สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 30 กันยายน-6 ตุลาคม 2566

9 ตุลาคม 2566

Amnesty International Thailand

 

นาร์เกส โมฮัมมาดี ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพต้องได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข

6 ตุลาคม 2566

 

สืบเนื่องจากข่าวที่ว่านาร์เกส โมฮัมมาดี นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวอิหร่านที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า วันนี้ (6 ตุลาคม) นาร์เกส โมฮัมมาดี ได้รับรางวัลนี้ขณะถูกจำคุกในอิหร่าน ซึ่งเธอถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมมาตั้งแต่ปี 2564 เพียงเพราะการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนของเธอ เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่เธอทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อเรียกร้องความสนใจในสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายในอิหร่าน แม้จะอยู่ในห้องขัง เธอก็ยังคงประณามการปราบปรามที่นองเลือดของทางการต่อการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศ เรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตและห้ามการขังเดี่ยว และเปิดโปงความรุนแรงทางเพศต่อผู้ชุมนุมที่เป็นผู้หญิงในระหว่างควบคุมตัว

“ในกระบวนการที่โหดร้ายซึ่งเผยให้เห็นความไร้มนุษยธรรมในแผนของทางการอิหร่านเพื่อปราบปรามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เธอได้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเวลาหลายปี มีทั้งการทรมาน การขู่ฆ่า และการปฏิเสธการรักษาพยาบาลเฉพาะทาง ทั้งยังถูกห้ามไม่ให้พบกับลูกสองคนของเธอด้วย แม้จะมีราคาที่เธอต้องจ่ายอย่างมหาศาล ทั้งความพยายามอย่างไม่ลดละที่จะปิดปากเธอ และโอกาสที่จะถูกจำคุกตลอดชีวิต แต่นาร์เกสยังคงต่อสู้เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่เพื่อเธอ แต่สำหรับผู้หญิง ผู้ชาย และเด็กทุกคนในอิหร่าน

“การยกย่องที่เธอได้รับจากคณะกรรมการโนเบลสันติภาพในวันนี้จะส่งข้อความที่ชัดเจนไปยังทางการอิหร่านว่าการปราบปรามผู้วิพากษ์วิจารณ์โดยสงบและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะต้องถูกตั้งคำถาม ประชาคมระหว่างประเทศต้องใช้ความพยายามอีกครั้งเพื่อผลักดันให้ปล่อยตัวนาร์เกส โมฮัมมาดีโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมถึงการปล่อยตัวผู้หญิงและผู้ชายคนอื่นๆ ที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมเพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนโดยสงบ รวมถึงหลังจากการชุมนุมประท้วง ‘สตรี ชีวิต และเสรีภาพ’ ในปี 2565”


อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/10/nobel-peace-prize-winner-narges-mohammadi-must-be-released-immediately-and-unconditionally/

 

-----

 

 

จีน: ทนายความสิทธิมนุษยชนเสี่ยงถูกทรมานหลังกลับจากลาว

4 ตุลาคม 2566


สืบเนื่องจากการยืนยันการควบคุมตัว หลู่ ซีเว่ย ทนายความสิทธิมนุษยชนชาวจีน ซึ่งถูกจับกุมในลาวเมื่อเดือนกรกฎาคม

ซาราห์ บรูคส์ รองผู้อำนวยการระดับภูมิภาค ฝ่ายกิจการเกี่ยวกับประเทศจีน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า การควบคุมตัวหลู่ ซีเว่ยในจีนที่ได้รับการยืนยันแล้วถือเป็นผลลัพธ์ที่น่าเศร้าใจสำหรับครอบครัวของเขา ซึ่งเขาพยายามที่จะกลับมาพบกันอีกครั้งในสหรัฐอเมริกา แทนที่จะได้อยู่กับภรรยาและลูกสาวตัวน้อยในตอนนี้ เขากลับต้องเสี่ยงที่จะถูกทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้ายอื่นๆ

“โดยการถูกจับกุมในลาวหลังจากเดินทางออกจากจีน ดูเหมือนว่ารัฐบาลลาวได้บังคับส่งตัวหลู่ ซึ่งถือเป็นการละเมิดพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง ผลลัพธ์ที่กังวลกันมานานนี้ยิ่งทำให้ทางการลาวขาดความโปร่งใสในกรณีนี้มากขึ้น

