สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 3 มิถุนายน - 9 มิถุนายน 2566

12 มิถุนายน 2566

Amnesty International

 

ตุรเคีย: ชัยชนะของความยุติธรรมเมื่อสี่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนพ้นผิดในที่สุด

9 มิถุนายน 2566

 

คำตัดสินความผิดของสี่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกเพิกถอนแล้ว ซึ่งรวมถึงทาเนอร์ คิลิช ประธานกิตติมศักดิ์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ตุรเคีย และไอดิล อีเซอร์ อดีตผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ตุรเคีย

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า คำพิพากษาในวันนี้ยุติการบิดเบือนความยุติธรรมที่น่าตกใจ ในขณะที่เรารู้สึกโล่งใจอย่างมากที่ความผิดดังกล่าวถูกเพิกถอนในที่สุด แต่ข้อเท็จจริงที่นำตัวพวกเขามาในตอนแรกยังคงเป็นเรื่องที่ไร้มโนธรรม

“ตลอดเวลาหกปีที่ผ่านมา เราได้เฝ้าดูวงล้อแห่งความอยุติธรรมบดขยี้เมื่อข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริงต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสี่คนนี้ได้รับการยอมรับเป็นข้อเท็จจริงโดยศาลที่ต่อเนื่องกัน คำพิพากษาในวันนี้เปิดเผยจุดประสงค์ที่แท้จริงของการดำเนินคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง นั่นคือการใช้ศาลเป็นอาวุธในการปิดปากเสียงวิจารณ์”

 

อ่านต่อ: https://shorturl.at/eflX5

 

-----

 

 

ฮ่องกง: ความพยายามที่ 'ไร้เหตุผล' ในการห้ามเพลงประท้วงเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน

6 มิถุนายน 2566

 

สืบเนื่องจากคำเสนอของรัฐบาลฮ่องกงในการขอคำสั่งศาลเพื่อการห้ามประชาชนร้องเพลง เผยแพร่ หรือแจกจ่ายเพลงประท้วงอย่าง Glory to Hong Kong หรือ ฮ่องกงจงเจริญ

ซาราห์ บรูคส์ หัวหน้าทีมประเทศจีน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การรณรงค์ที่ไร้เหตุผลของรัฐบาลฮ่องกงเพื่อทำให้บทเพลงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความเคารพสิทธิมนุษยชนน้อยเพียงใด

“การห้ามเพลง Glory to Hong Kong ย่อมขัดกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างชัดเจน แม้ว่ารัฐบาลจะกล่าวอ้างอันเป็นเท็จว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะสอดคล้องกันกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนของฮ่องกงและสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับฮ่องกงก็ตาม”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3WW8V7C

 

-----

 

 

อัฟกานิสถาน: การโจมตีที่โหดร้ายของตาลีบันในจังหวัดปัญจชีร์นับเป็นอาชญากรรมสงครามที่มีการลงโทษแบบเหมารวม – รายงานฉบับใหม่

8 มิถุนายน 2566

 

กลุ่มตาลีบันได้ก่ออาชญากรรมสงครามที่มีการลงโทษแบบเหมารวมหรือ Collective Punishment (แทนที่จะลงโทษเฉพาะบุคคล ยังมีการสั่งลงโทษญาติพี่น้อง คนในชุมชน

เดียวกัน ฯลฯ ทั้งที่คนเหล่านั้นไม่มีส่วนต่อการกระทำผิดโดยตรง เป็นวิธีการเดียวกับที่มักทำกันในช่วงสงคราม–ผู้แปล) ต่อพลเรือนในจังหวัดปัญจชีร์ที่อัฟกานิสถาน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา

ในรายงานเรื่อง 'ลูกชายของคุณอยู่บนภูเขา': การลงโทษพลเรือนแบบเหมารวมในปัญจชีร์โดยกลุ่มตาลีบัน” ซึ่งเป็นบันทึกการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง รวมถึงการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การทรมาน และการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการจำนวนมาก

หลังจากที่กลุ่มตาลีบันเข้ายึดครองอัฟกานิสถานเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 สมาชิกกองกำลังความมั่นคงของอดีตรัฐบาลอัฟกานิสถานต่างหนีไปยังปัญจชีร์พร้อมกับอุปกรณ์และอาวุธและเข้าร่วมกับแนวร่วมต่อต้านแห่งชาติเพื่ออัฟกานิสถาน ในการตอบสนองต่อเหตุการณ์นี้ กลุ่มตาลีบันตอบโต้ต่อนักรบที่ถูกจับและพุ่งเป้าไปที่ประชาชนพลเรือนในปัญจชีร์เพื่อบังคับให้ปฏิบัติตามและยอมจำนน

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3N2hzwS

 

-----

 

โลก: ความเสี่ยงด้านสุขภาพจากหมอกควันไฟป่าในอเมริกาเหนือแสดงให้เห็นความล้มเหลวที่น่าตกใจเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

7 มิถุนายน 2566

 

สืบเนื่องจากคำเตือนกลุ่มควันจากไฟป่ากว่า 400 จุดที่กำลังลุกไหม้ทั่วแคนาดา ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนหลายสิบล้านคนในอเมริกาเหนือ

