สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 2 - 8 กันยายน 2566

11 กันยายน 2566

Amnesty International Thailand

 

ฮ่องกง: คำตัดสินเรื่องการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันคือช่วงเวลาแห่งความหวังสำหรับสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

5 กันยายน 2566 

 

สืบเนื่องจากคำตัดสินของศาลอุทธรณ์สูงสุดฮ่องกงเมื่อวันที่ 5 กันยายน ที่ได้มอบชัยชนะบางส่วนให้แก่จิมมี่ แชม นักกิจกรรมเพื่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเขาพยายามทำให้การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันของเขาที่ถูกรับรองในต่างประเทศที่จัดงานแต่ง ได้รับการยอมรับในฮ่องกงด้วย โดยมีการเรียกร้องมาตั้งแต่ปี 2561 

โดยปิยะ มูควิต ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า คำตัดสินนี้ถือเป็นก้าวสำคัญและเป็นช่วงเวลาแห่งความหวังสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศในฮ่องกง ซึ่งถูกปฏิเสธสิทธิที่เท่าเทียมกันมาอย่างยาวนานเนื่องจากกฎหมายที่ล้าสมัยและเลือกปฏิบัติของเมืองนี้

“ชัยชนะบางส่วนของจิมมี่ แชมในศาลถือเป็นรางวัลสำหรับการรณรงค์เพื่อความเท่าเทียมอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยของเขา และเป็นการส่งข้อความที่ชัดเจนไปยังรัฐบาลฮ่องกงว่ากฎหมายเกี่ยวกับการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน"

“เป็นเรื่องน่าเสียใจที่ศาลเห็นว่าสิทธิในการแต่งงานตามรัฐธรรมนูญนั้นจำกัดเฉพาะคู่รักต่างเพศเท่านั้น แต่ไม่อาจมองข้ามการที่ศาลยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลมีการรับรองทางกฎหมายทั้งที่เป็นทางการและทั่วไปสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน เพื่อปกป้องสิทธิของพวกเขา ช่วยให้พวกเขามีส่วนร่วมในชีวิตทางสังคมได้อย่างมั่นใจ และยอมรับความชอบธรรมตามกฎหมายของพวกเขา”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันควรได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียมกันและบนพื้นฐานเดียวกัน และมีสิทธิเช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศ

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3PbhyYv

 

-----


 

โลก: คลื่นความร้อนทำให้มลพิษทางอากาศแย่ลง ตอกย้ำความจำเป็นเร่งด่วนในการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

6 กันยายน 2566 

 

สืบเนื่องจากรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเมื่อวันที่ 6 กันยายน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความถี่และความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของคลื่นความร้อนที่กำลังลดคุณภาพอากาศทั่วโลกลงอย่างมาก คุกคามสุขภาพของผู้คนและสิทธิในการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืนของพวกเขา 

แอน แฮร์ริสัน ที่ปรึกษาด้านสภาพภูมิอากาศของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเพิ่มความรุนแรงและเพิ่มความถี่ของคลื่นความร้อนให้มากขึ้น และความร้อนจัดที่รวมกับไฟป่าและฝุ่นทะเลทราย กำลังสร้างความเสียหายต่อคุณภาพอากาศในวงกว้าง และคุกคามสิทธิมนุษยชนของผู้คนในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดี

“ประเทศต่างๆ จะต้องดำเนินการเพื่อคุ้มครองระบบสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชน ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบมากที่สุดสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อในอดีตต้องประกันว่าจะตอบสนองพันธกิจด้านเงินทุนสำหรับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่มีอยู่ เพื่อช่วยปกป้องสิทธิของชนพื้นเมืองและชุมชนชายขอบที่มีความเสี่ยงมากที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเน้นย้ำถึงผลกระทบด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเลวร้ายกว่าสำหรับบุคคลและกลุ่มคนชายขอบ เช่น ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ นอกจากนี้ยังบันทึกข้อมูลผลกระทบของคลื่นความร้อนต่อสิทธิมนุษยชนในชุมชนที่เปราะบางอีกด้วย

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่รับผิดชอบด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศและภูมิอากาศวิทยา อุทกวิทยา และธรณีฟิสิกส์ จากข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 กันยายนโดย Copernicus Climate Change Service ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป พบว่าเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม 2566 เป็นช่วงสามเดือนที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3LfXWRO

 

-----

 

  

สหราชอาณาจักร: ต้องแก้ไข 'ข้อกำหนดเกี่ยวกับสายลับ' ในร่างกฎหมายความปลอดภัยออนไลน์ก่อนที่จะกลายเป็นกฎหมาย

5 กันยายน 2566 

 

ก่อนที่ร่างกฎหมายความปลอดภัยออนไลน์ของสหราชอาณาจักรจะเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายในสภาขุนนางในวันที่ 6 กันยายน ซึ่งอาจเห็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ข้อกำหนดเกี่ยวกับสายลับ’ ได้รับการลงนามเป็นกฎหมายในปีนี้ 

ราชา อับดุล ราฮิม ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ เทค (Amnesty Tech) เผยว่า ข้อกำหนดที่ 122 หรือที่เรียกว่า ‘ข้อกำหนดเกี่ยวกับสายลับ’ อาจทำให้ภาคเอกชนได้รับคำสั่งให้ดำเนินการสอดแนมการสื่อสารดิจิทัลส่วนตัวในวงกว้าง ซึ่งจะทำให้ทุกคนในสหราชอาณาจักร รวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรม เสี่ยงต่อการถูกโจมตีด้วยการแฮ็กและถูกสอดแนมแบบกำหนดเป้าหมาย นอกจากนี้ยังสร้างบรรทัดฐานที่เป็นอันตรายอีกด้วย

“ยังคงเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสร้างระบบเทคโนโลยีที่สามารถสแกนเนื้อหาของการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัวในขณะที่ยังคงรักษาสิทธิในความเป็นส่วนตัวนั้นเป็นไปไม่ได้

“การเข้ารหัสเป็นตัวช่วยที่สำคัญสำหรับสิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงออก และยังมีผลกระทบสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ด้วย ผู้ออกกฎหมายของสหราชอาณาจักรจะต้องแก้ไขข้อกำหนดที่ 122 อย่างเร่งด่วน และประกันว่าร่างกฎหมายความปลอดภัยออนไลน์จะคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวก่อนที่จะมีการลงนามเป็นกฎหมาย”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3LfXXVS

 

-----

 

ชิลี: 50 ปีหลังรัฐประหาร การใช้ความทรงจำทางประวัติศาสตร์มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศ

8 กันยายน 2566 

 

หากชิลีจะรักษาบาดแผลที่เกิดจากรัฐบาลทหารของออกุสโต ปิโนเชต์ ชิลีจะต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์และสร้างรากฐานของสังคมที่ให้ความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากขึ้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในโอกาสรำลึก 50 ปีนับตั้งแต่การรัฐประหารที่ส่งผลให้เกิดอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโหดร้ายจำนวนนับไม่ถ้วนในประเทศนี้

ในช่วงการปกครองของปิโนเชต์ การรับรองตามรัฐธรรมนูญถูกระงับ รัฐสภาถูกยุบและมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ การทรมานและทำให้ผู้คนหายสาบสูญ และการปฏิบัติอื่นๆ กลายเป็นนโยบายของรัฐ จากตัวเลขอย่างเป็นทางการ รัฐบาลทหารทิ้งเหยื่อไว้ 40,175 ราย ซึ่งรวมถึงการทรมาน การประหารชีวิต การควบคุมตัว และการหายสาบสูญ และข้อมูลของ Transitional Justice Observatory ชี้ให้เห็นว่าไม่มีความยุติธรรม ความจริง และการเยียวยาในการประหารชีวิตหรือการหายสาบสูญมากกว่า 70%

โรดริโก บุสโตส ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ชิลี เผยว่า การค้นหาผู้ถูกควบคุมตัวซึ่งหายสาบสูญไปไม่ได้เป็นเพียงคำถามถึงความยุติธรรม แต่ยังรวมถึงมนุษยธรรมด้วย การค้นหาที่อยู่ การระบุตัว และการนำร่างของพวกเขากลับมา ไม่เพียงแต่ช่วยเยียวยาครอบครัวของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังช่วยรักษาบาดแผลลึกที่เห็นได้ชัดในสังคมชิลีด้วย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ผู้ที่ยังปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในที่สุด มาตรการนี้และมาตรการอื่นๆ ที่รัฐบาลประกาศเมื่อเร็วๆ นี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้แผนการค้นหาแห่งชาติสามารถดำเนินการได้

“การรักษาความทรงจำให้คงอยู่เป็นสิ่งสำคัญ หากเราต้องการป้องกันไม่ให้คนรุ่นต่อๆ ไปประสบกับความโหดร้ายที่เราต้องเผชิญในอดีต”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3RcsdVH

 

-----

 

ไซปรัส: ทางการต้องปกป้องผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจากการถูกโจมตีที่เหยียดเชื้อชาติ

6 กันยายน 2566 

 

สืบเนื่องจากการเดินขบวนที่เหมือนการจราจลและการโจมตีอย่างรุนแรงต่อผู้คนที่ถูกเหยียดเชื้อชาติ รวมถึงผู้อพยพและผู้ลี้ภัยในลีมาซอลและคลอรากาในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งร้านค้าของผู้อพยพถูกทำลายและหลายคนถูกโจมตีโดยฝูงชน 

อาเดรียนา ทิโดนา นักวิจัยด้านการโยกย้ายถิ่นฐานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การโจมตีอย่างรุนแรงด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติในคลอรากาและลีมาซอลจะต้องเป็นสัญญาณเตือนให้ทางการในไซปรัสดำเนินการมาตรการโดยทันทีเพื่อจัดการกับคำพูดและการละเมิดที่เหยียดเชื้อชาติ ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นในประเทศมานานหลายปี

“ทางการในไซปรัสจะต้องดำเนินการสอบสวนอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับการโจมตีในคลอรากาและลีมาซอล รวมถึงการตอบสนองของตำรวจต่อเหตุการณ์นี้ และดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อป้องกันความรุนแรงในอนาคต รวมถึงปกป้องผู้คนที่ถูกเหยียดเชื้อชาติด้วย” 

“การโจมตีครั้งล่าสุดต่อผู้อพยพที่ถูกเหยียดเชื้อชาติเป็นผลโดยตรงจากนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการเหยียดเชื้อชาติ คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง ความเกลียดกลัวคนต่างชาติ และการไม่ยอมรับความแตกต่างในสังคมไซปรัส เราขอเรียกร้องให้ทางการดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อหยุดยั้งความรุนแรงต่อผู้อพยพที่ถูกเหยียดเชื้อชาติ และนำตัวผู้ที่รับผิดชอบในการสนับสนุนให้เกิดเหตุการณ์นี้มารับผิด เราขอประณามการที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่นิ่งเงียบหลังจากเกิดความรุนแรงต่อผู้อพยพอีกครั้งหนึ่ง”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/460vRWG