แอมเนสตี้ยื่น 1,074 รายชื่อต่อเศรษฐา ทวีสิน เรียกร้องยุติการดำเนินคดีและหยุดการข่มขู่คุกคามต่อเด็กที่ใช้สิทธิมนุษยชน

20 พฤศจิกายน 2566

Amnesty International Thailand

20 พฤศจิกายน 2566

เรียน      นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

เรื่อง      ยื่นรายชื่อปฏิบัติการด่วน: ยุติการดำเนินคดีและหยุดการข่มขู่คุกคามต่อเด็กที่ใช้สิทธิมนุษยชน

สำเนาถึง นายสุรศักดิ์ บุญเพิ่ม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีสมาชิกและผู้สนับสนุนมากกว่า 13 ล้านคนทั่วโลก องค์กรทำงานรณรงค์เพื่อให้ทุกคนได้รับการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน และยังเป็นหน่วยงานอิสระ ไม่ขึ้นกับรัฐบาล อุดมการณ์ทางการเมือง ไม่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือศาสนา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเเนลได้รับทุนสนับสนุนจากค่าสมาชิกและการบริจาคสาธารณะ โดยทำงาน รณรงค์เชิงสาธารณะและกดดันเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนนี้บนพื้นฐานข้อมูลจากงานวิจัยที่เป็นอิสระและเป็นกลางในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่หลากหลายทั่วโลก

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ทำงานติดตามสถานการณ์การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด รวมถึงบันทึกและรายงานเหตุละเมิดสิทธิในพื้นที่การชุมนุม โดยเฉพาะในกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จากการสังเกตการณ์เเละบันทึกสถานการณ์อย่างเป็นระบบ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ออกรายงานเรื่อง  'We are Reclaiming Our Future' (ขอทวงคืนอนาคตของพวกเรา) ในรายการระบุว่าเด็กหลายคนถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้กลยุทธ์กดดันทางอ้อมไปทางผู้ปกครองเพื่อข่มขวัญหรือขัดขวางเด็กไม่ให้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วง มีการข่มขู่และสอดแนม ดำเนินคดีอาญาและแพ่งรวมถึงกฎหมายที่ถูกยกเลิกใช้ไปแล้ว มีเด็กถูกคุมขัง และได้รับบาดเจ็บถึงขั้นเสียชีวิตเนื่องจากความล้มเหลวของภาครัฐในการจัดการความปลอดภัยให้กับเด็กในพื้นที่การชุมนุมประท้วง

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังระบุว่า เด็กอย่างน้อย 286 คน ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบเป็นจำนวนอย่างน้อย 215 คดี ซึ่งในจำนวนนี้ มีอย่างน้อย 241 คน ที่ถูกดำเนินคดีด้วยพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548  ซึ่งคดียังคงดำเนินอยู่ถึงปัจจุบัน แม้จะมีประกาศยกเลิกใช้กฎหมายดังกล่าวตั้งแต่ 30 กันยายน พ.ศ.2565 และอีกอย่างน้อย 20 คน ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on civil and political rights หรือ ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Committee on the Rights of the Child หรือ CRC)  โดยข้อ 21 ของ ICCPR รับรองสิทธิให้ทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติให้มีเสรีภาพในการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ส่วนข้อ  15 ของ CRC ก็ได้สะท้อนหลักการนี้เช่นเดียวกัน โดยยืนยันว่ารัฐภาคีจะต้องรับรองสิทธิของเด็กที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมประท้วงโดยสงบ และสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกได้รับการรับรองตามข้อ 19 ICCPR และข้อ 13 ของ CRC โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ออกความเห็นทั่วไป ลำดับที่ 34 เรื่องเสรีภาพในการมีและแสดงความเห็น ว่าระบุว่า “การทำร้าย การข่มขู่ หรือการตีตราแก่บุคคล รวมถึงการจับกุม การกักขัง การไต่สวนในศาล หรือการจำคุกใครก็ตามเนื่องจากความเห็นที่บุคคลนั้นมี ถือเป็นการละเมิด ข้อ 19 วรรค 1 ของ ICCPR”

 

ด้วยเหตุดังกล่าว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงได้ดำเนินการปฏิบัติการด่วน (Urgent action) เรื่องยุติการดำเนินคดีและหยุดการข่มขู่คุกคามต่อเด็กที่ใช้สิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2566  โดยรวบรวมรายชื่อประชาชน  ได้ทั้งหมด 1,074 รายชื่อ โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลไทยในประเด็นเรื่องสิทธิเด็กดังนี้

  • ปล่อยตัวเด็กทุกคนที่ถูกกักขังเพียงเพราะการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ
  • ยุติการดำเนินคดีทั้งหมด ถอนคำพิพากษาเอาผิด และหยุดการข่มขู่คุกคามต่อเด็กที่ใช้สิทธิมนุษยชนโดยสงบ
  • เคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิของเด็กในการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบ และการแสดงออก
  • แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิดังกล่าว

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ด้วยความเคารพอย่างสูง

 

(ปิยนุช โครตสาร)

ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย