คืนศักดิ์ศรีให้ผู้สูญหายด้วยการทำความจริงให้ปรากฏ

29 สิงหาคม 2566

Amnesty International Thailand

สหประชาชาติบันทึกข้อมูลการบังคับให้สูญหาย 76 กรณีในประเทศไทย ผู้ถูกบังคับให้เป็นบุคคลสูญหายทั้ง 76 กรณีอาจเป็นใครสักคนของใครสักคน เขาอาจเป็นปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ และลูกของบ้านหลังใดหลังหนึ่ง เขาเป็นที่รักของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งเสมอ

การบังคับบุคคลให้สูญหายเกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์ความรุนแรงของรัฐไทย มีการบังคับบุคคลให้สูญหายในช่วงการปราบปรามคอมมิวนิสต์ สงครามยาเสพติด การปราบปรามการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การบังคับสูญหายนักปกป้องสิทธิ กรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง เช่นเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 รวมถึงการบังคับสูญหายของผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน

ทุกครอบครัวที่ประสบชะตากรรมร่วมกันนี้ต่างพบอุปสรรคในการเข้าถึงความยุติธรรมและความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของเหยื่อ แม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบและประกาศใช้ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน แต่ญาติของผู้ถูกบังคับให้สูญหายต่างเฝ้ารอ วันที่เจ้าหน้าที่รัฐจะเริ่มลงมือสืบหาความจริง เพราะการทำให้ความจริงปรากฏคือหนทางของการชดใช้เยียวยาและคืนศักดิ์ศรีแด่ผู้ถูกบังคับให้สูญหายทุกคน

 

เตียง ศิริขันธ์ ผู้ถูกบังคับให้เป็นบุคคลสูญหายคดีแรกในประเทศไทย

 

 

“เราสงสัยว่าทำไมเขานามสกุลเหมือนเรา” อั๋ว-จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ เล่าถึง ‘แรงดึงดูดแรก’ ที่ชื่อของ ‘เตียง ศิริขันธ์’ ปรากฎในหนังสือเรียนวิชาการเมืองการปกครองเมื่อครั้งที่เธอเป็นนักเรียนมัธยมปลายในเมืองอุบลราชธานี ในหนังสือระบุว่าชายผู้มีนามสกุลเดียวกับเธอเป็น ‘ผู้มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์’ ขณะอีกบทบาทเป็นเสรีไทยสายอีสานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ตัวตนอันเลือนลางของเตียง ศิริขันธ์ในหนังสือเรียนไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจชีวิตและความคิดของอดีตผู้แทนราษฎรผู้ถูกบังคับให้เป็นบุคคลสูญหาย อั๋วเลือกถามครอบครัว ซึ่งมีลุงเป็นนักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดอุบลราชธานี สืบสาแหรกของตระกูลเพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ครอบครัว ก่อนจะพบว่าเตียง ศิริขันธ์ มีศักดิ์เป็นทวดของเธอ การทำความรู้จักชีวิตและตัวตนของทวดทำให้เธอเข้าใจตัวตนของประเทศนี้มากขึ้น

“พอโตขึ้น” อั๋วบอก “การเป็นกบฏไม่ได้แปลว่าต้องเป็นคนไม่ดี แต่เขาอาจจะมีแนวคิดไม่ตรงกับผู้ปกครอง หรือคนที่มีอำนาจในยุคสมัยนั้น ประวัติศาสตร์ก็ถูกเขียนแบบนี้มาตลอด”  

เตียง ศิริขันธ์ ถูกจับในข้อหาฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ครั้งแรกในสมัยที่ยังเป็นครูเมื่อปี 2478 หลังจากนั้นจึงตัดสินใจลาออกจากราชการมาทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสรีราษฎร์ จนถึงปี 2480 ประเทศสยามได้จัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรโดยตรงครั้งแรก เตียง ศิริขันธ์ เข้าสู่เส้นทางการเมืองตั้งแต่นั้นมา และได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้แทนชาวสกลนครมาโดยตลอด

เมื่อมาถึงยุคสมัยของปฏิบัติการกวาดล้างและจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมืองที่เริ่มต้นขึ้นหลังรัฐประหาร 2490 ภายใต้การบังคับบัญชาของพลตำรวจตรีเผ่า ศรียานนท์ ทำให้เกิดการสังหารบุคคลสำคัญทางการเมืองหลายคนซึ่งล้วนแต่เป็นนักการเมืองสายนายปรีดี พนมยงค์  พวกเขายืนอยู่ฝั่งตรงข้ามผู้มีอำนาจรัฐในตอนนั้นแทบทั้งสิ้น เตียงและสหายก็เป็นหนึ่งในนั้น

วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2495 ขณะที่เตียงกําลังประชุมกรรมการนิติบัญญัตินัดพิเศษอยู่ที่บ้านมนังคศิลา พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้เชิญตัวให้ไปพบ จากนั้นเขาก็หายสาบสูญไป เช่นเดียวกับ นายชาญ บุนนาค, นายเล็ก บุนนาค, นายผ่อง เขียววิจิตร และนายสง่า ประจักษ์วงศ์ ซึ่งต่างก็หายไปอย่างลึกลับในเวลาต่อมา

หลังจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ถูก จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจนต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศแล้ว มีการรื้อคดีขึ้นมาสะสางใหม่ ความจริงจึงปรากฏขึ้นมาว่า บุคคลทั้ง 5 ถูกตํารวจหลายนายร่วมกันสังหารอย่างโหดร้ายทารุณ แล้วนําศพทั้งหมดไปเผาและฝังในป่าเชิงเขาโล้น จังหวัดกาญจนบุรี

“มันไม่ยุติธรรมค่ะ เป็นเรื่องที่โหดร้ายมากๆ” อั๋วบอก “ในยุคสมัยหนึ่ง การเป็นคอมมิวนิสต์เป็นเรื่องร้ายแรงมาก ต้องโดนไล่ฆ่า ไม่ว่าคุณจะมีแนวคิดทางการเมืองแบบไหน ทุกคนก็คือมนุษย์ และมีเสรีภาพในการแสดงออก”

สิ่งที่เกิดขึ้นกับทวดของเธอได้วนซ้ำกลับมาเกิดกับบุคคลในครอบครัวคนอื่นมาตลอดประวัติศาสตร์ความรุนแรงของรัฐไทย กระทั่งสิ่งนี้เกิดขึ้นกับผู้คนในยุคสมัยเดียวกับเธอ

“ปี 2563 กรณีพี่ต้าร์ วันเฉลิม ทำให้ระดับความรับรู้ของสังคมตระหนักมากขึ้น เป็นเรื่องยากที่จะยอมรับ เพราะมันคืออาชญากรรมที่ร้ายแรงมากๆ” อั๋วบอก ในปีเดียวกันนั้นอั๋วและเพื่อนในรั้วมหาวิทยาลัยได้ลุกขึ้นมาจัดการชุมนุม เธอและเพื่อนนำความไม่ยุติธรรมในสังคมมานำเสนอและหาแนวร่วม

1 วันหลังการหายตัวไปจากที่พักในกรุงพนมเปญ วันเฉลิมปรากฏตัวในโลกออนไลน์ผ่านแฮชแท็ก ‘#Saveวันเฉลิม’ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย ในวันเดียวกัน เครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนป.) ยื่นจดหมายเปิดผนึกขอให้ติดตามตรวจสอบการบังคับให้หายสาบสูญของผู้ลี้ภัยชาวไทยในต่างประเทศ ที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติ

ไม่กี่วันต่อมา นักศึกษาในนามสหภาพนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ประกอบด้วย อั๋วและเพื่อน ถูกจับกุมขณะกำลังผูกโบว์ขาวเรียกร้องความเป็นธรรมแก่กรณีวันเฉลิมอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ปรากฏการณ์ ‘Saveวันเฉลิม’ เป็นเหมือนน้ำหยดหนึ่งในกระแสธารของการตามหาความยุติธรรม เป็นแรงผลักหนึ่งร่วมกับแรงผลักอื่นๆ ที่ทำให้กลายเป็นประเด็นรณรงค์ให้เกิดกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการบังคับให้สูญหาย มีการอภิปรายในสังคมวงกว้าง ป้ายกระดาษสีเหลืองพิมพ์ใบหน้าบุคคลที่สูญหาย ระบุปีที่พวกเขาหายตัวไป ถูกชูขึ้นในม็อบตลอดปี 2563 สังคมแสดงออกว่าต่อต้านความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐ และส่งเสียงให้เกิดการจดจำบุคคลที่รัฐอยากให้ลืม

ใบหน้าและเรื่องราวของผู้ถูกทำให้สูญหายได้ปรากฏขึ้นอีกครั้ง เตียง ศิริขันธ์, หะยีสุหลง โต๊ะมีนา, ทนง โพธิ์อ่าน, สมชาย นีละไพจิตร, กมล เหล่าโสภาพันธ์, พอละจี รักจงเจริญ, เด่น คำแหล้, อิทธิพล สุขแป้น, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, ชัชชาญ บุปผาวัลย์, ไกรเดช ลือเลิศ, ชูชีพ ชีวะสุทธิ์, สยาม ธีระวุฒิ ฯลฯ

พวกเขาล้วนแต่ถูกทำให้มีสถานะไม่ทราบชะตากรรม แต่กลับปรากฏตัวอีกครั้งบนแผ่นป้าย เวทีเสวนา บนเวทีไฮปาร์ค และในความทรงจำใหม่ของสังคมไทย

"ข้าพเจ้าเป็นราษฎรไทย ข้าพเจ้าต้องการให้ทุกๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความเป็นราษฎรจึงเป็นอุดมคติที่ข้าพเจ้าบูชา” ข้อความของเตียง ศิริขันธ์ ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์เสรีราษฎร เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 แต่ยังคงดังก้องในความคิดของอั๋ว แม้ว่าร่างกายของเขาจะถูกทำให้ย่อยยับไม่มีชิ้นดี แต่สิ่งสำคัญยังคงอยู่ - ความคิด

“หนูชอบข้อความนี้มาก” เธอบอก “มันพูดถึงความเท่าเทียม พูดถึงชนชั้น พูดถึงมิติของสังคมไทยได้ดีมากๆ สังคมมีความเหลื่อมล้ำ มีความไม่เท่าเทียม คนเราเกิดคนละจังหวัดก็มีโอกาสที่ชีวิตจะแตกต่างกันแล้ว หรือมีอะไรที่ฉุดรั้งไม่ให้เราพัฒนาไปข้างหน้า”

เธอนำข้อความของทวดขึ้นไปกล่าวไฮปาร์คในการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ แต่ความคิดในถ้อยคำแน่วนิ่งชัดเจน

 

สมชาย นีละไพจิตร คดีผู้ถูกบังคับให้เป็นบุคคลสูญหายขึ้นสู่ชั้นศาลเป็นคดีแรกในประเทศไทย

 

 

แม้ว่าครอบครัวจะยังไม่ทราบชะตากรรมของ สมชาย นีละไพจิตร แต่การเรียกร้องความยุติธรรมของ อังคณา นีละไพจิตร และครอบครัว ทำให้เกิดหนทางไปสู่การปฏิรูปกระบวนยุติธรรมอันรกชัฎ คดีการบังคับให้เป็นบุคคลสูญหายของทนายสมชายเป็นคดีแรกที่ขึ้นสู่ชั้นศาล ซึ่งทำให้พบว่าประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ

“คดีทนายสมชายเป็นคดีแรกในประเทศไทยที่ญาติสามารถผลักดันร่วมกับมิตรสหายจนคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมเป็นคดีแรก” อังคณากล่าว ท้ายที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาตัดสิทธิญาติในการเป็นโจทก์ร่วมในคดี เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าทนายสมชายเสียชีวิต

ก่อนถูกทำให้สูญหาย ทนายสมชายทำคดีให้ผู้ต้องหาคดีปล้นปืนค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส เมื่อพบว่าผู้ต้องหาถูกซ้อมทรมานระหว่างการสืบสวน เขาเขียนจดหมายร้องเรียนไปยังองค์กรต่างๆ ขอความเป็นธรรมให้ประชาชน 5 คนที่ถูกซ้อมทรมานระหว่างควบคุมตัวและสืบสวน

ทนายสมชายพยายามรวบรวม 50,000 รายชื่อเพื่อยกเลิกกฎอัยการศึก เพราะการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยและประชาชนถูกทำให้หายไปจำนวนมากภายใต้กฎหมายพิเศษ ก่อนที่เขาจะกลายเป็นผู้ถูกกระทำดุจเดียวกับความไม่เป็นธรรมที่เรียกร้องเพื่อคนอื่น

อังคณาร่วมกับลูกๆ เป็นโจทก์ดำเนินคดีกับตำรวจ 5 คนผู้เป็นจำเลยนำตัวทนายสมชายขึ้นรถโดยไม่ยินยอม จำเลยทั้ง 5 ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 309 ฐานข่มขืนใจและพรากเสรีภาพจากผู้อื่น ก่อนที่ศาลฎีกาสั่งยกฟ้อง เนื่องจากคดีดังกล่าวไม่มีผู้มีอำนาจฟ้องคดีมาเป็นโจทก์ กฎหมายระบุว่า กรณีที่ครอบครัวจะฟ้องคดีแทนผู้เสียหายได้ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่ผู้เสียหายตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถดำเนินการเองได้เท่านั้น

“คนที่จะมาเรียกร้องความเป็นธรรมก็เป็นตัวเขาเอง ตรงนี้ก็ทำให้เห็นว่ามันมีช่องโหว่ของกฎหมาย สรุปก็คือคดีคนหายไม่มีผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายได้หายไปแล้ว คดีนี้จึงไม่มีผู้เสียหาย ก็ทำให้สังคมรู้ว่ากฎหมายบ้านเรามีช่องโหว่” อังคณา กล่าว

หลังจากนั้น ชีวิตของเธอและครอบครัวก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การตามหาความยุติธรรมได้กลายเป็นภารกิจของชีวิต

“คำพิพากษาทำให้เราเห็นเลยว่า ประเทศไทยมีช่องว่าง ฉะนั้นเราต้องอุดช่องนี้ เพื่อคุ้มครองทุกคนในประเทศว่าจะไม่ถูกทำให้สูญหายอีก”

นอกจากการผลักดันกฎหมายภายในประเทศ การรณรงค์และทำงานในระดับภูมิภาคและระดับสากลก็ดำเนินคู่ขนานไปด้วย กระทั่งประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศ 2 ฉ​บับ ส่งผลให้รัฐบาลไทยมีพันธกรณีที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามอนุสัญญา หนึ่งในนั้นคือการออกกฎหมายภายในประเทศเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมร้ายแรงเหล่านี้ กระทั่ง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ผ่านสภาและมีผลบังคับใช้

“นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ไม่ใช่จุดสิ้นสุดค่ะ” อังคณาย้ำในเรื่องนี้

หนึ่งในสาระสำคัญใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ ระบุให้การกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นการกระทำผิดต่อเนื่อง รัฐมีหน้าที่สืบสวนจนกว่าจะทราบชะตากรรมของบุคคลนั้น ตามมาตรา 10 ที่กำหนดให้ดำเนินการสอบสวนจนกว่าจะพบบุคคลที่ถูกกระทำให้สูญหายหรือปรากฏหลักฐานอันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย

“เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ที่จะต้องสืบสวนจนกว่าจะทราบชะตากรรมและรู้ตัวผู้กระทำผิด นี่คือสิทธิที่จะทราบความจริงของเหยื่อ” อังคณาบอก

รายงานประจำปี 2565 ของคณะทำงานระบุจำนวนผู้ถูกบังคับสูญหายทั้งสิ้น 76 กรณีซึ่งสูงเป็นลำดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน ต่อจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ในฐานะสมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ (Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances – WGEID) อังคณาย้ำว่า “รัฐบาลสามารถไปดูรายชื่อเหล่านี้ที่สหประชาชาติ รัฐมีหน้าที่ริเริ่ม ไม่ใช่ให้ญาติไปร้องขอเพื่อให้มีการสืบสวน แต่รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการ ฉันก็เฝ้ารอว่าแล้วเมื่อไหร่ เจ้าหน้าที่จะริเริ่ม”

ในประวัติศาสตร์ความรุนแรงของรัฐไทย ไม่เคยมีสักครั้งที่รัฐต้องรับผิดชอบ นี่คืออุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงความยุติธรรม แม้ในบางกรณีรัฐมีความพยายามให้การเยียวยาด้วยการชดเชยด้วยตัวเงิน แต่การเยียวยาที่มีประสิทธิภาพต้องเป็นการเยียวยาแบบองค์รวม ทั้งการเยียวยาด้านจิตใจ การพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่สำคัญอย่างยิ่งคือการเยียวยาด้วยความยุติธรรม โดยการเปิดเผยความจริง นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ การฟื้นคืนความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงการช่วยเหลือครอบครัวเหยื่อให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อีกครั้ง

“สิ่งที่คาดหวังอย่างมากก็คือ ประเทศไทยจะเห็นความสำคัญของการชดใช้เยียวยาและการคืนศักดิ์ศรีให้กับผู้เสียหายทุกคน เพราะตรงนี้จะเป็นบรรทัดฐานอย่างหนึ่งของการรับผิดชอบของรัฐต่อเหยื่อที่ถูกอุ้มหายโดยรัฐ”

นอกจากการกระทำที่โหดร้าย การบิดเบือนความจริงก็เป็นการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของเหยื่อ นี่คือสิ่งที่อังคณาและครอบครัวของเหยื่อทุกคนเผชิญมาตลอด

"คนที่ถูกอุ้มหายมักจะถูกทำให้เชื่อว่าเป็นคนไม่ดี ในเมื่อเป็นคนไม่ดี จะหายไปก็ไม่เห็นต้องมีใครใส่ใจ เป็นทนายโจร เป็นคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เป็นคนที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย” อังคณากล่าว

“เราถูกกล่าวหาว่าเป็นครอบครัวของทนายโจร สิ่งหนึ่งที่พูดกับลูกๆ มาตลอดก็คือ เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงความเชื่อของสังคมได้ แต่สิ่งที่เราทำต่อไปนี้จะบอกกับสังคมว่าเราเป็นใคร พ่อเป็นใคร หลังจากนั้นคำว่าทนายโจรมันก็หายไป”

จากปี 2547 เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่ครอบครัวนีละไพจิตรยังรอความจริงปรากฎ แม้ว่าเวลาคือข้อจำกัดของคนแต่ละคน แต่เวลาก็เป็นสมบัติร่วมของมนุษยชาติ การกระทำของคนยุคหนึ่งย่อมส่งผลไปยังคนในรุ่นต่อไป

“ถ้าเราดูประสบการณ์จากต่างประเทศหรือแม้แต่ในประเทศของเรา” อังคณา กล่าว "ญาติหลายๆ คนที่เป็นแม่ๆ อายุมากขึ้นทุกปี หลายคนเสียชีวิตไปโดยไม่มีโอกาสทราบความจริง ไม่รู้ว่าลูกไปอยู่ที่ไหน ไม่รู้ว่าสามีเป็นตายร้ายดีอย่างไร วันหนึ่งเราก็อาจจะเป็นแบบนั้น จนวันสุดท้ายของชีวิต เราอาจไม่รู้ความจริงเลยก็ได้”

แต่อย่างน้อยที่สุด กฎหมายจะต้องคุ้มครองและปกป้องไม่ให้ใครถูกบังคับให้สูญหาย - อังคณาย้ำเช่นนี้

 

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกบังคับให้เป็นบุคคลสูญหายในต่างประเทศ

 

 

ถ้า วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ มีชีวิตอยู่ที่ไหนสักแห่งบนโลกใบนี้ ปีนี้เขาจะมีอายุ 41 ปี สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ จัดงานคล้ายวันเกิดให้น้องชายเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา งานวันเกิดเป็นธรรมเนียมการเฉลิมฉลองให้ชีวิต แต่งานวันเกิดของวันเฉลิม ชะตากรรมของเขายังคงถูกปกปิดอำพราง

วันคล้ายวันเกิดของวันเฉลิม พี่สาวของเขาฉายตัวตนของน้องชายผ่านภาพถ่ายจำนวนหนึ่ง ภาพถ่ายแสดงพัฒนาการของเด็กคนหนึ่ง จากทารกกลายเป็นนักเรียนมัธยมที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานนักเรียน ภาพถ่ายของสิตานันเผยให้เห็นเส้นทางชีวิตของน้องชาย ภาพถ่ายเผยได้แม้กระทั่งความคิดและรสนิยมทางการเมือง

หลังเรียนจบมัธยม เขาเดินทางมาทำงาน และเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เริ่มทำงานรณรงค์เรื่องสิทธิเสรีภาพ เขาเริ่มจากสิทธิเสรีภาพทางเพศ รณรงค์เรื่องเพศสัมพันธ์ปลอดภัย สิทธิในการทำแท้ง ความหลากหลายทางเพศ กระทั่งทำกิจกรรมด้านเด็กและเยาวชน กระทั่งได้เข้ามาทำงานให้พรรคการเมือง

“พรรคไทยรักไทยเริ่มสนใจเรื่องเด็กและเยาวชน เขาเลยชวนต้าร์เข้ามาทำงานในพรรค รณรงค์ประชาธิปไตยให้เยาวชน” สิตานัน กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่งานในพรรคการเมืองของน้องชาย

ภาพถ่ายเริ่มเผยให้เห็นเส้นทางระหกระเหิน ชื่อของเขาปรากฏเป็นบุคคลที่ คสช.เรียกไปรายงานตัว แต่เขาไม่ยอมไปตามคำสั่ง หลังถูกไล่ล่าจึงตัดสินใจหนีไปประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นสถานที่สุดท้ายที่พี่สาวของเขาทราบชะตากรรม

ภาพถ่ายของสิตานันเผยให้เห็นร่องรอยการมีอยู่ของวันเฉลิมในประเทศกัมพูชา และเผยหลักฐานการลักพาตัววันเฉลิม ซึ่งอย่างที่กล่าวไปข้างต้น มันไม่ถูกยอมรับจากหน่วยงานรัฐทั้งสองประเทศ ภาพถ่ายของเธอเผยให้เห็นสายสัมพันธ์ของวันเฉลิมกับชายชาวกัมพูชาชื่อ 'ฮวด' ผู้เป็นนายกเทศมนตรีเขตจรอยจองวา กัมพูชา ที่มีความใกล้ชิดกับ ทักษิณ ชินวัตร รวมถึงสมเด็จฮุน เซน และอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภาพถ่ายเหล่านี้เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ต่อภาพของคำถามที่พี่สาวอย่างเธอต้องการคำตอบ

เป็นเวลากว่า 3 ปีที่ครอบครัว ‘สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ พยายามค้นหาความจริง หลังจากวันเฉลิมหายสาบสูญระหว่างลี้ภัยในประเทศกัมพูชา แม้ว่า สิตานัน จะมีหลักฐานยืนยันว่าน้องชายของเธอมีตัวตนอยู่ในประเทศกัมพูชาก่อนที่จะหายตัวไปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 หลักฐานทั้งหมดถูกส่งไปยังหน่วยงานทั้งไทยและกัมพูชา แต่ไม่ได้ทำให้ครอบครัวของเธอเดินทางเข้าใกล้ความยุติธรรม

“ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา การตามหาความจริงหรือการตามหาหลักฐานว่าวันเฉลิมหายไปจากกัมพูชาจริง เพื่อยืนยันว่าเรื่องนี้เกิดในประเทศกัมพูชา แต่ทั้งทางการไทยและกัมพูชาไม่ยอมรับว่าวันเฉลิมหายไปจากที่นั่น แต่ในปัจจุบัน เราได้รับการรับรองจาก CED หรือ ‘อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ’ ลงนามรับรองว่าวันเฉลิมหายไปจากกัมพูชาจริง” สิตานันระบุ

กรณีการถูกบังคับให้เป็นบุคคลสูญหายของวันเฉลิมแตกต่างไปจากเคสอื่นๆ เพราะเขาถูกทำให้สูญหายนอกราชอาณาจักรไทย แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายบังคับใช้ภายในประเทศ “แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาฉบับ CED แต่เราไม่ได้มองตรงนั้นแล้ว เพราะวันเฉลิมไม่ได้หายในประเทศไทย เราจะดำเนินการทั้งสองประเทศ เพราะวันเฉลิมคือคนไทย” สิตานัน ระบุ    

การโฆษณาให้บุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายเป็นภัยความมั่นคงของชาติได้สร้างอคติให้กับสังคมรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐเองด้วย ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่สิตานันพบมาตลอดในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่วันที่ไม่มีกฎหมายไปจนถึงวันที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้

“เท่าที่สัมผัสมาจากการไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ เราพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐยังมีความคิดด้านลบกับผู้ที่ถูกทำให้สูญหาย เราแปลกใจว่าทำไมเขามีความรู้สึกและความคิดด้านลบกับผู้ถูกกระทำหรือผู้ถูกบังคับให้สูญหายเจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรมีอคติ อคติเหล่านี้เผยออกมาระหว่างการพูดคุยกับเรา เขาตั้งคำถามเชิงต่อว่า ‘ทำไมต้องไปทำแบบนั้น ทำไมต้องทำแบบนี้’ คุณเอาคุณความคิดไปตัดสินเหยื่อไม่ได้ ทำไมคุณไม่ตั้งคำถามกับผู้กระทำละว่าไปทำเรื่องโหดร้ายกับเขาแบบนั้นได้อย่างไร” สิตานันกล่าว

หลังจากนี้ สิตานันมุ่งหน้าค้นหาความยุติธรรมให้น้องชายต่อไป เธอรู้ว่าเป็นเส้นทางที่ใช้เวลา แต่ขระเดียวกันเธอก็เจ้าใจธรรมชาติของเวลา

“เราไม่สู้ในประเทศแล้ว เราจะสู้นอกประเทศ งานของเราต้องใช้เวลา มันไม่ง่าย แต่ถ้าไม่ทำมันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่คนที่กระทำกับวันเฉลิม อำนาจมืด เราไม่รู้ว่าเราจะสู้ได้มั้ย แต่เราจะยืนหยัดในการเรียกร้องความยุติธรรมให้น้องชาย เราไม่รู้หรอกว่าพรุ่งนี้จะเป็นยังไง แต่เรารู้ว่าไม่มีใครอยู่เหนือกาลเวลา” 

เวลาไม่ได้อยู่ข้างใครคนใดคนหนึ่ง แต่เวลาเป็นสมบัติของทุกคน และธรรมชาติอย่างหนึ่งมีอยู่ว่า เวลาอยู่ข้างความจริง.