สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 2-8 ธันวาคม 2566

12 ธันวาคม 2566

Amnesty International Thailand

 

เกาหลีใต้: Google จัดการเนื้อหาออนไลน์เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศทางไม่ได้ แม้จะมีการร้องเรียนจากผู้เสียหาย

8 ธันวาคม  2566

 

Google ล้มเหลวในการแก้ไขระบบที่มีข้อบกพร่องในการลบเนื้อหาที่ละเมิดทางเพศที่ไม่ได้รับความยินยอมออกจากการค้นหา แม้จะมีการรณรงค์ที่ยาวนานโดยผู้หญิงและเด็กผู้หญิงชาวเกาหลีใต้ที่ตกเป็นเป้าอาชญากรรมทางเพศในระบบดิจิทัล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา หลังจาก ครบหนึ่งปี การชี้ให้เห็นถึงปัญหาครั้งแรก

ผู้เสียหายที่พยายามลบวิดีโอเนื้อหาทางเพศที่โจ่งแจ้งที่ไม่ได้รับความยินยอมออกจากอินเทอร์เน็ตบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่าพวกเขายังคงพบว่ากระบวนการขอให้ลบของ Google นั้นดำเนินการได้ยาก ไม่สมบูรณ์ และไม่ตอบสนอง

วันนี้เมื่อปีที่แล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เริ่มรับคำร้องจากทั่วโลกเรียกร้องให้ Google แก้ไขข้อบกพร่องในระบบการรายงาน หลังจากการล็อบบี้โดยผู้เสียหายและนักกิจกรรมในท้องถิ่นเป็นเวลาหลายปี

มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในเกาหลีใต้ที่ตกเป็นเป้าของการล่วงละเมิดทางเพศในระบบออนไลน์มีเป้าหมายง่ายๆ คือ ลบเนื้อหาที่ละเมิดและส่งผลกระทบทางจิตใจออกจากอินเทอร์เน็ต แต่ Google กลับทำให้เป็นเรื่องยากต่อไปเนื่องจากระบบการรายงานที่บกพร่อง

“Google มีเวลาเหลือเฟือในการแก้ไข หรืออย่างน้อยก็บรรเทาปัญหานี้ก่อนที่แอมเนสตี้จะแชร์เรื่องราวของผู้เสียหายให้กับบริษัทเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้วด้วยซ้ำ แต่ความคืบหน้าก็ยังไม่เพียงพอ Google ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันอันตรายต่อผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดทางเพศซึ่งยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากข้อบกพร่องในบริการของตน”

ผู้เสียหายหลายคนพยายามมานานหลายปีเพื่อให้ลบวิดีโอเนื้อหาทางเพศที่โจ่งแจ้งของตนเองออกจากการค้นหาของ Google แต่ระบบการรายงานที่ซับซ้อนของบริษัท และการตอบสนองต่อคำขอที่ล่าช้า ส่งผลให้วิดีโอจำนวนมากยังคงอยู่ในระบบออนไลน์ต่อไป

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/12/south-korea-google-fails-to-tackle-online-sexual-abuse-content-despite-complaints-by-survivors/?utm_source=FBPAGE-IS&utm_medium=social&utm_content=12025574068&utm_campaign=Other&utm_term=-No

 

-----

 

 

ฟิลิปปินส์: ทางการต้องสอบสวนการโจมตีพิธีมิสซาอย่างละเอียด

4 ธันวาคม 2566

 

สืบเนื่องจากรายงานที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยสี่คนและบาดเจ็บหลายสิบคนหลังเหตุระเบิดที่พิธีมิสซาในเมืองมาราวีทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 3 ธันวาที่ผ่านมา

เจอร์รี อาเบลลา นักวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฟิลิปปินส์ เผยว่า การโจมตีด้วยระเบิดที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในมาราวีเป็นเรื่องที่น่ากังวล และน่าตกใจมากขึ้นเมื่อการโจมตีนี้เกิดขึ้นในโรงยิมของโรงเรียน ซึ่งนักเรียนและผู้ทำพิธีทางศาสนาคนอื่นๆ กำลังรวมตัวกันเพื่อประกอบพิธีมิสซา

“เมื่อพิจารณาถึงความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ รัฐบาลจะต้องดำเนินการมากกว่านี้เพื่อปกป้องสิทธิในการมีชีวิตของทุกคนในฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ รัฐยังมีพันธกรณีที่จะต้องดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ โปร่งใส และรอบด้าน พร้อมทั้งนำตัวผู้กระทำความผิดมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีตามมาตรฐานสากล โดยไม่ใช้โทษประหารชีวิต

“ในขณะที่มีการเพิ่มการค้นหาผู้ต้องสงสัย การตอบสนองของรัฐบาลต่อเหตุการณ์ความรุนแรงเช่นนี้จะต้องสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วย”

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/12/philippines-bomb-attack-marawi-catholic-mass/

 

-----

 

 

ระดับโลก: แอมเนสตี้เปิดตัวแคมเปญรณรงค์การเขียนจดหมายระดับโลก ท่ามกลางการปราบปรามสิทธิมนุษยชน

8 ธันวาคม  2566

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกำลังจะเปิดตัวแคมเปญ “Write for Rights -เขียน เปลี่ยน โลก”  การรณรงค์เขียนจดหมาย ประจำปีระดับโลก ก่อนวันสิทธิมนุษยชนในวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นความพยายามเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนซึ่งถูกละเมิดสิทธิ

ในปีนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ทำการรณรงค์เพื่อความยุติธรรมร่วมกับและเพื่อบุคคล 10 กรณีจากทั่วโลก พวกเขาถูกละเมิดสิทธิโดยรัฐและบรรษัท การรณรงค์ในปีนี้มีทั้งชายผิวดำซึ่งมีความบกพร่องทางสติปัญญา เขาถูกศาลตัดสินประหารชีวิตในข้อหาฆ่าคนตาย แม้ไม่มีพยานหลักฐานที่เชื่อมโยงเขากับความผิดโดยตรง เรายังได้ทำการรณรงค์เพื่อผู้หญิงซึ่งถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด ฐานพยายามให้ความช่วยเหลือผู้หญิงอีกคนหนึ่งในโปแลนด์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย และแกนนำชนเผ่าพื้นเมืองสองคนซึ่งฟ้องคดีต่อรัฐบาลออสเตรเลีย เพื่อคุ้มครองชุมชนของตนเองจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับความขัดแย้ง การแบ่งขั้วทางการเมืองที่ยั่วยุให้เกิดการแบ่งแยกและความกลัวในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รวมทั้งความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น และภัยคุกคามต่อความอยู่รอด เนื่องจากวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ สิทธิมนุษยชนของประชาชนทั่วโลกกำลังตกอยู่ใต้ภัยคุกคามร้ายแรง ตั้งแต่ยูเครนจนถึงอิสราเอลและดินแดนของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง เอธิโอเปียถึงอิหร่าน เมียนมาถึงโปแลนด์ และทั่วทุกมุมของโลก ประชาชนกำลังทุกข์ยากจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

“รัฐต่าง ๆ กำลังปราบปรามนักกิจกรรม และคุกคามสิทธิของประชาชนทั่วโลก คนที่กล้าออกมาแสดงความเห็นถูกศาลสั่งจำคุก ในขณะที่ผู้หญิงกำลังต่อสู้เพื่อเข้าถึงการดูแลสุขภาพ ส่วนรัฐบาลก็ไม่ได้ดำเนินการมากเพียงพอเพื่อป้องกันความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเหตุให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จัดการรณรงค์ระดับโลกโครงการ Write for Rightsจึงมีความสำคัญอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน อันเป็นช่องทางทำให้คนธรรมดาสามัญมีอำนาจ สามารถปฏิบัติการที่ยิ่งใหญ่เพื่อแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดเหล่านี้ได้”

ทุกคนสามารถสละเวลาเพียงเล็กน้อยเพื่อเข้าร่วมกับปฏิบัติการนี้ โดยการเขียนจดหมาย อีเมล และทวีตข้อความ และลงชื่อในจดหมาย ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่กับบุคคลต่าง ๆ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นผู้ให้ความสนับสนุนการรณรงค์ครั้งนี้ นับแต่เริ่มต้นโครงการ Write for Rights เมื่อปี 2544 ประชาชนหลายล้านคนได้ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ที่ถูกพรากสิทธิมนุษยชนไปจากตนเอง และได้นำไปสู่ปฏิบัติการกว่า 50 ล้านครั้ง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางบวกต่อสถานการณ์ของบุคคลต่าง ๆ กว่า 100 คนที่เป็นเป้าหมายการรณรงค์ของเรา

 

อ่านต่อ:

https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/12/amnesty-international-launches-annual-letter-writing-campaign-amid-clampdown-on-human-rights/

 

-----

 

อิหร่าน: กองกำลังความมั่นคงใช้การข่มขืนและความรุนแรงทางเพศอื่นๆ เพื่อบดขยี้การชุมนุม “สตรี ชีวิต และเสรีภาพ” โดยไม่ต้องรับโทษ

6 ธันวาคม  2566

 

กองกำลังความมั่นคงในอิหร่านใช้การข่มขืนและความรุนแรงทางเพศในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งเทียบเท่ากับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย เพื่อข่มขู่และลงโทษผู้ชุมนุมโดยสงบในช่วงการชุมนุม “สตรี ชีวิต และเสรีภาพ” ปี 2565