มาร์ต้า ชาฟ ผู้อำนวยการโครงการสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจ ความยุติธรรมทางสังคม และความรับผิดชอบของบรรษัท  แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ควันจากเหตุไฟไหม้นับร้อยจุดในแคนาดา หลายจุดลุกไหม้จนไม่สามารถควบคุมได้ ได้ปกคลุมเมืองที่ใหญ่ที่สุดบางแห่งในอเมริกาเหนือ รวมทั้งเมืองมอนทรีออล โตรอนโต และนิวยอร์ก โดยหมอกควันเหล่านั้นล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

“ไฟไหม้เหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างไม่อาจวัดได้ต่อคุณภาพชีวิตและสิทธิในสุขภาพของผู้ที่ถูกบังคับให้หายใจเอาอากาศที่เป็นมลพิษนี้เข้าไป

“เด็ก ผู้มีครรภ์ ผู้สูงอายุและผู้ที่เป็นโรคหัวใจหรือโรคปอด จะมีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากควันไฟเหล่านี้ และอนุภาคเหล่านี้สามารถเดินทางได้เป็นระยะทางไกลมาก”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3qBVP3t

 

-----

 

ยูเครน: นานาชาติต้องตอบสนองต่อเหตุเขื่อนคาคอฟคาระเบิดอย่างเร่งด่วน เนื่องจากผู้คนหลายพันคนกำลังเผชิญกับหายนะด้านมนุษยธรรม

6 มิถุนายน 2566

 

สืบเนื่องจากเหตุเขื่อนระเบิดที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟคาทางตอนใต้ของยูเครนที่ถูกยึดครองโดยรัสเซีย

มารี สตรูเทอร์ส ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง เผยว่า ในขณะที่เมืองและหมู่บ้านที่อยู่ท้ายแม่น้ำดนิโปรกำลังจมอยู่ใต้น้ำ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากการระเบิดของเขื่อนคาคอฟคาเป็นหายนะทางมนุษยธรรมครั้งใหญ่ และประชาคมโลกต้องร่วมกันนำผู้รับผิดชอบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

“กฎของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมีการปกป้องเขื่อนโดยเฉพาะ เนื่องจากอันตรายของเหตุเขื่อนระเบิดที่มีต่อพลเรือน เหตุระเบิดของเขื่อนคาคอฟคาเป็นหายนะที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของคนนับสิบหรือหลายแสนคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีน้ำท่วมถึง

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3oU4n5k

 

----- 

 

จีน: การพิพากษาจำคุกทนายความที่แจ้งความว่าถูกทรมานนับเป็นเรื่อง ‘ที่ยอมรับไม่ได้’

8 มิถุนายน 2566

 

สืบเนื่องจากคำตัดสินจำคุก 3 ปี 6 เดือน ฉาง เหว่ย-ผิง ทนายความสิทธิมนุษยชนชาวจีนในข้อหา “โค่นล้มอำนาจรัฐ” เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมาที่ศูนย์กักกันเทศมณฑลเฟิง มณฑลส่านซี

ซาราห์ บรูคส์ หัวหน้าทีมประเทศจีน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า นับเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ที่ฉาง เหว่ย-ผิง ต้องถูกจำคุกเพียงเพราะออกมาพูดเรื่องการทรมานที่เขาบอกว่าเขาได้รับจากฝีมือของตำรวจ

“เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดในการพิจารณาคดีแบบปิดที่แม้แต่ภรรยาของเขาก็ถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมฟัง และเขาถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าพบทนายความเป็นประจำตลอดระยะเวลาที่อยู่ระหว่างการควบคุมตัว

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3P3OLGR

 

ญี่ปุ่น: ศาลฟุกุโอกะพิพากษายืนตามคำสั่งห้ามการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันของรัฐบาลญี่ปุ่น

8 มิถุนายน 2566

 

สืบเนื่องจากคำตัดสินของศาลแขวงฟุกุโอกะเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่พิพากษายืนตามคำสั่งห้ามการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันของรัฐบาลญี่ปุ่น

ชินยะ ทาเคดะ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า

“แม้ว่าคำตัดสินนี้จะไม่ใช่ชัยชนะที่ชุมชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศในญี่ปุ่นคาดหวังไว้ อย่างไรก็ตาม ได้แสดงให้เห็นว่ามีความคืบหน้าเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศและแรงผลักดันสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังก่อตัวขึ้น

“แม้ว่าในวันนี้ศาลพิพากษายืนตามคำสั่งห้ามการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันที่เป็นการเลือกปฏิบัติของรัฐบาล นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าระบบกฎหมายของญี่ปุ่นจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่เคารพสิทธิมนุษยชนของคู่รักเพศเดียวกันมากขึ้น ในท้ายที่สุด นั่นต้องหมายถึงการจัดเตรียมกรอบทางกฎหมายที่ช่วยให้คู่รักเพศเดียวกันมีสิทธิเช่นเดียวกันกับคู่รักต่างเพศ”

“ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากเพื่อต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมญี่ปุ่นต้องเผชิญ หากยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจน ศาลท้องถิ่นก็ไม่มีอำนาจที่จะยอมรับการสมรสระหว่างเพศเดียวกัน”

“รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังแสดงให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติ และการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ด้วยการห้ามการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน และคำตัดสินนี้คือสัญญาณว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/43n0t3P