“รายงานการปรากฏตัวอีกครั้งของหลู่ในศูนย์กักกันของจีนเป็นตัวอย่างที่น่าตกใจล่าสุดของความมุ่งมั่นของรัฐบาลจีนที่จะติดตามตัวผู้วิพากษ์วิจารณ์แม้จะอยู่นอกพรมแดนของจีน และความสามารถในการดำเนินการดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่อยู่ภายใต้แรงกดดันและอิทธิพลของรัฐบาลปักกิ่ง

“หลู่ตกเป็นเป้าหมายเพียงเพราะทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกต้องตามกฎหมาย และต้องได้รับการปล่อยตัว ในระหว่างรอการปล่อยตัว ทางการจีนควรประกันว่าเขาสามารถเข้าถึงทนายความที่เขาเลือกได้โดยไม่มีข้อจำกัด และสามารถติดต่อกับญาติได้”

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/10/china-human-rights-lawyer-at-risk-of-torture-after-return-from-laos/

 

-----

 

 

อินเดีย: การจับกุมและบุกตรวจค้นที่สำนักข่าว NewsClick ส่งสัญญาณการโจมตีสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

4 ตุลาคม 2566


สืบเนื่องจากการจับกุม พราเบียร์ ปูร์คยาสธา ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว NewsClick และ อามิต ชากราวาร์ธี หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลภายใต้กฎหมายกิจกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (การป้องกัน) (UAPA) หลังจากการบุกตรวจค้นบ้านและสำนักงานของนักข่าวหลายคนที่เกี่ยวข้องกับสื่อข่าวดิจิทัลเมื่อวันอังคารที่เดลีและมุมไบ

อาคาร์ ปาเตล ประธานคณะกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศอินเดีย เผยว่า การทำข่าวไม่ใช่อาชญากรรม การบุกตรวจค้นสำนักข่าว NewsClick และการจับกุมพราเบียร์ ปูร์คยาสธา และอามิต ชากราวาร์ธี เป็นความพยายามครั้งล่าสุดของรัฐบาลอินเดียในการทำลายล้างสื่ออิสระและสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐ ทางการต้องปล่อยตัวพราเบียร์ ปูร์คยาสธา และอามิต ชากราวาร์ธี โดยทันที และอนุญาตให้พวกเขาทำงานต่อไปโดยไม่มีการตอบโต้ใดๆ

“กฎหมาย UAPA ถูกทางการอินเดียใช้เป็นอาวุธซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อข่มขู่ คุกคามนักข่าว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรม ซึ่งละเมิดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการสมาคม คำจำกัดความที่กว้างและคลุมเครือของ "การก่อการร้าย" และบทบัญญัติอื่นๆ ถูกใช้เป็นอาวุธในการละเมิดสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมและสิทธิมนุษยชนอื่นๆ โดยไม่ต้องรับผิด

“ทางการอินเดียต้องเคารพ ปกป้อง ส่งเสริม และเติมเต็มสิทธิมนุษยชนของทุกคน รวมถึงเสรีภาพการแสดงออกและการสมาคม ทางการต้องหยุดมุ่งเป้าไปที่สื่ออิสระ และปล่อยตัวนักข่าวที่ถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาที่ถูกกุขึ้นมามีแรงจูงใจทางการเมือง และเพียงเพราะการรายงานข่าววิพากษ์วิจารณ์เท่านั้นโดยทันที

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/10/india-arrests-and-raids-at-newsclick-signals-attack-on-media-critical-of-the-government/

 

-----

 

อิหร่าน: จำเป็นต้องมีการสอบสวนการบาดเจ็บสาหัสของเด็กนักเรียนหญิงท่ามกลางหลักฐานที่ถูกปกปิดมากขึ้น

4 ตุลาคม 2566

 

ประชาคมระหว่างประเทศต้องเรียกร้องให้ทางการอิหร่านอนุญาตให้คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของสหประชาชาติและผู้ตรวจสอบอิสระอื่นๆ เข้าไปในประเทศเพื่อสอบสวนสถานการณ์ที่นำไปสู่การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของอาร์มิตา การาวันด์ วัย 16 ปี ซึ่งหมดสติอยู่บนรถไฟใต้ดินเตหะรานภายหลัง รายงานว่าเธอถูกทำร้ายโดยผู้บังคับใช้กฎหมายบังคับให้สวมผ้าคลุมศีรษะของอิหร่าน และอยู่ในอาการโคม่านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวท่ามกลางหลักฐานของการปกปิดโดยทางการที่เพิ่มขึ้น

