“สื่อ” สำคัญมากแค่ไหนในวันที่ประชาชนลุกขึ้นปกป้องชุมชน

4 มีนาคม 2565

Amnesty International

ผลงานโดย นฤมล คงบก และ ศุทธหทัย หนูหิรัญ 

นักศึกษาฝึกงานแอมเนสตี้ ประเทศไทย

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาทางแอมเนสตี้อินเตอร์ เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดงาน ‘การประกาศผลและพิธีมอบรางวัล รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564’ ซึ่งตลอดระยะเวลาในช่วงปีที่ผ่านมาประเด็นสิทธิมนุษยชนได้ถูกขับเคลื่อนขึ้นภายในสังคม ด้วยการนำเสนอถึงเรื่องราวที่หลากหลายผ่านพลังการทำงานของสื่อมวลชน ทำให้ประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นที่น่าจับตามองอย่างแพร่หลายรวมถึงเป็นการกระจายข่าวสารและความรู้ที่สำคัญซึ่งจะเป็นส่วนเสริมสร้างให้ ‘สิทธิมนุษยชน’ ไม่เลือนหายไปจากสังคม

การจัดงานครั้งนี้ยังได้มีการส่งมอบความสำคัญให้แก่พลังแห่ง ‘เสียง’ ด้วยการพูดคุยในหัวข้อเรื่อง Voice of Rights: จากคลิตี้ บางกลอย ถึงจะนะ สื่อสำคัญมากแค่ไหนในวันที่ประชาชนลุกขึ้นปกป้องชุมชน โดยสามตัวแทนเยาวชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเกิดของตัวเอง การบอกเล่าถึงพลังของการต่อสู้ ปกป้อง อนุรักษ์บ้านเกิดของพวกเขาจะเป็นอย่างไร หากบริบทแห่งการต่อสู้ไม่ได้มีเพียงพวกเขาตามลำพังเท่านั้น เพราะเมื่อ ‘สื่อมวลชน’ เลือกเคียงข้างและเป็นส่วนหนึ่งบนเส้นทางของการต่อสู้ แล้วสื่อสำคัญเพียงใด สร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากแค่ไหน จึงอยากเชิญชวนมาฟังเสียงที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าจากตัวแทน ธนกฤต โต้งฟ้า ตัวแทนชาวบ้านจากคลิตี้ พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ตัวแทนชาวบ้านจากบางกลอย และไครียะห์ ระหมันยะ ตัวแทนจากพื้นที่จะนะ 

 

“ความหวังแห่งการเปลี่ยนแปลง ถูกจุดประกายด้วยพลังสื่อมวลชน” 

หมู่บ้านคลิตี้ล่าง จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีชาวบ้านต้องใช้ชีวิตปนเปื้อนสารพิษเป็นเวลากว่า 30 ปี และใช้เวลาอีก 9 ปีในการฟ้องร้องดำเนินคดี แต่ 7 ปีต่อมาหลังจากคำตัดสินของศาล การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ก็ยังไม่สำเร็จเห็นผล ชวนให้เรานึกถึงถ้อยคำที่ว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม” ชาวบ้านคลิตี้ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับสายน้ำและการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากร ซึ่งหมายถึงบ้านของพวกเขา จากการเรียกร้องสิทธิในขั้นศาลฐานะชุมชนดั้งเดิม ให้กรรมการของบริษัทเหมืองแร่ต้องรับผิดชอบเยียวยา และฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่ปนเปื้อนด้วยสารตะกั่วระดับสูง  เพื่อวันที่ลำห้วยคลิตี้จะกลับมาเป็นลำห้วยแห่งชีวิตชีวาของหมู่บ้านคลิตี้ดังเดิม 

 

 