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยรายงานความยาว 120 หน้า เรื่อง “They violently raped me”: Sexual violence weaponized to crush Iran’s “Woman Life Freedom” uprising ที่บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสของผู้เสียหาย 45 คน ที่ประกอบไปด้วยผู้ชาย 26 คน ผู้หญิง 12 คน และเด็ก 7 คน ที่ถูกข่มขืน รุมข่มขืน และ/หรือความรุนแรงทางเพศในรูปแบบอื่นๆ โดยกองกำลังข่าวกรองและความมั่นคง หลังจากการจับกุมโดยพลการเนื่องจากท้าทายการกดขี่และการเลือกปฏิบัติบนฐานเพศสภาวะที่หยั่งรากลึกมานานหลายทศวรรษ จนถึงขณะนี้ ทางการอิหร่านยังไม่ได้ตั้งข้อหาหรือดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่คนใดสำหรับการข่มขืนและความรุนแรงทางเพศอื่นๆ ที่ระบุไว้ในรายงาน

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การวิจัยของเราเผยให้เห็นวิธีที่เจ้าหน้าที่ข่าวกรองและความมั่นคงในอิหร่านใช้การข่มขืนและความรุนแรงทางเพศอื่นๆ เพื่อทรมาน ลงโทษ และก่อให้เกิดความเสียหายทางร่างกายและจิตใจต่อผู้ชุมนุม รวมถึงเด็กที่อายุเพียง 12 ปี คำให้การที่สะเทือนใจที่เรารวบรวมได้ชี้ไปที่รูปแบบที่กว้างขวางในการใช้ความรุนแรงทางเพศเป็นอาวุธสำคัญสำหรับทางการอิหร่านในการปราบปรามการชุมนุมและผู้เห็นต่างเพื่อยึดอำนาจไว้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม

“อัยการและผู้พิพากษาของอิหร่านไม่เพียงแต่สมรู้ร่วมคิดโดยเพิกเฉยหรือปกปิดคำร้องเรียนเรื่องการข่มขืนของผู้เสียหายเท่านั้น แต่ยังใช้ 'คำรับสารภาพ' ที่ได้จากการทรมานเพื่อตั้งข้อหาต่อผู้เสียหายโดยปราศจากข้อเท็จจริง และตัดสินลงโทษจำคุกหรือประหารชีวิต เหยื่อถูกทิ้งให้ไม่มีทางเรียกร้องและไม่มีการเยียวยา มีเพียงการลอยนวลพ้นผิดอย่างเป็นระบบ การนิ่งเงียบ และรอยแผลเป็นทั้งทางร่างกายและจิตใจที่ลึกและกว้าง”

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/12/iran-security-forces-used-rape-and-other-sexual-violence-to-crush-woman-life-freedom-uprising-with-impunity/

 

----- 

 

เลบานอน: การโจมตีนักข่าวโดยอิสราเอลจะต้องถูกสอบสวนว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม

7 ธันวาคม  2566

 

การโจมตีของอิสราเอลต่อกลุ่มนักข่าว 7 คนทางตอนใต้ของเลบานอนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งทำให้อิสซาม อับดัลลาห์ นักข่าวรอยเตอร์เสียชีวิต และอีก 6 คนได้รับบาดเจ็บ เป็นการโจมตีพลเรือนโดยตรงที่ต้องถูกสอบสวนว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อวันที่ 7 ธันวาที่ผ่านมา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ตรวจสอบวิดีโอและภาพถ่ายมากกว่า 100 รายการ วิเคราะห์ชิ้นส่วนอาวุธจากสถานที่เกิดเหตุ และสัมภาษณ์พยาน 9 คน พบว่ากลุ่มนี้สามารถระบุตัวตนได้อย่างชัดเจนว่าเป็นนักข่าว และกองทัพอิสราเอลรู้หรือควรรู้ว่าพวกเขาเป็นพลเรือน แต่ก็ยังโจมตีพวกเขาด้วยการโจมตี 2 ครั้งที่ห่างกัน 37 วินาที

อายา มัจซูบ รองผู้อำนวยการภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การสอบสวนของเราเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวเผยให้เห็นหลักฐานอันน่าสะพรึงกลัวที่ชี้ไปที่การโจมตีกลุ่มนักข่าวต่างประเทศที่กำลังทำงานของพวกเขาที่เป็นการรายงานเกี่ยวกับการสู้รบ การโจมตีพลเรือนโดยตรงและการโจมตีอย่างไม่เลือกเป้าหมายถือเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างยิ่งตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และอาจถือเป็นอาชญากรรมสงครามได้

“ผู้ที่รับผิดชอบต่อการสังหารอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายของอิสซาม อับดัลลาห์ และการบาดเจ็บของนักข่าวอีก 6 คน จะต้องถูกนำตัวมารับผิดชอบ นักข่าวไม่ควรตกเป็นเป้าหรือถูกสังหารเพียงเพราะทำงานของตน อิสราเอลจะต้องไม่ได้รับอนุญาตให้สังหารและโจมตีนักข่าวโดยไม่ต้องรับโทษ จะต้องมีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระและเป็นกลางเกี่ยวกับการโจมตีที่ร้ายแรงนี้”

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/12/lebanon-deadly-israeli-attack-on-journalists-must-be-investigated-as-a-war-crime/