ในช่วงไม่กี่วันหลังจากเธอเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ทางการอิหร่านได้จับกุมนักข่าวคนหนึ่งที่กำลังสืบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว และเผยแพร่วิดีโอโฆษณาชวนเชื่อในสื่อของรัฐซึ่งมีพ่อแม่และเพื่อนฝูงของอาร์มิตา การาวันด์ที่แสดงอาการเศร้าอย่างเห็นได้ชัด โดยพูดย้ำคำบอกเล่าของรัฐว่าเธอล้มลงเนื่องจากความดันโลหิตต่ำอย่างไม่เต็มใจ

นอกจากนี้ ด้วยความพยายามที่จะปกปิดความจริง ทางการยังได้เผยแพร่ภาพวงจรปิดที่มีการแก้ไขด้วย การวิเคราะห์โดย Evidence Lab ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยให้เห็นอัตราเฟรมของวิดีโอเพิ่มขึ้นใน 4 ช่วง และตรวจพบช่องที่หายไป 3 นาที 16 วินาทีในวิดีโอ

“ทางการอิหร่านกำลังร่วมกันปฏิเสธและบิดเบือนเพื่อปกปิดความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ที่นำไปสู่การบาดเจ็บของอาร์มิตา การาวันด์ ซึ่งชวนให้นึกถึงคำบอกเล่าที่ถูกกุขึ้นและคำอธิบายที่ไม่น่าเชื่อเกี่ยวกับการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของมาห์ซา/ซีนา อามีนี เมื่อกว่า 1 ปีก่อน” ไดอานา เอลทาฮาวี รองผู้อำนวยการภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/10/iran-independent-investigation-into-schoolgirls-critical-injuries-needed-amid-mounting-evidence-of-a-cover-up/

 

----- 

 

โลก: การสืบสวน ‘Predator Files’ เผยความล้มเหลวครั้งใหญ่ในการควบคุมการซื้อขายการสอดแนม

5 ตุลาคม 2566

 

การสืบสวนครั้งใหม่เกี่ยวกับวิกฤตการสอดแนมทั่วโลกโดยเครือข่ายสื่อ European Investigative Collaborations (EIC) ด้วยความช่วยเหลือทางเทคนิคจาก Security Lab ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เริ่มเปิดเผยความจริงที่น่าตกใจในวันที่ 5 ตุลาคม ว่าอุตสาหกรรมนี้แพร่กระจายไปไกล และกฎระเบียบของสหภาพยุโรปไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุม

‘Predator Files’ มุ่งเน้นไปที่ “Intellexa alliance” ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่เชื่อมโยงถึงกันที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และ Predator ซึ่งเป็นสปายแวร์ที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวสูง สปายแวร์นี้และรุ่นที่ดัดแปลงโดยใช้ชื่อใหม่สามารถเข้าถึงข้อมูลในอุปกรณ์ได้อย่างไม่จำกัด โดยในปัจจุบัน ยังไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างอิสระหรือจำกัดการทำงานเฉพาะที่จำเป็นและได้สัดส่วนสำหรับการใช้งานและเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง Predator สามารถแทรกซึมเข้าไปในอุปกรณ์ได้เมื่อผู้ใช้เพียงแค่คลิกลิงก์ที่เป็นอันตราย นอกจากนั้นยังสามารถส่งผ่านการโจมตีทางยุทธวิธี ซึ่งสามารถติดในอุปกรณ์ใกล้เคียงได้อย่างเงียบๆ

มีการพบผลิตภัณฑ์ของ Intellexa alliance ในอย่างน้อย 25 ประเทศทั่วยุโรป เอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา และถูกนำมาใช้เพื่อบ่อนทำลายสิทธิมนุษยชน เสรีภาพสื่อ และขบวนการเพื่อสังคมทั่วโลก

“การสืบสวน ‘Predator Files’ แสดงให้เห็นสิ่งที่เรากังวลกันมานาน นั่นคือผลิตภัณฑ์สอดแนมที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวสูงที่มีการซื้อขายกันในระดับใกล้เคียงอุตสาหกรรม และดำเนินงานอย่างอิสระในเงามืดโดยไม่มีการกำกับดูแลหรือความรับผิดชอบอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์อีกครั้งว่าประเทศและสถาบันต่างๆ ในยุโรปล้มเหลวในการควบคุมการขายและการโอนผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ” แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/10/global-predator-files-investigation-reveals-catastrophic-failure-to-regulate-surveillance-trade/