สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 5 สิงหาคม - 11 สิงหาคม 2566

15 สิงหาคม 2566

Amnesty International Thailand

 
ไทย: Remember Me: วันเฉลิมในความทรงจำของเพื่อนเก๋าเพื่อนแก่
 
เรื่องเล่าจากเพื่อนเก่าของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทยที่ถูกอุ้มหายในช่วงเย็นของวันที่ 4 มิถุนายน 2563 บริเวณหน้าคอนโดแห่งหนึ่งในประเทศกัมพูชา แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในทางคดี และทางครอบครัวยังไม่ทราบชะตากรรมเขา
“เขาอยู่ในความทรงจำของพี่หมดเลยว่ะ ไม่มีอะไรแทนต้าร์ได้เลย"
ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีของ โจ๊ก ชายหนุ่มจากสุราษฎร์ธานี เขามีเพื่อนที่ชื่อต้าร์ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เขาทั้งสองคนมักเรียกแทนตัวเองว่า “คุณโจ๊ก คุณต้าร์”
ทั้ง 2 คนรู้จักกันครั้งแรกเมื่อปี 2547 ที่ค่ายผู้ประสบภัยสึนามิเขาหลัก จ.พังงา สำหรับโจ๊ก พี่ต้าร์คือเพื่อนที่ดีที่สุด คือพี่ที่ทำให้เขาได้ทำงานในสาย NGOs คือคนที่ไม่ว่าจะหายไปไหน จากไปนานแค่ไหน พวกเขาทั้งคู่จะต้องหาทางติดต่อกันให้ได้ไม่ว่าช่องทางไหนก็ตาม เหมือนช่วงที่ต้าร์ต้องลี้ภัยไปยังประเทศกัมพูชา จนกระทั่งวันที่ 4 มิถุนายน 2563
ถ้าวันหนึ่งมีโอกาสได้เจอกันอีกครั้ง อยากบอกอะไรกับต้าร์ ?
“ไม่พูดอะไรเลย พวกพี่จะกอดกัน ถ้ากอดให้ตัวขาดได้ คงกอดให้ตัวขาดเลยสำหรับพวกเรามันไม่ต้องพูดอะไร ถ้าจะพูด ถ้าจะต้องพูด...พี่รู้สึกว่ามันพูดไม่ได้ พี่ว่าพี่แค่อยากกกอดเขา กอดแบบไม่ปล่อย ไม่อยากปล่อยอีกแล้ว และคงไม่มีคำพูดอะไร มันไม่มีคำพูดไหนที่จะทดแทนความรู้สึกของพี่ได้ ไม่สามารถใช้คำพูดไหนมาทดแทนกันได้”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/446KiHw
 
----- 
 
 
 
อิรัก: ทางการต้องยกเลิกการห้ามสื่อใช้คำว่า "คนรักเพศเดียวกัน" และ "อัตลักษณ์ทางเพศ" โดยทันที
 
สืบเนื่องจากคำสั่งของคณะกรรมการกำกับการสื่อสารและสื่อของอิรัก (CMC) ให้สื่อต่างๆ ต้องเปลี่ยนคำว่า "คนรักเพศเดียวกัน" เป็นคำว่า "เบี่ยงเบนทางเพศ" ในภาษาที่เผยแพร่และออกอากาศ
 
อายา มัจซูบ รองผู้อำนวยการภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า
“คำสั่งจากหน่วยงานกำกับดูแลสื่ออย่างเป็นทางการของอิรักเป็นการโจมตีครั้งล่าสุดต่อสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกโดยอ้างการเคารพต่อ “ศีลธรรมอันดีของประชาชน”
ซึ่งการห้ามใช้คำว่า "คนรักเพศเดียวกัน" ของ CMC และการยืนกรานให้สื่อใช้คำว่า "เบี่ยงเบนทางเพศ" แทน เป็นเรื่องที่อันตรายเพราะอาจกระตุ้นให้เกิดการเลือกปฏิบัติและการโจมตีอย่างรุนแรงต่อสมาชิกของชุมชนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ"
“นอกจากนี้ การห้ามใช้และตีความคำว่า “อัตลักษณ์ทางเพศ” เป็นสิ่งชั่วร้ายแสดงถึงการเพิกเฉยต่อการต่อสู้กับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในช่วงเวลาที่ภาคประชาสังคมรายงานว่ามีอาชญากรรมต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงเพิ่มขึ้น ท่ามกลางการไม่ต้องรับโทษอย่างกว้างขวาง”
“ทางการอิรักต้องยกเลิกการตัดสินใจนี้โดยทันที และประกันว่าจะเคารพสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการไม่เลือกปฏิบัติสำหรับทุกคนในประเทศ โดยไม่คำนึงถึงอัตลักษณ์ทางเพศหรือรสนิยมทางเพศของพวกเขา”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3OxEzVd
 
