่น

แม้จะเกิดการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง อันเป็นผลมาจาก “สงครามปราบยาเสพติด” กลไกควบคุมยาเสพติดระดับสากล เช่นคณะกรรมาธิการยาเสพติด (CND) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ยังล้มเหลวที่จะให้หลักประกันว่า จะมีการใช้นโยบายด้านยาเสพติดที่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แม้ว่าหน่วยงาน องค์กร และผู้ชำนาญการแห่งสหประชาชาติได้ให้ความเห็นยืนยันหลายครั้งถึงจุดยืนขององค์การสหประชาชาติที่ต่อต้านโทษประหารชีวิตในทุกกรณี รวมทั้งในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด คณะกรรมาธิการยาเสพติดยังไม่แสดงจุดยืนอย่างเป็นทางการเพื่อต่อต้านการลงโทษที่ทารุณนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอย้ำถึงข้อเรียกร้องให้กลไกระหว่างประเทศในการควบคุมยาเสพติดรวมทั้งคณะกรรมาธิการยาเสพติด และ UNODC จะต้องกำหนดให้สิทธิมนุษยชนเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานของตนอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยาเสพติดกำหนดเป็นวาระถาวรที่จะอภิปรายถึงแนวทางแก้ไขผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากนโยบายด้านยาเสพติด และเรียกร้องให้ UNODC ให้หลักประกันว่า สิทธิมนุษยชนจะเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานเพื่อติดตามผลของตน รวมทั้งการกำหนดให้มีเนื้อหาบทหนึ่งเป็นการเฉพาะเกี่ยวกับประเด็นด้านยาเสพติด ในการจัดทำรายงานยาเสพติดโลกประจำปีของตน

 

การพิจารณาที่ไม่เป็นธรรม โทษประหารชีวิตโดยพลการ

ในหลายกรณีซึ่งมีการนำโทษประหารชีวิตมาใช้กับความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสามารถบันทึกข้อมูลการละเมิดอย่างสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรม และการละเมิดหลักประกันเพื่อคุ้มครองบุคคลจากการสังหารโดยพลการอย่างร้ายแรง งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้ว่า ในหลายกรณี ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมในความผิดด้านยาเสพติด จะถูกตำรวจสอบปากคำโดยไม่มีทนายความ ทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นที่จะตกเป็นเหยื่อการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ยกตัวอย่างเช่น ในมาเลเซีย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่า มีช่องว่างในการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายในคดีที่มีการใช้โทษประหาร ส่งผลให้ผู้ต้องหาหลายคนไม่ได้ทนายความที่ตนเลือก โดยเฉพาะกรณีที่เป็นต่างชาติซึ่งไม่มีทนายความอยู่ระหว่างที่ถูกจับกุม หรือระหว่างควบคุมตัวเพื่อรอการแจ้งข้อกล่าวหา ในอิหร่าน การประหารชีวิตในคดียาเสพติดมักเกิดขึ้น ภายหลังกระบวนการสอบสวนที่บกพร่องของตำรวจปราบปรามยาเสพติด และหน่วยงานความมั่นคง การพิจารณาคดียาเสพติดมักเกิดขึ้นในศาลของคณะปฏิวัติ และมีความไม่เป็นธรรมอย่างสิ้นเชิง โดยผู้ที่อาจได้รับโทษประหารชีวิตถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงทนายความ และศาลมักใช้ “คำรับสารภาพ” ที่ได้มาจากการทรมาน เป็นพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดกับพวกเขา

การใช้หลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำผิดไว้ก่อน ในบรูไน ดารุสซาลาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ ยังส่งผลให้เกิดการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรม เป็นการละเมิดสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การใช้หลักการสันนิษฐานเช่นนี้ เปิดโอกาสให้พนักงานอัยการสามารถอ้างว่าจำเลยมีความผิดทันทีโดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่ามีการตรวจยาเสพติดในวัตถุหรือในเคหะสถานที่อยู่ในความรับผิดชอบหรือเป็นของจำเลย ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าจำเลยทราบว่ามียาเสพติดอยู่ในการครอบครองของตน ไม่ต้องพิสูจน์ว่าจำเลยมีเจตนาลักลอบนำเข้ายาเสพติดในกรณีที่มีปริมาณยาเสพติดในการครอบครองสูงกว่าปริมาณขั้นต่ำตามกฎหมาย เมื่อมีการใช้หลักการสันนิษฐานเช่นนี้ ภาระพิสูจน์ย่อมตกเป็นของจำเลย ซึ่งจะต้องหาทางหักล้างกับมาตรฐานระดับสูงกว่าตามกฎหมายในส่วนที่เป็น “การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน” ทำให้ศาลสามารถใช้พยานหลักฐานในระดับที่ต่ำกว่า เพื่อเป็นเหตุผลในการตัดสินว่าบุคคลมีความผิดในคดีที่มีโทษประหารชีวิตได้

นอกจากนั้น ในบางประเทศ รวมทั้งบรูไน ดารุสซาลาม อิหร่าน และสิงคโปร์ มีการกำหนดให้โทษประหารชีวิตเป็นโทษสถานเดียวสำหรับความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การกำหนดเป็นโทษประหารชีวิตสถานเดียว ส่งผลให้ศาลไม่สามารถใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษ รวมทั้งการพิจารณาเงื่อนไขอันอาจเป็นเหตุบรรเทาโทษต่อบุคคล และส่งผลให้เป็นการละเมิดกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ ในสิงคโปร์ ผู้พิพากษาสามารถใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษได้ในระดับหนึ่ง กรณีที่จำเลยมีบทบาทเป็นผู้ขนย้ายยาเสพติด (“ผู้ส่งมอบ”) หรือกรณีที่พบว่าจำเลยมีความบกพร่องทางจิตหรือสติปัญญา ซึ่งส่งผลกระทบต่อสามัญสำนึกการกระทำความผิด หรือกรณีที่พนักงานอัยการออกหนังสือรับรองว่า จำเลยให้ความช่วยเหลืออย่างสำคัญใน “การขัดขวางการขนย้ายยาเสพติด” เงื่อนไขเช่นนี้ทำให้อำนาจการตัดสินใจเกี่ยวกับการกำหนดโทษ เป็นของพนักงานอัยการ ซึ่งไม่ได้เป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระและไม่ลำเอียงในกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งยังเพิ่มความเป็นพลการและความไม่เป็นธรรมให้กับกระบวนการนี้ 

 

การเลือกปฏิบัติในเชิงทับซ้อน

การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับโทษประหารชีวิต มักได้รับผลกระทบมากขึ้นเนื่องจากการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นในหลายระดับและทับซ้อนกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่อาจได้รับโทษที่ทารุณ ไร้มนุษยธรรม และดูหมิ่นศักดิ์ศรีมากสุด ดังที่มีการเน้นย้ำโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาชาติว่า “การพรากชีวิตบุคคลที่เป็นผลมาจากการเลือกปฏิบัติด้านกฎหมาย หรือข้อเท็จจริง โดยพื้นฐานแล้วย่อมถือเป็นการกระทำโดยพลการ”[3]

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้บันทึกข้อมูลในหลายกรณีที่ผู้ได้รับโทษประหารชีวิตในความผิดด้านยาเสพติด ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะที่เป็นผลมาจากสถานภาพด้านสังคม-เศรษฐกิจของตน เนื่องจากสภาพที่เป็นผู้เปราะบางและมีความเสียเปรียบในเชิงสังคม-เศรษฐกิจ หลายคนจึงมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะตกเป็นเหยื่อการแสวงหาประโยชน์และความรุนแรง ในหลายกรณี พวกเขาถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานครอบครองและขนย้ายยาเสพติดในปริมาณค่อนข้างน้อย โดยไม่ได้กระทำหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความรุนแรงในรูปแบบใด ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในมาเลเซียชี้ว่า จำเลยหลายคนอ้างว่าถูกบังคับหรือถูกล่อลวงให้ขนย้ายยาเสพติดโดยคู่รักของตนเอง หรือจากคนที่รู้จัก หรือเพราะตนเองกำลังขัดสนเงินทอง เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีสถานะต่ำในขบวนการค้ายาเสพติด หลายคนที่ถูกตัดสินประหารชีวิต แทบไม่มีอำนาจควบคุมใด ๆ เกี่ยวกับประเภทของยาเสพติดและปริมาณที่จะต้องช่วยขนย้าย และแทบไม่มีข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับจุดหมายปลายทางของสิ่งที่ตนได้รับการไหว้วานให้ขนย้าย ส่งผลให้ผู้ขนย้ายยาเสพติดรวมทั้งผู้หญิง ซึ่งมักตกเป็นผู้ต้องโทษประหารชีวิตส่วนใหญ่ในคดียาเสพติด มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะถูกศาลสั่งประหารชีวิต เนื่องจากพวกเขาไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับคนในระดับสูงของขบวนการค้ายาเสพติด และไม่สามารถบอกเล่าข้อมูลนี้ให้กับทางการ เพื่อเป็นเหตุในการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ถูกตัดสินประหารชีวิตได้ ทั้งนี้ในมาเลเซีย การปฏิรูปด้านกฎหมาย ส่งผลให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจอย่างเต็มที่ ในการกำหนดโทษประหารชีวิตในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งยังมีการยกเลิกเงื่อนไขที่ต้องให้ความช่วยเหลือเจ้าพนักงาน เพื่อหลีกเลี่ยงการรับโทษประหารชีวิตสถานเดียวอีกด้วย อย่างไรก็ดี เรายังคงต้องรอดูผลกระทบจากการปฏิรูปเช่นนี้ และรอดูว่าจะส่งผลต่อการใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษอย่างไร

