เขียนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง เขียนเพื่อเปิดกรงขัง 'สู่ฝันอันเสรี'

27 กรกฎาคม 2566

Amnesty International Thailand

ตลอดระยะเวลาชั่วชีวิตของพวกเราทุกคน จะต้องมี ‘งานเขียน’ สักหนึ่งชิ้นหรือ ‘หนังสือ’ สักหนึ่งเล่มที่อาจจะยาวแค่ 1 บรรทัดก็ได้หรือยาวเกิน 2,000 หน้ากระดาษก็ได้ แต่กลับมีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อชีวิต หรือประทับอยู่ในจิตใจอย่างไม่รู้ลืม

สุดสัปดาห์ปลายเดือนกรกฎาคมปี 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดงานเวิร์กชอปสำหรับคนที่ชอบขีดเขียนภายใต้โครงการ Writers That Matter นัก (อยาก) เขียน เปลี่ยนโลก” ตอน ‘สู่ฝันอันเสรี’ ที่ชวนนัก (อยาก) เขียนมาร่วมเวิร์คชอปการเขียนและเล่าเรื่อง เพราะเชื่อว่าตัวอักษรสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ และเรื่องเล่าเปิดโลกใบใหม่ให้กับใครได้เสมอ ภายใต้แนวคิดใช้งานเขียนเปิดกรงขังที่ทุกคนกำลังเผชิญร่วมกัน ไปสู่ฝันอันหมายถึง ‘เสรีภาพ’ ที่รออยู่ปลายทาง

จริงหรือไม่ที่พลังของงานเขียนสามารถปลดล็อกกุญแจแห่งกรงขัง สร้างโอกาสเปิดใจ สร้างการเปลี่ยนแปลง และสร้างโอกาสในการหยั่งรากแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตยได้ในที่สุด

 

[ ปลดปล่อย ‘เสรีภาพ’ ออกจากกรงขังด้วย ‘การเขียน’ ]

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เล่าว่า จุดเริ่มต้นของ ‘แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล’ เริ่มต้นจาก ‘การเขียน’ เช่นกัน เพราะองค์กรถือกำเนิดเมื่อกว่า 60 ปีก่อนในยุคสงครามเย็น มีผู้คนถูกคุมขังและทรมานจากการท้าทายอำนาจรัฐและตั้งคำถาม จนกระทั่ง ‘ปีเตอร์ เบเนนสัน’ ทนายความชาวอังกฤษ เขียนบทความ The Forgotten Prisoners’ หรือ ‘นักโทษที่ถูกลืม’ เรียกร้องให้ปล่อยตัว ประโยคแรกของบทความชิ้นนี้เริ่มต้นว่า

“ลองจินตนาการดูว่า ถ้าเราได้เปิดหนังสือพิมพ์และฟังข่าวทุกวันๆ ว่ามีคนโดนจับกุมคุมขัง โดนทรมาน โดนประหารชีวิต เพียงเพราะตั้งคำถามหรือว่าท้าทายผู้มีอำนาจ คุณจะรู้สึกยังไง และตอนนี้กำลังเกิดเหตุการณ์นี้อยู่” แล้วเขาก็เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเวลานั้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนเรียกร้องถึงผู้มีอำนาจในเวลานั้น จากหนึ่งฉบับ เป็นสองฉบับ เป็นสามฉบับ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถกดดันผู้มีอำนาจได้สำเร็จ

เช่นเดียวกันในประเทศไทยในเหตุการณ์ 6 ตุลามีนิสิตนักศึกษาถูกจับกุมคุมขัง ‘แอมเนสตี้’ ทั่วโลกก็เขียนและส่งจดหมายเรียกร้องความยุติธรรมให้นักศึกษา สร้างเครือข่ายให้คนธรรมดาๆ เห็นว่า ไม่ต้องเป็นเอ็นจีโอ นักสังคมสงเคราะห์ นักกฎหมาย ทนาย หรือคนธรรมดาก็สามารถลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านหมึกปากกาหรือปลายนิ้วมือได้

หรือแม้แต่ในฐานะของคนคนหนึ่ง ก่อนมาทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ‘ปิยนุช’ เล่าว่า เธอเติบโตในยุคที่มีนิยายที่พระเอกข่มขืนนางเอกแล้วยังได้รับการยอมรับ ผู้หญิงต้องใช้ชีวิตอยู่กับคนที่ข่มขืนตัวเอง มันทำให้เราตั้งคำถามหลายๆ อย่าง จนมาถึงเวลาที่เธอหันมาอ่านเรื่องสั้น และได้อ่าน ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ทำให้เข้าใจสิทธิที่ที่คนคนหนึ่งควรได้รับนับจากวันที่เกิดจนถึงวันตาย ทำให้เรารู้ว่า “คนเท่ากัน” บทความชิ้นนี้สำคัญกับเรามากในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

ฉะนั้น ‘การเขียน’ คือ สิ่งหนึ่งที่คนคนหนึ่งมีสิทธิที่จะทำได้ในการสร้างเจตจำนงและจรดปลายปากกาออกมาเป็นความรู้สึกและเรื่องราว เราเชื่อว่าการเขียนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบกลอน ไดอารี่ จดหมาย หรือนิยาย

เราจึงอยากเปิดพื้นที่ในการเขียนให้กับคนหลากหลายได้แสดงออก และถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไป แต่ ‘หัวใจ’ ของมัน คือ การแสดงเจตจำนงจากความรู้สึกของเรา ไม่ว่าจะเป็นการพิมเพื่อสื่อสารผ่านทวิตเตอร์ ดิสคอร์ด เธรด หรือการสั่งหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ อ่านหนังสือผ่านอีบุ๊ค ปัจจุบันคนรุ่นใหม่เองก็สนใจเรื่องราวทางสังคมมากขึ้น เมื่อมีคนอ่านก็ต้องมีคนเขียน และเราจึงต้องเปิดพื้นที่สร้างความหลากหลายให้คนที่เข้ามาผลิตสื่อในแบบต่างๆ ออกไปให้คนได้อ่าน

งานของเราใช้ชื่อตอนว่า ‘สู่ฝันอันเสรี’ มาจากความหมายว่า ‘เสรีภาพ’ มันกลายเป็นความฝันไปแล้ว เพราะเราทุกคนเหมือนเดินอยู่บนกับระเบิดตลอดเวลา บางครั้งเราไม่รู้ว่าจะแสดงความคิดเห็นให้คนในครอบครัวของเราฟังยังไง บางครั้งเราอาจจะโดนปิดปากหรือโดนข้อหาควบคุมเสรีภาพ สิ่งเหล่านี้คือ ‘กรงขัง’

แต่ ‘งานเขียน’ ยังคงทำให้เราเห็นโลกกว้างและความเป็นจริงอีกด้าน ไม่ได้อยู่ในห้องเรียน ไม่ต้องโดนฝึกหรือบังคับให้จำ ‘งานเขียน’ ทำให้คนถามและลุกมาเรียกร้อง หรือบางครั้งอาจจะลุกขึ้นมาเขียนด้วยตัวเอง

 

[ เขียนอาจไม่ได้เปลี่ยนโลก แต่เปลี่ยนคนให้เปิดใจ ]

 

 

ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ เจ้าของนามปากกา ‘ปราบต์’ ผู้เขียนนวนิยายเรื่องดังหลากหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นกาหลมหรทึก คุณหมีปาฏิหาริย์ ลิงพาดกลอน ฯลฯ เล่าถึงอิทธิพลของงานเขียนว่า ตนเองเติบโตในครอบครัวคนจีนชอบอ่านนวนิยายในห้องสมุด ไม่เคยคิดว่าจะต้องได้เนื้อหาสาระจากหนังสือที่อ่าน จนกระทั่งได้อ่าน ‘The Kite Runner’ (คนเก็บว่าว) ทำให้ได้รู้ว่า จริงๆ แล้วงานเขียนสามารถสนุกและอ่านง่าย พร้อมกับสร้างประโยชน์ให้คนอ่านและประทับจมอยู่ในใจ

‘ปราบต์’ เป็นคนที่มีผลงานหลากหลายแนว ทั้งนิยายสืบสวนสอบสวน นิยายแฟนตาซี ไปจนถึงนิยายรัก และตลอดระยะเวลาหลายปีที่เขาผลิตผลงานออกสู่สาธารณชนก็เห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอด

ปราบต์เล่าว่า ตัวเองเติบโตมาแบบเด็กธรรมดาๆ เชื่อฟังผู้ใหญ่ เข้าใจโลกไม่มาก แต่เพราะงานเขียนที่ชอบมากที่สุด คือ ‘งานสืบสวนสอบสวน’ ที่จะต้องยึดโยงอยู่กับความจริง ทำให้ต้องอาศัยการสืบค้นในการสร้างงาน การศึกษาหาข้อมูลมากๆ ทำให้ข้อมูลเหล่านั้นก็พาไปค้นพบเรื่องราวใหม่ๆ ตลอดเวลา ตอนเขียน ‘ลิงพาดกลอน’ เขาได้เข้าใจประเด็นโรฮิงญา ประเด็นศาสนา ตอนเขียนเรื่อง ‘ถ่านไฟเดียว’ เขาก็ได้เข้าใจประเด็นการทำแท้ง

ในขณะเดียวกันกับที่เขาได้เรียนรู้ระหว่างเขียน คนอ่านของเขาก็ได้เปิดรับเรื่องราวและประเด็นใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน ‘ปราบต์’ บอกว่า เขาไม่ได้คาดหวังมากในการเขียนเพื่อสื่อสารประเด็นทางสังคม แต่รู้สึกดีที่ผลงานของเขาที่อาจจะไม่ใช่งานเชิงความรู้สามารถพาคนอ่านที่อาจจะเติบโตฝังหัวมาแบบเดียวกับเขาได้เดินทางกับเนื้อเรื่องและประเด็นที่เขานำเสนอได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ในบางครั้งที่ทำให้คนอ่านเปลี่ยนมุมมองหรือความเชื่อได้ ซึ่งเป็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาในฐานะนักเขียนได้ตอบแทนกลับมา

“งานเขียนเหมือนกับคลื่น ไม่ใช่หนังสือเล่มนี้ออกมาแล้วทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าเราสามารถทำให้เขาเปิดใจและพร้อมจะรับอะไรใหม่ๆ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว การเปิดใจจะทำให้เขาเปิดรับเสียงใหม่มากขึ้น มองเห็นทางเลือกใหม่ แล้วก็เข้าใจอะไรใหม่ๆ มากขึ้น”

‘ปราบต์’ นักเขียนที่เมื่อสิบปีก่อนเลือกลาออกจากงานประจำมาเป็นนักเขียน เผชิญหน้ากับความกดดันจากสังคมและครอบครัว เจอกับอุปสรรคจากภาวะเศรษฐกิจและสังคม จนต้องผลิตผลงานจำนวนหลายชิ้นต่อปี เพื่อพิสูจน์ความเป็นไปได้ของอาชีพนักเขียนในประเทศไทย อธิบายว่า แม้ก่อนหน้านี้เขาจะมองไม่เห็นอนาคต แต่ตอนนี้เขามีความหวังกับนิยายสืบสวนสอบสวนที่ชื่อว่า ‘ประเทศไทย’ เพราะประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปมากนับจากวันที่เขายังเป็นเด็ก ผลเลือกตั้งประกาศชัดว่าสังคมต้องการอะไร ตราบใดที่ประชาชนสามารถรักษาเจตจำนงเอาไว้ได้ เราก็ยังมีความหวังอยู่ แม้ไม่ได้เชื่อว่าเวลาอยู่ข้างเรา แต่เมื่อคนก้าวหน้าไปแล้วและตราบใดที่คนยังคงเชื่อว่าคนเท่ากันและสามารถตรวจสอบกันได้ก็คือจบแล้ว

 

เขียนเพื่อเปลี่ยนแปลง เขียนเพื่อประชาธิปไตย เขียนเพื่อเสรีภาพ 

 

 

รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล โฆษกของสหภาพนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หนึ่งในแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นักกิจกรรมทางการเมืองที่เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เล่าถึงงานเขียนที่ประทับอยู่ในใจเธอว่า งานเขียนสามชิ้นที่ประทับอยู่ในใจ คือ ‘หัวแตงโม’ ของ องอาจ ชัยชาญชีพ การ์ตูนจากฝีมือคนไทยเล่มแรกๆ ที่เธอกับพี่สาวได้อ่าน งานชิ้นนี้ถ่ายทอดชีวิตธรรมดาๆ ของคนไทยธรรมดาที่ชีวิตธรรมดาก็ลำบาก ทำให้ได้ค้นหามุมมองชีวิตแบบใหม่และเห็นภาพง่ายขึ้น

อีกสองชิ้นคืองานเขียนของ ‘บุญเลิศ วิเศษปรีชา’ อย่าง ‘โลกของคนไร้บ้าน’ และ ‘บ้านที่กลับไม่ได้’ ที่เธออ่านระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ เธอบอกว่า ทั้งสองเล่มเป็นหนังสือวิชาการที่เรียบเรียงได้อ่านง่าย ช่วยให้เธอสามารถทำความเข้าใจเรื่องคนไร้บ้าน เข้าใจว่าทำไมกันหนอพวกเขาถึงไร้บ้าน บอกเล่าเรื่องราวของคนไร้บ้านที่แตกต่างกัน ทั้งคนไร้บ้านที่มีบ้านแต่ไม่อยากกลับ คนไร้บ้านเพราะพิษเศรษฐกิจ กลายเป็นว่าเมื่ออ่านจบภาพจำของสังคมที่มีต่อคนไร้บ้านมันผิดไปหมดเลย เธอบอกว่า หนังสือสามเล่มทำให้เธอเห็นโลกในมุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

‘รุ้ง’ ให้มุมมองเกี่ยวกับอิทธิพลของงานเขียนและการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมว่า หนังสือหรืองานเขียนนั้นเป็น ‘สื่อ’ แล้วไม่ว่าสื่อไหนๆ ที่มีอยู่บนโลกนี้ก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อกระบวนการ เมื่อประเด็นของขบวนการถูกจับและนำไปสู่การต่อยอดออกมาเป็นสื่อ

“สื่อมีประโยชน์ไม่ใช่แค่ขบวนการเคลื่อนไหว ไม่ใช่แค่ประชาธิปไตย แต่ทุกๆ อย่างที่อยากให้มันเกิด อยากให้มันเปลี่ยนแปลง อยากให้มันพัฒนายิ่งขึ้น อยู่ต่อหรือดับไป สำหรับเราสื่อเป็นผู้ควบคุมหลักอีกคนหนึ่งที่จะทำให้เรื่องเหล่านั้นไปต่อได้หรือไปต่อไม่ได้”

หลายๆ ครั้งจะเห็นว่า ขบวนการเคลื่อนไหวย่อมอยากเห็นการขยับของศิลปิน เพราะเมื่อสื่อสารด้วยภาพหรือศิลปะจะช่วยลดกำแพงในการเข้าถึงเนื้อหา เพื่อให้ผู้เริ่มต้นทางการเมืองสามารถเริ่มต้นจากตรงนี้ได้ ขณะที่คนที่ไม่ใหม่ทางการเมืองแล้วก็ต้องการสื่อเพื่อค้นหาความรู้และพิสูจน์ข้อเท็จจริง อาจจะผ่านงานวิชาการหรืองานที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น

สุดท้าย ‘รุ้ง’ ก็อธิบายว่า งานเขียน คือ อีกหนึ่งเครื่องมือการต่อสู้ เพื่อความเปลี่ยนแปลง เพื่อประชาธิปไตย “เครื่องมือในการต่อสู้มีเยอะมาก งานเขียนก็เป็นหนึ่งในนั้น ถ้าเราอยากให้มันเปลี่ยนแปลง เราจำเป็นต้องใช้ทุกเครื่องมือที่เรามี ถ้าถามว่าในฐานะคนคนหนึ่งเราทำอะไรได้บ้าง ถ้าเราเขียนได้ เราเขียนเป็นก็ทำไปเลย เพราะว่าคุณกำลังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ขบวนการหรือประเด็นที่ต้องการขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จได้”

“เราคิดว่าชื่องาน ‘สู่ฝันอันเสรี’ มันเมคเซ้นต์ เพราะเมื่อเราอยากมีเสรีภาพ เราจึงจัดงานนี้ขึ้นมาเพื่อรวบรวมนักเขียนเหล่านี้และให้เครื่องมือกับเขา เพื่อให้เขากลายเป็นคนที่นำเราไปสู่ฝันอันเสรี”

ทั้งนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยชวนส่งเรื่องสั้นเข้าประกวดในโครงการ Writers that Matter “นัก(อยาก)เขียน เปลี่ยนโลก” ในหัวข้อ “สู่ฝันอันเสรี” ที่อยากพาผู้คนย้อนไปอ่านเรื่องราวสิทธิมนุษยชน และบอกเล่าวรรณกรรมผ่านเรื่องสั้นเพื่อส่งต่อความหวัง และจุดประกายความฝัน ให้กับคนรุ่นต่อไปโดยสามารถส่งเรื่องสั้นได้ตั้งแต่วันนี้ - 31 กรกฎาคม 2566 เวลา 23.59 น. ส่งผลงานได้ที่ https://forms.gle/qLEQnHJLniKY5VA37

มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจุดเทียน เพื่อส่งต่อฝันอันเสรีไปด้วยกัน !!!