ธนกฤต โต้งฟ้า ตัวแทนของชาวบ้านคลิตี้ เล่าว่าหมู่บ้านคลิตี้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ตะกั่วมาได้ครึ่งศตวรรษแล้ว เพราะนับตั้งแต่มีบริษัทเข้าไปทำเหมืองแร่บริเวณเหนือหมูบ้านคลิตี้ล่างในปีพ.ศ. 2510 ได้มีการปล่อยสารตะกอนหางแร่ลงไปในลำห้วย ทำให้หลังจากนั้นชาวบ้านก็เริ่มมีอาการเจ็บป่วย แม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงอย่างวัว ควาย ก็มีอาการเจ็บป่วยล้มตายโดยที่ ณ ตอนนั้นชาวบ้านไม่รู้สาเหตุ

“ลำห้วยเพียงสายเดียวที่ชาวบ้านพึ่งพาอาศัย ใช้ทำมาหากินทุกอย่าง เรียกได้ว่าเป็นสายเลือดสำคัญของชุมชน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ลำห้วยก็ค่อย ๆ เปลี่ยนจากลำห้วยที่ใสสะอาดกลายเป็นลำห้วยแห่งพิษที่ปนเปื้อนไปด้วยสารตะกั่ว”

ทั้งนี้ธนกฤตได้กล่าวต่อว่าการต่อสู้ในช่วงแรกหลังจากการรับรู้ของชาวบ้าน ไม่สามารถส่งเสียงดังพอที่จะทำให้กรณีของหมู่บ้านคลิตี้ ได้รับการแก้ไขจากรัฐที่มีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ หรือได้รับการเยียวยาจากผู้ก่อมลพิษ แต่เมื่อเรื่องราวการต่อสู้ได้ถูกกระจายผ่านสื่อที่เป็นสะพานให้ชาวบ้าน คลิตี้ได้เชื่อมกับสังคม ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวสื่อจะเป็นตัวประกอบที่สำคัญ ในการทำงานร่วมกับนักวิชาการ ทนายความ นักกิจกรรม และชุมชน เพื่อที่จะนำเสนอให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงเรื่องราวที่ชาวบ้านต้องเผชิญ หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการหยุดทำเหมืองแร่ชั่วคราว หน่วยงานที่รับผิดชอบได้มีการตรวจคุณภาพน้ำและตรวจคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน

“ตั้งแต่วันนั้นคลิตี้เปลี่ยนไปเลย จากหมู่บ้านเล็ก ๆ กลางหุบเขาที่มีแต่ชนเผ่าอาศัยอยู่ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีถนน ไม่มีแสงสว่าง ไม่มีอินเตอร์เน็ตอะไรใด ๆ ทั้งสิ้น ตั้งแต่วันที่สื่อเข้าไปทุกอย่างถูกประโคมเข้ามาสู่สังคม ทำให้กลายเป็นที่รับรู้ของสังคมว่าคลิตี้กำลังเจอกับอะไรอยู่ ทำให้คนที่ต้องรับผิดชอบต้องดิ้นรนเพื่อที่จะแก้ตัว”

ธนกฤตกล่าวทิ้งท้ายว่า ถึงแม้ศาลอาจจะให้ชนะคดีแล้ว แต่สิ่งที่ชาวบ้านต้องการมีสองส่วนหลัก ๆ คือ หนึ่ง ลำห้วยคลิตี้ต้องสามารถกลับไปใช้ กลับไปเล่น กลับไปดื่มกินได้ปกติดังเดิม โดยที่ไม่มีสารตะกั่วเกินค่ามาตรฐาน และสอง คือ สุขภาพของชาวบ้านจะต้องไม่มีสารตะกั่วเกินค่ามาตรฐานในเลือด ซึ่งปัจจุบันการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เพิ่งสำเร็จในขั้นแรก แต่ไม่มีความชัดเจนว่าสารตะกั่วในลำห้วยจะไม่เกินค่ามาตรฐาน หรือสุขภาพของเด็ก ๆ ที่ต้องเติบโตท่ามกลางสารพิษตะกั่วจะสามารถเติบโตได้อย่างธรรมดาเหมือนคนทั่วไปได้อย่างไร

 

“สื่อมวลชน เสมือนแสงสว่างบนเส้นทางของการต่อสู้”

บางกลอยบนใจแผ่นดิน ถือเป็นพื้นที่แห่งคุณค่าซึ่งเป็นจิตวิณญาณของชาวบางกลอย แต่หลังจากมีการบังคับให้ชาวบางกลอยลงไปอาศัยและทำกินอยู่ในพื้นที่บางกลอยล่าง และเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เป็นธรรมขึ้นกับชาวบ้านบางกลอย ทำให้ในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาชาวบางกลอยต้องออกมาเรียกร้องความยุติธรรม แต่การต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อตลอดเส้นทางแห่งการต่อสู้ต้องพบกับการสูญเสีย บ้าน ข้าวของ รวมถึงยุ้งฉางของชาวบ้านโดนเผา แต่แล้วเรื่องราวของพวกเขาก็เริ่มเป็นที่รู้จัก เมื่อสื่อมวลชนก้าวเข้ามาถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นบนเส้นทางแห่งการต่อสู้ ซึ่งเปรียบเสมือนเสริมสร้างพลังและจุดประกายความหวังให้กับพวกเขาตลอดจนพื้นที่บางกลอยแห่งนี้

 

 

พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ตัวแทนชาวบ้านบางกลอย กล่าวถึงความไม่เป็นธรรมที่ปรากฏในพื้นที่บางกลอย โดยชี้ว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นส่วนหนี่งที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต เมื่อได้เห็นภาพเหตุการณ์ความสูญเสีย การถูกทำลาย รวมถึงการหายไปของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักกิจกรรมอันเป็นที่รักของชาวบางกลอย พงษ์ศักดิ์กล่าวเสริมว่า “ถ้าหากวันนี้บิลลี่ยังคงอยู่ คนที่มายืน ณ ที่แห่งนี้คงเป็นบิลลี่” ประโยคที่มีความหมายและอัดแน่นไปด้วยความรู้สึกภายในใจ และนำมาสู่การเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่พื้นที่บางกลอย ซึ่งสิ่งที่เข้ามาช่วยสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ การบอกเล่าผ่านการนำเสนอของสื่ออันทำหน้าที่สร้างการรับรู้ให้กับสังคมและสะท้อนความจริงในการต่อสู้ครั้งนี้ ถึงสิ่งที่ชาวบางกลอยต้องเผชิญอยู่กับความไม่ถูกต้อง อีกทั้งภาพต่าง ๆ ที่สื่อช่วยนำเสนอออกไปให้สังคมเข้าใจวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก โดยในตอนท้ายพงษ์ศักดิ์ได้เน้นย้ำถึงสื่อ ว่าสื่อไม่ได้เป็นเพียงแค่เป็นส่วนหนึ่งของพวกเรา แต่ยังเป็นแรงพยุงและแสงสว่างที่สำคัญของการต่อสู้เพื่อบ้านเกิดของพวกเราบางกลอยไปพร้อมกันด้วย

“ผมคิดว่าสื่อไม่น่าจะแค่นำเสนอข่าวให้พวกเรา ยังเป็นพี่เลี้ยงให้เรา ที่ช่วยนำเสนอเรื่องราวของพวกเราสู่สังคมให้เข้าใจพวกเรามากกว่านี้ ถ้าวันนั้นไม่มีสื่อ ผมคิดว่าคงไม่ได้เห็นภาพคนถูกเผาบ้าน ผมคิดว่าไม่มีใครรู้จักปู่คออี้ ไม่มีใครรู้จักบิลลี่ เพราะฉะนั้นอยากจะขอบคุณในหลาย ๆ เรื่องที่เข้ามาสนับสนุนเรา ต่อไปอยากจะให้สื่อได้เป็นแรงบันดาลใจและต่อสู้ไปกับพวกเรา”

 

“สื่อมวลชน เป็นผู้สะท้อนความสวยงามที่แสนล้ำค่า”

“ควน ป่า นา เล” วิถีชีวิตอันอุดมสมบูรณ์ ที่ได้มอบอาชีพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ให้กับชาวบ้านอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แต่ทุกอย่างกำลังจะถูกพรากไป จากการคืบคลานเข้ามาของนิคมอุตสาหกรรม ชาวจะนะจึงรวมตัวกันต่อสู้กับผู้มีอำนาจผ่านการเคลื่อนไหวหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2536 จนกระทั่งทุกวันนี้ บนเส้นทางการต่อสู้ที่แสนยาวนาน พวกเขาถูกสลายการชุมนุม บางคนถูกทำร้าย แต่แล้ววันหนึ่งเรื่องราวการต่อสู้ของชาวจะนะได้เป็นที่รับรู้ของสังคม ในการร่วมกันอนุรักษ์และปกป้องบ้าน ที่ไม่ได้หมายถึงแค่อำเภอจะนะ แต่เป็นบ้านที่หมายถึงทรัพยากรธรรมชาติ และเพื่อไม่ให้เรื่องราวของผืนทะเลอันอุดมสมบูรณ์ของจะนะต้องกลายเป็นเพียงตำนานที่ถูกลืม

 

 

ไครียะห์ ระหมันยะห์ เยาวชนตัวแทนของชาวจะนะที่ได้มาบอกเล่าความสวยงามของอำเภอจะนะ เพราะจะนะมีทะเลที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขา อีกทั้งยังมีแม่น้ำทั้งสองสายบนปีกภูเขา ทำให้ชาวจะนะมีอาชีพ มีวิถีชีวิต และการดำเนินชีวิตที่มีความผูกพันกับทรัพยากรทางธรรมชาติ แต่แล้ววันหนึ่งได้มีหลากหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นกับพื้นที่จะนะ จนกระทั่งปีพ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ไครียะห์เกิด ได้มีโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย และนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่องเข้ามาในพื้นที่ เมื่อชาวจะนะออกไปเรียกร้องกลับถูกสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง บางคนถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ บางคนถูกอุ้มหาย และบางคนโดนคดี

“เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวันนั้น บรรพบุรุษของหนูได้เสียสละชีวิตหลายชีวิต เพื่อปกป้องแผ่นดิน ปกป้องอากาศ ปกป้องน้ำ ปกป้องฐานทรัพยากรเอาไว้ให้ลูกหลานแบบหนู ที่ได้มายืนอยู่ตรงนี้และบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้ทุกคนได้ฟัง” ไครียะห์กล่าว

ไครียะห์กล่าวเสริมว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตวันนั้น ได้กลับมาอีกครั้งหนึ่งในช่วงยุคสมัยของไครียะห์ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาชาวจะนะได้เดินทางมาทวงถามสัญญากับรัฐบาล แต่กลับถูกสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็นเหตุการณ์ที่แตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง เพราะสื่อที่เข้ามานำเสนอเรื่องราวความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับชาวจะนะ จนเกิดการตั้งคำถามขึ้นในสังคมว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นกับชาวจะนะ ที่เพียงต้องการออกมาปกป้องฐานทรัพยากรอันล้ำค่า

“เหตุการณ์ในวันนั้นมันเหมือนกับหนังม้วนเดิมที่ถูกนำกลับมาฉายใหม่อีกครั้ง มันเป็นภาพที่ชาวบ้านโดนสลายการชุมนุม แต่วันนั้นมีสื่อหลากหลายช่องทางเข้ามาในพื้นที่ที่ถูกสลายการชุมนุม พวกเราได้รับแสงสว่างจากสื่อ ภาพของเราที่โดนสลายการชุมนุมกระจายออกไป ทำให้หลาย ๆ คนมองเห็นว่าไม่สมควรเกิดขึ้นกับชาวบ้าน”

“เรื่องราวบ้านของเราที่มีความสวยงามและความอุดมสมบูรณ์ ทำให้สื่อเข้าไปในพื้นที่และถ่ายทอดเรื่องราวชีวิต ทำหนังสารคดี ทำข่าวต่าง ๆ มากมาย จนทำให้มีบางคนเห็นภาพจากสื่อและอยากมาจะนะ บางคนก็หลงรักจะนะตั้งแต่ได้เห็นภาพถ่าย จึงเป็นที่มาขอคำว่าจะนะไม่ใช่แค่พื้นที่ของคนจะนะอีกแล้ว มันเป็นพื้นที่ของพวกเราทุกคน” ไครียะห์กล่าวปิดท้าย