องค์กรสิทธิ-นักวิชาการเรียกร้องสอบสวนอย่างอิสระ
กรณีการเสียชีวิตของพลทหารที่ยะลา

4 เมษายน 2559

 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและนักวิชาการเรียกร้องให้มีการสืบสวนอย่างอิสระและผ่านกฎหมายต่อต้านการทรมาน หลังกรณีการเสียชีวิตของพลทหารที่ยะลา

 

หลังกรณี พลทหารทรงธรรม หมุดหมัด อายุ 23 ปี สังกัด ร.152 พัน 1 ค่ายพยัคฆ์ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าอาจเกิดจากการถูกรุมซ้อมเพื่อลงโทษโดยนายเจ้าหน้าที่ทหารในค่ายจนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา ล่าสุด มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ประสานงานให้คำแนะนำไปเบื้องต้นกับครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้ว

 

หากการสืบสวนพบว่าพลทหารทรงธรรมเสียชีวิตจากการถูกซ้อมจริง กรณีดังกล่าวจะเข้าข่าย "การทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ" โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้เรียกร้องให้มีการสอบสอบกรณีดังกล่าวอย่างเป็นอิสระ ตลอดจนต้องมีกฎหมายที่กำหนดให้การทรมานโดยเจ้าหน้าที่ให้เป็นความผิดทางอาญา

 

นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และรองประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่าทางการต้อง “มีการสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นอิสระ การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและเกินเลย ไม่มีการกำกับดูแลจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง”

 

นอกจากนี้ นางสาวพรเพ็ญระบุด้วยว่าการเสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัวนั้นตรวจสอบได้ยาก จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะแพทย์นิติเวชและตำรวจ ในการหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงและตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุอย่างมืออาชีพ

 

ด้าน ศ.วิทิต มันตราภรณ์ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กล่าวไว้ในเวทีพูดคุยเรื่อง “สิทธิในชีวิต การฆ่านอกระบบกฎหมาย บทบาทของตุลาการ” เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 ระบุว่า “การสอบสวนคดีการเสียชีวิตในการควบคุมตัว ต้องเริ่มที่การเปลี่ยนภาระการพิสูจน์ให้เป็นของรัฐ ว่าไม่ได้มีการฆ่าหรือทำให้ตาย มีหลักฐานพยานอะไรที่พิสูจน์ว่ารัฐไม่ได้ทำ แต่ตอนนี้เรายังใช้วิธีการพิสูจน์ความผิดประเภทนี้แบบอาญาปกติ ให้ญาติพิสูจน์ว่ามีการทำให้ตายในการควบคุมตัว ซึ่งยากมากในบริบทของเรา"

 

นายรณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า “หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะผลักดันกฎหมายต่อต้านการทรมานให้เป็นความผิดอาญาจริงๆ สักทีครับ การกระทำแบบนี้จะได้เป็นความผิดอาญาที่ร้ายแรงและมีวิธีจัดการเฉพาะ”

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ต่อต้านการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐและเรียกร้องให้ทางการไทยผ่าน "ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย" เพื่อทำให้การทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นความผิดทางอาญาที่มีบทลงโทษชัดเจน โดยผู้สนับสนุนสามารถร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ผ่านกฎหมายดังกล่าวได้ที่ change.org/12YearsSomchai ซึ่งขณะนี้มีผู้สนับสนุนมากกว่า 10,000 คนแล้ว

 


 ข้อมูลเบื้องต้น (อ้างอิง: มูลนิธิผสานวัฒนธรรม)

 

พลทหารทรงธรรม หมุดหมัด เข้ารักษาตัวที่ โรงพยาบาลศูนย์ยะลาเมื่อวันที่ 2 เมษา 2559 ยังไม่ทราบเวลาที่แน่ชัดในการเข้ารักษา เสียชีวิตในวันที่ 4 เมษา 2559 เบื้องต้นคาดว่าจากการถูกทุบตีด้วยไม้ และถูกรุมกระทืบด้วยนายทหารยศนายสิบจำนวน 5 นาย ตั้งแต่เวลาประมาณ 21.00 น. ของวันที่ 1 จนถึงประมาณ 22.00 น. ของวันที่ 2 โดยมีร้อยเวรยืนดูการซ้อม เมื่อพลทหารทรงธรรมสลบ เจ้าหน้าที่สั่งให้พัก จนเช้าวันที่ 2 ร้อยเวรอีกคนเห็นพลทหารทรงธรรมยังไม่ตื่นจึงไปดู เห็นว่าหายใจรวยรินจึงพาไปส่งโรงพยาบาล

 

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีพลทหารอีกนายหนึ่งที่คาดว่าถูกรุมซ้อมเพื่อลงโทษในระยเวลาใกล้เคียงกันชื่อ พลทหารฉัตรพิศุทธ์ ชุมพันธ์ ขณะนี้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี