ประเทศไทย: เด็กผู้หญิงอายุ 15 ปี ถูกคุมขังก่อนการพิจารณาคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์

30 มีนาคม 2566

Amnesty International

ภาพถ่าย: ©Photo by Mladen ANTONOV / AFP via Getty Images

จากกรณีที่การคุมขังเด็กผู้หญิงอายุ 15 ปี ก่อนการพิจารณาคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ หลังเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบที่กรุงเทพฯ 

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเครื่องย้ำเตือนอันน่าสะเทือนใจอีกครั้งหนึ่งว่า ทางการไทยยังคงพุ่งเป้าโจมตีเด็กโดยการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์เพื่อปราบปรามการแสดงความเห็นต่างโดยสงบ นอกจากนั้น ภายในเดือนมีนาคมเพียงแค่เดือนเดียว มีการพิพากษาตัดสินลงโทษผู้ชุมนุมประท้วงอย่างน้อย 4 คน อีกทั้งยังมีการตั้งข้อกล่าวหาและการสั่งฟ้องในอีกหลายคดีภายใต้ข้อหานี้      

“คดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้สะท้อนให้เห็นการหดตัวลงอย่างน่าตกใจของพื้นที่พลเมืองสำหรับประชาชนหลายล้านคนในประเทศไทย โดยที่ทางการยังคงปฏิเสธที่จะยอมรับการแสดงความเห็นต่างโดยสงบมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบหลายคนถูกพิพากษาตัดสินว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ เพียงเพราะการใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกผ่านการโพสต์ข้อความทางออนไลน์ การเข้าร่วมงานแฟชั่นที่จัดขึ้นเพื่อล้อเลียน และเมื่อเร็วๆ นี้ ในการขายปฏิทินออนไลน์ซึ่งมีภาพวาดเป็ดเหลือง อันเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการชุมนุมประท้วง

“ทางการไทยต้องยกเลิกการดำเนินคดีต่อบุคคลในทุกข้อหา ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายที่มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน และต้องงดเว้นจากการจับกุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบก่อนการพิจารณาคดีด้วย” 

 

ข้อมูลพื้นฐาน

หยก นักกิจกรรมวัย 15 ปี ถูกสั่งฝากขังก่อนการพิจารณาคดีในสัปดาห์นี้ หลังจากที่เธอเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2565 โดยเธอได้เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ทางการได้ออกหมายจับเธอเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 และควบคุมตัวเธอไว้ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จังหวัดนครปฐม

คดีของหยกไม่ใช่คดีแรกที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ศาลอาญาในกรุงเทพฯ พิพากษาจำคุกชายคนหนึ่งเป็นเวลา 3 ปี เนื่องจากการขายปฏิทินผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งทางการมองว่าละเมิดกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ปฏิทินดังกล่าวมีรูปวาดการ์ตูนเป็ดเหลือง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการชุมนุมประท้วงในประเทศไทย ในอีกคดีหนึ่งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ตัดสินว่าชายชาวกะเหรี่ยงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ยุยงปลุกปั่น และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ จากการโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในเฟซบุ๊ก     

นับตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศในประเทศไทยเมื่อปี 2563 มีบุคคลอย่างน้อย 1,895 คนที่ถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาต่างๆ จากการมีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วง โดยตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในบรรดาบุคคลเหล่านี้ มีอย่างน้อย 237 คนที่ถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ รวมทั้งเด็ก 18 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 27 มีนาคม 2566)

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวรายงานฉบับใหม่ชื่อ We are Reclaiming Our Future’ (ขอทวงคืนอนาคตของพวกเรา) ซึ่งรวบรวมข้อมูลกรณีที่เด็กในประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในรูปแบบต่างๆ จากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วง รวมทั้งการถูกดำเนินคดีอาญาจากการจัดกิจกรรมของพวกเขา  การข่มขู่และสอดแนมข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่ และการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมประท้วงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ    

รายงานดังกล่าวเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกการดำเนินคดีทั้งหมดต่อเด็กผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ ยุติการข่มขู่และสอดแนมข้อมูลทุกรูปแบบ และแก้ไขกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อจำกัดสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงของเด็กและเยาวชน เพื่อให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน