วันผู้สูญหายสากล ญาติผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ทวงถามความจริง และความยุติธรรม ตาม พ.ร.บ.ทรมาน - อุ้มหาย หวังทราบชะตากรรม ทำให้ทุกคน 'กลับคืนสู่สภาพเดิม' คือ การเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิผล

28 สิงหาคม 2566

Amnesty International Thailand

 

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2566 ที่คินใจ คอนเทม โพรารี (Kinjai Contemporary) กลุ่มญาติผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทย ร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จัดเสวนา ‘เมื่อแตกสลาย จะกลับสู่สภาพเดิมได้หรือ’ พร้อมเปิดตัวนิทรรศการ ‘กลับสู่วันวาน…กลับมากินข้าวด้วยกันนะ’ เนื่องในวันที่ระลึกถึงเหยื่อของการถูกบังคับสูญหายสากล (International Day of the Victims of Enforced Disappearances) ที่ตรงกับวันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่ทั่วโลกร่วมกันรำลึกถึงเหยื่อและครอบครัวของผู้ถูกบังคับสูญหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ภาวะสงคราม การปราบปรามจากรัฐ หรือการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

สำหรับกิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สู่การป้องกัน การตรวจสอบ ปราบปราม และเยียวยาวครอบครัวผู้สูญหาย หลังมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

 

อังคณา นีละไพจิตร ตัวแทนกลุ่มญาติผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทย และในฐานะสมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ (Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances – WGEID) ผู้แทนจากภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเปิดเผยว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งคณะทำงานฯ ในปี 2523 คณะทำงานได้ส่งกรณีผู้ถูกบังคับสูญหายทั้งสิ้น 59,600 กรณีไปยัง 112 ประเทศ ซึ่งจำนวนผู้ถูกบังคับสูญหายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเชิงรุกและยังไม่ได้รับการชี้แจงหรือยุติอยู่ที่ 46,751 กรณี จาก 97 ประเทศ โดยในช่วงระยะเวลารายงานมีกรณีการบังคับสูญหาย 104 กรณีที่คณะทำงานสามารถคลี่คลายได้ อย่างไรก็ดีคณะทำงานฯ เชื่อว่าข้อมูลที่ได้รับนั้นเป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ที่ผ่านมาคณะทำงานกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับกรณีความพยายามกดดัน การคุกคามหรือการข่มขู่ครอบครัว หรือต่อองค์กรที่ทำงานในนามของพวกเขา หรือพยายามให้พวกเขารวมถึงญาติถอนเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้หายสาบสูญ

สำหรับประเทศไทย รายงานประจำปี 2565 ของคณะทำงานระบุจำนวนผู้ถูกบังคับสูญหายทั้งสิ้น 76 กรณีซึ่งสูงเป็นลำดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน ต่อจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

รายงานของภาคประชาสังคมระบุว่า มีการบังคับสูญหายของประชาชนระหว่างช่วงการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย การบังคับบุคคลให้สูญหายช่วงสงครามยาเสพติด การปราบปรามการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การบังคับสูญหายนักปกป้องสิทธิ กรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง เช่นเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 รวมถึงการบังคับสูญหายของผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน

“ในฐานะครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย ดิฉันพบว่า มีปัญหาและอุปสรรคมากมายในการเข้าถึงความยุติธรรมและความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของเหยื่อ แม้ในบางกรณีรัฐมีความพยายามให้การเยียวยาด้วยการชดเชยด้วยตัวเงิน แต่การเยียวยาที่มีประสิทธิภาพต้องเป็นการเยียวยาแบบองค์รวม ทั้งการเยียวยาด้านจิตใจ การพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่สำคัญอย่างยิ่งคือการเยียวยาด้วยความยุติธรรม โดยการเปิดเผยความจริง นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ การฟื้นคืนความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงการช่วยเหลือครอบครัวเหยื่อให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อีกครั้ง”

“มีผู้ถูกบังคับสูญหายหลายคนที่หายไปช่วงรัฐบาลเพื่อไทยที่มีทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี  วันนี้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ก็หวังว่ารัฐบาลจะมีความจริงใจในการเปิดเผยความจริง สืบสวนสอบสวนจนกว่าจะทราบชะตากรรมของผู้สูญหายทุกคน และรู้ตัวผู้กระทำผิดตามที่รับประกันไว้ใน พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 อย่างน้อยที่สุดสำหรับครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย ทุกคนอยากรู้ว่าคนในครอบครัวยังมีชีวิตหรือไม่ ถ้ามีชีวิตอยู่เขาอยู่ที่ไหน หรือว่าถ้าเสียชีวิตไปแล้ว อย่างน้อยคืนศพให้พวกเขาก็ยังดี” 

“รัฐต้องยอมรับความจริงว่าการการชดใช้ด้วยเงินอย่างเดียวไม่อาจคืนศักดิ์ศรี และลบเลือนความทรงจำที่โหดร้ายทรมานของเหยื่อได้ การเยียวยาที่ไม่ได้มาตรฐานเช่นที่กระทำอยู่ ทำให้การเปลี่ยนผ่านของเหยื่อและครอบครัวเกิดความชะงักงัน การไม่รู้ความจริงทำให้พวกเขาถูกพันธนาการด้วยความเจ็บปวด และไม่สามารถเชื่อมโยงตัวเองกับสังคม”

 

 

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดอีกอย่างหนึ่งในสังคมนี้ คือเจ้าหน้าที่รัฐ ‘บังคับบุคคลให้สูญหาย’ ประเด็นนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบกับคนในครอบครัวผู้สูญหายเพียงอย่างเดียว แต่ส่งผลกระทบไปถึงภาพใหญ่ระดับประเทศคือการทำให้ผู้คนอยู่ในความหวาดกลัว และระแวงจากภัยคุกคามที่เกิดจากอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ

ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ไม่ได้ขับเคลื่อนเรื่องการป้องกันการทรมานและถูกบังคับให้สูญหายในประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่ได้ร่วมขับเคลื่อนป้องกันให้เรื่องนี้ไม่เกิดขึ้นในระดับโลก พบว่าประเทศที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง หรือมีแรงปะทะเรื่องขั้วอำนาจจะเกิดการบังคับให้สูญหายจำนวนมาก และอีกกลุ่มคนในสังคมที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษคือ ‘กลุ่มคนเปราะบาง’ ที่ปัจจุบันพบว่ามักถูกทรมาน ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็น

มนุษย์อย่างไร้มนุษยธรรม และบางคนถูกอุ้มหายไปโดยไม่ทราบชะตากรรม ซึ่งประเด็นนี้เป็นอีกข้อท้าทายที่จะต้องทำร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อช่วยกันป้องกัน ปราบปรามไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก

“เนื่องในวันผู้สูญหายสากล แอมเนสตี้ขอขอบคุณกลุ่มญาติผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทยทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมกับเราในครั้งนี้ เรื่องราวของอาหารทุกเมนูที่จัดอยู่ในนิทรรศการได้เล่าเรื่องราวความรัก ความคิดถึง ความหวัง ความเจ็บปวดของครอบครัวผู้สูญหายได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งเรายืนยันว่าจะเป็นขบวนการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชน ปกป้องไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิด้วยการถูกทรมานหรืออุ้มหาย ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศต่อไป เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าวันหนึ่งจะไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้ 100% แม้จะเป็นความหวังที่อาจจะต้องใช้เวลานาน แต่เราจะทำมันต่อไป และขอเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายให้ พ.ร.บ. นี้ไม่มีช่องโหว่ และช่วยครอบครัวผู้สูญหายได้จริงต่อไป”

 

 

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พูดถึงความก้าวหน้าของการผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ว่า ปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ตื่นตัวในการใช้มาตรการป้องกันมากขึ้น เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็มีกฎระเบียบก่อนหน้า พ.ร.บ.นี้ ให้ตำรวจทุกคนต้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวและเสียงขณะจับกุมด้วยกล้อง Body Camera หรือ กล้องสังเกตุการณ์ ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นทุกอำเภอ  สำนักงานอัยการจังหวัดทุกจังหวัด ได้ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและรับแจ้งการจับกุม 24 ชั่วโมง  มองว่าเป็นเรื่องที่ดีหากหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐตระหนักถึงเรื่องนี้ในวงกว้างและเป็นหูเป็นตาให้ชาวบ้านได้จริง จะไม่มีใครที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมแล้วหายไปเลยจากกระบวนการยุติธรรมและหายไปอย่างไม่ทราบชะตากรรมจากครอบครัวและคนที่เขารัก 

ถึงแม้สถานการณ์จะดีขึ้นแต่ก็ยังพบว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนมีพฤติกรรมผิดวินัย ออกนอกลู่นอกทางขณะปฎิบัติหน้าที่ และหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบเมื่อเกิดคดีทรมาน-อุ้มหายขึ้นมา ตรงนี้จึงอยากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างชอบธรรม รวมถึงประชาชนสามารถเป็นอีกกระบอกเสียงที่สามารถร้องเรียนและช่วยยับยั้งป้องกันเหตุร้ายนี้ได้ โดยได้รับการคุ้มครอง ไม่ถูกฟ้องกลับ เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของทุกคนในสังคม

“ปัจจุบันกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน และมีองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทยและต่างประเทศมาให้ความรู้เรื่องนี้อย่างกว้างขวางมากขึ้น  แต่ยังมองว่าสังคมไทยต้องเรียนรู้พัฒนาให้ทันโลกมากขึ้น เพราะคดีทรมาน-อุ้มหาย เป็นอาชญากรรมที่มีลักษณะพิเศษ เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องมีวิธีการทำงานที่ละเอียด มีองค์ความรู้ทั้งกฎหมาย นิติเวช และจิตวิทยามาเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องการสอบสวน การพิจารณาคดี และการเยียวยาให้ครอบคลุมต่อผู้เสียหายโดยเฉพาะญาติของผู้เสียหายอย่างได้ผล”

 

 

เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยืนยันว่า หน่วยงานจะเคียงข้างบุคคลและครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหายในการตามหาความจริงเพื่อให้ทราบถึงที่อยู่และชะตากรรมของบุคคลเหล่านั้นให้หมดข้อสงสัย และจะสนับสนุนให้ทุกคนได้รับการเยียวยาจากภาครัฐให้ถึงที่สุด หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. 2565 เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2566 รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีกฎหมายนี้บังคับใช้ในประเทศไทย และหวังว่ากฎหมายนี้จะอำนวยให้ความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์และบุคคลผู้ถูกบังคับให้สูญหายปรากฏออกมา

“การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นสิ่งที่เราจะยอมรับให้เกิดขึ้นไม่ได้ในสังคมไทย สิ่งนี้ละเมิดอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและการจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของบุคคลผู้สูญหายและผู้คนรอบข้าง การละเมิดอย่างถาวรนี้จะยังคงอยู่ ตราบใดที่รัฐยังค้นหาบุคคลเหล่านี้ไม่พบ รัฐไทยต้องจริงใจ จริงจัง และทันท่วงทีต่อเหตุการณ์บังคับบุคคลให้สูญหายของบุคคลที่เกิดขึ้นตลอดมาให้สมกับการประกาศใช้กฎหมายใหม่”

 

เอกสารสำหรับดาวน์โหลด

ข้อเสนอแนะจาก 3 องค์กร