-----
 
 
เวียดนาม: เชื่อว่ามีผู้ที่เสี่ยงถูกประหารชีวิตจากคดีที่ถูกบังคับให้สารภาพและถูกทรมาน
7 สิงหาคม 2566
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 ว่าทางการเวียดนามต้องยุติแผนการประหารชีวิตชายคนหนึ่งโดยทันที ซึ่งคดีของเขามีข้อกังวลอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับการทรมานและการละเมิดสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม องค์กรยังเรียกร้องให้รัฐบาลเริ่มการสอบสวนอย่างเป็นอิสระและเป็นธรรมโดยทันทีสำหรับข้อกล่าวหาเรื่องการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ เพื่อให้ได้ "คำรับสารภาพ" ในขณะที่อยู่ในการควบคุมตัวของตำรวจ
ครอบครัวของเหงวียน วัน เจื่อง กรรมกรวัย 40 ปีจากเวียดนามเหนือได้รับสัญญาณเตือนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการประหารชีวิตเขา หลังจากที่ครอบครัวถูกเรียกไปรายงานตัวกับศาลประชาชนเมืองไฮฟองภายใน 3 วันเพื่อเตรียมรับศพของเหงวียน อย่างไรก็ตาม ครอบครัวไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับวันที่กำหนดสำหรับการประหารชีวิต
มอนต์เซ แฟร์เรอร์ รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย กล่าวว่า “ทางการเวียดนามต้องยุติแผนการประหารชีวิตเหงวียน วัน เจื่องโดยทันที คดีของเขามีข้อกล่าวหาที่กังวลตั้งแต่วันแรก รวมทั้งการที่เขาถูกทุบตีและแขวนห้อยศรีษะลงระหว่างการสอบปากคำเพื่อบังคับให้ "รับสารภาพ" ข้อกล่าวหาร้ายแรงเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินความผิดและจำเป็นต้องมีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระและเป็นธรรม หากทางการดำเนินการประหารชีวิตต่อไปอาจเป็นการ พรากสิทธิในชีวิตของเหงวียนโดยอำเภอใจ”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/45ahsY0
 
-----
 
บราซิล: ทางการต้องยุติและสอบสวนปฏิบัติการของตำรวจที่รุนแรงถึงชีวิตโดยทันที
8 สิงหาคม 2566
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ว่าทางการบราซิลต้องยุติปฏิบัติการของตำรวจที่รุนแรงถึงชีวิตโดยทันที ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้ว 45 รายในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาในรัฐบาเอีย ริโอเดจาเนโร และเซาเปาโล
เอริกา เกบารา-โรซาส ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคอเมริกา เผยว่า
“ปฏิบัติการที่รุนแรงถึงชีวิตเหล่านี้เป็นหลักฐานเพิ่มเติมว่ารัฐบราซิลไม่มีความสามารถเชิงระบบในการยุติการสังหารอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในบริบทของการทำงานของตำรวจ ผู้ว่าการและผู้บัญชาการตำรวจของประเทศจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายด้านความมั่นคงเพื่อประกันว่าการใช้กำลังจะสอดคล้องกับการรับรองสิทธิมนุษยชน โดยเริ่มจากสิทธิในชีวิต การป้องกันการบาดเจ็บ และความปลอดภัยส่วนบุคคล”
ด้าน จูเรมา เวอร์เน็ค ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล บราซิล กล่าวเสริมว่า ในการเผชิญกับการละเมิดเช่นนี้ เราต้องไม่ลืมเหตุการณ์ที่รู้จักกันในชื่อ May 2006 Crimes ในเซาเปาโลและไบซาดาซานติสตา ซึ่งในช่วงสองสัปดาห์มีผู้เสียชีวิต 564 คนในปฏิบัติการแก้แค้นเพื่อตอบโต้การสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจ
“องค์กรของเราได้บันทึกข้อมูลและติดตามคดีนี้ และหลังจากผ่านไป 17 ปี ครอบครัวของเหยื่อยังไม่ได้รับการประกันสิทธิที่จะทราบความจริง ความยุติธรรม และการเยียวยา”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3YAtMOJ
 
-----
 
เอกวาดอร์: ทางการต้องปกป้องสิทธิมนุษยชนท่ามกลางความรุนแรงก่อนการเลือกตั้ง
10 สิงหาคม 2566
 
สืบเนื่องจากการสังหารเฟร์นันโด วิลลาวิเชนซิโอ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวานนี้ (10 สิงหาคม 2566) เอริกา เกบารา-โรซาส ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคอเมริกา เผยว่า
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์ความรุนแรงในปัจจุบันของเอกวาดอร์ ซึ่งกำลังเผชิญกับอัตราการฆาตกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับการสังหารผู้สมัครชิงตำแหน่งทางการเมืองหลายครั้งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ปิดท้ายด้วยการสังหารเฟร์นันโด วิลลาวิเชนซิโอเมื่อคืนที่ผ่านมาซึ่งดูเหมือนมีแรงจูงใจทางการเมือง ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางการเมืองในปัจจุบันสมควรได้ทราบความจริง ความยุติธรรม และการเยียวยา และทางการต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อสอบสวนอาชญากรรมเหล่านี้ ในเวลาเดียวกัน การประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์เหล่านี้จะต้องไม่เปิดโอกาสให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ซึ่งอาจบ่อนทำลายความมั่นคงของประชากรเอกวาดอร์โดยรวม”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/47xO4ww