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังพบว่า บุคคลจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับยาเสพติดแทบไม่มีเงินเพื่อขอรับความช่วยเหลือด้านกฎหมายหลังถูกจับกุม ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นที่จะถูกทรมานหรือปฏิบัติอย่างโหดร้ายเพื่อบังคับให้ “รับสารภาพ” ครอบครัวของผู้ที่ถูกประหารชีวิตในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้ข้อมูลกับหน่วยงานว่า พวกเขามักประสบปัญหาในการเข้าถึงการช่วยเหลือด้านกฎหมาย และต้องต่อสู้เพื่อรับมือกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ หลังจากต้องสูญเสียผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัวไป และหลังจากต้องตกเป็นหนี้มหาศาลที่เกิดจากค่าใช้จ่ายด้านกฎหมาย หลายคนเป็นชนกลุ่มน้อยด้านชาติพันธุ์บาลูชีในอิหร่าน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกประหัตประหารและมีความยากจน และคิดเป็นประมาณ 20% ของผู้ที่ถูกประหารชีวิต ตามรายงานข้อมูลในช่วงห้าเดือนแรกของปี 2566 แม้จะมีสัดส่วนเพียงประมาณ 5% ของประชากรในอิหร่าน

ชาวต่างชาติซึ่งมีสัดส่วนค่อนข้างสูงในจำนวนทั้งหมดของผู้ที่ต้องโทษประหารชีวิตและถูกประหารชีวิตในความผิดด้านยาเสพติด ยังมักเป็นผู้ที่เสียเปรียบอย่างมากในระบบยุติธรรมทางอาญาในหลายประเทศ กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศกำหนดใหชาวต่างชาติต้องได้รับความคุ้มครองเพิ่มเติมทางกงสุล และความช่วยเหลือด้านกฎหมาย แต่ชาวต่างชาติมักพบว่าตนเองต้องเสียเปรียบมากยิ่งขึ้น เพราะต้องรอความเมตตา หวังว่าประเทศที่ควบคุมตัวตนจะปฏิบัติตามหลักประกันคุ้มครองสิทธิเหล่านี้ และยังต้องรอว่าประเทศของสัญชาติของตน จะให้ความช่วยเหลือทางกงสุล และความช่วยเหลือทางกงสุลหรือทางกฎหมายนั้นจะมีประสิทธิภาพหรือไม่

 

วันปฏิบัติการสากล: ข้อเรียกร้องให้ยุติการประหารชีวิตในสิงคโปร์

ในฐานะเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งของพันธมิตรโลกเพื่อต่อต้านโทษประหาร (World Coalition Against the Death Penalty) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ร่วมมือกับองค์กรภาคี จัดงานวันปฏิบัติการสากลเพื่อเรียกร้องให้ยุติโทษประหารชีวิตในวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี สำหรับปฏิบัติการในปีนี้  [LINK] นักกิจกรรมของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจะเน้นย้ำถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการใช้โทษประหารชีวิตในสิงคโปร์ และร้องขอให้รัฐบาลกำหนดข้อตกลงชั่วคราวเพื่อระงับการประหารชีวิตโดยทันที ซึ่งถือเป็นก้าวย่างแรกที่นำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต

จนถึงปัจจุบัน 112 ประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท และกว่าสองในสามของประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติแล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องอีกครั้งให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต ปฏิบัติตามแนวโน้มในระดับโลก และให้ยกเลิกโทษที่ทารุณ ไร้มนุษยธรรม และดูหมิ่นศักดิ์ศรีมากที่สุดนี้



[1] ข้อ 6(2) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง; มาตรการสหประชาชาติเพื่อประกันการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องโทษประหารชีวิต, มติของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ, มติข้อ 1984/50

[2] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาชาติ, ความเห็นทั่วไปที่ 36 (2561) ว่าด้วยข้อ 6 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง เกี่ยวกับสิทธิที่จะมีชีวิตรอด, UN Doc. CCPR/C/GC/36, ย่อหน้า 35

[3] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาชาติ, ความเห็นทั่วไปที่ 36 (2561) ว่าด้วยข้อ 6 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง เกี่ยวกับสิทธิที่จะมีชีวิตรอด, CCPR/C/GC/36, 30 ตุลาคม 2561, ย่อหน้า 61